Storytelling of ผู้ต้องขัง : ชวนดู ‘นิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ’ ปลดปล่อยจินตนาการ ความใฝ่ฝัน และความรู้สึกผ่านงานศิลปะ

“เราอยากให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกเหมือนกับที่เราเคยได้ยินว่า นี่ผลงานผู้ต้องขังเหรอ” 

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการเรือนจำสุขภาวะ กล่าวถึงการนำศิลปะเข้ามาในโลกหลังกำแพงสูง จนกลายเป็น ‘นิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-11 สิงหาคมนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ประชาชนสามารถเข้าชมได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ภายในงานจะจัดแสดงผลงานศิลปะจากผู้ต้องขังทั้ง 7 เรือนจำ กว่า 400 คน ประกอบไปด้วยผลงานการเขียนภาพบนหิน งานสีวินเทจ เปเปอร์มาเช่ การปักผ้า การแกะหนังตะลุง การดัดลวด เป็นต้น 


กอด 

คือภาพสองคนกอดกัน ผลงานภาพจากหนึ่งในผู้ต้องขังจังหวัดพังงา ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใน ภาพ “กอด” ของผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เป็นความรู้สึกที่มีอยู่ทุกวันคืน โหยหาความรัก ความอบอุ่น ความสุข ที่คุ้นเคยมาแต่เยาว์วัย  


ปลดโซ่ตรวน

หนึ่งผู้ต้องขังหญิงเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เลือกภาพโซ่มาปักผ้าเพื่อสร้างผลงานศิลปะ เธอเลือกใส่ความงดงามของโซ่ที่สร้างขึ้นด้วยดอกไม้ สีสันสดใส เป็นโซ่ที่มาจากความรัก ความอบอุ่น คำชม ซึ่งเป็นกำลังใจจากเพื่อนผู้ต้องขัง ผู้คุม และ ครูผู้สอน “หนูสามารถทำให้โซ่ในชีวิตหนู เป็นสิ่งสวยงาม เป็นความเบิกบาน ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวหนูเอง” ผู้ต้องขังหญิงอธิบายถึงผลงานเพิ่ม

2 ชิ้นงานข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่จะจัดในนิทรรศการ ‘ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ’ มาจากการทำงานศิลปะในเรือนจำที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาวะผู้ต้องขัง ซึ่งรศ.ดร.นภาภรณ์ระบุว่า จำนวนผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 45% ในปี 2567 ต้องพยายามให้เลขเหล่านี้ลดจำนวนลง โดยการนำศิลปะให้ผู้ต้องขังสร้างสรรค์ผลงานระหว่างวัน เพื่อให้พวกเขามีความสุขขณะอยู่ในเรือนจำโดยไม่รู้สึกเครียด พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้จะอยู่ในสภาพที่แย่ 

“เราไม่ต้องการให้เวลากลางวันในเรือนจำเป็นการอยู่เพื่อฆ่าเวลา การนำงานศิลปะให้พวกเขาได้ลงมือรังสรรค์ออกมา นอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพแล้ว ยังช่วยบอกเล่าจินตนาการ ปลดปล่อยความรู้สึก และความใฝ่ฝันผ่านผลงานได้” 

สุขภาวะที่ดี ในมุมของผู้จัดโครงการเรือนจำสุขภาวะ ไม่ได้หมายถึงแค่ความสมบูรณ์แค่ร่างกาย แต่สังคม สติปัญญา และสุขภาพจิตต้องดีควบคู่กันไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่อยู่ในเรือนจำมักจะเผชิญความเครียด กังวล มีความทุกข์ การนำศิลปะเข้ามาอาจจะช่วยแก้คลายความเศร้า และบำบัดจิตใจไปพร้อมกัน 

“เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ต้องขัง เขาก็พูดถึงความรู้สึกของเขาจริงๆ ว่า พอเขาได้มาทํางานศิลปะวันเวลาก็ผ่านไปเร็วมาก มันทำให้เกิดสมาธิ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ทำ แล้วเขาก็รู้สึกภูมิใจและจะเอาสิ่งนี้ไปเป็นอาชีพอิสระได้ต่อไป และที่สำคัญที่เราคิดว่ายังเป็นสิ่งที่ยังขาดในเรือนจำ คืออารมณ์ ความรู้สึก ทั้งในส่วนที่เขากำลังอยู่ภายในเรือนจำ การนึกถึงอดีต ความใฝ่ฝัน มันปรากฏออกมาในงานที่เขาผลิต ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานในพื้นที่ที่คนไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัส มันเป็นอารมณ์ที่มีความเครียด ความกดดัน ไม่ได้มาจากอารมณ์สุนทรีย์อย่างคนที่อยู่ภายนอก ซึ่งเรามองว่าผลงานเหล่านี้เปลี่ยนพวกเขาจริงๆ นอกจากนี้ยังทำให้เขาเกิดความรู้สึกสงบและตระหนักถึงคุณค่าในตนเองได้มากขึ้น”

รศ.ดร.นภาภรณ์ บอกว่าสุดท้ายแล้วอยากให้คนเข้ามางานแล้วรู้สึกเหมือนกับที่เราเคยได้ยินว่า นี่ผลงานผู้ต้องขังเหรอ 

“มันเป็นความตรึงใจของเขา ซาบซึ้งกับสิ่งที่เป็นผลงานออกมา ขณะเดียวกันเราก็จะมีนิทรรศการเกี่ยวกับภาพถ่ายของเรือนจําด้วย ซึ่งจะทําให้เขาเห็นว่า ผลงานที่เขาเห็นว่างดงามมันมาจากพื้นที่แบบนี้ ซึ่งเป็นคนละพื้นที่ที่คุณเห็นหรืออาศัยอยู่ เพราะฉะนั้นเราอยากให้คนที่เข้ามาเกิดความประทับใจ รู้สึกชื่นชมในความอดทน ความพยายาม และความสามารถของเขา” 

‘ผู้ต้องขัง’ ก็สามารถถ่ายทอดผลงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ เรื่องราวมากมายที่พวกเขาเผชิญภายในโลกสี่เหลี่ยมแห่งนี้เป็นอย่างไร สามารถชมได้ที่ นิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ