“ทุกงานเกิดจากความสิ้นหวัง ไปจนถึงความต้องการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก” ถอดถ้อยคำจากนิทรรศการศิลปะหลังกำแพง ที่เจ้าของผลงานสื่อถึงความรู้สึกที่อยาก ‘ออกไปข้างนอก’

“ทุกชิ้นงานเกิดจากความสิ้นหวัง ความเศร้า ความกดดัน ไปจนถึงความปรารถนาในความเข้าใจ การให้อภัย และความต้องการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก”

ถึงแม้ผลงานในงานนิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ Art Behind Bars จะดูสวยและสดใส แต่ใครจะรู้ว่าใต้ความสวยงามเหล่านี้มีความเศร้าและความกดดันซ่อนอยู่

งานนิทรรศการนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6-11 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีผลงานจากผู้ต้องขังจากเรือนจำ 7 แห่งทั่วประเทศ ผลงานศิลปะที่นำมาให้ทุกคนได้ดูกันก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เขียนภาพ เย็บปัก เขียนหิน ดัดลวด แกะหนังตะลุง สานกระจูด และเปเปอร์มาเช่

“ที่นี่เป็นสถานที่ที่ศิลปินมากหน้าหลายตาอยากเอาผลงานของตัวเองมาแสดง การที่เราเอางานของเรือนจำมาไว้ตรงนี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี”

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการเรือนจำสุขภาวะ กล่าวว่าหอศิลป์ฯ มักเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะสำหรับศิลปินมืออาชีพและเป็นที่ที่ศิลปินรายเล็กและรายใหญ่ต่างใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะต้องเอาผลงานของตัวเองมาแสดงที่นี่ให้ได้ การนำผลงานของผู้ต้องขังมามาจัดแสดงให้ผู้คนภายนอกดูที่นี่ก็เหมือนเป็นการชื่นชมเขา

เบื้องหลังของแต่ละผลงานตั้งต้นจากความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน มีทั้งเหงา เศร้า คิดถึงบ้าน ปะปนกันไป รศ.ดร.นภาภรณ์บอกว่า การดูศิลปะเหล่านี้ต้องนึกถึงผู้ต้องขังเจ้าของผลงานด้วย เพราะเขาสร้างสรรค์ผลงานจากหลังกำแพงแต่สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาคือความรู้สึกที่อยากออกไปข้างนอก

“เราสังเกตว่าจะมีภาพบางส่วนที่สื่อถึงการกอด ผู้ต้องขังหลายคนนึกถึงการได้ออกไปข้างนอกและกลับไปกอดพ่อแม่ ลูก หรือคนรักของตัวเองอีกครั้ง”

โครงการเรือนจำสุขภาวะไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการทำศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังพยายามพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังภายใต้หลักการ “สุขภาวะเพื่อคนทั้งมวล” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้และพร้อมที่จะออกไปชีวิตในสังคมภายนอกอีกครั้ง

‘โอกาส’ คือสิ่งที่ผู้ต้องขังใฝ่ฝันเป็นที่สุด ทั้งโอกาสที่จะได้กลับไปเจอครอบครัว โอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ และโอกาสที่จะประกอบอาชีพอย่างสุจริต ทีนี้ก็เหลือแต่ว่าคนภายนอกพร้อมที่จะให้โอกาสกับพวกเขาหรือไม่

แม้นิทรรศการนี้จะจบไปแล้ว แต่ถ้อยคำของผู้ต้องขังที่สร้างออกมาผ่านงานศิลปะยังคงอยู่ วันนี้เราจึงนำเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเรือนจำสุขภาวะ รวมไปถึงอดีตผู้ต้องขังมาให้ฟังอีกครั้ง เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเป็นผู้ต้องขังไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องมีความผิดติดตัวหรือถูกตีตราด้วยสิ่งที่ตัวเองทำตลอดไป แต่พวกเขาเปลี่ยนตัวเองได้ และรอให้สังคมเปิดประตูต้อนรับพวกเขากลับไป

อัครินทร์ ปูรี หรือชื่อที่หลายคนรู้จักกันก็คือ หรั่งพระนคร ยูทูปเบอร์ชื่อดังที่มีผู้ติดตาม 2 แสนกว่าคน เนื้อหาส่วนใหญ่ของเขาคือการนำเรื่องเล่าจากในคุกและพูดคุยเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เป็นนักโทษและอดีตนักโทษ

นอกจากจะเป็นยูทูปเบอร์แล้วหรั่งยังทำอาชีพเป็นช่างทำกีตาร์แฮนด์เมด เขาเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบศิลปะ นอกจากความสวยงามแล้วมันยังทำให้เขาเป็นคนอารมณ์เย็นขึ้นอีกด้วย

“เราเป็นหนึ่งคนที่อารมณ์ร้อน สมาธิสั้น แต่พอวันหนึ่งเราได้อยู่กับงานศิลปะ ได้หมกมุ่นอยู่กับมัน มันทำให้เรามีสมาธิที่มากขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และเย็นขึ้น”

หรั่งคืออดีตผู้ต้องขังที่เข้าออกสถานพินิจเรือนจำมาบ่อยครั้ง เขาเล่าว่าศิลปะในเรือนจำมีมายาวนาน มีเพื่อให้คนในเรือนจำได้มีสมาธิและอยู่กับตัวเองมากยิ่งขึ้น หรั่งมองว่าศิลปะมีข้อดีตรงที่ช่วยให้พัฒนาคนในเรือนจำให้ออกมาสู่สังคมอยู่กับคนปกติได้และนั่นก็เป็นเรื่องที่ดี

การเตรียมตัวเพื่อออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ผู้ต้องขังหลายคนมีความกลัวว่าเมื่อออกไปแล้วสังคมหรือแม้กระทั่งครอบครัวจะไม่ยอมรับเขาเหมือนก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในนี้

“ย้อนไป 13 ปีที่แล้ว คนในสังคมไม่ยอมรับอดีตนักโทษเลย แม้แต่ครอบครัวเราก็ห้ามพูดว่าเราเป็นอดีตนักโทษ แต่เรามีความเชื่อที่ว่าสังคมไทยยังคงเป็นสังคมเมตตาอยู่ ถ้าเราขอโอกาสเขาก็จะให้”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะหยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับหรั่งและนักโทษคนอื่นๆ ยังมีอีกหลายคนที่ยอมรับคนเหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งหรั่งก็ทำได้แค่การพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นว่าตอนนี้เขาต่างไปจากเดิมและเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

“ช่วงแรกก็ค่อยๆ สู้และพิสูจน์ตัวเองอยู่หลายปี เพราะว่าเราทำผิดมาเป็นสิบๆ ปี พอวันนึงเราออกมาได้ 2-3 เดือน จะมาขอโอกาสสังคม เขาก็ยังไม่เชื่อ เราต้องพิสูจน์ออกมาเป็นการกระทำว่า เราไม่เอาแล้วนะ เราไม่เกเรแล้วนะ เรามีอาชีพ”

นอกจากงานนิทรรศกาลจะมีศิลปะแล้ว ยังมีการแสดงโยคะจากอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งพวกเธอก็ได้เรียนรู้โยคะจากในเรือนจำ ทำให้ทุกวันนี้โยคะเป็นทักษะที่ติดตัวของเธอ

“เราเคยฝึกศิลปะตอนอยู่ข้างในเรือนจำ มันทำให้เราไม่ฟุ้งซ่าน จนทุกวันนี้เราออกมาแล้วก็ยังใช้ทักษะนี้มาประกอบอาชีพด้วย”

‘เบียร์ (นามสมมติ)’ อดีตผู้ต้องขังที่ชื่นชอบในโยคะ เธอเล่าว่าแต่ก่อนเป็นคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี ทำอะไรนิดหน่อยก็จะเหนื่อยง่าย แต่ทุกวันนี้เบียร์บอกว่าเธอ ‘สู้ตาย’

วันนี้เธอมาแสดงโยคะในนิทรรศการพร้อมกับทาหน้าสีขาวครึ่งหนึ่ง ดำครึ่งหนึ่ง เธอเล่าว่าสีดำหมายถึงอดีต และสีขาวคือปัจจุบัน เพื่อที่จะสื่อว่าแม้บางคนอาจจะมีอดีตที่มืดมน ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีปัจจุบันที่สดใสไม่ได้

“เรารู้ว่าในอดีตเราเคยทำอะไรผิดพลาดมา เรารู้ว่าเราต้องแก้ไขตรงไหน เราก็ต้องให้โอกาสตัวเองด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็อยากให้คนภายนอกให้โอกาสกับอดีตผู้ต้องขังเหมือนกัน”

หลังจากที่ได้ออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอก เธอก็ไม่ลืมที่จะส่งกำลังใจไปให้เพื่อนๆ ที่ยังอยู่หลังกำแพง เบียร์บอกว่าเธออยากให้ทุกคนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เสมอ ถ้าออกมาแล้วเจออุปสรรคหรือล้มก็อยากให้ลุกขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งอยากให้สังคมข้างนอกให้โอกาสพวกเธอได้เริ่มต้นด้วย เพราะเธอเชื่อเสมอว่าทุกคนเป็นคนใหม่ได้

“ไม่ใช่ทุกที่จะเป็นคนเลวโดยกำเนิด บางคนทำผิดเพราะความคิดชั่ววูบก็มี เราก็อยากจะขอโอกาสจากสังคม เพราะเรารู้แล้วว่าการอยู่ข้างในนั้นมันทำให้คิดถึงบ้านมากแค่ไหน จะไม่ย้อนกลับไปทำแบบเดิมอีกแล้ว”

ระหว่างยืนชมผลงานมากมายของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย รูปวาด หรือกระเป๋าสาน ก็มีเสียงของใครคนหนึ่งพูดกับเราว่า “ชิ้นนี้เป็นผลงานจากน้องๆ ของเราค่ะ” และหันไปเจอกับ ‘อุ้ม’ สมฤทัย อินทร์ฉิม ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำลังแนะนำผลงานของ ‘น้องๆ’ ให้เราฟังอยู่

ผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ผสมผสานสีอย่างลงตัว มีจุดโดดเด่นเป็นรูปตาและรูปนก อุ้มไม่ปล่อยให้เราสงสัย เธอทำหน้าที่อธิบายชิ้นงานนี้แทนน้องๆ ได้เป็นอย่างดี

“ผลงานนี้มาจากน้องที่ต้องโทษอยู่ น้องบอกว่า ‘ไม่มีอะไรที่จะมาปิดกั้นตัวเราได้’ รวมไปถึงจินตนาการและความคิดก็ด้วย เขาเลยมองว่าตัวเองเป็นนกที่พร้อมจะโผบินออกไป”

แม้จะอยู่หลังกำแพงสูง แต่ไม่มีทางที่นกจะบินเหนือกำแพงนั้นไปได้ เช่นเดียวกับน้องเจ้าของผลงงานศิลปะชิ้นนี้ อุ้มเล่าว่ายังมีผลงานของน้องอีกหลายคนที่ส่งตรงจากเรือนจำสู่งาน ซึ่งเธอเองก็ยินดีที่จะพาเราไปดูผลงานเหล่านั้น

ดูเหมือนว่าน้องของอุ้มจะมีหลายคน ซึ่งอุ้มบอกว่าน้องก็หมายถึงผู้ต้องขังนั่นเอง

“ทุกคนที่เข้ามาใหม่เราจะเรียก ‘น้อง’ เราอยากเป็นเหมือนพี่ให้น้อง เมื่อน้องพลาดเราก็ต้องมีการตักเตือนกัน แต่เมื่อน้องทำดีเราก็ต้องส่งเสริมเขา ขอให้เขามีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนชีวิตและความคิดของตัวเอง พวกพี่ๆ พร้อมให้โอกาสเสมอ อยากให้น้องๆ ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่กับสังคมและครอบครัวอย่างมีความสุข”

ในฐานะคนที่อยู่ร่วมกับผู้ต้องขังมามากกว่า 10 ปี อุ้มเห็นทุกคนเป็นน้อง ถึงแม้หน้าที่ของเธอคือผู้อำนวยการเรือนจำ แต่เธอก็ไม่ได้อยากให้ผู้ต้องขังทุกคนมีเส้นกั้นขวางกับเธอ อุ้มอยากจะเป็นพี่คนหนึ่งที่ดูแลและส่งเสริมให้น้องไปเจออนาคตที่ดีมากกว่า

ที่สำคัญพี่คนนี้ก็อยากจะสนับสนุนให้น้องไปตลอดรอดฝั่ง นี่จึงเป็นเหตุผลที่อุ้มเองก็สนับสนุนในส่วนของการพัฒนาทักษะวิชาชีพและพัฒนาจิตใจ เพื่อที่จะให้น้องๆ ทุกคนพร้อมปรับตัวหวนคืนสู่สังคมได้ ไม่ต้องกลับมาอยู่หลังกำแพงนี้อีกครั้ง

“เราต้องให้โอกาสเขาได้ใช้ชีวิตได้เหมือนกับคนอื่น ให้เขาได้อยู่กับครอบครัวกับสังคมภายนอก เราอย่ามองว่าเขาเป็นอาชญากร เจ้าหน้าที่และอุ้มเองก็ใส่ทั้งแรงกายแรงใจเราเข้าไป เสริมสร้างเขา เพื่อให้เขามีภูมิต้านทานที่แข็งแรง แล้วออกมาอยู่ข้างนอกให้ได้”

อุ้มทิ้งท้าย ในฐานะพี่สาวคนหนึ่ง เธอก็อยากให้สังคมเห็นว่าน้องๆ ของเธอก็ไม่ใช่คนที่ผิดพลาดเสมอไปและพร้อมให้โอกาสพวกเขา

“ภาพที่ออกมาจะไม่มีภาพในเรือนจำ แต่คือภาพที่ผู้ต้องขังอยากออกมาเจอสิ่งเหล่านั้น”

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการเรือนจำสุขภาวะกล่าว แม้ชีวิตจริงของผู้ต้องขังจะอยู่ข้างหลังกำแพง แต่พวกเขาก็สามารถสื่อสารความใฝ่ฝันถึงโลกภายนอกออกมาได้ และคงเป็นเพราะชีวิตนอกกำแพงคือสิ่งที่ปรารถนาพวกเขาเลยเลือกที่จะสื่อสารสิ่งนี้

เป้าหมายของโครงการเรือนจำสุขภาวะ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่หลังกำแพง สร้างเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งอยู่ใต้องค์ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง 2. ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ 3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ 4. ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ 5. ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร 6. สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว และ 7. มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

“วันนี้เราเอาผลงานของเขามา เพราะเราอยากให้คนทั่วไปได้เห็นและพวกคำชมต่างๆ นาๆ ที่เขาได้มา เราก็เอาไปบอกเขา เขาก็จะภูมิใจกับตัวเองมากๆ เพราะมันเป็นการให้โอกาสเขา”

สำหรับรศ.ดร.นภาภรณ์ผู้ที่ใช้เวลาเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสำหรับผู้ต้องขังมาเป็นเวลายาวนาน เธอยืนยันว่าแค่คำพูดหรือคำชมเล็กน้อย ก็เปลี่ยนชีวิตคนได้เลย มีบางกรณีที่ผู้ต้องขังท้อแท้กับชีวิตมากๆ แต่พอได้ยินเสียงของแม่ตัวเองมาให้กำลังใจ แค่นี้เขาก็มีแรงใช้ชีวิตต่อ

“แค่ชมผลงานเขาว่า ‘สวย’ คำนี้คำเดียวผู้ต้องขังเขาก็ชื่นใจมากแล้ว สำหรับผู้ต้องขัง โอกาสเพียงนิดเดียวก็เปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้ ประสบการณ์ทางบวกที่เรามีให้เขาไม่ต้องยาวก็ได้ แค่สั้นๆ แต่เขาจะจดจำตลอดไป”

ไม่จำเป็นต้องยืดยาวหรือหาคำพูดสวยหรูมาให้ผู้ต้องขัง แค่คำสั้นๆ ไม่กี่คำก็เปลี่ยนวันมืดมนหลังกำแพงให้เป็นวันที่สดใสได้ ท้ายที่สุดรศ.ดร.นภาภรณ์หวังว่าโครงการนี้จะทำให้พวกเขามีความสุขและกลับคืนสู่สังคมได้ และที่สำคัญก็คือพวกเขาจะไม่ต้องกลับมาอยู่หลังกำแพงนี้อีก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ