“ศาสนาอิสลามสอนให้เรียนรู้ตลอดชีวิต” พาไปรู้จัก ‘ดีนูลอิสลาม’ โรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิมที่สอนทำข้าวยำ ถักโครเชต์ เตรียมพร้อมโลกหลังความตาย
โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน
‘สูงวัย’ ก็ไม่ซุกซน เราทุกคนชอบไปโรงเรียน
เราเดินทางไปที่โรงเรียนดีนูลอิสลามเพื่อพูดคุยกันนักเรียนมากหน้าหลายตา แม้จะเป็นเวลาเช้าของวันธรรมดาแต่นักเรียนทุกคนต่างก็มีหน้าตาที่ยิ้มแย้มและสดใส พร้อมสำหรับคาบเช้าวันนี้สุดๆ และเพราะว่าโรงเรียนไม่มีกฎห้ามนักเรียนแต่งหน้า เราจึงได้เห็นนักเรียนที่แต่งเติมใบหน้าฝีมือเทียบเท่ากับเมคอัพอาร์ตติสเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยเลยทีเดียว
ปัจจุบัน สถานที่ที่เรียกว่าโรงเรียนไม่ได้มีไว้เพื่อสำหรับเด็กๆ เท่านั้น โรงเรียนดีนูลอิสลาม ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา คือโรงเรียนสำหรับเด็กวัย 40 ขึ้นไป บางคนคือพี่โตสุดที่อายุเกือบ 80 ปีเลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ทุกคนก็คือเด็กนักเรียนคนหนึ่งเหมือนกันหมด
“ศาสนาอิสลามสอนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต นี่เป็นบทบัญญัติของศาสนา โดยปกติแล้วคนมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจทุกวันและเอาหลักการอิสลามมาใช้ในการดํารงชีวิตเสมอ เพื่อที่เขาจะสามารถเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์แบบได้”
ยะโกบ เสมอภพ ผู้จัดการโรงเรียนดีนูลอิสลาม อธิบาย เพราะแนวคิดนี้จึงทำให้โรงเรียนสำหรับผู้สูงอายุมุสลิมเกิดขึ้น และ เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาสนับสนุน คนสูงวัยหลายคนยังอยากที่จะเรียนรู้แต่พวกเขาแค่ขาดพื้นที่เท่านั้นเอง
ยะโกบเล่าว่า แนวคิดของโรงเรียนของผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่หลายคนก็รับรู้โดยทั่วกัน แต่ก่อนผู้สูงวัยมุสลิมเข้าร่วมกับโรงเรียนที่มาจากชาวพุทธ ซึ่งในตอนนั้นก็เป็นอะไรที่สนุกเพราะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แถมยังได้รวบรวมผู้คนต่างศาสนาให้ได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย
แต่ด้วยวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวมุสลิม ทำให้กิจกรรมบางอย่างในโรงเรียนที่เคยมีไม่ตอบโจทย์ชาวมุสลิมเท่าไหร่ เช่น การร้องเพลงหรือเต้น ที่มักจะเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับผู้สูงอายุ แต่สำหรับคนมุสลิมแล้วกิจกรรมเหล่านี้ค่อนข้างขัดกับความเชื่อ ทำให้มีข้อจำกัดบางอย่างที่พวกเขาไม่สามารถเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่
“ที่โรงเรียนผู้สูงวัยมักจะมีกิจกรรมเข้าจังหวะ ก็คือการร้องเพลงและเต้นไปกับเพลง แต่สำหรับคนมุสลิมเราทำแบบนั้นไม่ได้ เราก็เลยอยากหากิจกรรมและพื้นที่ที่ตอบโจทย์สำหรับคนมุสลิมที่เป็นผู้สูงวัย เขาจะสบายใจเมื่อเข้าร่วม”
โครงการ 1 ปอเนาะ 1 โรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิม เป็นโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุมุสลิมมีพื้นที่เป็นของตัวเองและตอบโจทย์การเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตได้ มูลนิธิคนเห็นคนจึงร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ในการออกแบบโรงเรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวมุสลิมมากที่สุด
แต่ไม่ใช่ว่าทุกศาสนาต้องแยกออกจากกันเสียทีเดียว ยะโกบเล่าว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้มีโรงเรียนขึ้นมาก็คือการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดลานแซะ จ.พัทลุง ที่มีโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่แล้ว และก็มีชาวมุสลิมเข้าร่วมที่โรงเรียนนี้ แม้จะมาจากต่างศาสนาแต่ก็มีเป้าหมายที่อยากจะให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่เป็นของตัวเองเหมือนกัน
เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะได้ไป ‘โลกอาคีเราะห์’
ที่โรงเรียนดีนูลอิสลาม นักเรียนสูงวัยจะได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายและเหมาะสมกับตัวเอง มีทั้งเรียนศาสนา ทำอาหาร ถักโครเชต์ ปลูกต้นไม้ และที่สำคัญก็มีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอีกด้วย เพราะนักเรียนวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เจอกับปัญหาสุขภาพมากเป็นพิเศษ วิชานี้จึงสำคัญกับพวกเขามาก ๆ
“นอกจากเรียนศาสนาและเรื่องสุขภาพ เราก็มีการสอนอื่นๆ ที่เขาสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ อย่างที่นี่เรามีสอนทำน้ำบูดู ข้าวยำ หรือทำน้ำยาล้างจานที่ผลิตเองได้ หลายคนก็เอาไปทำต่อที่บ้านและทำขายได้”
ความสนุกคือส่วนหนึ่งที่พานักเรียนทุกคนมาที่นี่ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกคนมาเรียน คือความเชื่อเรื่อง ‘โลกหลังความตาย’ หลายคนอาจจะคิดว่าฟังดูแล้วน่ากลัว แต่สำหรับคนมุสลิมแล้วความตายไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือการไม่ได้เตรียมพร้อมกับมันต่างหาก
“เมื่ออายุเยอะแล้วการจากลาโลกนี้ไปก็เป็นเรื่องที่ต้องรับมือให้ได้ ชาวมุสลิมเชื่อว่าหมดลมหายใจในโลกนี้แล้วเราจะไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกโลกหนึ่งชั่วนิรันด์ ไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว แต่จะไปถึงตอนนั้นได้เราก็จะไปอยู่ในโลกหลุมฝั่งศพเพื่อรอวันพิพากษาจากพระเจ้าก่อน”
‘ดุนยา’ คือชื่อของโลกปัจจุบันที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ เมื่อถึงวันหนึ่งที่มนุษย์หมดลมหายใจศาสนาอิสลามเชื่อว่าชาวมุสลิมจะไปใช้ชีวิตในโลกของหลุมฝังศพที่เรียกว่า ‘อาลัมบัรซัค’ โลกที่คั่นกลางระหว่างโลกปัจจุบันและปรโลก เป็นโลกที่อยู่เพื่อรอวันพิพากษาจากพระเจ้า ซึ่งโลกหลังจากการตัดสินชื่อว่า ‘โลกอาคีเราะห์’ หมายถึงโลกแห่งการตอบแทน ชีวิตในโลกนี้จะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับชีวิตที่เราได้ทำไว้ในโลกดุนยา โดยโลกอาคีเราะห์จะเป็นโลกที่ชาวมุสลิมจะได้พบกับพระเจ้า (อัลลอฮฺ)
เพื่อที่จะอยู่ในโลกที่ได้พบพระเจ้า ชาวมุสลิมสูงวัยจึงต้องเตรียมพร้อมทั้งร่ายกายและจิตใจไว้ ยะโกบเล่าว่านี่เป็นเหตุผลที่หลายคนเข้าร่วมโรงเรียนผู้สูงอายุ เพราะพวกเขายังต้องการพื้นที่ที่ได้แสวงหาความรู้ในโลกปัจจุบันและโลกหน้าหลังความตาย วิชาสอนศาสนาจึงตอบโจทย์พวกเขาเป็นอย่างดี
โรงเรียนทำให้เจอเพื่อนที่พูดเรื่องเดียวกัน
“เราอยู่บ้านกับลูกกับหลานมาตลอด พอนานๆ ไปเราเริ่มไม่เข้าใจเรื่องที่ลูกหลานคุยด้วยแล้ว”
เทคโนโลยี เกมส์ โซเชียล เรื่องที่ ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง ในวัย 60 ปี ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าเธอปฏิเสธเรื่องแบบนี้ แต่บางทีเธอก็อยากอยู่ในบทสนทนาที่เธอรู้สึกเชื่อมโยงด้วยบ้าง แต่เพราะคนในครอบครัวมีแค่เธอที่อยู่ในช่วงวัย 60 ทำให้หาคนที่จะคุยเรื่องคล้ายๆ กันยาก
จนกระทั่งได้มารู้จักกับโรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิม ฮูวัยดีย๊ะเล่าว่าเธอก็ได้คุยกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ที่พูดเรื่องที่เรารู้กันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องอดีต เรื่องลูกหลาน แถมยังทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่คลายความเหงาและความเครียดได้อีกด้วย
“บางทีเราก็อยากคุยเรื่องอดีตมากกว่าคุยเรื่องอนาคต เราชอบคุยกับเพื่อนว่าชุมชนของเราตอนนี้ต่างจากเมื่อก่อนยังไง แล้วก็แชร์กันเรื่องสุขภาพ เช่น ตอนนี้ร่างกายเป็นยังไง ไปหาหมอที่ไหนมาบ้าง มันก็ดีที่เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องนี้เพราะเรื่องสุขภาพมันสำคัญสำหรับคนวัยอย่างเรานะ”
นอกจากจะเป็นนักเรียนฮูวัยดีย๊ะยังเป็นผู้ประสานงานให้กับโครงการ 1 ปอเนาะ 1 โรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิมอีกด้วย ซึ่งดูแลในพื้นที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เพราะฉะนั้นเธอจึงเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ในฐานะผู้เข้าร่วมเองและผู้รับผิดชอบอีกด้วย
“บางคนเข้าร่วมโครงการมา 3-4 เดือนแบบไม่ขาด ไม่ลาเลย บางคนมานั่งรอก่อนเวลาเริ่มเรียนอีก พอเราเห็นเพื่อนๆ มากันด้วยแววตายิ้มแย้ม เขาดูสดใสขึ้นเลย เทียบกับเมื่อก่อนที่มาแรกๆ จะดูไม่ค่อยมีแรง หลังๆ มาเราเห็นเขาทะมัดทะแมงขึ้นเยอะ”
เธอทิ้งท้ายว่าถ้าเป็นไปตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เธอก็อยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปและคาดหวังในอนาคตจะได้ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เพื่อนๆ อีกหลายคนที่อยู่ห่างไกลได้มีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกัน
ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้ไหม
“ผู้สูงอายุอยากมีพื้นที่เป็นของเขาและต้องเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับเขาด้วย”
โจทย์แรกที่ เล็ก-ไพรัช วัฒนกุล ผู้ประสานงานมูนิธิคนเห็นคนในพื้นที่ภาคใต้ พยายามไขให้ได้ ตัวอย่างจากวัดท่าแซะ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เธอได้เห็นความเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ทั้งชาวพุทธและมุสลิมก็ต่างเข้ามาพูดคุยและเป็นเพื่อนกันโดยไม่มีกำแพงอะไรกั้นไว้ แต่เล็กเองก็อยากให้ชาวมุสลิมเข้าร่วมทุกกิจกรรมได้อย่างไม่ลำบากใจ โรงเรียนผู้สูงอายุมุสลิมจึงถูกสร้างขึ้นมา
“เราเคยจัดกิจกรรมที่สำหรับผู้สูงอายุรวมทั้งพุทธและมุสลิมแล้วพบว่าตอนเที่ยงมีบางคนต้องเดินออกไปหาอาหารรับประทานข้างนอก ทั้งๆ ที่เราก็มีอาหารเตรียมไว้ให้ จนเรามาเข้าใจที่หลังว่าคนมุสลิมเขาก็มีหลักการรับประทานของเขา ซึ่งเราเผลอมองข้ามไป”
ไม่ใช่ต้องพิเศษหรือแปลกกว่าคนอื่น แต่ชาวมุสลิมมีความศรัทธาและวิถีการปฏิบัติของตัวเอง ฉะนั้นแล้วเพื่อให้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ทุกความหลากหลายจึงควรที่จะได้รับการยอมรับ โรงเรียนผู้สูอายุมุสลิมจึงเป็นโรงเรียนที่ดำเนินการตามบริบทของชาวมุสลิมเป็นหลัก ทั้งนี้ถ้าชาวพุทธอยากเข้าร่วมด้วยก็ทำได้แน่นอน
เล็กเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่อยากทำเพื่อผู้สูงอายุในภาคใต้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือชาวมุสลิม หรือจะมาจากศาสนาไหนก็ตาม เล็กเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายที่ดี ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เธออยู่ในมูลนิธิคนเห็นคนมานานกว่า 20 ปีแล้ว
“ปัญหาที่เราเห็นจากผู้สูงอายุก็หนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ ทั้งกายและจิตเลย บางคนเขาก็อยากออกจากบทบาทตาหรือยายและออกไปทำอย่างอื่นบ้าง”
หลายคนต้องอยู่บ้านเลี้ยงหลานเนื่องจากลูกๆ มาฝากเลี้ยงพราะเห็นว่าไม่ได้ทำอะไร การเลี้ยงหลานก็เป็นอะไรที่ผู้สูงอายุหลายคนชื่นชอบ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งพวกเขาก็อยากมีกิจกรรมที่ได้เลือกเองและได้อยู่กับตัวเองบ้าง
“มาที่นี่เขาจะได้เล่น ได้คุย ได้เรียน อยากให้พื้นที่นี่ให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งผลลัพท์ที่เห็นก็คือเขามีความสุขขึ้น เขาดูแจ่มใส และบางคนก็เอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดอีกด้วย”