‘เรียนไปขับไป’ คุยกับไรเดอร์หญิงวัย 18 ปี ที่มีมอเตอร์ไซค์และท้องถนนเป็นห้องทำงาน ปราศจากสวัสดิการในฐานะแรงงานคนหนึ่ง
“ตอนนี้แยมยังวิ่งอยู่บ้าง แต่ไม่ได้วิ่งทุกวันเหมือนปีก่อน”
‘แยม’ (นามสมมติ) เล่าให้ฟังถึงอาชีพที่เธอกำลังทำปัจจุบัน ‘ไรเดอร์ส่งอาหาร’ ประจำแพลตฟอร์มแห่งหนึ่ง แยมเริ่มทำงานนี้ได้ประมาณ 2 ปี ควบคู่ไปกับการเรียน ตอนนี้แยมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ทำให้ไม่มีเวลาแบ่งมาทำงานไรเดอร์มากนัก บวกกับค่ารอบที่ลดลง แยมรู้สึกว่า ไม่คุ้มที่จะออกไปวิ่งเหมือนตอนทำงานแรกๆ ที่ค่ารอบเริ่มต้น 40 บาท และบวกเพิ่มตามระยะทางที่เธอนำของไปส่งลูกค้าตามจุดต่างๆ
แต่ค่ารอบนี้ปัจจุบันคิดตั้งแต่รับของจากร้านจนถึงไปส่งลูกค้า ไม่ได้นำระยะทางที่แยมต้องเดินทางมารับรวมไปด้วย ทำให้แยมรู้สึกว่าไม่แฟร์ แต่ค่ารอบ 40 บาทก็ทำให้แยมรู้สึกว่า สมน้ำสมเนื้อพอจะมองข้ามความไม่แฟร์ที่เกิดขึ้นได้
เหตุผลที่แยมตัดสินใจมาทำงานไรเดอร์ เพราะต้องการหาเงินใช้จ่ายของตัวเอง และซัพพอร์ตครอบครัว แยมผ่านการทำงานหลายรูปแบบ เธอบอกว่างานที่เคยทำไม่ค่อยมีอิสระ และได้ค่าตอบแทนไม่ดีเท่าการทำงานไรเดอร์
“แยมเคยทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เราเจอหัวหน้าหลายคน แล้วเขากดดันให้เราทำงาน ต้องทำอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้สิ บางงานไม่ใช่หน้าที่ที่เราควรเข้าไปทำด้วยซ้ำ จนแยมได้คุยกับพี่คนหนึ่งที่เขาทำงานไรเดอร์ มันดูเป็นงานที่น่าสนใจ ค่าตอบแทนก็ดีกว่า
“แยมเลยคิดว่าถ้าเราลองออกมาทำงานไรเดอร์ดีกว่าไหม เปรียบเทียบกับเงินที่เราได้จากพาร์ตไทม์ชั่วโมงละ 40-50 บาท ถ้าเราวิ่งไรเดอร์เงินก็เริ่มต้นที่ 40 อยู่แล้ว แล้วชั่วโมงหนึ่งเราวิ่งได้หลายออเดอร์แน่ๆ เงินหนึ่งชั่วโมงมันได้เยอะกว่าตอนที่เราทำงานพาร์ตไทม์อยู่แล้ว”
แต่แยมย้ำว่าปีแรกเท่านั้นที่ทำไรเดอร์แล้วเธอรู้สึกว่าได้เงินคุ้มค่า เพราะปัจจุบันค่ารอบลดลงเหลือเริ่มต้นที่ 28 บาท เป็นเหตุผลที่ทำให้แยมวิ่งลดลงแล้วก็กลับไปทำงานพาร์ตไทม์อื่นๆ เพื่อทำให้ตัวเองมีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอตลอดเดือน
“ถ้าให้เราออกวิ่งแล้วไม่เดือดร้อน คุ้มที่จะออกไป รายได้ควรจะอยู่ที่วันละ 700-800 บาท อันนี้หักค่ากิน ค่าน้ำมันแล้วนะ ตอนนี้จะให้ได้เท่านี้ยากมากๆ เราทำอยู่แถวชานเมืองด้วย ไม่เหมือนไรเดอร์ที่อยู่ในเมือง งานเขาจะเด้งตลอด เยอะกว่าคนที่อยู่ในชานเมือง”
บริเวณนครปฐมใกล้กับกรุงเทพฯ เป็นจุดที่แยมวิ่งรับงานประจำ เพราะเป็นพื้นที่ที่พักอาศัยทำให้แยมเชี่ยวชาญถนนหนทาง ช่วยให้งานไรเดอร์ของแยมราบรื่น ไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือสามารถหาทางไปรับ-ส่งของลูกค้าได้รวดเร็ว ประหยัดเวลาและน้ำมัน แต่ชานเมืองมีปริมาณลูกค้าไม่เท่าในเมือง ทำให้แต่ละวันแยมต้องทำรอบให้ได้เงินเท่าที่ตั้งไว้ จึงจะคุ้มค่าการสตาร์ตรถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน
‘หาห้องน้ำเข้ายาก อุณหภูมิสูงเหมือนซ้อมตกนรก’ ห้องทำงานของไรเดอร์
การเป็นผู้หญิงส่งผลต่อการทำงานไรเดอร์ด้วย แยมบอกว่าปัญหาหลักๆ ที่เจอ คือ จะหาห้องน้ำเพื่อทำธุระ ถ้าเป็นไปได้แยมจะเลือกเข้าห้องน้ำที่สะอาดเท่านั้น ถ้าไม่เจอเธอจะยอมอดทนไม่เข้า แต่ถ้าเป็นช่วงที่มีประจำเดือนก็หลีกเลี่ยงได้ยาก การเป็นผู้หญิงก็ทำให้เธอหาเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้หญิงด้วยกันยาก ในพื้นที่ที่แยมวิ่งประจำมีไรเดอร์ผู้หญิง 3-4 คนเท่านั้น สภาพอากาศที่ร้อนจนเหมือนซ้อมอยู่ในนรกของเมืองไทย ส่งผลต่อคนทำงานไรเดอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แยมบอกว่า วิธีรับมือของเธอและไรเดอร์คนอื่น คือ พยายามดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อลดความร้อนในร่างกาย แต่ดื่มน้ำมากก็แปลว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อย จึงต้องมีวิธีรับมืออื่นๆ อย่างแวะเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อพักตากแอร์เย็นๆ หรือพกผ้าชุบน้ำเย็นเก็บไว้ในแก้วเก็บความเย็น เมื่อร้อนมากๆ ก็เอาออกมาซับหน้า ซับตามตัว ช่วยบรรเทาความร้อนได้บ้าง
สวัสดิการและการดูแลของบริษัทที่เป็นประเด็นถกเถียงเสมอมา และทำให้เหล่าคนทำงานไรเดอร์ออกมาเรียกร้องบ่อยครั้ง เพื่อให้บริษัทดูแลและให้สวัสดิการพวกเขาอย่างพนักงานประจำคนหนึ่ง ไรเดอร์เลยถูกนับเป็นแรงงานนอกระบบตามกฎหมาย อาจไม่เข้าถึงสวัสดิการเหมือนแรงงานในระบบ
แยมก็คิดเหมือนคนอื่นๆ ที่บริษัทควรมีการดูแลและสวัสดิการที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลข่าวสารแก่คนทำงาน อย่างค่ารอบที่ลดลง แยมได้ข่าวมาจากเพจที่นำเสนอข้อมูลการทำงานไรเดอร์ มีไรเดอร์ที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดโดนลดค่ารอบก่อน เลยส่งข้อมูลให้คนอื่นได้ทราบ ทางบริษัทเองก็ไม่มีการบอกเหตุผลที่ลดค่ารอบ
“แยมไม่อยากขออะไรพวกเขานะ เพราะรู้ว่าขอไปก็คงไม่ได้ แต่อยากให้เขาคิดว่า ถ้าคนที่ทำงานเป็นไรเดอร์เป็นญาติ หรือครอบครัวของเขา แล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือล้มป่วยจากการทำงาน เขาอยากจะมีประกันหรือสวัสดิการให้ไหม
“อยากให้เขาลองเอาไปคิดดู ใจเขาใจเราเนอะ ไรเดอร์ก็ทำงานหากำไรให้เขานะ แต่เขาหาอะไรให้เราก็ไม่รู้ ไม่มีความเท่าเทียมเลย ถ้าเราทำงานเราก็อยากได้อะไรที่ดีต่อชีวิต ไม่ได้แย่ เราทำงานเหนื่อยก็อยากได้เงินที่สมเหตุสมผลกับค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอของมอเตอร์ไซค์ ค่าอาหารที่เราต้องกินในแต่ละวัน ไรเดอร์ก็มีคนที่รอเขาอยู่ข้างหลังด้วยเหมือนกัน”
วัยเรียนที่ต้องทำงานไปด้วยเพื่อให้อยู่รอด
นอกจากคุณภาพชีวิตของคนทำงานไรเดอร์ที่ควรปรับปรุง ในฐานะที่แยมอยู่ในวัยเรียนหนังสือ พร้อมกับต้องทำงานควบคู่ไปด้วย เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมาดูเช่นกัน เพราะยังมีคนในวัยเรียนหลายคนที่จำเป็นต้องทำงาน และไม่มีทางเลือกหรือสวัสดิการที่คุ้มครองพวกเขาเช่นที่ไรเดอร์เจอ
“สำหรับแยมการทำงานมันเหนื่อยเหมือนกันทุกอาชีพ แล้วก็เหนื่อยเหมือนกันทุกช่วงวัยอยู่แล้ว แยมก็อยากให้เขาเข้ามาดูแลพวกเรา อย่างน้อยให้เรามีตัวเลือกการทำงาน ได้รับการคุ้มครอง หรือจัดสรรเวลาเรียนได้ง่ายขึ้น”
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุอายุแรงงานที่สามารถเริ่มเข้าสู่การทำงานได้ ขั้นต่ำอยู่ที่ 15 ปีขึ้นไป ส่วนแพลตฟอร์มส่งอาหารแต่ละเจ้าจะมีเกณฑ์อายุคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่าง ฟู้ดแพนด้ากำหนดอายุไรเดอร์ขั้นต่ำ 16 ปีขึ้น ไลน์แมนอายุขั้นต่ำอยู่ 18 ปีขึ้นไป แกร็บระบุอายุขั้นต่ำเฉพาะคนขับรถยนต์ที่ต้อง 22 ปีขึ้นไป แต่ทั้ง 3 ที่กำหนดคุณสมบัติไรเดอร์ว่า จะต้องมีใบอนุญาตให้ขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภทที่ตัวเองรับผิดชอบ
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดอายุขั้นต่ำที่สามารถทำใบอนุญาตประเภทต่างๆ เช่น ถ้าใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคล (ชั่วคราว) ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ถ้าเป็นใบขับขี่รถยนต์สาธารณะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี ส่วนใบขับขี่รถจักรยานยนต์ ถ้าความจุไม่เกิน 110 ซีซี คนที่สามารถทำได้ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้น ถ้าอายุ 18 ปี จะสามารถทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ชั่วคราวได้) ใบขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น
คุณภาพชีวิตของแรงงานไรเดอร์เป็นเรื่องที่ยังต้องขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้เกิดขึ้น มีหลายภาคส่วนที่เห็นความสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้การสนับสนุนผลักดันการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่เพิ่มคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีของไรเดอร์
เมื่อถามถึงอนาคตต่อไป แยมบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงลังเลว่าจะเรียนต่อหรือออกไปทำงานเต็มตัว เพราะเธอรู้สึกว่าการทำงานฟังดูคุ้มค่ากว่า ทั้งได้เงินและทำให้เธอเติบโตไม่ต่างจากการอยู่ในระบบการศึกษา
“แยมคิดอยู่ว่าแยมจะเรียนต่อดีไหม เพราะเหมือนชินกับการทำงานไปแล้ว คิดว่าอาจหาคอร์สเรียนพิเศษที่สอนเราแล้วเอาไปต่อยอดได้ สมัครเข้าทำงานที่อื่นได้
“แต่เราก็อยากเรียนตลาด บริหาร หรือคอมพิวเตอร์ก็ได้นะ อะไรก็ได้ที่ให้ความรู้แล้วเราไปต่อยอดทำอาชีพได้ ที่มันให้เงินเยอะกว่าไรเดอร์ตอนนี้” แยมทิ้งท้าย