‘เมนูหลังเขา’ ทำความรู้จักกับชาติพันธุ์ในไทยผ่านจานอาหารประจำเผ่า
ถ้าเด็กแรกเกิดคนไหนกิน ‘ผึ้ง’ เป็นอาหารมื้อแรกของชีวิต ตามความเชื่อของชนเผ่า ‘ลีซู’ บอกว่า เด็กคนนั้นจะโตขึ้นมามีลักษณะนิสัยอ่อนโยน ชอบดูแลงานบ้าน – นี่เป็นเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือครัวหลังเขา คุณค่าอาหารพื้นบ้าน 15 ชาติพันธุ์ ที่สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ มีส่วนร่วมเขียนขึ้นมา ได้รับการสนับสนุนจากสํานักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สํานัก 5)
สุพจน์เองก็เป็นคนลีซูเช่นกัน เขาบอกว่าอาหารกับกลุ่มชาติพันธุ์มีความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ข้างต้นก็เป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ ‘อาหาร’ สามารถทำนายลักษณะของคนคนหนึ่งได้ ตามความเชื่อของพวกเขา
“อาหารคือชีวิต เป็นแหล่งกำเนิดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของมนุษย์ทั้งโลกเลยนะ แล้วแหล่งผลิตอาหารแหล่งหนึ่งก็คือป่า มันก็เลยไปเชื่อมโยงถึงเรื่องความสัมพันธ์ของคน คนกับคน คนกับธรรมชาติ บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน”
งานที่สุพจน์ทำมาเกือบจะตลอดทั้งชีวิต คือ การทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ‘อาหาร’ ก็เป็นเครื่องมือทำงานที่สุพจน์หยิบมาใช้บ่อยๆ เพื่อทำให้คนเหล่านี้สุขภาพดีขึ้น แล้วก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจกับคนอื่นๆ ได้ด้วย อย่างหนึ่งสือที่กล่าวข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อส่งเสริมความมั่งคงทางอาหารในกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการสนับสนุนจาก สํานักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สํานัก 5)
มารู้จักกันผ่านอาหารแต่ละจานบนโต๊ะ
สังคมไทยเดินทางเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยเป็นที่เรียบร้อย ข้อมูลสำรวจประชากร โดย กรมการปกครองเมื่อปี 2565 รายงานว่า ประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 12,116,199 ล้านคน หรือร้อยละ 18.3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งภูมิภาคที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด คือ ภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด
นอกจากนี้ ก็มีการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขว่า จะมีผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือกลายเป็นคนติดเตียงมากขึ้น เรื่องสุขภาพจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสนใจตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดภาวะการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ
ในจังหวัดเชียงรายที่เป็นพื้นที่ทำงานนี้ของสุพจน์ มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 266,375 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่เป็นคนไร้สัญชาติและสถานะบุคคลประมาณ 16,686 คน เฉพาะในพื้นที่ตำบลป่าตึง และตำบลเทอดไทย มีจำนวนชนเผ่าอาศัยอยู่จำนวนมาก
สุพจน์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากไปลงสำรวจพื้นที่นี้พบว่า สถานะคนไร้สัญชาติและสถานะบุคคลส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบต่างๆ อย่างเช่นระบบบริการสุขภาพ รวมถึงไม่มีเงินเพียงพอสำหรับรักษาเมื่อเจ็บป่วย
สถานการณ์สุขภาพของผู้สูงอายุชนเผ่าก็มีอาการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ข้อเข่าเสื่อม โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมถึงโรคที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรัง เช่น ต้อกระจก ชาตามปลายมือปลายเท้า เป็นต้น ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกคุณค่าในตัวเองลดลง โดดเดี่ยวหดหู่ ซึมเศร้า และมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น บางคนถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง และยังไม่มีระบบการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในระดับชุมชนและระดับตำบล
งานของสุพจน์ คือ การทำให้พวกเขาเหล่านี้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่พวกเขาควรได้รับ
“เรื่องอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐาน และเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก มีผลว่าสุขภาพเราจะดีหรือไม่ดีได้เลย เป็นตัวกำหนดโรคได้ด้วย เพราะฉะนั้นการทำงานกับผู้สูงอายุ เราจึงมาเน้นเรื่องอาหารเป็นประเด็นหลัก ควบคู่ไปกับการทำเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพของผู้สูงวัย และคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล”
อาหารที่สุพจน์พยายามชวนให้ผู้เฒ่าบริโภคมากขึ้น ก็คือเมนูอาหารของแต่ละชนเผ่าเอง สุพจน์บอกว่า เขาได้ข้อมูลจากการไปคุยกับผู้เฒ่าในชุมชนที่ยังแข็งแรงว่า มีเคล็ดลับดูแลตัวเองยังไง ส่วนใหญ่รับประทานอาหารที่เป็นเมนูของชนเผ่าตัวเอง อีกทั้งตัวเขาเองก็มีความคิดว่า เมนูเหล่านี้ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชนเผ่าที่ควรรักษาไว้ด้วย
“หนึ่ง – เราเชื่อว่าอาหารที่พี่น้องชนเผ่าทำมาจากวัตถุดิบที่เขาดูแลเอง ไม่มีการใช้สารอันตรายอื่นๆ ทำให้เราตั้งต้นว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัย สอง – มันเป็นเมนูอาหารที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ผลักดันให้เกิดการพึ่งพาตนเอง แล้วก็ความมั่นคงด้านอาหารด้วย ซึ่งเราก็พยายามทำให้เขาเห็นว่า อาหารพวกนี้นอกจากตัวเองกินจะปลอดภัยแล้วยังไม่พอ ผู้ผลิตก็ด้วยมีผลต่อสุขภาพ และเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงไปถึงภูมิปัญญาองค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรของชุมชน การใช้ประโยชน์ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันกับชุมชน”
อิ้วเมี่ยน อ่าข่า และไทใหญ่ เป็น 3 กลุ่มชาติพันธุ์ที่สุพจน์ทำงานด้วยในครั้งนี้ แต่ละชนเผ่าก็มีวัฒนธรรมปรุงอาหารหรือวิธีกินที่ไม่เหมือนกัน บางเผ่าอาจจะกินเค็ม บางเผ่าใช้กรรมวิธีต้มมากที่สุด บางเผ่าเน้นใช้พืชที่เป็นสมุนไพรในการปรุงอาหาร หรือแหล่งที่มาของวัตถุดิบอาหารแตกต่างตามแหล่งที่อยู่อาศัย เช่น หากเป็นกลุ่มไทใหญ่มักอาศัยอยู่ใกล้ตัวเมือง วัตถุดิบจะมาจากตลาด ต่างจากอิ้วเมี่ยนที่อยู่ห่างไกล อยู่ใกล้ป่า วัตถุดิบจึงมาจากตรงนั้นมากกว่า
“อิ้วเมี่ยนจะมีการต้มสมุนไพร ทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไก่ต้มสมุนไพร หมูห่อใบชา หรือน้ำพริก ส่วนไทใหญ่เน้นเรื่องของอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นหลัก จะมีถั่วเน่า แผ่นถั่วเน่า เต้าเจี้ยวอะไรอย่างนี้ อาข่าก็จะใช้พืชผักที่เขาปลูกเองเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใบบัวบก ผักกาดชนิดต่างๆ”
ความเชื่อก็เป็นสิ่งที่งอกมาจากอาหารนอกจากรสชาติ สุพจน์เล่าว่าบางชนเผ่าใช้อาหารในการประกอบพิธีกรรม เช่น เผ่าอิ้วเมี่ยน ถ้ามีคนไม่สบาย ไปหาหมอก็ไม่หาย เขาจะมีคนมาดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เขาอาจจะไปลบหลู่หรือว่าแสดงความไม่เคารพต่อธรรมชาติ เช่น เดินเข้าไปตะโกนในป่า ไปถีบต้นไม้ เป็นต้น ก็อาจจะต้องมาทำพิธีขอขมา ก็มีหลายแบบนะ ขอขมาแบบเล็กๆ เช่น ใช้ไข่ไก่ เดินไปที่ป่าแล้วพูดว่าวันนี้นะเดินมาที่นี่ได้มีการล่วงเกินโดยไม่ตั้งใจ ขอให้เจ้าป่าเจ้าเขา หรือว่าเจ้าที่ ได้โปรดจงให้อภัย
อาหารเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างการรับรู้ใหม่ของสังคมต่อกลุ่มชาติพันธุ์
“ถ้าพูดถึงไก่ต้มสมุนไพรก็ต้องเป็นของคนอิ้วเมี่ยน ถ้าถั่วเน่าแอ๊บ หรือถั่วเน่าอ่องต้องของพี่น้องไทยใหญ่ หรือว่ายำใบชาของพี่น้องอ่าข่า จริงๆ ถ้าเป็นคนที่ทำงานกับเรามานานจะรู้ว่า เวลาเราไปกินอาหารบนโต๊ะ ที่ทำโดยพี่น้องแต่ละเผ่า เราจะรู้ได้ทันทีว่า อ้อ จานนี้เป็นของชนเผ่านี้นะ ถึงแม้เป็นอาหารชนิดเดียวกัน แต่เครื่องปรุงไม่เหมือนกัน เราสามารถแยกแยะได้เลย”
อาหารไม่ใช่แค่อร่อย หรือทำให้อิ่มท้อง แต่มันยังเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในความรู้สึกของสุพจน์ ใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น สุพจน์บอกว่า คนชาติพันธุ์มักจะถูกตีตราหรือมีภาพจำว่าเป็นคนทำลายป่า ก่อมลพิษต่างๆ อย่างเช่น ฝุ่น PM 2.5 เขาเลยอยากเปลี่ยนภาพจำเหล่านี้ผ่านอาหาร
“บางเมนูมันสามารถพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าได้นะ เช่น เมนูต้มขมใบดีงูหว้าของชาวลีซู การมีต้นดีงูหว้าสักต้นหนึ่งเนี่ย มันบ่งบอกว่าป่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นดีงูหว้าถึงเติบโตได้ แสดงว่าชุมชนเองก็ต้องมีการรักษาป่าอย่างดี พืชพวกนี้ถึงยังมีอยู่ เอามาใช้ทำอาหารได้
“เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าอาหารเป็นตัวเชื่อมโยง เพราะมันทำให้เห็นความสัมพันธ์ของคน คนกับคน คนกับป่า และสิ่งเหนือธรรมชาติ ถ้าคนที่พร้อมเข้าใจ เปิดกว้างโดยไม่มีอคติ เขาก็จะรู้ได้ว่าแต่ละเมนูมันมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับอะไรบ้าง”
สุพจน์ใช้อาหารพูดเรื่องต่าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการจัดการที่ดิน สิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิการเข้าถึงป่าอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เป็นต้น ทำให้โครงการนี้นอกจากเป็นการส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีสุขภาวะที่ดีแล้ว ท่ามกลางวัฒนธรรมประเพณีที่พวกเขามี และอยู่ในกระแสของโลกที่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนแล้ว มันยังเป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้กับคนภายนอกและกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย
“ป่าคือชีวิตเนอะสำหรับเรา เป็นแหล่งกำเนิดอาหาร แหล่งกำเนิดวิถีความเชื่อของพี่น้องชนเผ่าทั้งหมดเลย ความสัมพันธ์ของพี่น้องชนเผ่ากับป่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนะ เพียงแต่ว่าปัจจุบันมันมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง การจำกัดสิทธิบางอย่าง ที่ทำให้สิทธิเสรีภาพการเข้าถึงทรัพยากรของพี่น้องชนเผ่า มันหายไปเลย
สืบทอดเมนูชนเผ่าต่อไป นวัตกรรมที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น
เกือบจะครบ 1 ปีที่โครงการนี้ดำเนินงานมา ผลลัพธ์ที่คนทำโครงการสัมผัสได้อย่างแรกๆ คือ การรวมตัวของคนในแต่ละชุมชนที่มีมากขึ้น จากที่ต่างคนต่างอยู่ พวกเขาก็หันมาจับกลุ่มแชร์ข้อมูล วิธีดูแลสุขภาพตัวเอง เกิดเป็นวงสังคมขึ้น ทำให้ช่วยดูแลกันและกัน
“จริงๆ สิ่งที่เราคาดหวัง คือ ผู้สูงอายุสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้น มีความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy) มากขึ้น เช่น ถ้าสูงวัยควรจะกินอาหารประเภทไหน” สุพจน์ทิ้งท้าย
ส่วนฝั่งคนอ่านอย่างเรา อาจเริ่มต้นได้ด้วยการลองค้นหาเมนูอาหารชนเผ่าที่น่าสนใจ (หรือจะดูหนังสือของสุพจน์ก็ได้นะ อย่างเล่มครัวหลังเขา คุณค่าอาหารพื้นบ้าน 15 ชาติพันธุ์) เพื่อว่าระหว่างปรุงอาหาร หรือการได้ลิ้มชิมรสชาติ อาจช่วยให้เรารู้จักเจ้าของสูตรดีมากขึ้น
อ้างอิง
หนังสือครัวหลังเขา คุณค่าอาหารพื้นบ้าน 15 ชาติพันธุ์ สามารถอ่านได้ที่นี่ (สนับสนุน โดย สํานักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สํานัก 5) )