ดูหนังอย่างคนตาบอด : คุยกับแอปฯ พรรณนาและ GDH ที่พาคนตาบอดและคนตาดีตีตั๋วเข้าโรงหนังด้วยกันมา 7 ปีแล้ว
“แต่ก่อนดูบ่อย แต่พอตาบอดมา 8 ปี ก็ไม่เข้าโรงหนังอีกเลย ต้องดูหนังอยู่บ้านแทน”
“เวลาดูหนังเราต้องให้คนคอยอธิบายภาพ เราก็กลัวเสียงดังรบกวนในโรงหนัง กลัวคนที่มากับเราเขาจะไม่ได้อรรถรสเพราะมีเราคอยขัดจังหวะตลอด”
‘วันใหม่’ เด็กหญิงตาบอดวัย 17 ปี เผยความในใจเมื่อถามถึงการไปดูหนังในโรง การที่เธอตาบอดมาตลอด 8 ปี ทำให้เธออินกับหนังในโรงได้ไม่เต็มที่ การดูหนังสำหรับคนตาบอดจึงไกลตัวออกไปเรื่อยๆ
“แต่พอมีแอปพรรณนานี่แหละถึงได้ดูอีกครั้ง” วันใหม่ให้เหตุผลถึงการกลับมาดูหนังในโรง
“พอเรามีเพื่อนเป็นคนตาบอดแล้วเขาอยากดูหนังกับเรา แต่เขาไปดูแล้วดูไม่ได้ เราจะมานั่งปิดรอบปิดโรงกันบ่อยๆ ก็ไม่ได้ ก็เลยคิดกันขึ้นมาว่าเราจะทํายังไงให้เสียงบรรยายภาพเหล่านี้เกิดขึ้น และสามารถพกติดตัวไปกับคนตาบอดได้ด้วย”
‘โบว์’ ปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม อธิบายที่มาของแอปพลิเคชัน “พรรณนา” แอปที่เข้ามาช่วยให้คนตาบอดดูหนังได้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่แอปได้เดินทางสร้างความสุขให้กับคนตาบอด ที่มากกว่านั้นมันคือการให้โอกาสพวกเขา ได้เข้าถึงสื่อที่หลากหลายเพิ่มขึ้นมากกว่าเคยและมีอารมณ์ร่วมกับการได้ดูหนังอีกครั้ง
โบว์เล่าต่อว่ากิจกรรม ‘วิ่งด้วยกัน’ เป็นจุดที่ทำให้มูลนิธิด้วยกันฯ ได้สานสัมพันธ์และมีเพื่อนเป็นคนตาบอดจำนวนมาก และขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ได้ จนกลายเป็นการพาคนตาบอดไปดูหนัง เพราะยังคงมีข้อจำกัดกว่าคนตาบอดจะสามารถเข้าถึงหนังแต่ละเรื่องได้
“Audio Description ภาษาไทยเรียกว่า เสียงบรรยายภาพ เป็นตัวช่วยที่ทําให้คนตาบอดสามารถเข้าใจสื่อที่เป็นภาพเคลื่อนไหวได้ เช่นหนัง ละครทีวี มันจะเป็นการบรรยายภาพที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีบทสนทนาหรือไม่มีเสียงบรรยาย ถ้าเป็นรายการสารคดีช่วงที่ไม่มีเสียง ผู้บรรยายบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับรายการอยู่ มันก็จะมีเว้นช่วงว่างให้เป็นภาพทิ้งไว้ ซึ่งภาพสวยๆ ที่โชว์เว้นช่วงไว้ คนตาบอดจะไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้น”
เมื่อรู้ว่าแอปพรรณนาใช้งานได้ โบว์และทีมกล่องดินสอตัดสินใจพบสุวรรณี ชิญเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการปฏิบัติการ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SF)เพื่อบอกเล่าถึงแอปพลิเคชันที่จะทำให้คนตาบอดดูหนังในโรงร่วมกับคนตาดีได้
“เราใช้เวลา 15 นาทีเพื่อลองเทสแอปให้คุณกบ (สุวรรณี) ดู คุณกบก็บอกโอเค เดี๋ยวไปดึง GDH มาร่วมด้วย”
ก่อนหน้าที่ GDH จะมาเป็นพาร์ทเนอร์กับทีมกล่องดินสอ ทาง GDH ได้ริเริ่มทำเสียงบรรยายภาพประกอบหนังในแผ่น DVD อยู่แล้ว แต่ยังคงมีข้อจำกัดคือต้องรอให้หนังออกโรงก่อน จึงจะสามารถทำเป็นแผ่น DVD ออกมาจำหน่ายได้
“เราเล่าให้ GDH ฟังว่า พอมีแอปนี้ (พรรณนา) คนตาบอดก็สามารถเดินเข้าไปดูหนังในโรงพร้อมคนตาดีได้ เขาก็บอกเราว่า ‘เอาเลย’ ทันทีเหมือนกัน มันเติมเต็มความรู้สึกเราว่าพวกเขา (SF และ GDH) เอาด้วยนะ เราเลยได้เห็นปรากฏการณ์หนังเรื่อง ‘เพื่อนที่ระลึก’ เข้าโรง ที่มีทั้งคนตาดีและคนตาบอดเดินเข้าโรงหนังไปดูหนัง 200-300 ที่นั่ง แล้วคนตาบอดที่ไปดูเขาก็อิน มีความรู้สึกกลัวจากการดูหนังร่วมด้วย”
ความหวังของทีมกล่องดินสอค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างชัดขึ้น โบว์ให้เหตุผลว่าการดูหนังไม่ใช่แค่ในแง่ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเซ็ตทิศทางบางอย่างของสังคม หนังบางเรื่องก็ให้ข้อคิด ให้มุมมองบางอย่าง หรือแม้กระทั่งให้แรงบันดาลใจ
“หนังบางเรื่องก็เปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งไปเลยเหมือนกัน”
โบว์ยืนยันว่าการเข้าถึงสื่อเหล่านี้ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้
ส่วนการวัดผลของผู้ใช้แอปพรรณนาก็คล้ายกับฝั่งทีวี ที่ต้องเช็กเรตติ้งว่ามีจำนวนคนเข้าไปชมเท่าไหร่บ้าง ซึ่งตอนนี้มียอดติดตั้งอยู่ประมาณหลักหมื่น
ความหลากหลายของสื่อบันเทิงก็เป็นอีกสิ่งที่เหล่าคนตาบอดต่างก็ต้องการเช่นกัน อย่างไบรท์และวันใหม่เอง ต่างก็อยากดูหนังอื่นๆ ที่แตกต่างจากเดิม เช่น หนัง Blockbuster, หนังซูปเปอร์ฮีโร่ หรือหนังต่างประเทศอื่นๆ บ้าง
แม้จะมีผู้ใช้แอปพรรณนากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งกระจุกความสะดวกแกมความไม่สบาย อย่างน้อยยังมีระบบขนส่งสาธารณะรองรับมากกว่าต่างจังหวัด ซึ่งกว่าคนตาบอดต่างจังหวัดจะเดินทางเข้าเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้บางคนเดินทางมาห้าง แต่ก็ไม่สนใจเข้าโรงหนัง เพราะไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำไม เข้าไปก็ดูหนังไม่ได้
โบว์เล่าต่อว่าช่วงเริ่มทำแอปจนพัฒนาเสร็จ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมประชาสัมพันธ์แอปให้เป็นที่รู้จักเพิ่ม และทีมกล่องดินสอก็จัดกิจกรรม ‘ดูหนังด้วยกัน’ (Movie2gether) ที่จะพาคนตาบอดต่างจังหวัดไปดูหนังในโรง และกิจกรรม ‘พรรณนาพาหนัง’ จะเดินทางไปที่สมาคมคนตาบอดในหลายจังหวัด เพื่อนำหนังไปฉายผ่านเครื่องโปรเจ็คเตอร์
“พอคนตาบอดมีโอกาสเข้าไปดูหนัง เขาก็รู้สึกตื่นเต้นมาก สำหรับบางคนนี่คือครั้งแรกที่ได้ดูหนังในโรง ครั้งแรกที่นั่งดูหนังกับลูก ครั้งแรกที่ได้ดูหนังกับพี่น้องเพราะการที่เราทำกิจกรรมด้วยกัน มันถึงจะเกิดความโอบรับกับคนทุกกลุ่ม พอเขาดูหนังเสร็จก็ไปคุยกัน ฉากนี้ซึ้งมากเลย ร้องไห้เลย หรือฉายหนังตลกก็ทำให้เขาได้หัวเราะ มันก็ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น”
ความสำเร็จที่โบว์และทีมกล่องดินสอทำได้แล้ว ณ ตอนนี้ คือการมีพาร์ทเนอร์จากหลายภาคส่วนที่มีความตั้งใจเข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง อย่างช่อง Viu ก็ใช้ทุนส่วนตัวมาทําเสียงบรรยายภาพในซีรีส์ 2-3 เรื่อง ฝั่ง GDH และ SF ก็ทําแคมเปญให้คนตาบอดดูหนังรอบพิเศษพร้อมพาผู้ติดตามเข้าไปได้ มีบัตรสมาชิกส่วนลดให้กับคนพิการทุกประเภท ทางช่อง Mono ก็ให้หนังค่ายตัวเองที่รีรันในช่องมาทําเสียงบรรยายภาพ
“นอกเหนือจากหนังของ GDH ก็จะมีหนังหลายรื่อง เช่น เรื่องแสงกระสือจากค่าย Transformation Films หรืออย่างเรื่องแมนสรวง จากค่าย Be On Cloud เข้ามาทําเสียงบรรยายภาพในหนัง”
สำหรับโบว์ แต่ละก้าวที่ร่วมเดินกับพาร์ทเนอร์เป็นไปอย่างช้าๆ เป็นการชักชวนมาร่วมงานกันอย่างชัดเจนและไม่รีบร้อน จนจำนวนพาร์ทเนอร์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นั่นเป็นผลดีทำให้ความหลากหลายของสื่อขยายตัว และจะนำไปสู่ปลายทางที่สื่อจากทุกช่องทางจะมีเสียงบรรยายภาพรองรับครอบคลุม ซึ่งหากผู้ผลิตสื่อค่ายไหนสนใจอยากทำเสียงบรรยายภาพก็สามารถใช้โปรแกรมโวหารได้ทันที เพราะโวหารจะช่วยลดต้นทุนและลดกระบวนการทำเสียงบรรยายภาพให้ซับซ้อนน้อยลง
‘โวหาร’ โปรแกรมสร้างเสียงบรรยายภาพครบวงจร
“การทําเสียงบรรยายภาพมีราคาแพง ใช้ทรัพยากรคนและเวลาเยอะ เทคโนโลยีที่จะช่วยร่นเวลาและการลดการใช้ทรัพยากรลง คือการสร้าง ‘โวหาร’ ขึ้นมา”
โวหารที่โบว์พูดถึง คือโปรแกรมที่จะช่วยให้การทําเสียงบรรยายภาพสะดวกขึ้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการทําเสียงบรรยายภาพแบบดั้งเดิมที่ซับซ้อน ใช้ทรัพยากรคนเยอะและใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูง
แต่ขณะนี้โวหารยังไม่ถูกปล่อยออกมาใช้ในวงกว้าง เพราะกําลังร่วมมือกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการอบรมผู้ผลิตเสียงบรรยายภาพ และการใช้โปรแกรมโวหาร ทั้งในฝั่งอาสาสมัครและผู้ผลิตเสียงบรรยายภาพมืออาชีพ
โบว์เล่าถึงกระบวนการต่อว่า ขณะนี้โปรแกรมโวหารยังอยู่ในเวอร์ชันเริ่มต้น ยังไม่พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ แต่ทางกล่องดินสอมีตัวแปรนวัตกรรมรออยู่แล้ว เหลือเครื่องมืออื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาสร้างให้เพียงพอ เช่น ผู้เชี่ยวชาญในการเขียนบทบรรยายภาพ ที่จะเปิดระบบอาสาสมัครสำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมทำ โดยระบบที่รองรับจะคล้ายกับแอปพลิเคชัน Read for the Blind แม้คุณภาพอาจไม่เทียบเท่ามืออาชีพ แต่โบว์มองว่าสิ่งนี้จะทำให้เสียงบรรยายภาพอยู่ในสื่อต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
“สิ่งที่เตรียมไว้จะนำไปสู่ปลายทางที่เราคิดไว้ว่า คนตาบอดก็สามารถดูรายการที่หลากหลายได้แล้ว นี่คือฝันของเรา”
เริ่มต้นจากคิดถึงวิทยา ล่าสุดคนตาบอดได้ดูวิมานหนาม
‘เอ๋’ ปรียาวรรณ ภูวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายจัดจำหน่ายในโรงภาพยนตร์ บริษัทจีดีเอช ห้าเก้าเก้า จำกัด เป็นค่ายหนังแห่งแรกที่ร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับแอปพรรณนา เพื่อทำเสียงบรรยายภาพในภาพยนตร์ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่อง เพื่อนที่ระลึก เป็นต้นมาจนเรื่องล่าสุดอย่าง วิมานหนาม
เอ๋เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ GDH ทำเสียงบรรยายภาพในหนังทุกเรื่องว่า สิบกว่าปีที่แล้ว คุณจินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด มีเพื่อนสนิทเป็นคนตาบอด ครั้งหนึ่งเขาเดินทางไปคุยงานที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาไทยก็พูดคุยกับคุณจินา ว่าทำไมไม่ลองทำหนังให้คนตาบอดดู
“เราได้ทีมนักวิชาการมาให้ความรู้อธิบาย และพอได้ดูหนังจากแผ่นดีวีดีที่มีเสียงบรรยายภาพของต่างประเทศ ถึงได้รู้ว่ามันต่างกับสิ่งที่คิดไว้”
จากนั้น GDH จึงเริ่มเขียนบทและอัดเสียงเพื่อทำเสียงบรรยายภาพเรื่องแรกอย่าง คิดถึงวิทยา ลงแผ่นดีวีดี และได้นำแผ่นดีวีดีเรื่องนี้ส่งให้ทางสมาคมคนตาบอดในจังหวัดต่างๆ คนที่ได้ดูเขาก็มีความสุขที่สามารถเข้าถึงหนังเหล่านี้ได้
เอ๋เล่าให้ฟังอีกว่า ระหว่างที่จัดฉายคิดถึงวิทยารอบพิเศษ มีทั้งคนตาดีและคนตาบอดเดินทางมาดูหนังเยอะมาก ทาง GDH ก็ได้รับฟีดแบคคำขอบคุณกลับมานับไม่ถ้วน เมื่อเห็นว่าการทำเสียงบรรยายภาพ มีส่วนช่วยให้คนตาบอดรู้สึกสนุกและดูหนังได้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ คุณจินาจึงตัดสินใจเพิ่มการทำเสียงบรรยายภาพในหนังทุกเรื่องเป็นนโยบายบริษัท
จากนั้นถัดมาอีก 3 ปี ทีมกล่องดินสอเข้ามาติดต่อเพื่อนำเสนอแอปพรรณนากับ GDH ว่าจะช่วยให้คนตาบอดสามารถดูหนังร่วมกับคนอื่นได้อย่างไรบ้าง
“ซึ่งนั่นทำให้เราก็เห็นข้อดีว่า แอปนี้จะช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าไปดูหนังพร้อมกับคนตาดีในโรงได้ และแอปพรรณนาจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการทำเสียงบรรยายภาพให้ถูกลง ลดเวลาดำเนินการและลดจำนวนคนด้วย”
ช่วงแรกๆ เอ๋และทีม GDH ไม่คิดว่าการทำเสียงบรรยายภาพจะเป็นแค่การบรรยายว่าตัวละครทำอะไร พวกเธอคิดว่านอกจากการบรรยายแล้ว ต้องใส่อารมณ์ตัวละครลงไปด้วย แต่ความจริงคือไม่ต้องใส่อารมณ์ร่วมขณะพากย์ ต้องปล่อยให้คนดูจินตนาการตามบทบรรยายภาพเอง
เพราะความซับซ้อนของกระบวนการการทำเสียงบรรยายภาพ ทรัพยากรคน และเวลาที่เสียไปอาจไม่คุ้มกับทุนที่ทุ่มลงไป ทำให้ผู้ผลิตสื่อไม่กล้าลงทุนทำเสียงบรรยายภาพขึ้นมาเอง
“ตอนแรกเราใช้เวลาทำเสียงบรรยายภาพอยู่นาน ประมาณ 1-2 เดือน ต้องใช้จำนวนคนถึง 10 คน ไม่รวมทีมมิกซ์เสียงพากย์ ซึ่งถือว่าเยอะ กว่าจะเขียนบทบรรยายภาพ กว่าจะพากย์เสียงได้โอเค และมิกซ์เสียงส่งให้ทีมพรรณนาต่อ ซึ่งต้นทุนการทำแต่ละครั้งก็สูง”
แต่การเริ่มทำเสียงบรรยายภาพจวบจนการเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับพรรณนา ก็ทำให้มุมมองของเอ๋ที่มีต่อคนตาบอดในการดูหนังเปลี่ยนไปจากเดิม
“มุมมองเราเปลี่ยนไปเยอะ เพราะจริงๆ แล้วคนตาบอดที่ไปดูหนังเขาก็มีอารมณ์ร่วมกับหนังเยอะเหมือนกัน มีความรู้สึกที่ชัดเจน ดูหนังอะไรเขาก็รู้สึกอินและสนุกกับหนังได้ไม่ต่างกับคนตาดี อย่างหลายคนเขาก็ชื่นชอบนักแสดงและทีมงาน ก็ฟีดแบคให้กำลังใจมาว่าเล่นดีจังอยากให้มีผลงานอีก”
เอ๋ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดๆ ว่าคนตาบอดก็สนุกสนานกับหนังไม่ต่างกับคนตาดีเหมือนกัน
“ช่วงที่ GDH จัดฉายหนังผี หนังสยองขวัญ คนตาบอดชอบหนังประเภทนี้เยอะมาก พอบรรยายเยอะเขาก็ได้จินตนาการตาม แล้วก็รู้สึกอินกับหนังกัน นอกจากหนังผีแล้วเขาก็ชอบหนังตลกด้วย คงเพราะหนังประเภทนี้ทำให้เขามีอารมณ์ร่วมกับเนื้อเรื่องได้ง่ายด้วย”
การเพิ่มขึ้นของพาร์ทเนอร์ที่ร่วมมือกับแอปพรรณนา ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มเสียงบรรยายภาพให้หลากหลายในสื่อต่างๆ และลดต้นทุนในกระบวนการทำเสียงบรรยายภาพแล้วนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายจัดจำหน่ายฯ GDH มองว่า ยิ่งเป็นการช่วยสนับสนุนหนังไทยเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนตาบอดเข้าถึงหนังไทยดีๆ และถือเป็นการเพิ่มกำลังใจให้คนทำหนังอีกด้วย
“การมีแอปพรรณนาก็ช่วยให้คนตาบอดดูหนังไทย ช่วยสนับสนุนเพิ่มรายได้ให้วงการหนังไทยเพิ่มขึ้น จากที่เคยมีข้อจำกัดการเข้าถึงหนัง ซึ่งแม้ในตอนนี้จะยังมีจำนวนหนังที่รองรับเสียงบรรยายภาพอยู่เพียง 50 กว่าเรื่อง แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเพิ่มกำลังใจให้คนทำหนัง ถือว่าอย่างน้อยหนังไทยก็ทำได้ดีไม่แพ้หนังชาติอื่นเช่นกัน”
เอ๋ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า ในอนาคตอยากให้คนตาบอดได้ดูหนังดูคอนเทนต์ได้ทุกที่ ไม่อยู่เฉพาะในโรงหนังเท่านั้น อยากให้พวกเขาได้ดูบนทีวี บนเว็บสตรีมมิง ซึ่งแอปพรรณนาก็ค่อยๆ เข้ามาทลายข้อจำกัดที่เคยมี ซึ่งมีทีมที่ทำซีรีส์ไปต่างประเทศและพรีเซนต์แอปนี้ให้ชาวต่างชาติฟัง เขาทึ่งมากเพราะที่นั่นไม่มีแอปที่พร้อมเปิดเสียงบรรยายภาพ ที่สามารถพกพาไปไหนก็ได้แบบนี้เลย
ในช่วงท้ายนี้เราถามทุกคนว่า หนังที่ชื่นชอบที่สุดคือเรื่องอะไรกันบ้าง?
“หนังที่ชอบที่สุดตั้งแต่ดูมาก็คงจะเป็นเรื่องหลานม่า รู้สึกว่าดูแล้วดูกี่ครั้งก็ยังอิน ยังร้องไห้ ยังเสียน้ําตา มันมีทั้งความสุข ความเศร้า ความตื้นตัน และมีรอยยิ้มอยู่ในนั้นด้วยกันเลยค่ะ” อมีนา ทรงศิริ หญิงตาบอดบอกเล่าหนังที่ชอบที่สุดในดวงใจอย่าง หลานม่า ที่ทำเอาเสียน้ำตาอยู่หลายหน
“เรื่องล่าสุดที่ยังประทับใจอยู่คือเรื่องวิมานหนาม เพราะหลายฉากที่พรรณนาพากย์ ทำให้เราเข้าถึงบทบาทตัวละคร เข้าถึงอรรถรสของหนัง เข้าใจความรู้สึกของตัวละครได้ทุกมิติจริงๆ” วิรุตม์ อภัยวงศ์ ชายตาบอดที่ชื่นชอบหนังที่เพิ่งเข้าโรงล่าสุดอย่างวิมานหนาม เพราะเสียงบรรยายภาพจากพรรณนา ทำให้เขาเข้าถึงความรู้สึกตัวละครลึกซึ้งขึ้น
วิรุตม์ บอกอีกว่า อยากดูหนังผ่านแอปพรรณนาไปอีกเรื่อยๆ เพราะสนุกไปพร้อมกับเพื่อนได้
“วันนั้นเราก็พาเพื่อนไปดูด้วย พอหนังจบเราก็มานั่งคุยกันได้ว่า ฉากนั้นที่มันเกิดอย่างนี้ขึ้น แกคิดยังไง มันกลายเป็นว่าเราก็เข้าใจหมดโดยที่ไม่ต้องมาถามเพื่อนทีหลังว่า ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นวะ มันก็ทําให้เราใกล้ชิดกับเพื่อน คุยกับเขารู้เรื่อง ก็ทําให้เรารู้สึกแฮปปี้”