ทำความรู้จัก ‘พฤฒพลัง’ (Active Ageing) พลังวิเศษของคนสูงวัย ที่ทำให้กายและใจไม่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา
“อายุมากแล้ว ให้ลูกหลานทำแทนดีกว่า”
“อยู่เฉยๆ ที่บ้านน่ะดีแล้ว อายุเยอะอย่าออกไปเสี่ยงข้างนอกเลย”
“อายุขนาดนี้แล้วยังจะออกไปหาอะไรทำอยู่อีกหรอ”
ตัวอย่างทัศนคติที่คนบางกลุ่มมีต่อผู้สูงอายุ ยิ่งอายุเยอะ ผู้คนก็จะแสดงความเป็นห่วงคนสูงวัยมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่า “แก่แล้วควรอยู่เฉยๆ”
จากรายงาน ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย 2. ทัศนคติที่มีต่อค่านิยมที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในสังคมไทย โดย รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ทัศนคติด้านลบที่คนวัยอื่นมีต่อผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้สังคมได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หลายคนมองเห็นผู้สูงอายุเป็นคนล้าสมัย ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในสังคม แถมจู้จี้ขี้บ่นและเอาแต่ใจอีกต่างหาก
เพราะเหตุนี้หลายคนพยายามตีกรอบให้ผู้สูงอายุอยู่แต่กับบ้าน ไม่ต้องทำอะไร แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่ชอบอยู่เฉยๆ หรือชอบที่จะออกไปทำกิจกรรม พวกเขาต่างไม่ได้ทำอะไรผิด แต่มันคงจะดีกว่าถ้าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ได้เป็นคนที่เลือกเองว่าจะอยู่เฉยหรือจะออกไปเที่ยวเล่น โดยที่ไม่โดนกรอบของสังคมและลูกหลานจำกัดไว้
“ถ้าใครมาบอกให้เราอยู่เฉยๆ เราทนไม่ได้หรอก เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก เรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง ยิ่งหลังเกษียณเรามีเวลาว่างขึ้นเยอะ ก็อยากจะเอาเวลาพวกนี้ไปทำสิ่งที่เราอยากทำให้เต็มที่เลย”
อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับ ‘พี่อุ๊ย’ นิรมล ปิตะนีละผลิน วัย 67 ปี สมาชิกชมรมผู้สูงอายุศูนย์บริการสาธารณสุข 7 ในกรุงเทพฯ เธอเข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุได้ประมาณ 4-5 ปี ในแต่ละวันตารางชีวิตของพี่อุ๊ยจะแน่นเอี้ยด เพราะเธอเป็นคนชอบวางแผนและใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ
“เราจะเน้นเรื่องสุขภาพ หลังจากเกษียณเรามีเวลาว่างมากขึ้น ตอนเช้าเราจะไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ แล้วก็ไปรำมวยเต้าเต๋อซิ่นซีกับเพื่อน เสร็จแล้วก็มีอ่านหนังสือบ้าง บางทีก็ไปเรียนที่ชมรม ล่าสุดเราเรียนทำบายศรีพานพุ่มเพราะเราชอบทำงานฝีมือ สนุกดี”
ชีวิตไม่ได้หยุดไว้แค่ตอนเกษียณ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เรายังสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ และรับรู้คุณค่าของตัวเองได้ พี่อุ๊ยเชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ใช่คนไม่มีค่า หรือคนไม่มีประโยชน์แบบที่ใครบางคนเข้าใจ ผู้สูงอายุก็คือคนๆ หนึ่งที่สร้างสรรค์อะไรคืนไปให้กับสังคมได้เช่นเดียวกัน
“ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุบางทีเขาก็ต้องการความช่วยเหลือ แต่ถ้าเป็นไปได้เราอาจเริ่มจากการดูแลตัวเองก่อน ดูแลเพื่อที่คนอื่นเขาได้ไม่ต้องช่วยเหลือเราเยอะ ถ้าเราช่วยเหลือตัวเองพอได้บ้างแล้ว เราก็จะออกไปทำกิจกรรมอื่นได้โดยที่ไม่มีใครมาจำกัดความสามารถของเรา”
ชมรมผู้สูงอายุเป็นเสมือนโรงเรียนย่อมๆ ของเธอ มีอะไรมากมายที่ได้เรียนรู้จากการได้อยู่ในที่แห่งนี้ แถมยังมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันให้ได้พบปะ ทำให้ในแต่ละวันไม่ได้เหงาสักเท่าไหร่ โดยรวมแล้วนี่คือชีวิตหลังเกษียณที่พี่อุ๊ยสนุกกับมันมาก
พฤฒพลัง แนวคิดการสร้างพลังบวกสำหรับผู้สูงอายุ
‘พฤฒพลัง’ คำสั้นๆ ที่ใครเห็นครั้งแรกก็อาจจะสงสัยว่าคืออะไร คำตอบจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organizations) บอกว่า พฤฒพลังหรือ Active Ageing หมายถึง กระบวนการการส่งเสริมสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย
โดย 3 หัวใจหลักของพฤฒพลังที่ WHO เสนอได้แก่ หนึ่ง-สุขภาพทั้งกายและใจที่ดี สอง-การได้มีส่วนร่วมกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนวัยเดียวกันหรือกับคนวัยต่างกัน และสาม-ความมั่นคง ที่หมายถึงความมั่นคงทางรายได้ ทางที่อยู่อาศัย และมีคนคอยดูแล
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจค่าดัชนีพฤฒพลังของผู้สูงอายุไทยในปี 2560 พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง หรือราว 0.685 ภาคเหนือมีระดับพฤฒพลังสูงที่สุด อยู่ที่ 0.695 รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 0.694 ตามด้วยภาคกลางอยู่ที่ 0.682 กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 0.677 และภาคใต้ซึ่งมีค่าดัชนีที่ 0.659
เพราะชีวิตไม่ได้จบลงทันทีหลังจากเกษียณ แนวคิดแบบพฤฒพลังจึงมีความพยายามผลักดันให้ผู้สูงอายุยังคงมีส่วนร่วมกับสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จำนวนของผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรทั้งหลายควรจะมีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตในแบบฉบับของตัวเองได้มากขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ นำไปสู่การเสริมสร้างกิจกรรมที่มีประโยชน์และผลักดันนโยบายให้สำหรับผู้สูงอายุ
“การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม รองรับสังคมสูงวัยที่มีสุขอย่างยั่งยืน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบรองรับ เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ รวมถึงขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ 4 มิติ คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดยใช้ข้อมูลความรู้จากงานวิชาการที่เกิดขึ้นมาขับเคลื่อนในมิติต่างๆ เช่น มิติสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม เสริมความเข้มแข็งของร่างกายเพื่อป้องกันการผลัดตกหกล้ม เป็นต้น”
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวภายในงานเปิดคลังความรู้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สสส. ประจำปี 2566 หัวข้อ “การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ สู่สังคมสูงวัยที่มีความสุขอย่างยั่งยืน”
ในงานวิจัยชิ้นเดิมของ รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด และคณะ พบว่า ทัศนคติด้านบวกที่คนวัยอื่นมีต่อผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุเป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจลูกหลานให้ผูกพันกัน อีกทั้งคนสูงวัยผ่านประสบการณ์ในชีวิตมามากมาย พวกเขาคือต้นแบบการใช้ชีวิตให้กับคนรุ่นหลัง
สังคมสูงวัยที่จะมีความสุขได้อย่างยั่งยืน ย่อมต้องมาพร้อมกับสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยมีพื้นที่ในสังคม ทั้งสสส. และภาคเครือข่ายอื่นๆ จึงพยายามผลักดันให้สังคมเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แสดงความเป็นตัวเองได้มากยิ่งขึ้น พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกมองว่าเป็นภาระเสมอไป การสนับสนุนด้านความรู้เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ สสส. ทำมาอย่างต่อเนื่อง ‘YoungHappy’ เป็นอีกภาคีเครือข่ายหนึ่งที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดพฤฒพลังเป็นอย่างมาก
ยังไหว ยังเก๋า ยังแฮปปี้
ยางรัดผมลายดอกไม้ พวกมาลัยผ้า กิ๊บติดผมแฮนด์เมด สารพัดของกุ๊กกิ๊กที่วางขายอยู่ในร้าน โดยมี ‘พี่ศรีจันทร์’ เจ้าของร้านวัยเก๋ากำลังยืนเรียกลูกค้าอยู่
“เราชอบทำงานฝีมือ ทำมาตั้งแต่อายุ 40 กว่าๆ จนตอนนี้ 76 แล้ว” พี่อุ๊ยกล่าวพร้อมกับโชว์สินค้าภายในร้านให้เราดู ร้านนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ แต่มาตั้งโชว์ได้ในงาน ‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ เป็นกิจกรรมภายในงาน ‘เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ’ ที่มีไว้เพื่อให้คนสูงวัยได้ออกมาโชว์ความเป็นตัวเองผ่านสินค้าที่ทำมาได้อย่างเต็มที่ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในวัยใกล้ 80 พี่ศรีจันทร์ยังสามารถทำกิจกรรมเย็บปักถักร้อยได้เป็นอย่างดี แถมยังมีแรงค้าขายอีกด้วย
“ถ้าทำเล่นๆ ก็ทำมาตั้งแต่มัธยมโน่นเลย ใจจริงเราก็อยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือแบบนี้ แต่ที่บ้านเขาอยากให้เรียนบัญชีมากกว่าก็เลยต้องตามใจเขา จนมาถึงหลังเกษียณนี่แหละที่เราจะมีเวลาว่างจริงๆ ก็ทำพวกงานฝีมือแบบนี้เป็นหลักเลย”
เพราะชีวิตคือการเรียนรู้และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ พี่ศรีจันทร์สานต่อความฝันเมื่อครั้งยังอยู่ในวัยมัธยมมาทำต่อในวัยเกษียณ เธอมองว่ามันไม่ได้สายเกินไปเลย และเธอคงจะเสียใจมากกว่าถ้าชีวิตนี้ไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก พี่ศรีจันทร์ก็เป็นสมาชิกในชมรมผู้สูงอายุ เธอเล่าว่า วันที่รู้สึกว่างก็จะออกไปทำกิจกรรมที่ชมรม บางทีก็รับบทเป็นวิทยากรสอนความรู้เรื่องเย็บปักถักร้อยให้กับเพื่อนๆ สูงวัยคนอื่น ชีวิตก็สนุกไปอีกแบบ
เห็นทำกิจกรรมหลายอย่างแบบนี้ เราจึงแอบถามเธอว่า ทั้งหมดนี้ทำคนเดียวไหวหรอ พี่ศรีจันทร์ตอบว่าถ้าในเรื่องของขายของเธอมี มีน้องสาวแท้ๆ คือ ‘พี่ณารา’ ที่เข้ามาช่วยกิจการครั้งนี้ สองพี่น้องใช้ชีวิตด้วยกันมานานแล้ว ทำให้ในแต่ละวันทั้งคู่จะมีเพื่อนคู่คิดและช่วยคลายเหงาได้อีกด้วย
“เรากับเจ้ (พี่ศรีจันทร์) ทำงานกันเป็นทีม พี่เขาจะถนัดงานฝีมือ ส่วนเราจะถนัดการตลาด พวกโลโก้หรือราคาเราก็จะเป็นคนทำในส่วนนี้ ก็เลยออกมาเป็นร้านนี้ ช่วยกันทำแค่สองคนนี่แหละ”
พี่ณารา น้องสาวของพี่ศรีจันทร์กล่าว สองพี่น้องคู่นี้นอกจจากจะมีหน้าตาที่คล้ายกันแล้ว นิสัยก็ยังคล้ายๆ กันอีกด้วย พี่ณาราเล่าว่า เธอก็เป็นคนที่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ รู้สึกอยากมีกิจกรรมทำจะได้พัฒนาตัวเองไปด้วย ก่อนเกษียณก็ทำกิจกรรมเล็กน้อย แต่พอหลังเกษียณก็มีเวลาว่างหาอะไรทำได้เต็มที่
ทั้งพี่ศรีจันทร์และพี่ณาราก็เป็นสมาชิกของ YoungHappy พี่ณาราเล่าว่า เธอลงเรียนวิชาต่างๆ กับ YoungHappy เยอะมาก ทั้งเรียนภาษา เรียนถ่ายรูป โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการวาดรูปเธอจะสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ถึงแม้จะมาทำเอาตอนอายุเท่านี้ แต่การวาดรูปก็ยังเป็นความสนุกของเธอเสมอมา
ทั้งพี่ณารา พี่ศรีจันทร์ พี่อุ๊ย และผู้สูงอายุคนอื่นๆ ต่างก็อยากมีกิจกรรม หรือมีความฝันให้ได้สานต่อในวัยเกษียณ พฤฒพลังจึงเป็นแนวคิดที่มารองรับความต้องการของคนกลุ่มนี้ ร่วมไปถึงเป็นแนวคิดที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุคนอื่นๆ เริ่มออกมาทำกิจกรรมเพื่อตัวเองกันได้มากยิ่งขึ้น
พฤฒพลังจึงมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุมองเห็นถึงคุณค่าภายในตัวเอง และไม่ปิดกั้นตัวเองออกจากสังคม รวมถึงสังคมเองก็เป็นพื้นที่ที่เปิดรับคนสูงวัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว
อ้างอิง :
- ดัชนีพฤฒพลังของผู้สูงอายุไทย. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย. รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด และคณะ