“สวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปสวมให้คนอื่น” คุยกับผู้หญิงที่เคยผ่านความรุนแรงก่อนจะรู้ตัวว่ารักคนอื่นจนลืมรักตัวเอง

“เคยขึ้นเครื่องบินไหม? เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเขาจะบอกให้เราสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยไปสวมให้คนอื่น ตอนนั้นคุณเองก็มัวแต่คิดจะดูแลลูก ดูแลสามี จนตัวเองแย่ไปแล้ว”

คำพูดที่ปลุกความรู้สึกรักตัวเองของ ‘ไหม (นามสมมติ)’ ขึ้นมาอีกครั้ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอคือแม่ที่อยากดูแลลูก และภรรยาที่อยากรักษาครอบครัว จนลืมไปแล้วว่าตัวตนจริงๆ ก่อนจะเป็นแม่และเป็นภรรยาคืออะไร

แรกเริ่มเดิมทีไหมก็มีชีวิตธรรมดาเหมือนคนอื่นทั่วไป เธอตั้งใจจะทำหน้าที่แม่และหน้าที่ภรรยาให้ได้ดีที่สุด แต่แล้วก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นภายในครอบครัว เริ่มมาจากการขาดทุนในธุรกิจของครอบครัวเป็นจำนวนมาก ความไม่สบายใจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจของเธอและครอบครัว

ไม่นานหลังจากนั้นสามีก็กลายเป็นคนติดสุราเรื้อรัง ไหมพยายามพาสามีไปบำบัดแต่ก็ยังไม่เป็นผล เธอพาสามีเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้งจนหมอถึงกับถามว่า “ทำไมถึงยังอยู่กับสามีคนนี้?”

“เขาไม่เคยนอกใจ แล้วสำหรับเราต่อให้เป็นแมว หมา เราก็ช่วยเหลือตลอด แต่นี่สามีเราก็มนุษย์คนหนึ่งเราจะทิ้งเขาได้ยังไง ถ้าทิ้งไปใครจะดูแลเขา”

คือคำตอบที่ไหมตอบหมอและตอบกับตัวเอง ถึงแม้สามีจะเป็นคนติดสุราเธอก็ไม่ทิ้งเขาไปไหน แม้กระทั่งวันที่เขาทำร้ายร่างกายและใช้คำพูดด่าทอไหม เธอก็พยายามทน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอสงสารลูกและไม่อยากให้ใครมาตำหนิว่าทั้งเธอและสามีอยู่กัน ‘ก้นหม้อไม่ทันดำ’ ก็เลิกกันแล้ว ไหมเล่าว่านี่เป็นค่านิยมแบบหนึ่งที่ทำให้เธอยังอยู่กับสามีคนนี้

“สามีเราติดเหล้าหนัก เวลาเมาทีก็จะอาละวาด ด่าเรา บางทีไปดื่มเหล้านอกบ้านก็กลับบ้านมาด่าเราอีก ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นถังขยะ”

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจากสามี ปัญหาจากลูกก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ไหมแทบจะเสียศูนย์ เมื่อเธอค้นพบว่าลูกของเธอติดยาเสพติดและต้องคดีใหญ่ เธอโทษตัวเองหนักขึ้นกว่าเดิมและรู้สึกว่าตัวเองแบกภาระของครอบครัวไว้ที่บนหลังหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน

สุราและยาเสพติด คือ สิ่งที่เข้ามาทำลายชีวิตครอบครัวของเธอ ทั้งลูกชายและสามีต่างก็พัวพันกับสิ่งเหล่านี้ซึ่งมันกลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายครอบครัวในที่สุด ที่สำคัญมันยังทำให้ทั้งไหมและลูกสาวรู้สึกเหมือน ‘ตกนรกทั้งเป็น’

แล้ววันหนึ่งที่ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง จากคนที่พยายามนับหนึ่งถึงร้อย หลายครั้งก็หนึ่งถึงพันที่ถูกสามีด่าทอ วันนั้นไหมไม่สามารถเก็บอารมณ์ของตัวเองไว้ได้อีกต่อไป เธอระเบิดอารมณ์ของตัวเองออกมาจนลูกสาวต้องพาไปหาหมอ

“หมอบอกหนูมาตรงๆ นะ หนูเป็นบ้าใช่ไหม?”

คำพูดที่ไหมพูดกับหมอ เธอไม่ได้เป็นบ้า แต่โรคซึมเศร้าต่างหากที่เธอกำลังเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว

ปัญหาบรรเทาลงได้ เพราะมี ‘เพื่อนหญิง’ อยู่ข้างกาย

ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ คือ 3 เรื่องหนักอึ้งที่ไหมแบกรับไว้คนเดียวและไม่เคยบอกใคร เธอกลัวว่าการบอกคนข้างนอกว่าเจอเรื่องราวอะไรมาบ้างจะทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องตลก หรือกลายเป็นแค่เรื่องเล่าที่เอาไว้ ‘เม้าท์มอย’ ในวงสนทนา และไม่มีการช่วยเหลืออะไรต่อ

ไหมเองก็เป็นคนที่มีคนรู้จักมากมายในชุมชน หลายคนนับถือเธอเพราะว่าเธอคือคนที่เก่งและมีอัธยาศัยดี แต่พอมีเรื่องของปัญหาครอบครัวเข้ามา มีบางคนที่พร้อมจะช่วย แต่ก็มีอีกหลายคนเลือกที่จะไม่เข้าไปยุ่งดีกว่า เพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวพัน

ก่อนหน้านี้ไหมได้รับการดูแลจากหน่วยงานท้องถิ่นและนักพัฒนาชุมชนมาบ้าง จนกระทั่งไหมได้เจอกับมูลนิธิเพื่อนหญิง ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปจากการมีเพื่อนคนใหม่คนนี้

“ตอนแรกๆ จะมีน้องๆ จากมูลนิธิเพื่อนหญิงคอยติดต่อมา แต่เราหลีกเลี่ยงตลอด ไม่รู้ว่าเพราะสาเหตุอะไรแต่เราไม่ไว้ใจและไม่เชื่อใจใครเลย ก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน”

‘ความกลัว’ คือความรู้สึกที่ติดอยู่กับไหมตลอดเวลา อีกทั้งเธอเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเล่าเรื่องราวในครอบครัวให้ใครฟัง การเปิดใจรับคนแปลกหน้ายังคงเป็นเรื่องยากสำหรับเธอ

“แต่น้องๆ จากมูลนิธิเขาก็โทรมาเรื่อยๆ จนเราก็ค่อยๆ คุยกับเขาและไว้วางใจเขาทีละนิด พอเราเริ่มไว้วางใจเขา กลายเป็นว่าหลังๆ คนที่โทรไปหาก็กลายเป็นเราเสียเอง หนักใจอะไรเราก็จะโทรไปเล่าให้เขาฟังเลย”

ไหมเล่าว่าเธอสนิทกับคนในมูลนิธิฯ มากขึ้น ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้างค่อยๆ หายไป กลายเป็นความรู้สึกอบอุ่นเข้ามาแทน นอกจากเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ แล้ว เธอยังได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ ที่มีปัญหาใกล้เคียงกันและได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิเหมือนกัน ทำให้การบอกเล่าปัญหาต่างๆ ที่เจอมา ง่ายมากขึ้น เพราะทุกคนต่างมีประสบการณ์ที่คล้ายกัน ไม่มีใครแปลกกว่าใคร

เสริมพลังกายและใจให้ทุกคนในครอบครัว

“กรณีครอบครัวที่เผชิญกับความรุนแรง เราอยากเชื่อมโยงให้เขาได้รับการช่วยเหลือมากกว่าแค่ปัจจัยสี่ แต่อยากทำให้เกิดกระบวนการบำบัดฟื้นฟูจิตใจเชิงลึกมากขึ้น เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากและไม่จบไม่สิ้น”

‘เจี๊ยบ’ ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าว เธอมองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือปัญหาที่มีมิติซับซ้อนมาก แม้การสร้างความเข้าใจจะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีก ฉะนั้นการแก้ปัญหาแบบลึกซึ้งและฟื้นฟูทุกคนในครอบครัวคือแนวทางที่มูลนิธิเพื่อนหญิงยึดถือ

มูลนิธิเพื่อนหญิงคือมูลนิธิที่ดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งเครือข่ายในระดับอำเภอและในระดับจังหวัด ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กรอบแนวคิด ‘4D’ ที่ว่าด้วยกายดี ใจดี ปัญญาดี และสังคมดี คือสิ่งที่มูลนิธิได้รับมาจากสสส. และนำมาใช้วิเคราะห์ทุกคนในครอบครัว เพราะไม่ว่าจะเป็นใครต้องได้รับการช่วยเหลือ แม้กระทั่งผู้ที่กระทำความรุนแรงทำให้ในบางกรณีต้องมีการฟื้นฟูและบำบัดกันอย่างยาวนาน

“คำว่าครอบครัวไม่ได้มีแค่สามีกับภรรยา แต่มีลูกด้วย บางทีก็มีปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นทุกคนก็คือหน่วยหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันนะ ฉะนั้นเราต้องลงไปทำงานฟื้นฟูทุกคนในครอบครัวเลย”

ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถ้าพื้นที่ตรงนั้นเริ่มไม่ปลอดภัย ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ทุกคนสามารถบอกเล่าความทุกข์กับมูลนิธิ และมั่นใจได้ว่าข้อมูลเขาจะเป็นความลับ

ไปต่อหรือพอแค่นี้? คำถามที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในครอบครัว ทางมูลนิธิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปวิเคราะห์ต่อว่าในแต่ละแนวทางควรให้คำแนะนำอย่างไร ถ้าอยู่ด้วยกันต่อก็ต้องมีแผนฟื้นฟูครอบครัว แต่ถ้าต้องเลิกลาก็ควรเป็นการเลิกลาด้วยดี ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายกันอีก

เพราะปัญหาความรุนแรงคือปัญหาที่ซับซ้อน

กรณีความรุนแรงในครอบครัวของไหม มีหลายมิติที่ทับซ้อนอยู่ในนั้น มิติเศรษฐกิจคือเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ทางมูลนิธิฯ เลยใช้วิธีเสริมทักษะ ช่วยสร้างอาชีพ เพราะอย่างน้อยๆ การมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงก็เป็นการลดความเสี่ยงที่จะไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้

มูลนิธิเพื่อนหญิงวางแผนร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) พยาบาลแผนกจิตเวทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นักพัฒนาชุมชน และคนอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้ 1 ครอบครัวห่างไกลจากความรุนแรงได้

สามีของไหมก็ได้รับการบำบัดและฟื้นฟูให้ไปเข้ารักษาอาการติดสุรา ถึงแม้หมอจะบอกว่าตอนนี้สมองของสามีจะโดนพิษสุราทำร้ายไปแล้ว แต่การเข้ารับการรักษาก็ทำให้สามีลดการดื่มไปได้บ้าง

“เราได้มีโอกาสเจอกับสามีของไหมตอนที่ไม่เมา เราก็เข้าไปคุย ไปให้กำลังใจ ถามไถ่เรื่องทั่วไป การคุยทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้เป็นคนที่แย่ขนาดนั้น เพียงแต่ก็ต้องมีใครช่วยเหลือเขา เราก็ถือโอกาสสร้างกำลังใจให้กับทั้งครอบครัว”

เจี๊ยบเล่าว่ามีหลายครั้งที่คนนอกเข้าไปหาไหมที่บ้านและไม่ได้มีการพูดคุยกับฝ่ายสามีมากนัก เจี๊ยบคิดว่าการเข้าไปถามไถ่เรื่องเล็กๆ น้อยกับคนที่เป็นสามีก็ทำให้เขารู้สึกมีตัวตนได้ และค่อยๆ ปรับตัวตามคำแนะนำที่บอกให้รักษาอาการติดสุราอีกด้วย

สำหรับไหมการ ‘เสริมพลัง’ (Empowerment) ให้เธอเห็นคุณค่าของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่มูลนิธิฯ เข้าไปหาไหมในฐานะเพื่อนคนหนึ่งที่อยากอยู่เคียงข้างและถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้อยากให้ไหมรู้สึกว่ามูลนิธิฯ คือสิ่งที่เธอสามารถพึ่งพาได้ และยังช่วยวางแผนและเป้าหมายชีวิตให้ไหมและทุกคนในครอบครัวมองเห็นคุณค่าศักยภาพในตัวเอง มีทักษะอาชีพตามถนัด ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นอิสระ ตัดสินใจโดยไม่รู้สึกติดยึดหรือพึ่งพิงอีกฝ่าย อันจะเป็นเงื่อนไข ให้อีกฝ่ายทำร้ายได้

“เราอยากให้เข้ามีที่พึ่ง บางทีเขาเจอเรื่องหนักๆ มาไม่รู้จะโทรไปหาใครก็โทรมาหาเราได้ ฝั่งเราเองบางทีถ้ากินข้าวอยู่หรือนอนอยู่ก็จะรีบลุกมารับสายเขาเพื่ออยู่กับเขาตลอด”

นอกจากการอยู่เป็นเพื่อนแล้ว การพาไหมไปเจอเพื่อนใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกมีตัวตนได้ มูลนิธิเพื่อนหญิงพาไหมไปเจอกับเพื่อนๆ ที่มีประสบการณ์คล้ายกัน ให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนกันและค่อยๆ กลายเป็นเพื่อนกันจริงๆ

การได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองรักทำให้มองเห็นคุณค่าของตัวเองเพิ่มขึ้นได้ ไหมเป็นคนหนึ่งที่มาจากตระกูลรำมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและไหมเองก็รักสิ่งนี้มากๆ แต่เพราะในอดีตสามีเคยสั่งห้ามไว้เพราะหึงหวง ทำให้เธอต้องหยุดทำสิ่งที่เธอรักและเป็นมรดกที่บรรพบุรุษให้มา (สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แต่มูลนิธิเพื่อนหญิงก็ไม่อยากให้ไหมทิ้งสิ่งนี้ไป มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทางมูลนิธิฯ พาไหมไปพบปะกับเพื่อนๆ เครือข่ายทางภาคเหนือ แต่เพราะไม่รู้จะเอาอะไรไปฝาก ไหมก็เลยแสดงการรำมโนราห์ให้เพื่อนๆ ได้ดู และนั่นก็เป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปีที่เธอได้กลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้ง

“เราพาไหมไปพบกับเพื่อนใหม่ สนับสนุนให้เขารำมโนราห์ ทีนี้พอเขาได้ทำกิจกรรมที่เขาชอบ ซึ่งเขาก็เคยคิดว่าเขาไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว แต่พอเขาได้กลับมารำมันเหมือนไปจุดประกายอะไรบางอย่างให้กับเขา เขารู้สึกมีกำลังใจ รู้สึกมีชีวิตอย่างบอกไม่ถูก”

ปัจจุบันกรณีของไหมอาจจะยังไม่ขึ้นสำเร็จโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าเรื่องครอบครัวเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องใช้เวลาและมีมิติอื่นๆ ทับซ้อนอยู่มากมาย ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ไม่คิดที่จะทิ้งไปไหนและยังอยู่เคียงข้างเพื่อสร้างกำลังใจให้แบบนี้เสมอ

‘การรักตัวเอง’ เกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลา

หลังจากไหมมีเพื่อนคนใหม่ที่ชื่อว่าเพื่อนหญิงอยู่ข้างกาย ความรู้สึกที่ห่างหายไปนานก็ค่อยๆ กลับมาก่อตัวขึ้นอีกครั้ง นั่นคือความรู้สึก ‘รักตัวเอง’

ก่อนหน้านี้ไหมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาจากตัวเองที่ทำหน้าที่ยังไม่ดีพอ เป็นความผิดพลาดของตัวเองที่พาครอบครัวมาสู่จุดนี้

“เมื่อก่อนเราไม่เคยนึกถึงตัวเอง มัวแต่ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา ทำไมต้องเป็นแบบนี้’ เหมือนวนอยู่ในอ่างแบบนี้ซ้ำๆ”

แต่พอหลังจากได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูและบำบัดกับมูลนิธิเพื่อนหญิง ไหมค่อยๆ สร้างความรู้สึกรักตัวเองได้อีกครั้ง อย่างน้อยๆ เธอก็เริ่มมองเห็นแล้วว่าปัญหาทุกอย่างคลี่คลายได้ และเธอไม่ใช่คนที่ทำอะไรผิดจนต้องมาเจอเรื่องแบบนี้

“เราเคยกลัวนะว่าทำอะไรไปแล้วคนนั้นจะไม่พอใจ คนนี้จะไม่สบายใจ เอาง่ายๆ คือมัวแต่แคร์ความรู้สึกคนอื่นจนกระทั่งตัวเองไม่มีความสุข พอได้เข้ารับการบำบัดเราเข้าใจแล้วว่าเราไม่ใช่เจ้าชีวิตใคร ที่ผ่านมาเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามนั้น”

ความปล่อยวางก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไหมยอมรับได้ จากคนที่เคยคิดว่าตัวเองคือช้างเท้าหน้าของบ้านและมีหน้าที่ดูแลปัญหารวมไปถึงสารทุกข์สุกดิบของคนในบ้าน แต่ตอนนี้เธอลดความคาดหวัง ถ้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด สิ่งที่ไหมทำได้ดีที่สุดก็คือมีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ