อภินันท์ ธรรมเสนา ชาติพันธุ์ 101 : ห้องเรียนไม่เคยสอน แล้วอคติมันเกิดขึ้นตอนไหน

ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ไฟเขียวรับร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวม 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา และ ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่างกฏหมายกันอยู่


ถ้า พ.ร.บ. คือเพดานสูงสุดของการขับเคลื่อนในเชิงโครงสร้าง บทความชิ้นนี้จะพากลับไปสู่สามัญขั้นพื้นฐานที่สุดว่า ชาติพันธุ์คือใครและทำไมต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตคนกลุ่มนี้

“กฎหมายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง”

หลังจากประชุมพิจารณาร่างกฎหมายมาไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง (ครั้งล่าสุดครั้งที่ 21 เมื่อ 25 ก.ค. 67) อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ… ก็ยังยืนยันในคำนี้

นั่นเพราะมีด่านที่ฝ่ายากกว่าอย่าง ‘อคติ’ ชนิดที่ว่าแก้กันมานาน แก้อยู่ และยังต้องแก้ต่อไป

ชาติพันธุ์คือใคร 

“ชาติพันธุ์ คือ กลุ่มชนที่สมาชิกมีลักษณะร่วมกันทางวัฒนธรรมมีรูปแบบวิถีชีวิต ระบบความเชื่อ ภาษา พิธีกรรม จารีตประเพณี และประวัติศาสตร์ร่วมกัน และที่สำคัญมีชื่อเรียกเฉพาะของกลุ่มตนเอง”

อภินันท์บอกว่า การที่เราต้องสนใจคนกลุ่มนี้เพราะความเชื่อพื้นฐานที่ว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในการที่จะดำรงอยู่ และเลือกใช้ชีวิตตามจารีตประเพณี ตามรูปแบบวัฒนธรรมที่ปฏิบัติมา จึงเป็นการสมควรที่จะต้องคุ้มครองทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคกัน

“เราจะคุ้มครองเฉพาะคนไทยแต่ปล่อยให้คนอีกหลายกลุ่มในประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองเพียงเพราะเขาไม่พูดภาษาไทย เพียงเพราะเขาไม่แต่งตัวแบบคนไทย เพียงเพราะว่าวิถีทํากินของเขาแตกต่างกับคนไทย คงไ่ม่ใช่หนทางถูกต้องนักถ้าจะอยู่ร่วมกันในสังคมหลากหลาย แบบที่เราโฆษณากันว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ”

เหตุแห่งปัญหาก้อนใหญ่คือ อคติและความไม่เข้าใจที่ผลักให้ชาติพันธุ์เป็นคนอื่น และร่องรอยนี้ยังคงปรากฎในกระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ด้วย

“กลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับการคุ้มครองในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่กลับมีคนบอกว่า ไม่ได้นะ ต้องเขียนว่า ขั้นพื้นฐานเท่าที่จำเป็น มุมมองที่มีต่อชาติพันธุ์นั้นมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ แต่ถ้าต้องได้สิทธิ ก็ต้องเป็นสิทธิพื้นฐานเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ในทางกฎหมายมันจึงเป็นการต่อสู้ที่ยากมาก และไม่ใช่แค่การต่อสู้เรื่องถ้อยคําในกฎหมายอย่างเดียว แต่มันคือการต่อสู้กับวิธีคิดของคน”

ถ้าความหมายของชาติพันธุ์คือ “กลุ่มคนที่สมาชิกมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรม เช่น มีภาษาพูด เครื่องแต่งกาย อาหาร ความเชื่อ พิธีกรรม จารีตประเพณี และมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน”​ ดังนั้นแล้ว ใช่หรือไม่ว่าเราทุกคนต่างเป็นชาติพันธุ์ แต่ด้วยกาลเวลา ด้วยความเป็นรัฐชาติ วัฒนธรรมและสังคม ฯลฯ มันเข้ามาแบ่งคําว่า ‘ชาติ’ กับ ‘ชาติพันธุ์’ ออกจากกัน

“ใช่” ในฐานะนักมานุษยวิทยา อภินันท์พยักหน้าและอธิบายต่อว่า เพราะการเข้ามาของความคิดแบบรัฐชาติสมัยใหม่มันทำให้เกิดคำว่า ‘ชาติไทย’ ซึ่งเป็นดินแดนของคนไทย ‘พันธุ์’ มันจึงทำให้ผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยมาเป็นเวลานายแต่ไม่ได้มีวิถีวัฒนธรรมแบบคนไทย ถูกทำให้หายค่อยๆ กลายเป็นอื่น

“คนที่อาศัยอยู่ใน ‘ชาติไทย’ ต้องเป็น ‘ชาติพันธุ์ไทย’ ถึงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนอาศัยอยู่เป็นชาติพันธุ์อื่นจะมีปัญหา คําๆ นี้เลยมีปัญหา” 

คำว่าชาติพันธุ์ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า ethnic ในสังคมยุโรปเดิมทีใช้คำว่า “ethnos” กับ “ethniko” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ ที่คนยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์ใช้เรียกคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่เป็นพวกนอกรีตไม่ใช่พวกคริสเตียน

“ฉะนั้นเซนส์ของคำๆ นี้ จึงเป็นคําที่มีความหมายถึงความล้าหลังกว่า และเรียกคนที่ต่างจากเรา เพราะถ้าพวกเดียวเราจะต้องสรรหาคําทําไม ในยุโรปคำนี้จึงมีลักษณะเป็น hierarchy มีลำดับชั้นของคํา คือการ ‘เป็นฉัน’ ‘เป็นเธอ’ และ ‘เป็นคนอื่น’”

ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสังคมอเมริกันใช้คําว่า “ethnic” โดยไม่ได้มีความหมายเชิงลบ แต่เป็นคำที่คนอังกฤษใช้เรียกคนอื่นๆ ที่อพยพมาจากยุโรปด้วยกัน เพราะคนอังกฤษเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่นั่นอยู่แล้ว

“คนฝรั่งเศสที่อพยพไปจะถูกเรียกว่าเป็นพวกชาติพันธุ์ เป็นethic ซึ่งไม่มีเซนส์เชิงดูถูก หรือเป็น hierarcy แต่สังคมไทยรับคำนี้มาเรียกคนที่ต่างกับเรา และมีเซนส์แบบที่เรียกชาติพันธุ์ว่า ชาวเขา ชาวดอย เพื่อแบ่งแยก เราเรียกแบบนี้เพื่อ hierarcy และใช้เรียกคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย แม้ช่วงหลังๆ นักมานุษยวิทยาในไทยจะพยายามใช้คำนี้ในความหมายที่อธิบายถึงความเป็นกลุ่มชนที่สมาชิกมีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมโดยไม่มีความหมายในเชิง hierarcy ก็ตาม แต่สังคมไทยก็ยังใช้คำนี้กับกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมต่างไปจากคนไทย โดยมีเซนส์ถึงคนที่ยังล้าหลัง ไม่ทันสมัย หรือมีอำนาจน้อยกว่าความเป็นคนไทย”

ทั้งที่จริงแล้ว ครั้งหนึ่งคนจีนก็เคยเป็นชาติพันธุ์ในสังคมไทยแต่เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจและปริมาณประชากรที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงได้ต้อนรับคำว่า ‘คนไทยเชื้อสายจีน’

“ช่วงเข้ามาไทยใหม่ๆ คนจีนก็โดนมองเป็นพวกชาติพันธุ์ สมัยร.6 ก็มองคนจีนเป็นยิวแห่งบูรพาทิศ แม้กระทั่งจอมพลป. พิบูลสงคราม ก็คิดกับจีนอีกแบบหนึ่ง แต่พอคนจีนในประเทศไทยเริ่มมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ ร่ำรวยจนเป็นเจ้าสัว รู้สึกผูกพันกับความเป็นไทย พยายามเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย ความรู้สึกแปลกแยกที่คนไทยมีต่อคนจีนก็น้อยลง ดังนั้นดังนั้นถ้าจะว่ากันจริงๆ คำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” มันก็หมายถึงคนทุกกลุ่มวัฒนธรรม ทุกคนมีความเป็นชาติพันธุ์ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่ง แต่เซนส์ของคําๆ นี้ ในสังคมไทยไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น”

หวยจึงไปลงที่กลุ่มซึ่งไม่มีอำนาจทางสังคม

“ถ้าเราจะนึกถึงอาข่า กะเหรี่ยง เราจะมองว่าเขาเป็นคนอื่น เป็น “กลุ่มชาติพันธุ์” เพราะคำนี้ในสังคม มันคิดมาจากฐานคิดว่าหมายถึงความเป็นอื่น เป็นคนที่ด้อยกว่า ซึ่งหากสังเกตมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอํานาจ”

อำนาจสร้างอคติ

“มันเริ่มต้นมาจากการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ ที่ความเป็นชาติ ก็คือความเป็นชาติๆ เดียว ชาติไทยต้องเป็นคนไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้นกะเหรี่ยง หรืออาข่า หรือใครก็ตามที่อยู่ที่นี่อยู่แล้วไม่ได้พูดภาษาไทย ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบคนไทย ก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คนไทยแต่เป็นคนอื่นที่อพยพเข้ามา”

มีเครื่องมือหลายอย่างถูกใช้ในการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ด้วยการผลักคนอื่นออกไป หนึ่งในนั้นคือการจัดการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์

“มันคือประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง สุโขทัย อยุธยามาเรื่อยๆ จนรัตนโกสินทร์ แล้วเราไม่เคยพูดถึงคนเล็กคนน้อยที่อยู่ในนี้เลย สังเกตว่ารัฐไทยใช้วิธีการแบบนี้มาตลอด เราไม่เคยยอมรับหรือว่าในสังคมไทยมีคนเล็กคนน้อยกลุ่มนี้ ในฐานะเพื่อนหรือคนที่มีศักดิ์ศรีเสมอกัน แต่เรายอมรับการมีตัวตนของเขาเพื่อช่วงใช้ประโยชน์แทน”

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการใช้ประโยชน์ผ่านการท่องเที่ยว ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์แตกต่างและมีความแปลก (Exotic)

“เราจัดท่องเที่ยวแบบ exotic อย่างเวลาเราจะไปชุมชนชาติพันธุ์กะยัน เราก็อยากจะไปดูกะเหรี่ยงคอยาว ทั้งที่จริงรูปแบบวิถีชีวิตเขาก็ปรับไปแล้ว หรืออย่างมานิ (กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในแถบภาคใต้ของไทย ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง, สตูล, พัทลุง) เราไม่อยากให้เขาเคลื่อนย้ายไปมาในป่า ก็จัดการให้เขามาอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่พอให้เขาอยู่แล้ว เขาอยากจะมีบ้านที่มั่นคงถาวร คุณก็จะบอกว่าไม่ได้นะ ไม่อย่างนั้นคนมาเที่ยวจะไม่เห็นวิถีของมานิ เพราะบ้านของมานิต้องเป็นทำเป็นเพิงหรือเป็นทับ มันเลยดูเหมือนว่าเราเองก็ยังพยายามจะให้เขาดูล้าหลัง และเคลือบมันด้วยคำว่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม”

อีกนัยหนึ่งคือ มันต้องเป็นความต่าง ความแปลก ที่ต้องด้อยกว่า ต้องดูประหลาด แต่ขณะเดียวกัน เราอาจปฏิเสธได้ไม่เต็มปากเต็มคำเหมือนกันว่า ความแปลกหรือ Exotic นี่แหละที่เชื่อมและชวนคนทั่วไปให้เข้ามาสนใจกลุ่มชาติพันธุ์

“คิดว่าความ exotic นี้ด้านหนึ่งมันก็เป็นเหมือนประตูพาให้เราได้เข้าไปสัมผัส เรียนรูั และเข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะถ้าคุณไม่เปิดด้วยประตูบานนี้ก่อน ก็ไม่มีความน่าสนใจ มันเหมือนการไต่ลําดับของความสนใจที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เพราะถ้าเราจะให้คนสนใจเรื่องนี้ต้องทําให้คนรู้สึกอยากเข้ามาสัมผัสก่อนความ exotic มันทําหน้าที่นี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ คนอยากไปดูชุมชนอยากไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงก็เพราะความ exotic”

อภินันท์ยกตัวอย่างตัวเอง ตอนได้เจอพะตีจอนิ โอ่โดเชา (ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ) ครั้งแรก เพราะอยากเห็นความ exotic แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความตื่นรู้

“พะตีจอนิบอกว่า อาจารย์ ถ้าอาจารย์ใส่ชุดกะเหรี่ยงแล้วบอกว่าเป็นกะเหรี่ยงนะ อาจารย์ก็เป็นกะเหรี่ยง แต่กะเหรี่ยงไม่ได้อยู่ที่เสื้อ มันอยู่ที่จิตวิญญาณ ผมเป็นกะเหรี่ยง เพราะฉะนั้นผมใส่กางเกงยีนส์ ใส่เสื้อยืดผมก็เป็นกะเหรี่ยง เพราะผมมีวัตรปฏิบัติเป็นกะเหรี่ยง – อันนี้มันคือการบาลานซ์ระหว่าง exotic ซึ่งเป็นประตูเปิดเข้า ให้คนวิ่งเข้าไปหา แต่ชุมชนชาติพันธุ์จะบาลานซ์เรื่องนี้ยังไงที่จะไม่ทำให้ความ exotic ให้แช่แข็งตัวเองไว้ นี่ป็นสิทธิที่ชุมชนต้องเลือก และรัฐควรให้โอกาสและสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในการเลือก”

ต่อจากการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ๆ ก็มีเครื่องมือต่างๆ ที่ทยอยตามกันมาเพื่อนิยามให้ชาติพันธุ์เป็นอื่น เช่น ภาษา

“การให้ใช้ภาษากลางในการเรียน เป็นเหตุผลที่ทําให้บางภาษามันถูกกดลง ผลที่ตามมาคือ ทุกวันนี้เราแยกความรู้ กับ ภูมิปัญญา ออกจากกัน อะไรที่เป็นความรู้ถือเป็น knowledge สมัยใหม่ ต่อยอดงอกงามได้เรื่อยๆ แต่พอเป็นภูมิปัญญาเราจะรู้สึกว่ามันก็เป็นความรู้แหละ แต่เป็นความรู้ที่เราต้องอนุรักษ์ให้มันอยู่แบบเดิมๆ ไม่ต้องต่อยอดอะไร ” 

และยิ่งเป็นอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญานั้นตั้งรกราก ทำกินอยู่บนผืนดินที่รัฐมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติ

“เมื่อก่อนป่าก็คือป่า เป็นของที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่คนกลุ่มชาติพันธุ์ก็ตั้งชุมชนอยู่และใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเรื่อยมา แต่พอรัฐไทยมองว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นสมบัติของชาติ วิธีการของรัฐ คือ เข้าไปครอบครองพื้นที่นี้ ผ่านการกำหนดเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ ที่ต้องไม่มีคนเข้าไปรบกวนความเป็นธรรมชาติ วิธีนี้เราจึงแยก ‘คน’ ออกจาก ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ชุมชนชาติพันธุ์ที่เคยอยู่ ทำกิน และใช้ประโยชน์ในป่ามาก่อน จึงหมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในป่าได้อีก และสร้างภาพให้คนเข้าใจว่าชาติพันธุ์เป็นพวกทำลายป่าไม้ ทําไร่เลื่อนลอย เผาป่า บุกรุกป่า ต้องอพยพคนเหล่านี้ออกจากป่า สังคมไทยจึงไม่ได้รู้สึกอะไรเวลามีข่าวว่ากลุ่มชาติพันธุ์เดือดร้อนไม่มีที่ทำกิน หรือโดนจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกป่า ก็เพราะรัฐไทยโปรแกรมความคิดของคนในสังคมแล้วว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนไทยและไม่ควรอยู่ในป่า”

สิ่งเหล่านี้อาจเรียกรวมว่ามายาคติ ซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริงบ้าง แต่สุดท้ายมันถูกนำมาผลิตซ้ำเรื่อยๆ จนคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนไทยรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้บ่อนทําลายทรัพยากรของชาติ ซึ่งเป็นความมั่นคงของประเทศ

“และความมั่นคงของรัฐนี่มันกว้างเป็นมหาสมุทร ทําลายป่าไม้ก็เป็นความมั่นคง มันจะเป็นปัญหาแบบนี้ตลอด เราไม่เคยเปลี่ยนวิธีคิดต่อการมองด้วยชาติพันธุ์ด้วยวิธีคิดแบบอื่น”

พ.ร.บ. ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน

เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองด้วยอคติ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลของการผลักดันพระราชบัญญัติและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คือการกลับมานิยามกลุ่มชาติพันธ์ุให้คืนสู่ความหมายที่มันควรจะเป็น

“ในกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม มีอัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญาและความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ ให้ความคุ้มครองกับคนทุกกลุ่มวัฒนธรรม”

สาระสำคัญของพ.ร.บ. ฉบับนี้ อภินันท์ย้ำว่าคือการทำความเข้าใจใหม่กับสังคมไทยว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้จะคุ้มครองเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ตามความเข้าใจของคนไทยทั่วไปๆ ไปว่า เป็นชาวเขา ชาวป่า เท่านั้น แต่คุ้มครอง ‘ความเป็นชาติพันธุ์’ ของคนทุกกลุ่มวัฒนธรรม

“ไม่ว่าจะเป็นคนบนพื้นที่สูง อย่างพี่น้องอาข่า ลาหู่ ปกาเกอะญอ ม้ง คนที่มีวิถีทำกินตามชายฝั่ง อย่างมอแกน มอแกน อูรักลาโว้ย หรือคนที่มีวิถีวัฒนธรรมผสมกลมกลืนกับความเป็นไทยไปแล้ว อย่างคนจีน คนมลายู ไทลื้อ ผู้ไท กูย กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองทั้งหมด มันเป็นกฎหมายที่โอบรับคนทุกกลุ่มวัฒนธรรมไว้ในสังคมไทยให้ทุกกลุ่มวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างเคารพใน ‘ศักดิ์’ และ ‘ศรี’ ของความเป็นชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มันไม่ใช่กฎหมายที่จะไปให้สิทธิพิเศษ แต่มันคือการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ควรได้รับสิทธิได้เข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกันทุกกลุ่มวัฒนธรรม”

แต่ถึงอย่างนั้น คนออกแรงผลักดันมาหลายปีอย่างอภินันท์ก็บอกว่า กฎหมายไม่ได้เป็นยาสามัญประจําบ้าน และลำพังแค่มีกฎหมายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ร่ายยาวมาตั้งแต่ต้นได้

จึงนำมาสู่สิ่งที่ทำมานาน ทำอยู่ และต้องทำต่อไป นั่นคือ การแก้ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ที่ต้องทำควบคู่กัน 2 แบบ คือ 1.โครงสร้าง 2.วัฒนธรรม

‘แก้ที่โครงสร้าง’ ผ่านกฎหมายเป็นหลักเพื่อสร้างมาตรการต่างๆ รองรับ ที่จะเอื้อให้เกิดการทําอะไรบางอย่างได้ก่อน

“เพราะทุกวันนี้มันไม่มีอะไรเลย มันปิดช่องหมด การมีกฎหมายก็จะเปิดช่องขึ้นมาให้ทําได้”

แต่สิ่งที่ต้องทํามากกว่านั้นคือ การแก้แบบที่ 2 คือ ‘กลไกเชิงวัฒนธรรม’ อย่างความเชื่อ อคติ

“ทัศนคติ อคติ เพราะความยากจริงๆ อยู่ที่ข้อนี้ แต่การทำให้กลไกเชิงวัฒนธรรมเปลี่ยน จำเป็นต้องมีกลไกทางโครงสร้างอย่างกฎหมายมาเปิดช่องก่อน”

อคติสำคัญคืออคติต่อตัวเอง

หนึ่งในกลไกเชิงวัฒนธรรมที่เปลี่ยนได้ยากคืออคติ และ ยากที่สุดคืออคติที่ไม่ได้มาจากคนอื่น แต่เป็นอคติที่กลุ่มชาติพันธุ์ด้อยค่าตัวเอง

“ด้วยความที่ชาติพันธุ์ในสังคมไทยอยู่ภายใต้อคติที่คนมองว่า ชาติพันธุ์ไม่มีคุณค่า เพราะฉะนั้นอคติข้อนี้ทำให้เขารู้สึกว่าเขาด้อย คนชาติพันธุ์เองก็ไม่ได้รู้สึกภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ เพราะว่าเขาอยู่ภายใต้กลไกทางวัฒนธรรมในสังคมไทยที่ไม่ยอมรับในความเชื่อของเขา จนเขารู้สึกว่า การเป็นชาติพันธุ์มันไม่มีคุณค่าหรือประโยชน์อะไรกับเขาเลย เขาจึงทิ้งความเป็นชาติพันธุ์ไป”

และด้วยกลไกทางโครงสร้างทำให้ชาติพันธุ์รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้พึ่งพา ผ่านการช่วยเหลือในรูปแบบ ‘สังคมสงเคราะห์’ ของรัฐ หรือเอาของไปให้ ไม่เคยมีอํานาจให้เขาตัดสินใจเลยว่าจะเอาหรือไม่เอา

“แค่กล้าพูดก็เป็นยังเป็นเรื่องยากสำหรับเขา ทีนี้พอไม่กล้าพูด มันก็เป็นข้ออ้างให้คนอื่นมาพูดว่า คุณมาพูดแทนเขาได้ไง เขายังไม่ว่าอะไรเลย คล้ายๆ กับว่าชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ยอมที่จะอยู่ภายใต้อํานาจนั้นด้วย อันนี้คือปัญหาที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และไม่กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้” 

เมื่อถูกด้อยค่าไปเรื่อยๆ จนหลังชนฝา เราจึงได้เห็นชาติพันธุ์เริ่มลุกขึ้นสู้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ในประเด็นปัญหาเฉพาะ เช่น ที่ดินทำกิน – ที่คนทั่วไปไม่ได้รู้สึกอินด้วย มันจึงเป็นการสู้อย่างโดดเดี่ยว และเสียงไม่ดังพอที่จะทำให้เกิดกระแสจนมีแนวร่วมออกมาต่อสู้

แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นกระบวนการต่อสู้ของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ด้วยการเอาตัวเองไปเชื่อมกับคนอื่น ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา และเชื่อมร้อยผ่านเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น ฉันคือแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ฉันรักษาต้นน้ําให้เธอ ผ่านแนวความคิดว่า “ใช้ประโยชน์ส่วนน้อย รักษาส่วนใหญ่ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม”

“กรณีดอยช้างป่าแป๋ สิ่งที่น่าสนใจคือเขาสื่อสารว่า หมู่บ้านเขามีคนร้อยกว่าคนนะ เขารักษาต้นไม้ไว้ได้เยอะ แล้วเก็บปริมาณออกซิเจนได้ตั้งไม่รู้กี่แสนลิตร จะมีคนได้ประโยชน์จากออกซิเจนนี้ประมาณ 2 แสนคน นั่นคือคนลำพูนทั้งจังหวัดเลยนะ”

ในสายตาอภินันท์ ที่คลุกคลีทำงานจนเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ว่าพี่น้อง เขาเห็นความกล้าบางอย่างของพี่น้องที่มีมากขึ้น ตลอดจนความคิดต่อตัวเองที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากคำว่าด้อยเป็นสำคัญและมีคุณค่า และกล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่าฉันนี่แหละชาติพันธุ์

“ผมเชื่อว่าการดํารงอยู่ของของพี่น้องชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมียุคไหนสมัยไหนที่เราไม่เคยใช้ประโยชน์จากเขา จนถึงนาทีนี้เราก็ใช้ประโยชน์จากกลุ่มชาติพันธุ์ เราขายความเป็นชาติพันธุ์เพื่อให้คนมาท่องเที่ยว เราเคยทําตัวเลขประมาณการ ปีๆ หนึ่งเนี่ยรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ํากว่า 10,000 ล้านบาท คุณไปเที่ยวหมู่บ้านปกาเกอญอที่เขาเลี้ยงช้าง ให้คนไปอาบน้ำช้าง คุณพาคนไปล่องเรือดําน้ํา คนขับเรือให้คุณก็เป็นมอแกน คือถ้าเรามองแบบนี้ สังคมไทยใช้ประโยชน์จากความเป็นชาติพันธุ์มาโดยตลอด”

มากกว่านั้น อีกแรงที่ดุนหลังให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นใจและกล้ามากขึ้นคือการเข้าไปเสริมศักยภาพชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขาจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง
“ถ้าจะให้นโยบายมันดีงาม ต้องมีความรู้ที่มาจากฐานข้อมูลที่ดีก่อน เราต้องรู้ข้อเท็จจริงก่อนว่ามันคืออะไรแล้วถึงเอาไปกำหนดนโยบายที่ดีได้”

‘สถานการณ์สุขภาวะชาติพันธุ์’ คือหนึ่งในโครงการจัดการฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สสส. ที่ออกแบบกระบวนการให้ชุมชนชาติพันธุ์จัดทำฐานข้อมูลของตัวเอง

“เมื่อก่อนนักวิชาการไปเก็บข้อมูล เก็บเสร็จไม่รู้หรอกว่าข้อมูลอยู่ไหน ถึงเวลาใช้จึงไม่เคยมีข้อมูล แต่ตอนนี้ชุมชนต้องเก็บเอง จัดการเอง แล้วเขาก็มีสิทธิ์ที่จะให้หรือไม่ให้ข้อมูลแก่ใครด้วย”

ยกตัวอย่าง สมัยก่อนพี่น้องชาติพันธุ์ไม่รู้ว่าการเดินหมุนทำพิกัดจีพีเอสมันทำอย่างไร เจ้าหน้าที่มาสำรวจพื้นที่จัดทำผังคร่างๆ ชุมชนก็ยึดตามนั้นเพราะไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร

“แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว พี่น้องชาติพันธุ์เขาเรียนรู้แล้ว เขาจะเดินสำรวจเองและทำผังชุมชนเอง มันจึงได้แนวเขตชุมชนที่ละเอียด เห็นทั้งแนวเขตและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของแต่ละชุมชน และชุมชนก็ร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการที่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เราก็เป็นเพียงหน่วยสนับสนุนกระบวนการ นี่คือการให้อำนาจไปที่ชุมชน”

ยกตัวอย่างและเหตุผลมาขนาดนี้ แน่นอนว่าอาจจะยังมีคนที่ไม่อินและยังคิดว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ คำถามก็คือแล้วอะไรกันที่ทำให้เรารู้สึกอยู่ได้ปลอดภัยโดยไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้อย่างนี้
หนึ่งในคำตอบคือเศรษฐกิจผูกขาดที่ครองตลาดใหญ่ด้วยนายทุนไม่กี่ราย

“ด้วยเศรษฐกิจผูกขาดทำให้เราเป็นอย่างนั้นจริงๆ เรารู้สึกแค่ว่าเรามี 7-11 ก็รอดแล้ว แต่เราไม่รู้หรอกว่าคนขนของให้เซเว่น คนที่นั่งม้วนทอฟฟี่อาจเป็นแรงงานชาติพันธุ์ก็ได้ หรือรังนกที่ซื้อไปเยี่ยมไข้ มีชาวมอแกนบางกลุ่มไปเป็นแรงงานเก็บรังนกนะ ของพวกนี้มันบังตาจนเราไม่เห็นว่าหน่วยเล็กๆที่สุดของมันจะเป็นอย่างไร”

อภินันท์ขมวดท้ายว่า การผูกขาดจนตัดจินตนาการเหล่านี้เป็นมายาคติบังตา และทำให้เรารู้สึกว่าฉันไม่จําเป็นต้องยุ่งกับเขา 

“เราคิดทุกอย่างมันเป็นแท่งๆ โดดๆ ความคิดแบบปัจเจกมันทําให้เราลืมไปว่า เราอยู่ได้ด้วยสายใยของการเกื้อกูล มันจึงต่างจากขับเคลื่อนกฎหมายอื่นๆ ที่พอทุกคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องของฉัน เรื่องของเรา มันจึงไม่ยุ่งยากมากนัก  แต่พอเป็นเรื่องชาติพันธุ์ ทุกคนจะมีคำถามว่ามันคืิออะไร เกี่ยวกับฉันอย่างไร จำเป็นอะไรประเทศนี้ และทำไมต้องคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ เขาเป็นใคร การผลักดันกฎหมายนี้มันจึงยากไม่เพียงแต่กระบวนการบัญญัติกฎหมาย แต่มันคือความยากในการทำให้คนเข้าใจและก้าวข้ามอคติที่ฝังอยู่ในหัวเรา” 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ