เบาะแท็กซี่ กลิ่นบุหรี่ เสียงโทรศัพท์ และไม้แขวนเสื้อ ‘ความกลัว’ ที่ถูกนำมาจัดวางใน ‘เราเข้าใจ’ นิทรรศการที่พาไปทำความเข้าใจ ‘ความกลัว’ จากการถูกคุกคาม ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 4
‘ความกลัว’ ที่รับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 4 ของร่างกาย
ประโยคข้างต้นไม่ใช่การโปรโมทหนังผีแบบ 4DX (ระบบฉายหนังแบบ 4 มิติ) แต่คือความกลัวของคนที่มีประสบการณ์ถูกคุกคาม และชวนทำความเข้าใจผ่านนิทรรศการ 4 มิติ ที่ชื่อว่า ‘เราเข้าใจ’ ภายในงานเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘เรา’ หรือ Rao.asia
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มเราได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และองค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม ไซด์คิก (Sidekick) พร้อมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เราเป็นแพลตฟอร์มที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนที่ประสบเหตุการณ์บางอย่างที่กระทบร่างกายและจิตใจ พื้นที่ตรงนี้ถือเป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะได้ออกแสดงออกทั้งความรู้สึก และความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวจะมีใครตัดสินหรือคุกคามได้ พร้อมทั้งได้รู้วิธีก้าวข้ามเหตุการณ์ที่เคยเจอ พร้อมกับเสริมพลังตัวเองให้แข็งแรง
“ก่อนเข้าชมนิทรรศการเตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อม”
เป็นป้ายที่ปรากฎอยู่หน้าทางเข้า เพื่อบอกให้เราเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปในนิทรรศการ เนื่องจากภายในนิทรรศการ คือ เรื่องราวและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากคนที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจมาก่อน ซึ่งแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ออนไลน์ พื้นที่สาธารณะ หรือเกิดขึ้นจากคนใกล้ชิด
‘เราเข้าใจ’ ที่เป็นชื่อของนิทรรศการดังกล่าว ความหมายตรงตามตัวอักษร คืออยากให้คนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วม ได้เข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการถูกคุกคาม เรื่องราวต่างๆ จึงถูกถ่ายทอดผ่านนิทรรศการ 4 มิติ ที่จะมีทั้ง เสียง ภาพ สัมผัส และกลิ่น
เมื่อก้าวเข้าสู่ในนิทรรศการแล้วสิ่งแรกที่เราเห็นตั้งอยู่ตรงหน้า คือ ‘เบาะรถแท็กซี่’
ป้ายคำอธิบายเล็กๆ ที่อยู่ข้างเบาะรถยนต์ เพื่อเล่าที่มาที่ไปของสิ่งของชิ้นนี้ เป็นเรื่องราวของคนที่เคยมีประสบการณ์สะเทือนจิตใจจากเบาะรถแท็กซี่คันนี้ เขาเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งที่ฝกตกหนักมาก เขาตัดสินใจกลับบ้านโดยแท็กซี่ และระหว่างที่นั่งอยู่ตรงเบาะหลัง อยู่ดีๆ คนขับรถก็จอดรถ และขึ้นมาที่เบาะหลัง
“วินาทีนั้นเรารู้แล้วว่าเขาต้องการจะทำอะไร แต่เรากลัวมากจนตัวแข็งทื่อ ทำอะไรไม่ถูก”
สิ่งที่ฝังอยู่ในใจเขาคือเรื่องราวที่อยู่บนเบาะแท็กซี่ เจ้าของเรื่องเล่าว่าระหว่างเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น สิ่งเดียวที่เขาเห็นคือเบาะรถ เขาจำรายละเอียดของเบาะนั้นได้ทั้งลวดลาย สี กลิ่น แม้กระทั่งรอยเย็บตะเข็บที่หลุดลุ่ย หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาเลือกที่จะไม่นั่งแท็กซี่อีกเลย
‘ไม้แขวนเสื้อ’ คือ ความกลัวถัดมาที่ถูกถ่ายออกมาจากเจ้าของเรื่องราวอีกหนึ่งคน ถึงแม้เรื่องจะผ่านไปนาน และบาดแผลที่เคยขึ้นจากเหตุการณ์นี้จะจางหายลงไปแล้ว แต่เขาเล่าว่าทุกครั้งที่เห็นใครก็ตามถือไม้แขวนเสื้อ สิ่งแรกที่รู้สึกได้ก็ยังคงเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยเสมอมา ตามด้วยความรู้สึกจุกที่หน้าอก และเจ็บแปลบๆ ที่ขาข้างขวาที่ตัวเองเคยโดนตีมาก่อน
“เราจำใจเรียนในคณะที่พ่อแม่อยากให้เราเรียน พอเรียนไปเกรดก็ตกลงเรื่อยๆ จุดแตกหักคือเราบอกเขาว่าเราไม่ไหวแล้ว ขอดรอปเรียน เขาโมโหมากและคว้าไม้แขวนเสื้อฟาดเรา”
แต่ละคนมีความรู้สึกต่อ ‘เสียง’ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนการได้ยินเสียงนกร้องทำให้รู้สึกสดชื่น หรือบางคนกลัวทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงหมาหอน หรือหดหู่ตอนฟังเสียงร้องไห้ แต่หนึ่งเสียงที่น่ากลัวสำหรับเจ้าของเรื่องราวในนิทรรศการนี้ คือ เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนที่เขาประกาศตามหาสุนัขที่หายไป พร้อมกับใส่เบอร์โทรของตัวเองลงไป หลังจากนั้นไม่นานก็มีเสียงเรียกเข้าจากเบอร์แปลกหน้าโทรเข้ามา และถามว่าใช่ร้านขายของหรือไม่ เขาจึงได้ปฏิเสธและวางสายไป แต่เบอร์เดิมกลับโทรเข้ามาอีกครั้งพร้อมกับบอกว่า “แปปนึง จะเสร็จแล้ว” ทำให้เจ้าของเรื่องราวตกใจอย่างมากและกดวางโดยทันที แต่เบอร์นี้ก็ยังพยายามที่จะโทรมาอีก จนเขาเองต้องปิดโทรศัพท์หนี ถึงแม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลายปีที่แล้ว แต่มันก็ยังสร้างความหวาดระแวงต่อเสียงโทรศัพท์ให้กับเขาได้อยู่ดี
อีกหนึ่งประสาทสัมผัสที่แม้มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่กลับมีผลต่อจิตใจของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตมาก่อน ไม่แพ้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ได้แก่ ‘กลิ่น’
สำหรับเจ้าของเรื่องราวนี้กลิ่นบุหรี่ไม่ได้ทำร้ายร่างกาย แต่มันยังทำลายวันหนึ่งวันของเขาไปได้เลย เรื่องราวเกิดขึ้นจากการที่ผู้เป็นพ่อมักจะมีนิสัยชอบสูบบุหรี่เป็นประจำ แต่มันก็ยังไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะตัวเขาเองในตอนเด็กก็ยังมองว่า ตัวเองโชคดีที่ได้เกิดมาในบ้านที่มีครอบครัวที่อบอุ่น จนวันหนึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
“เสียงตะโกน เสียงดังตุ๊บๆ ภาพพ่อง้างหมัด มันอยู่ในความทรงจำของเราตลอด แค่ได้กลิ่นบุหรี่วันนั้นเราจะจิตตกไปเลย”
กลิ่นบุหรี่เหมือนเป็นตัวแทนของพ่อ ผู้ที่ทำร้ายคนในครอบครัว จากเหตุการณ์นี้กลิ่นยังพาทั้งภาพและเสียงให้กับมาวนเวียนอยู่ในหัวของเจ้าของเรื่องอีกครั้ง ทุกครั้งที่ได้กลิ่นเขาจึงรู้สึกเหมือนว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าของเขาเลย
การได้เล่าให้ใครสักคนฟัง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ แต่เจ้าของเรื่องราวในนิทรรศการหลายคน หรือคนอื่นๆ ที่เคยเผชิญเหตุการณ์นี้ มีบางคนไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง ส่วนหนึ่งเพราะบางคนยังไม่เข้าใจการถูกคุกคาม หรือถึงขั้นมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องไปคิดมากก็จบแล้ว
Rao.asia จึงเป็นพื้นที่ที่เอาไว้พูดคุย ระบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งต่อพลังบวกให้แก่กันโดยจะไม่มีใครคอยตัดสินใคร นอกจากนี้พวกเขายังไม่ต้องรู้สึกระแวงว่าคนที่พูดถึงจะตามหาเขาได้หรือไม่ เพราะพื้นที่ที่นี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน พวกเขาจะรู้สึกอุ่นใจได้ว่า เมื่อพูดอะไรออกไปจะไม่มีใครคอยตัดสินและจะได้รับแต่พลังบวกกลับมา เพราะตลอดการใช้งานมีทั้งทีมงานและผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่เสมอ
นอกจากนี้ภายในแพลตฟอร์มเรายังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำด้วยกันที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละกิจกรรมก็จะสอดแทรกเคล็ดลับสร้างความสุข การมีสติ และการอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งสามารถเลือกทำกิจกรรมได้ตามที่ทุกคนสนใจได้เลย อีกทั้งยังรวบรวมช่องทางให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ทันทวงที
“ใครที่กำลังเจอเหตุการณ์แย่ๆ กระทบกระเทือนจิตใจของเราอยู่ ขอให้ลองเปิดใจพูดคุยกับคนรอบตัว หรือเข้ามาคุยที่ rao.asia ได้นะ เพราะอย่างน้อยการพูดคุยกับใครสักคนจะรู้สึกดีขึ้น เราไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนที่อยากให้กำลังใจ หรือคอยช่วยเหลือเรา”
‘แพรว’ ทิพย์เกษร สุตันคำ บอกกับเราไว้ เธอเป็น 1 ใน 270 คนที่เข้าร่วมทดลองใช้แพลตฟอร์มเรา และก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เลวร้ายจากการโดนคุกคามมาก่อน
ไม่ว่าชีวิตของคุณเคยเผชิญกับเรื่องกระทบจิตใจหรือกำลังเผชิญกับมันอยู่ก็ตาม เราอยากให้ทุกมองเห็นเราในฐานะเพื่อนคนหนึ่งที่จะมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกคุณเสมอ และจะช่วยกันผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ ด้วยความเข้าใจและพลังบวกที่มีให้ต่อกัน
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน ‘เรา’ ได้ที่ https://www.rao.asia