ทำความรู้จักประชากรเฉพาะทั้ง 9 กลุ่ม โดยนับเราด้วยคน

ผู้ถูกกระทำความรุนแรง

เมื่อพูดถึงความรุนแรง การทุบตี ด่าทอ ทำร้ายร่างกายอาจจะเป็นสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง ซึ่งนั่นก็ถูก แต่นอกเหนือจากความรุนแรงที่เราเห็นตรงหน้า มันยังมีความรุนแรงหลายอีกหลายแบบที่ซ่อนอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น เช่น ห้ามใส่แต่งตัวโป๊ ห้ามคบเพื่อนต่างเพศ ห้ามออกจากบ้านเวลากลางคืน เป็นต้น

ยิ่งมาในรูปแบบของความรุนแรงในครอบครัว ยิ่งมองเห็นได้ยาก เพราะหลายๆ ครั้งความรุนแรงในความสัมพันธ์ใกล้ชิดมักจะถูกบดบังด้วยคำว่า ทำไปเพราะหวง หรือทำไปเพราะความหวังดี และเหยื่อหลายคนเองก็ไม่สามารถดูออกได้ว่ากำลังเจอความรุนแรงอยู่หรือไม่ พวกเขาจึงยอมอยู่ในความสัมพันธ์นั้นต่อ และคนภายนอกก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง เพราะมักมองว่าเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’

เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น แน่นอนว่ามันได้ทิ้งบาดแผลให้กับผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือจิตใจ

“เสียงตะโกน เสียงดังตุ๊บๆ ภาพพ่อง้างหมัด มันอยู่ในความทรงจำของเราตลอด แค่ได้กลิ่นบุหรี่วันนั้นเราจะจิตตกไปเลย”

เสียงจากผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว กลิ่นบุหรี่เหมือนเป็นตัวแทนของพ่อที่ทำร้ายเขา จากเหตุการณ์นี้กลิ่นยังพาทั้งภาพและเสียงให้กลับมาวนเวียนอยู่ในหัวเจ้าของเรื่องอีกครั้ง ทุกครั้งที่ได้กลิ่นเขาจึงรู้สึกเหมือนว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าของเขาเลย (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ผู้ถูกกระทำความรุนแรง คือ กลุ่มคนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือก่อนที่จะสายเกินไป ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ แต่ในฐานะคนที่พบเห็นก็ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป เห็นได้จากกรณีของ ‘ไหม (นามสมมติ)’ ที่ก่อนหน้าที่เธอคือคนที่ได้เจอกับความรุนแรงในครอบครัวมาตลอด เธอมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความผิดของเธอเองที่รักษาครอบครัวไว้ได้ไม่ดีพอ

แต่หลังจากได้รับการช่วยเหลือโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เธอเข้าใจได้ทันทีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเธอ และเธอก็ไม่สมควรที่จะต้องมาเจอกับความรุนแรงแบบนี้ ไหมลุกขึ้นมารักตัวเองอีกครั้ง และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไปเพราะได้รับการช่วยเหลือ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ผู้สูงอายุ

 

ความเข้าใจและสายตาที่เรามองผู้สูงอายุล้วนมีผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา ถ้าคนส่วนมากเชื่อว่า ผู้สูงอายุคือคนที่ไม่มีความสามารถ ชีวิตของผู้สูงอายุก็จะโดนตีตราด้วยกรอบความคิดนี้ ตั้งคำถามกับคุณค่าตัวเอง แต่ถ้าหากทุกคนมองว่าผู้สูงอายุ คือ วัยที่โชกโชนประสบการณ์ วัยที่ยังมีคุณค่าเหมือนวัยอื่นๆ  มุมมองของผู้สูงอายุที่มีต่อตัวเองก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะยังมีคนที่เชื่อในตัวพวกเขา พวกเขาก็เลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวเองเหมือนกัน

บางครั้งร่างกายบอกไม่ แต่ใจยังไหวอยู่ ผู้สูงอายุบางคนยอมฝืนร่างกายเพราะเข้าใจว่าตัวเองยังไหว ‘ดื้อ’ คำนี้จึงถูกนำมาใช้กับผู้สูงอายุบ่อยครั้งในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น แอบกินอาหารที่หมอห้าม ไปเที่ยวคนเดียวโดยที่ไม่บอกใคร ทำสิ่งที่ห้ามซ้ำๆ จนบางทีคนวัยอื่นมักมองว่า ผู้สูงอายุเอาแต่ใจและไม่น่าอยู่ใกล้ ทั้งพฤติกรรมขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ ไม่ค่อยรับฟังคนอื่น เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระดับฮอร์โมน ความสามารถในการจำ และความสามารถในการมองเห็นหรือได้ยิน เป็นต้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

วัยหนุ่มสาวคงไม่เข้าใจจนกว่าจะได้เป็นผู้สูงวัยสักที แต่ไม่ต้องห่วง ยังไงเราก็ต่างหนีความสูงวัยไม่พ้น ทางที่ดีก็เผชิญหน้ากับความสูงวัยและใช้ชีวิตแบบวัยเก๋าให้เต็มที่ดีกว่า

นี่คือแนวคิดแบบ ‘พฤฒพลัง (Active Ageing)’ หมายถึง กระบวนการการส่งเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย แนวคิดนี้ผลักดันให้ผู้สูงอายุยังคงมีส่วนร่วมกับสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำนวนของผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรทั้งหลายควรจะมีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในแบบฉบับของตัวเองได้มากขึ้น

พฤฒพลังจึงมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมองเห็นถึงคุณค่าภายในตัวเอง และไม่ปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม รวมถึงสังคมเองก็เป็นพื้นที่ที่เปิดรับคนสูงวัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

LGBTIQNA+

 

“เราชอบมีเพื่อนเป็น LGBTIQNA+ นะ เพราะพวกเขาตลก”

ฟังผ่านๆนี่อาจเป็นคำชม ไม่มีใครเสียหาย แต่ความเป็นจริงแล้วมี LGBTIQNA+ จำนวนไม่น้อยที่อึดอัดกับการเหมารวมว่าต้องเป็นคน กรี๊ดกร๊าด เสียงดัง เฮฮา และตลก ทำไมการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องพ่วงมาด้วยกับคุณลักษณะเช่นนี้?

การเหมารวมไม่ต่างอะไรกับที่ผู้หญิงมักโดนเหมารวมว่าขับรถไม่เป็น ส่วนผู้ชายมักจะโดนข้อหาชอบใช้กำลัง สำหรับ LGBTIQNA+ การบอกว่าพวกเขาเป็นคนตลก สนุกสนาน เฮฮา โดยที่ไม่ถามถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาก่อนก็เป็นการเหมารวมที่ทำให้เกิดความอึดอัดได้เหมือนกัน

ถึงแม้ในวันนี้เราจะเห็นการโอบรับความหลากหลายที่มากขึ้น เช่น สมรสเท่าเทียม แต่สิ่งที่ LGBTIQNA+ ยังหนีไม่พ้นก็คือการเหมารวม ทั้งในแง่ลบและในแง่บวก ถึงแม้จะเป็นการเหมารวมที่ดูแล้วเหมือนเป็นแง่บวกแต่ก็สร้างความเข้าใจผิดๆ ได้ เช่น การมองว่า LGBTIQNA+ เป็นคนตลก มีสีสัน อยู่ด้วยแล้วไม่เบื่อ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

นอกจากนี้ LGBTIQNA+ จะไม่ใช่คนตลกเสมอไป ในความหลากหลายก็ยังมีอัตลักษณ์อื่นๆ ทับซ้อนด้วยอยู่ เช่น ความพิการ และ ความสูงวัย เป็นต้น

“คนเลือกทำงานหลังเกษียณเพราะว่าง แก้เหงา แต่สำหรับ LGBTIQNA+ ที่เป็นผู้สูงวัยบางคนจำเป็นต้องทำงานหลังเกษียณนะ เพราะว่าเขามีรายได้ไม่เพียงพอตั้งแต่วัยทำงานแล้ว”

เสียงจากอาจารย์ แต้ว-รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล ผู้ทำงานวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) หนึ่งในหน่วยงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

LGBTIQNA+ คือกลุ่มคนที่มักถูกละเลยหรือมองข้ามตั้งแต่เป็นวัยหนุ่มสาวไปจนถึงสูงวัย ข้อเสนอทางนโยบายจากงานวิจัยชิ้นนี้ จึงพยายามหาทางให้กลุ่ม LGBTIQNA+ สูงวัย อยู่รอดให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งมิติสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ

หลายคนทำงานเก็บเงินมาตั้งแต่เป็นวัยทำงาน แต่เพราะตัวเองเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้พวกเขาต้องเผชิญอุปสรรคมากกว่าคนอื่น เช่น ไม่ได้เลื่อนขั้น โดนกีดกันในที่ทำงาน นี่ยังไม่นับเราก็มีอคติและการคุกคามที่พวกเขาต้องเจออีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การทำงานของพวกเขาไม่ราบรื่น และอาจจบลงที่ไม่สามารถมีสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคงมากพอ 

สำหรับ อ.แต้ว เพื่อที่ให้ LGBTIQNA+ ที่กำลังจะเป็นผู้สูงวัยมีชีวิตบั้นปลายอย่างที่หวังได้ ภาครัฐควรเข้าไปมีส่วนในการดูแลการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และส่งเสริมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในที่ทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ในระบบการทำงานได้อย่างอิสระและไม่ต้องปิดบังอัตลักษณ์ของตัวเองอีกต่อไป (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

คนไร้บ้าน

เงิน และ งาน นี่คือสองสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการมากที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาก้าวหน้าได้ ถ้ามีเงินก็จะมีบ้าน ถ้ามีบ้านพวกเขาก็ไม่ต้องนอนตามที่สาธารณะอีกต่อไป แต่ก่อนจะมีทั้งสองอย่างนี้ได้ สิ่งที่แรกที่ต้องมีก็ต้องมี ‘งาน’ ก่อน

แต่ก็ใช่ว่าการหางานจะได้ง่ายๆ เพราะอคติทำให้คนไร้บ้านถูกกีดกันจากการทำงาน พวกเขามักถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ คนสกปรก ทำให้กว่าจะมีงานได้สักงานมันจึงยากมากๆ และแต่ละงานที่พวกเขาทำก็อาจไม่เหมือนงานของคนอื่นทั่วไป เช่น รับจ้างต่อคิวซื้อรองเท้า รับจ้างซื้ออาร์ตทอย และรับจ้างรายวันอื่นๆ เป็นต้น  (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แต่ยังไงทุกอาชีพก็สามารถให้เงินกับพวกเขาได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด คนไร้บ้านอยากมีงานทำกันทั้งนั้น แต่สังคมอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้พวกเขามีอาชีพที่มั่นคงมากพอ

ปัจจุบันจึงมีหน่วยงานต่างๆ อย่าง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก9 และ หน่วยงานอื่นๆ ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านการส่งเสริมทักษะอาชีพ และผลัดดันให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยได้ง่ายมากขึ้น เช่น โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน โดยสนับสนุนค่าเช่าที่อยู่อาศัยและการหางานทำ เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านกลับมาตั้งหลักชีวิตได้  (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

มุสลิม

พวกเขาคือกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็น ‘คนอื่น’ เพราะมีความเชื่อ วิถีชีวิต หรือการแต่งกายที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ แต่การมีความแตกต่างก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องยอมรับกับการถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม

ชาวมุสลิมมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับอัลเลาะห์และศาสนทูตของพระองค์ จึงทำให้การดำเนินชีวิตที่เป็นไปตามหลักศาสนา เพราะชาวมุสลิมมีความศรัทธาว่าสิ่งที่อัลเลาะห์อนุมัติหรืออนุญาตให้ทำคือสิ่งที่ดี ส่วนสิ่งที่ห้ามหรือสิ่งที่เป็นโทษคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับชีวิต ซึ่งในบางข้อก็มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนต่างศาสนาเช่นเดียวกัน นี่เป็นเหตุผลที่พวกเขาจึงเลือกใช้ชีวิตแบบวิธีของ ‘ฮาลาล’ ที่แปลว่าอนุญาต และหลีกเลี่ยง ‘ฮารอม’ ที่แปลว่า ห้าม

“สิ่งที่ฮาลาลนั้นเป็นที่เพียงพอสำหรับความจำเป็น แต่สิ่งที่ฮารอมนั้นเป็นที่เกินความต้องการ”

ชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าศาสนาอิสลามได้จัดเตรียมทางออกที่ดีและสะดวกไว้ให้กับมนุษย์แล้ว เพราะอัลเลาะห์มีความปรารถนาที่จะสร้างความเรียบง่าย ความดี และความเมตตาให้สำหรับมนุษย์

นี่คงไม่ใช่ความเยอะหรือความเรื่องมาก เพราะทุกศาสนาต่างก็มีเหตุผลและความเชื่อในการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ในโลกของพหุวัฒนธรรมการทำความเข้าใจและให้เกียรติคนที่มีความเชื่อแตกต่างกันจึงเป็นเรื่องที่พลเมืองโลกควรทำร่วมกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แต่ในขณะเดียวกัน สังคมก็ควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาก็มีพื้นที่ที่เคารพความเชื่อของตัวเอง อย่างเช่น โรงเรียนดีนูลอิสลาม ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุมุสลิม การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาสนับสนุน คนสูงวัยหลายคนยังอยากที่จะเรียนรู้แต่พวกเขาแค่ขาดพื้นที่เท่านั้นเอง

โครงการ 1 ปอเนาะ 1 โรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิม เป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุมุสลิมมีพื้นที่เป็นของตัวเองและตอบโจทย์การเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตได้ มูลนิธิคนเห็นคนจึงร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ในการออกแบบโรงเรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมมากที่สุด

“ศาสนาอิสลามสอนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต นี่เป็นบทบัญญัติของศาสนา โดยปกติแล้วคนมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจทุกวันและเอาหลักการอิสลามมาใช้ในการดํารงชีวิตเสมอ เพื่อที่เขาจะสามารถเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์แบบได้” ยะโกบ เสมอภพ ผู้จัดการโรงเรียนดีนูลอิสลาม กล่าว (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

คนพิการ 

พวกเขา คือ บุคคลที่มีความผิดปกติหรือมีความบกพร่องทางร่างกาย ทางสติปัญญา หรือ จิตใจปัจจุบัน ( 1 มกราคม 2567 ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต) ประชากรกลุ่มนี้มีอยู่ 2,273,981 คน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ​ 108,854 และ ต่างจังหวัด 2,165,127 คน ความพิการมีอยู่ 7 ประเภท ได้แก่ ความพิการทางการมองเห็น ความพิการทางการได้ยิน ความพิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ และความพิการทางออทิสติก

‘เวทนานิยม’ สิ่งที่คนพิการมักจะเจอ ดร.นพ.แพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธานกรรมการนโยบาย ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม นิยามคำนี้ไว้ว่า หมายถึง การมองคนอื่นว่าด้อยกว่า ในนามของความดี เราคิดว่าช่วยเขา แต่แท้จริงแล้วมันคือกระบวนการที่เราไปจัดความสัมพันธ์มันไปกดทับ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น มันก็เหมือนกับตอนที่คนไม่พิการนำของขวัญ ของบริจาคต่างๆ ไปให้กับคนพิการในวันสำคัญ และมองว่าสิ่งนั้นคือ ‘การทำบุญ’ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้เวทนานิยมมีสิ่งที่เรียกว่าอคติซ่อนอยู่ ซึ่งมักจะตั้งต้นมาจากการที่สังคมมองว่าคนพิการคือคนที่ทำอะไรเองไม่ได้ ต้องมีผู้ช่วยอยู่เสมอ อคติเช่นนี้สร้างกรอบให้กับชีวิตคนพิการ ทำให้พวกเขาเองก็รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เช่นเดียวกัน

“สังคมไทยมีความคาดหวังต่อคนพิการในระดับที่ต่ำ พอเราบอกว่าเป็นนักกฎหมายนะ เขาก็จะรู้สึกประหลาดใจมากที่คนตาบอดสามารถทำอาชีพนี้ได้ มองเราเป็นเพชรในโคลนตมแบบนั้น พูดเหมือนเราเป็นฮีโร่ในหมู่คนพิการเลย แต่จริงๆ เขามองเราด้วยชื่นชมแบบฉาบฉวย พอถามว่าจะรับเราไปทำงานมั้ย ก็ไม่”

คำพูดจากทนายตาบอด ‘บิ๊กเบล’ กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี เขาคือคนหนึ่งที่พยายามทลายขีดจำกัดที่สังคมสร้างไว้ต่อคนพิการ อาชีพของคนตาบอดที่คนอื่นเข้าใจว่ามีแค่ขายลอตเตอรี่ เป็นหมอนวด บิ๊กเบลอยากทำให้คนรู้ว่าคนพิการก็ทำอย่างอื่นได้เหมือนกัน ซึ่งเขาก็ได้สร้างแรงบันดาลได้ให้กับเด็กพิการทางการมองเห็นคนอื่นๆ อีกด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

“ตอนที่เราเกิดมาพิการ เราจะพิการนิดเดียว แต่สังคมจะทำให้เราพิการมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา” คำบอกเล่าจาก ‘ลุงประเวศ’ คนพิการที่เกิดมาพร้อมกับแขนข้างขวากุดสั้น และขาสองข้างกุด นี่คือคำพูดที่ชวนตั้งคำถามว่า ทุกวันนี้สังคมมอบความเท่าเทียมให้กับคนพิการแล้วหรือยัง? คนพิการหลายคนไม่ได้อยากพิเศษไปกว่าคนทั่วไป เขาเพียงอยากจะใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ เท่านั้น

คนพิการก็อยากจะเที่ยวเล่น ดูหนัง อ่านนิยาย เหมือนกับคนอื่นๆ เขาอยากมีสังคมที่ไม่ต้องแปลกแยกจากใคร นี่เป็นเหตุผลที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มหันมาสร้างสภาพแวดล้อมให้พิการสามารถอยู่กับคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ‘พรรณนา’ แอปพลิเคชันดูหนังสำหรับคนพิการทางการมองเห็นที่ทำให้พวกเขาดูหนังในโรงร่วมกับคนทั่วไปได้ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ความหวังของคนพิการที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นยังคงดำเนินต่อไป นอกจากจะเป็นหน้าที่ที่หน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันแล้ว การปรับทัศนคติที่คนทั่วไปมีต่อคนพิการก็สำคัญไม่แพ้กัน

กลุ่มชาติพันธุ์

พวกเขา คือ กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้สมาชิกกลุ่มมีวัฒนธรรม ประเพณี บรรทัดฐาน ภาษา และความเชื่อในแนวเดียวกัน อัตลักษณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บุคคลภายนอกอาจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มได้ด้วยการแต่งงานหรือวิธีการอื่น ๆ ตามที่สังคมนั้นกำหนด ปัจจุบัน ประเทศไทยมี 60 กลุ่มชาติพันธุ์ 4,011 ชุมชน หรือราว 6,100,000 คน

“คนล้าหลัง” “คนเผาป่า” ชื่อเรียกจากอคติที่กลุ่มชาติพันธุ์พบเจอ การที่พวกเขามีวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับธรรมชาติไม่ได้หมายความว่าพวกเขาคือคนล้าหลังเสมอไป ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ใช่คนที่เผาป่าจนทำให้ธรรมชาติเสียหาย อคติเหล่านี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หลายคนเลือกที่จะปกปิดความเป็นตัวเองรวมถึงไม่ชอบความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตัวเองมีอีกด้วย

เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนที่อยู่ไกล ซึ่งมันก็ถูกตรงที่กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ที่จะไม่ถูกเสียทีเดียวคือการที่มองว่ามองเขาคือคนห่างไกลที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ความเข้าใจแบบนี้ผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นคนอื่น จนถูกมองข้าม และเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการใดๆ ไม่ว่าจะมีสิทธิในที่ดินทำกิน หรือบางคนยังไม่มีบัตรประชาชนเลยด้วยซ้ำ

“เราจะคุ้มครองเฉพาะคนไทยแต่ปล่อยให้คนอีกหลายกลุ่มในประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองเพียงเพราะเขาไม่พูดภาษาไทย เพียงเพราะเขาไม่แต่งตัวแบบคนไทย เพียงเพราะว่าวิถีทํากินของเขาแตกต่างกับคนไทย คงไม่ใช่หนทางถูกต้องนักถ้าจะอยู่ร่วมกันในสังคมหลากหลาย แบบที่เราโฆษณากันว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม”

มุมมองจาก ‘อภินันท์ ธรรมเสนา’ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… ที่อยากผลักดันพ.ร.บ.นี้ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองและยอมรับในสังคมสักที (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

ในขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์เองก็พยายามแสดงความมีตัวตนของตัวเองมากยิ่งขึ้น ผ่านการเผยแพร่วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตให้กับคนหมู่มากได้รู้จัก หนึ่งในนั้นคือการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน ‘อาหาร’ ถ้าคนส่วนใหญ่เรียกพวกเขาว่าคนป่า กลุ่มชาติพันธุ์เองก็อยากนำเสนออาหารที่เป็นตัวแทนของป่าให้คนทั่วไปได้รับรู้เช่นเดียวกัน

“บางเมนูมันสามารถพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าได้นะ เช่น เมนูต้มขมใบดีงูหว้าของชาวลีซู การมีต้นดีงูหว้าสักต้นหนึ่งเนี่ย มันบ่งบอกว่าป่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นดีงูหว้าถึงเติบโตได้ แสดงว่าชุมชนเองก็ต้องมีการรักษาป่าอย่างดี พืชถึงยังมีอยู่ เอามาใช้ทำอาหารได้” ‘สุพจน์ หลี่จา’ นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือ ‘ครัวหลังเขา คุณค่าอาหารพื้นบ้าน 15 ชาติพันธุ์’ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

สำหรับใครที่อยากเปลี่ยนกลุ่มชาติพันธุ์จากคนไกลให้กลายเป็นคนใกล้ตัวมากขึ้น ลองทำความรู้จักพวกเขาบางส่วนได้ที่นี่ (ส่อง 5 เพจชาติพันธุ์

ผู้ต้องขัง

คำว่าผู้ต้องขัง หมายถึง นักโทษเด็ดขาด บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ ‘คนต้องขัง’ คือ บุคคลที่ถูกฝากขังไว้ตามหมายขัง และ ‘คนฝาก’ คือบุคคลที่ถูกฝากให้ควบคุมไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ กฎหมายอื่น โดยไม่มีหมายอาญา ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ เดือนเมษายน 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 284,560 ราย (เพศชาย 249,857 ราย และเพศหญิง 34,703 ราย)

‘โอกาส’ คำสั้นๆ แต่ผู้ต้องขังต้องการมากที่สุด เพราะแค่คำคำเดียวก็สามารถปลดล็อกพวกเขาไปให้เจอกับชีวิตใหม่ที่ต่างจากเดิมได้

“เรารู้ว่าในอดีตเราเคยทำอะไรผิดพลาดมา เรารู้ว่าเราต้องแก้ไขตรงไหน เราก็ต้องให้โอกาสตัวเองด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้คนภายนอกให้โอกาสกับอดีตผู้ต้องขังเหมือนกัน”

เบียร์ (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขังหญิงเปิดเผย เบียร์คือคนหนึ่งที่เคยทำผิดพลาดในอดีต แต่จากการได้เข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่มีใครอยากเข้าไป เธอก็ได้รับรู้แล้วว่าการต้องห่างจากบ้านมาอยู่ในที่แบบนี้มันลำบากมากแค่ไหน ซึ่งเธอก็จะไม่มีทางกลับเข้าไปอีก เธอให้โอกาสตัวเองให้เปลี่ยนไปเป็นคนที่ดียิ่งขึ้น เธอเองก็หวังว่าสังคมจะให้โอกาสเธอ และเพื่อนๆ ผู้ต้องขังด้วยเช่นเดียวกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

เรือนจำไม่ใช่ที่ที่เอาไว้ลงโทษเสมอไป แต่มันคือสถานที่ที่เพื่อการบำบัดและฟื้นฟูคนที่เคยกระทำผิดอีกด้วย เพื่อให้หลังจากที่พวกเขาออกไปจะไม่มีการกลับเข้ามาอยู่ที่เดิมอีก หลายเรือนจำและหน่วยงานจึงร่วมมือกับสร้างเรือนจำให้เป็นที่ที่สามารถฟื้นฟูผู้ต้องขังได้อย่างแท้จริง

‘โครงการเรือนจำสุขภาวะ’ เป็นตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นที่ที่ฟื้นฟูผู้ต้องขังได้ สุขภาวะที่ดี ในมุมของ ‘รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์’ ผู้จัดโครงการเรือนจำสุขภาวะ ไม่ได้หมายถึงแค่ความสมบูรณ์แค่ร่างกาย แต่สังคม สติปัญญา และสุขภาพจิตต้องดีควบคู่กันไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่อยู่ในเรือนจำมักจะเผชิญความเครียด กังวล มีความทุกข์ จึงมีการนำวิธีต่างๆ มาช่วยบรรเทาความรู้สึกเหล่านี้ เช่น การนำศิลปะเข้ามาอาจจะช่วยแก้คลายความเศร้า และบำบัดจิตใจไปพร้อมกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

เบียร์เคยพูดกับเราว่า “ไม่ใช่ทุกที่จะเป็นคนเลวโดยกำเนิด บางคนทำผิดเพราะความคิดชั่ววูบก็มี เราก็อยากจะขอโอกาสจากสังคม เพราะเรารู้แล้วว่าการอยู่ข้างในนั้นมันทำให้คิดถึงบ้านมากแค่ไหน จะไม่ย้อนกลับไปทำแบบเดิมอีกแล้ว” เธอยืนยันว่าเธอเปลี่ยนไปแล้ว และอยากขอโอกาสจากสังคมเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ประชากรข้ามชาติ

พวกเขา คือ ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ระหว่างหางานหรือกำลังทำงานในประเทศไทย หรือเคยหางานหรือเคยทำงานแต่ไม่สามารถทำงานต่อได้และยังอาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยรวมถึง ‘ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ’ หมายถึง ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติในกรณีของการย้ายถิ่น คู่สมรสและเด็กเล็กถือว่าเป็นผู้ติดตาม รวมถึงคู่สมรสโดยพฤตินัยและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

พวกเขาคือกลุ่มคนที่โดนอคติจากการที่ไม่ใช่คนไทยมาเสมอ ใครๆ ก็ต่างมองว่าพวกเขาคือแรงงานที่แค่มาหากินในประเทศไทย เมื่อได้อย่างที่ต้องการแล้วก็จะจากไป

แต่มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ประชากรข้ามชาติหลายคนหลบหนีเหตุการณ์ความไม่สงบจากบ้านเกิดตัวเอง เพื่อมาหาหนทางเอาดาบหน้าที่นี้ รวมไปถึงการหาอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานอีกด้วย แต่มันอาจจะไม่ใช่หนทางที่ราบรื่นสักเท่าไหร่เพราะพวกเขาปลายคนต้องเผชิญกับการเป็นบุคคลที่ไม่สถานะ

‘ไข่’ เด็กหญิงที่เป็นลูกของประชากรข้ามชาติ ก่อนหน้าที่นี้เธอต้องคอยใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากว่าเธอไม่มีบัตรประชาชนและโดนคนแถวบ้านขู่ว่า “ถ้าออกจากหมู่บ้านจะโดนตำรวจจับ” นี่คือเหตุผลที่เธอไม่ออกไปไหนไกลกว่าชุมชนของเธอเลย

ไข่มีแค่รหัส G รหัสสำหรับผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยเด็กๆ ที่มีรหัส G มักจะเป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อเด็กๆ เกิดมา ครอบครัวไม่ได้ไปแจ้งเกิด เพราะพ่อแม่บางคนเองก็ยังไม่มีสถานะทางกฎหมายเช่นกัน ทำให้ไม่มีเอกสารไปยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการแจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่

สิทธิที่ตามจากการมีรหัส G จะครอบคลุมแค่เรื่องการศึกษาเสียส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่กับการรักษาพยาบาล หรือการเดินทางออกไปข้างนอก ทำให้ทุกครั้งที่ไปหาหมอเธอจะต้องจ่ายค่ารักษาแบบเต็มจำนวน ไม่สามารถเบิกอะไรได้

แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้บัตรเลข 0 บัตรสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย แต่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว อาจจะเป็นบุคคลที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม กลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรข้ามชาติ ชนเผ่าต่างๆ ที่ต้องไม่มีจุดยึดโยงกับประเทศอื่นใดแล้วทั้งสิ้น ซึ่งเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มคนที่ใช้บัตรนี้จะมีเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 และหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 00

ชีวิตของไข่เปลี่ยนไป จากการที่ต้องอยู่แต่บ้าน วันนี้เธอออกไปเที่ยวข้างนอกตามใจอยากได้แล้ว

“หนูไปสังขละบุรี ไปสะพานมอญ อีกอย่างหนึ่งหนูก็กล้าไปโรงพยาบาลด้วย เมื่อก่อนไม่มีบัตรไม่กล้าไปหาหมอ เพราะกลัวเขาไม่รักษาให้ แถมเคยไปแล้วก็แพงมาก ตอนนี้จ่ายแค่ 30 บาทค่ะ” ไข่กล่าว นอกจากจะได้ไปเที่ยว เธอยังรู้ว่าความฝันที่จะเป็นพยาบาลของเธอเริ่มเป็นไปได้มากขึ้น เพราะเธอเริ่มมีสิทธิเหมือนคนอื่นๆ แล้ว (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

เช่นเดียวกันกับทีมฟุตซอลเด็กติด G ที่มีคริสเตียโน โรดัลโด นักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกเป็นต้นแบบ ทำให้เด็กๆ อยากเติบโตไปในแวดวงกีฬา ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็ทำได้ดีถึงขั้นคว้าแชมป์การแข่งขัน Street Futsal ในกิจกรรม Olympic Day 2023 ที่จัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

“หลังจากมีบัตร เราเห็นได้ชัดเลยคือเด็กมีความมั่นใจมากขึ้น เราพูดกับเด็กๆ ว่า ในอนาคตไม่แน่เด็กๆ อาจจะเปลี่ยนไปมีบัตรไทยเลยก็ได้ และเด็กจะได้ทำสิ่งที่อยากทำแน่นอน คำพูดแบบนี้สร้างกำลังใจให้เขา เขาก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าเขามีความหวังกับอนาคตตัวเองมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เด็กๆ มองว่าแค่อ่านออกเขียนได้พอแล้ว สื่อสารให้ไม่โดนหลอกก็พอ”

‘ส้ม’ วันดี มณีมงคลกาญจน์ ผู้รับผิดชอบโครงการแรงงานข้ามชาติ APASS Thailand กล่าว ความฝันและอนาคตของเด็กๆ ประชากรข้ามชาติจากที่เคยเลือนรางก็เริ่มชัดเจนขึ้นได้เพราะมีบัตรยืนยันตัวตน (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แรงงานนอกระบบ

พวกเขา คือ แรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและ กฎหมายประกันสังคมทั้งที่อยู่ในเศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (นิยามจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) อาทิ ไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน และคนทำงานอิสระทุกอาชีพสาขา

นี่คือกลุ่มคนที่เรามักจะเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งตอนนั่งรถไปทำงาน หรือจะเป็นตอนที่เรียกไรเดอร์ส่งมื้อเที่ยง พวกเขาคือแรงงานที่ทำให้ชีวิตของใครหลายคนสะดวกสบายมากขึ้น ในทางกลับกันคนที่เป็นแรงงานนอกระบบแบบพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ยังไม่เข้าใกล้กับคำว่า ‘สะดวกสบาย’ เลย

ยกตัวอย่าง อาชีพไรเดอร์ที่มีปัญหากับการนิยามสถานะอาชีพว่าเป็นพาร์ทเนอร์ ถึงแม้ในความเป็นจริงพวกเขาเข้าค่ายว่าเป็นแรงงานก็ตาม การที่ไรเดอร์ถูกนิยามให้เป็นพาร์ทเนอร์ทำให้พวกเขาตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิเหมือนกับแรงงานอื่นๆ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการทำงานเท่าที่ควร

อาชีพไรเดอร์ต้องออกไปเจอทั้งแดด ทั้งฝน แถมเสี่ยงอันตรายจากการขับขี่บนท้องถนนไม่เว้นแต่ละวัน แต่กลับไม่มีใครสร้างหลักประกันหรือคุ้มครองพวกเขาได้เลย ปัจจุบันจึงมีไรเดอร์จำนวนมากรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับคนทำงาน สิ่งสำคัญคือการให้พวกเขาเข้าถึงประกันสังคมตามมาตรา 33 เพื่อให้ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ พวกเขาจะแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลได้

“ถ้าเราทำงานเราก็อยากได้อะไรที่ดีต่อชีวิต ไม่ได้แย่ เราทำงานเหนื่อยก็อยากได้เงินที่สมเหตุสมผลกับค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอของมอเตอร์ไซค์ ค่าอาหารที่เราต้องกินในแต่ละวัน ไรเดอร์ก็มีคนที่รอเขาอยู่ข้างหลังด้วยเหมือนกัน”

เสียงจาก ‘แยม (นามสมมติ)’ ไรเดอร์หญิงที่กำลังอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอมองว่าทุกอาชีพมันเหนื่อย แต่ที่ทำเพราะก็อยากมีรายได้ไปต่อยอดและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ในปัจจุบันอาชีพไรเดอร์กำลังประสบปัญหาขาดการคุ้มครอง ซึ่งเธอก็คิดว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับคนทำงานเหมือนกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แรงงานนอกระบบที่เราคุ้นชินกันนอกจากไรเดอร์แล้ว ก็ยังมีอาชีพแม่บ้านอีกด้วย พวกเขาคือคนที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ปัดกวาด เช็ดถู ล้างจาน ซักผ้า สารพัดงานบ้านที่ถ้าทำเองก็คงจะเหนื่อยไม่เบา แต่แม่บ้านไม่ปฏิเสธงานเหล่านี้เพราะเขามองว่ามันก็คืออาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ดี

แต่มันก็แลกมากับการที่แทบจะไม่มีสวัสดิการอะไรเลย ไม่มีวันหยุดตามปฏิทินเหมือนกับคนอื่นเขา หยุดงานไม่ได้ แถมประกันสังคมก็เข้าไม่ถึง ยังไม่รวมถึงการที่แม่บ้านบางรายได้เงินไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม จึงพยายามผลักดันการคุ้มครองกลุ่มแม่บ้าน โดยเฉพาะประเด็น ‘เมนส์มาลาได้’

การลางานสำหรับลูกจ้างถือเป็นเรื่องยากเสมอมา เช่น มีโอกาสนายจ้างไม่อนุญาต หรือลาแล้วไม่ได้เงิน แต่ยังไงก็เป็นสิทธิของแรงงานที่ต้องได้ลาเมื่อต้องการ อย่างเช่นตอนที่เป็นเมนส์ กลุ่มคนงานหญิงฯ ที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงผลักดันข้อเรียกร้องนี้ พวกเขาก็เชื่อเช่นกันว่า เป็นสิทธิ์ของแรงงานที่จะได้รับความคุ้มครอง และลาหยุดเมื่อป่วย โดยได้รับค่าจ้าง (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ