เชียร์มวย ต่อคิวซื้อของ ตรวจสุขภาพ ร่วมงานอีเวนต์ สารพัดอาชีพที่ ‘คนไร้บ้าน’ ทำ
“วันนี้มาดูรองเท้า แต่ของมันไม่ออก”
‘นวล’ (นามสมมติ) บอกกับเราหลังจากหาที่นั่งคุยเสร็จ เป็นกิจวัตรประจำวันของนวลที่จะเดินทางจากสำโรงมาสยามเพื่อทำงาน ซึ่งงานของนวลก็คือ ‘รับจ้างต่อคิว’ ไม่ว่าจะรองเท้ารุ่นใหม่ล่าสุด นาฬิกาคอลเลกชันพิเศษ หรือบัตรคอนเสิร์ตศิลปินไทย-ต่างประเทศ นวลก็สามารถไปต่อคิวซื้อมาให้ได้
แต่วันนี้งานต่อคิวซื้อรองเท้าของนวลอาจต้องล่ม เพราะของยังไม่ถูกปล่อยออกมาขาย เราจึงถามนวลกลับไปว่าแล้วเธอจะทำอะไรต่อ
“บางทีเราจะไปซื้อรองเท้าตอนเช้า แล้วไปดูมวยตอนดึกๆ วันนั้นก็จะได้เงินประมาณ 800 บาท”
‘เชียร์มวย’ ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่นวลทำ แต่จะเรียกว่า ‘เชียร์’ อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะนวลบอกว่างานของเธอคือการเข้าไปนั่งดูเขาแข่งมวยกันตั้งแต่ 1 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน บางทีคู่ไหนที่คู่ชกน็อกไวงานก็จะเลิกเร็วขึ้น ซึ่งค่าตัวของนวลในการไปนั่งดูอยู่ที่วันละ 300 บาท นวลบอกว่างานนี้ได้ไม่มากเท่ากับการไปต่อคิวรับจ้างซื้อของ ซึ่งเริ่มต้นที่ 400 บาท ถ้าคิวที่เธอต่อได้ลำดับดีแปลว่ามีโอกาสได้สินค้าดีๆ ตามไปด้วย ค่าตัวก็จะพุ่งสูงขึ้นหลักร้อยปลายๆ จนถึงหลักพัน แต่ถ้าวันไหนเธอไปต่อคิวไม่ทันเพราะคนเต็มซะก่อน นวลก็จะได้ค่ารถเป็นของตอบแทนประมาณ 100 – 200 บาท
สำหรับนวลเงินหลักร้อยเหล่านี้สำคัญมากในการช่วยเธอตั้งตัว ให้หลุดพ้นจากสถานะ ‘คนไร้บ้าน’
ช่วงที่โควิดระบาดเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว ทำให้นวลที่ขายผลไม้ในตลาดแห่งหนึ่งได้รับผลกระทบ ลูกค้าหายเงียบ ของที่ซื้อมาขายก็ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายนวลต้องเลิกอาชีพนี้ไป แต่การหางานใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เมื่อไม่มีรายได้นวลเลยต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอก บริเวณหัวลำโพงเป็นจุดที่เธอเลือกมาอยู่ รวมถึงใครอีกหลายๆ คน
“เราไม่ชอบไปรอของแจก คนมันเยอะเบียดกันอีก บางทีหงุดหงิดเขาไม่มาแจกของก็ทะเลาะกัน”
ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตที่นวลต้องการ ทำให้เธอพยายามหาทางกลับไปใช้ชีวิตเมื่อก่อน ‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายต่างๆ (สามารถอ่านข้อมูลได้ที่นี่ https://penguinhomeless.com/sharehouse/) เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้นวลกลับไปใช้ชีวิตแบบที่เธอต้องการได้
เพราะช่วงโควิดเป็นช่วงที่มีคนถูกผลักออกมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่จำนวนมาก โครงการนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อลดจำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ ทำให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ โดยโครงการจะสนับสนุนที่พักอาศัยและช่วยหางานทำ มีเงื่อนไขว่าโครงการจะจ่ายค่าที่พักส่วนหนึ่ง คนไร้บ้านออกอีกส่วน ซึ่งมีอัตราเป็นขั้นบันได จนถึงระยะหนึ่งที่โครงการหยุดสนับสนุน เป็นวันที่พวกเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง หลุดจากสถานะนี้แล้ว
นวลบอกว่า ตอนนี้เธออยู่ในขั้นที่สามารถจ่ายเงินค่าที่พักเดือนละ 2,800 บาทได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ มีโครงการช่วยสนับสนุนอีกประมาณ 500 บาท แต่จากการทำงานและเงินเก็บที่มี นวลบอกว่าเธอคิดว่าสามารถดูแลตัวเองได้เอง หากโครงการนี้จบลง
‘การทำงาน’ เป็นวิธีที่ทำให้คนไร้บ้านหรือคนอื่นๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้บนโลกนี้ แม้ว่าปัจจัยสำคัญของการมีชีวิตคืออากาศ แต่ ‘เงิน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นวลบอกว่าเธอชอบทำงานมากๆ แต่อายุ 60 ปีก็ทำให้งานหายากสำหรับเธอ บวกกับสถานะคนไร้บ้านก็ทำให้หลายๆ ที่ลังเลใจที่จะรับเธอเข้าทำงาน
จากการทดลองหาและทำงานมาเกือบ 2 ปี นวลบอกว่าเธอชอบทำงานอิสระที่สุด รับจ้างทำสิ่งต่างๆ แล้วแต่นายจ้างจะบอกมา
รับจ้างซื้อของ เชียร์มวย จองตั๋วคอนเสิร์ต ไปตรวจสุขภาพ ไปร่วมงานอีเวนต์ต่างๆ อาชีพที่นวลลิสท์ให้เราฟังคร่าวๆ เพื่อให้รู้ว่าเธอเคยทำอะไรมาบ้าง
ตรวจสุขภาพเป็นยังไง? เราถามนวลกลับไป เพราะสิ่งนี้ดูไม่น่าจะเป็นอาชีพได้
นวลอธิบายว่า จะมีโรงพยาบาล หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ ติดต่อมาผ่าน ‘โม’ หรือย่อมาจากโมเดลลิ่งจัดหางาน ซึ่งเธอมีโอกาสเข้าไปอยู่ เป็นกลุ่มแชทในแอปพลิเคชันไลน์ โมจะค่อยส่งงานมาในกลุ่มและหาคนไปทำ งานตรวจสุขภาพก็เป็นหนึ่งในนั้น หน้าที่ของนวลก็คือไปตรวจสุขภาพตรงตามชื่องาน ตั้งแต่วัดความดัน ตรวจเลือด ตรวจร่างกายต่างๆ นวลรู้สึกว่านี่ไม่ใช่การทำงานเท่าไร เหมือนไปตรวจสุขภาพแล้วมีผลพลอยได้เป็นค่าตอบแทน นวลคิดว่าที่เขาจ้างอาจเพราะต้องการมีคนไปตรวจ เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นแล้วอยากมาตรวจบ้าง
ค่าตอบแทนในการทำงานต่างๆ นวลบอกว่าจะได้ไม่เท่ากัน อย่างตรวจสุขภาพได้ประมาณ 300 บาท หรือถ้าไปร่วมงานอีเวนต์ที่คล้ายๆ ทำหน้าที่เป็นหน้าม้า ก็จะได้เงินประมาณ 300 บาทเช่นกัน
แม้ว่างานที่ทำจะมีหลากหลาย แต่งานที่นวลชอบที่สุด คือ การรับจ้างต่อคิว เพราะเป็นงานที่ทำไม่ยาก อาศัยตื่นแต่เช้าหรือนอนรอค้างคืน งานก็เสร็จไวและได้เงินทันที บางทีเงินที่ได้ก็หลักพันมากกว่าการทำงานอื่นๆ
เธอเปิดโทรศัพท์ให้เราดูภาพที่เธอถ่ายเก็บไว้เวลาไปทำงาน มีตั้งแต่รูปสินค้าที่นายทุน (ชื่อที่นวลไว้เรียกคนจ้าง) ต้องการให้เธอซื้อ บัตรคิว รูปเซลฟี่ของนวลเองตอนอยู่ในแถว รูปเงินที่ได้จากการทำงานซึ่งมักจ่ายเป็นเงินสดหลังทำงานเสร็จแล้ว
“มีครั้งหนึ่งเราไปซื้อรองเท้าที่มีแค่ 18 คู่ เป็นรุ่นที่คนดังๆ เมืองนอกเขาใส่กัน ในไทยมีขายแค่ 18 คู่ คนก็แย่งกันเลย รองเท้าราคาประมาณ 6,500 บาท เขาจ้างเรา 3,000 บาท แล้วแต่ว่าเราจะดีลกับใครได้นะ บางคนได้เยอะกว่านี้อีก 4,000 – 5,000 บาทก็มี
“แต่เราไปเห็นเขาโพสต์ขาย 18,000 บาทเลยนะ แต่งานแบบนี้ไม่ค่อยมีมาบ่อยๆ จะมีรุ่นแพนด้า (เป็นชื่อเรียกของรองเท้า Nike รุ่น Dunk) ที่เมื่อก่อนต้องมานั่งค้างคืน ได้คืนละ 500 แล้วถ้าเป็นไซส์รองเท้าที่เขาต้องการจะได้เงินประมาณ 1,100 – 1,200 บาท แต่ถ้าไม่ได้เขาก็ให้ค่าเสียเวลาเรา 500 บาทที่บอกไป”
มีสินค้าบางชิ้นที่คนรอต้องมารอระดับนอนค้างคืน นวลเรียกว่า ‘นอนแคมป์’ ถ้าสินค้าไหนความต้องการสูงแปลว่าคนที่จะมารอซื้อเหมือนนวลก็มีมาก ทำให้ต้องมานอนรอก่อนหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้คิวแรกๆ ที่ทำให้ได้ของที่ต้องการ
“ตอนนี้บางร้านเขาไม่ให้นอนแล้ว ให้จับฉลากเอา ซึ่งมันก็แล้วแต่ดวงเรานะว่าจะจับได้คิวที่เท่าไร บางทีโชคดีได้คิวที่ 1 ถ้าได้คิว 1 – 10 นายทุนจะให้ราคาเยอะเลย แต่ถ้ามากกว่า 10 ขึ้นไปไซส์รองเท้ามันจะเริ่มน้อยลง มีโอกาสไม่ได้ที่ต้องการ ก็จะได้ค่าจ้างประมาณ 300 – 400 บาทแทน”
นวลโชว์สร้อยที่เธอสวมใส่ติดตัวเสมอ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นวลเคารพ เธอบอกว่าเวลาทำงานนี้มักจะเอามือไปกุมไว้แล้วอธิษฐานในใจว่า ขอให้ได้คิวลำดับต้นๆ ขอให้ได้คิวเลขตัวเดียว เกือบจะทุกครั้งที่มักได้ตามที่เธอขอ
ไม่เหนื่อยเหรอ – เราถามนวลไป เพราะเท่าที่ฟังๆ มา วันหนึ่งนวลต้องทำงานมากกว่า 1 งาน ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าจะเลิกก็เกือบเที่ยงคืนตลอด นวลบอกว่าเธอชอบที่ได้ทำงานเหล่านี้ ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วที่สำคัญมันทำให้เธอไม่ต้องอยู่ในจุดที่ไม่ชอบ คือ รอของแจก
“เอาตรงๆ เราอยากได้เงิน จะได้ไม่ต้องรอของแจก ไม่ใช่ต้องมารอว่าวันนี้เขาแจกข้าวที่ไหน ไปก็ไม่ได้ค่ารถ เคยรอเขาแจกข้าวสาร 4 โมงก็ยังไม่แจก รอจนถึง 6 โมงกว่าได้ข้าวสารคนละถุงกับปลากระป๋อง บางคนไม่มีหม้อหุงข้าวจะกินยังไงละ
“เราอยากหาเงินใช้เอง เราจะกินจะอะไรก็กินได้เลย ไม่ต้องมารอ ต้องทนหิว ยิ่งถ้าเขาไม่แจกก็หงุดหงิดทะเลาะกับคนไปด้วยกันอีก”
ไม่ใช่แค่นวลที่คิดเช่นนี้ เพื่อนคนอื่นๆ ที่ร่วมโครงการนี้ก็คิดเหมือนกัน พวกเขาไม่อยากต้องกลับไปเป็นคนไร้บ้านอีกแล้ว จึงพยายามหาทางตั้งหลักตัวเองให้ยืนได้อย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่ช่วยตัวเอง แต่รวมถึงช่วยเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย ทำให้สมาชิกกว่า 40 คนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ตอนนี้สามารถตั้งต้นแล้วได้เกือบทุกคน
“คนในโครงการมีหลายคนที่ได้ทำงานประจำนะ แต่เราไม่ชอบเพราะอายุเยอะแล้วด้วย ส่วนมากเขาจะจำกัดอายุ ทำรับจ้างแบบนี้ไปก็ดีมีหลายคนทำเหมือนกัน พอจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง คนที่โครงการเขาก็บอกว่า ให้เอาคนหัวลำโพงเป็นตัวอย่าง ไม่ต้องนอนฟุตบาทกันแล้ว”
ก่อนจะลาจากกัน นวลบอกว่าเย็นนี้เธอจะลองไปดูร้านเดิมว่ารองเท้าเตรียมปล่อยขายหรือยัง เพื่อที่จะวางแผนต่อไปว่าต้องมารอซื้อกี่โมงดี อันเป็นกิจวัตรประจำวันที่เธอชื่นชอบและหวังว่าจะได้ทำมันต่อไปนานๆ