บ้านหลังเดิมแต่เพิ่มเติมความเป็นมิตร : สำรวจ UDC เครือข่ายที่ทำให้บ้านเป็นมิตรต่อผู้ใช้จริง

“เมื่อก่อนเราเดินไปไหนไม่ได้เลย เพราะพื้นมันเป็นดิน เราก็กลายเป็นคนที่เดินเองไม่ได้ แต่พอหลังจากทำบ้านเสร็จ เริ่มกลับมาเดินโช้ะโช้ะ เช้ะเช้ะไปไหนได้บ้าง”

‘โช้ะโช้ะ เช้ะเช้ะ’ คำศัพท์ใหม่ที่เราได้จาก แม่ดม หมอกมีชัย หนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้เข้าโครงการปรับปรุงบ้านกับเครือข่ายภาคีด้าน Universal Design (หลักการออกแบบเพื่อทุกคน) จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อว่า Universal Design Center (UDC) หรือเครือข่ายศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคน

อาการโช้ะโช้ะ เช้ะเช้ะ ที่แม่ดมหมายถึง คือ ท่าเดินกะเผลก ซึ่งเป็นท่าเดินที่เรามักเห็นได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ถึงแม้ทุกวันนี้แม่ดมจะยังเดินไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากโรคและวัย แต่ก็ยังดีกว่าตอนที่เธอเดินไม่ได้เลยแบบเมื่อก่อน

แม่ดมอาศัยอยู่ที่ตำบลนาคูณใหญ่ จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร เธออาศัยอยู่กับสามีและลูกชายอีกหนึ่งคน ในทุกๆ วันทั้งสามีและลูกก็จะออกไปทำงาน มีแม่ดมอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเคลื่อนไหวตัวลำบากร่วมไปถึงสภาพบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยให้แม่ดมได้ขยับตัวสักเท่าไร พื้นดินขรุขระ เสี่ยงต่อการล้ม  อย่าว่าแต่เดินไปนอกบ้าน แม้กระทั่งเดินภายในบ้านแม่ดมก็ยังต้องให้มีผู้ช่วยมาพยุงลุกเดิน 

นอกจากปัญหาการลุกเดินแล้ว แม่ดมยังมีปัญหาด้านการมองเห็น เนื่องจากสายตาเลือนรางมาก ต้องเพ่งถึงพอจะรู้ว่าคนตรงหน้าเป็นใคร กิจวัตรประจำวันของแม่ดมจึงวนอยู่ที่กินกับนอน มีบางครั้งที่ลูกชายอาสาพาแม่ไปพบปะเพื่อนฝูงที่บ้านใกล้ๆ เพื่อให้คลายเหงาได้บ้าง

แต่หลังจากที่ UDC เข้ามาสำรวจบ้านแม่ดม และปรับปรุง บ้านหลังนี้ก็เป็นมิตรกับผู้สูงอายุอย่างแม่ดมมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ UDC ทำ คือ ปรับระดับพื้นบริเวณหน้าห้องน้ำเพื่อให้มีพื้นที่เรียบและเดินได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการออกแบบห้องน้ำและติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย

“เดี๋ยวนี้เริ่มลุกเดินได้มากขึ้น แล้วก็ไม่ต้องไปหาเพื่อนบ่อยเหมือนเมื่อก่อน เพราะบ้านดีขึ้นเพื่อนก็มาเยี่ยมที่บ้านของแม่ได้”

เมื่อบ้านเป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัย นอกจากจะช่วยให้อยู่แล้วสบายขึ้น มันยังทำให้แม่ดมเริ่มอยากที่จะขยับร่างกายและลุกขึ้นมาเดินในบ้านของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องกังวลเหมือนเมื่อก่อนว่า เดินๆ อยู่แล้วจะล้มหรือไม่ ร่างกายและจิตใจก็ดีขึ้นตามกัน รวมไปถึงคนในครอบครัวของแม่ดมเองก็สบายใจขึ้นเยอะ

ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีบางสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีคนเริ่มอย่างการปรับปรุงบ้าน ให้สอดรับกับคนอยู่ที่ร่างกายเปลี่ยนไป เพราะบ้านที่เหมาะสมสามารถส่งผลให้ร่างกายคนอยู่แข็งแรงขึ้น และยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้คนที่มีความเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ เกิดอุบัติเหตุอีกด้วย

พ่อบุญสงค์ เชื้อสิงห์ วัย 68 ปี เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกับแม่ดม พ่อบุญสงค์เองก็มีปัญหาจากโรคเก๋า ที่ส่งผลต่อข้อเข่า ทำให้เวลาเดินขึ้นลงบันไดจะรู้สึกไม่สะดวก มีเสียงก๊อกแก๊กเวลาเดิน แต่โดยรวมเขาก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง เดินไปไหนมาไหนได้อยู่

“เมื่อก่อนตรงผนังบ้านเราใช้เป็นผ้าใบ ฝนตกทีก็ขาดที ต้องคอยเปลี่ยนซ้ำๆ เลยติดต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ช่วยซ่อมให้หน่อย”

ปัญหาบ้านที่พ่อบุญสงค์มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ อยู่ตรงที่ผนังบ้านบางส่วนใช้ผ้าใบ ความแข็งแรงย่อมไม่สู้วัตถุดิบอย่างแบบอิฐ หรือปูน หลายครั้งที่เขาต้องคอยเปลี่ยนผ้าใบใบใหม่ เนื่องจากพายุโหมกระหน่ำ แต่เมื่ออบต. ติดต่อศูนย์ UDC ให้มาช่วยดูบ้าน พวกเขาก็พบช่องโหว่บางอย่างที่ควรจะได้รับการปรับปรุงโดยเร็วไม่แพ้กับการเปลี่ยนผนังผ้าใบ

เนื่องจากบ้านของพ่อบุญสงค์มีลักษณะยกสูง ทำให้มีการขึ้นลงบันได อีกทั้งบริเวณโดยรอบค่อนข้างมืดบวกกับพื้นที่เป็นพื้นที่ดิน เมื่อมองดูภาพรวมแล้วบ้านหลังนี้ค่อนข้างเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างลื่นล้มมากๆ โดยเฉพาะบริเวณห้องน้ำที่พ่อบุญสงค์ต้องเดินไปเดินมาทุกวัน

ศูนย์เครือข่ายออกแบบเพื่อทุกคนตัดสินใจปรับปรุงบ้านให้พ่อบุญสงค์ จัดสรรหางบประมาณที่ภาครัฐมีให้ประชาชนในการปรับปรุงบ้านมาใช้ ทั้งเปลี่ยนผนัง และปรับสภาพห้องน้ำให้ใช้งานได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วนสุดท้ายก็นำไปซ่อมแซมบันได้ให้มีความแข็งแรงลดความเสี่ยงในการลื่นล้ม

“บ้านหลังนี้พ่ออยู่มาตั้งแต่เกิด หลังจากปรับปรุงบ้านก็ชอบบ้านตัวเองมากขึ้นนะ ดีใจที่บ้านของเราอยู่ได้ เราเองก็ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้หรอก” พ่อบุญสงค์ทิ้งท้าย การได้อยู่บ้านเป็นความสบายใจของใครหลายคน แต่การที่ได้อยู่บ้านแล้วรู้ว่าตัวเองจะปลอดภัยในบ้านหลังนี้ ยิ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยคลายความกังวลและอุ่นใจในบ้านได้ยิ่งกว่าเดิม

UDC ไม่ได้ทำแค่ปรับปรุงบ้านตามความต้องการของผู้อาศัยอย่างเดียว แต่มีการประเมิน ตรวจสอบ และดำเนินการให้ออกมาเป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยมากที่สุด โดยพิจารณาทั้งงบประมาณและความจำเป็นของการปรับปรุงในแต่ละหลังที่ไม่เหมือนกัน ทุกพื้นที่ในบ้านมีความจำเป็นในแต่ละแบบ ซึ่งผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงในระยะยาวรวมไปถึงเชื่อมโยงการเดินทางและการเข้าถึงได้อย่างเป็นระบบ

ที่สำคัญการออกแบบไม่ได้คิดแต่เพียงต้นทางและปลายทาง แต่ต้อง ‘ออกแบบระหว่างทาง’ อีกด้วย

บ้านหลังใหม่ที่เป็นมิตรต่อผู้อาศัยและคนในชุมชน

ระหว่างที่เดินคุยกันไป ข้างๆ ของพ่อบุญสงค์ก็จะมีผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยดูแลความเรียบร้อยรอบบ้าน รวมถึงเป็นผู้ช่วยตอบคำถามของพ่อบุญสงค์อีกด้วย เรียกว่าเป็นเหมือนเลขาของพ่อบุญสงค์คนหนึ่งเลย สืบทราบมาว่าคนนี้ คือ ละเอียด น้อยนาง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประจำชุมชนนาคูณใหญ่ ทำหน้าที่นี้มานานกว่า 30 – 40 ปีแล้ว

ละเอียดเล่าว่า งานของเธอไม่ใช่เลขา แต่เป็นเพื่อนคู่ขากันต่างหาก เนื่องจากละเอียดจะคอยมาดูแลและเยี่ยมบ้านของพ่อบุญสงค์ รวมถึงบ้านคนอื่นๆ ในชุมชนเสมอสำรวจว่าสุขภาพเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรกัน มีโรคภัยไข้เจ็บหรือบาดเจ็บอะไรกันหรือเปล่า ร่วมไปถึงตรวจสอบรอบบ้านด้วยว่ามีน้ำขัง มียุงลาย แล้วมีส่วนไหนของบ้านที่จะส่งผลต่อชีวิตคนอยู่อาศัยไหม

“มีผู้ป่วยติดเตียงที่เราต้องไปดูทุกวัน คอยไปดูว่ากินยาหรือยัง เปลี่ยนแพมเพิสให้ ดูแลเบิ้ด (ทั้งหมด) ทุกอย่าง กินยาก็ต้องดูสลากยาว่ากินก่อนหรือหลังอาหาร ถ้าผู้สูงอายุคนไหนไม่มีลูก เราก็ต้องมาดูแลแทน เพราะเขาเริ่มสุขภาพไม่ค่อยดีกันแล้ว”

อสม. ถือเป็นด่านแรกที่จะพาคนเข้าถึงกระบวนการปรับบ้านได้ เพราะเป็นคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกัน เป็นคนที่คอยเห็นความเป็นอยู่ของเพื่อนบ้านอยู่เสมอ และการปรับปรุงบ้านต้องใช้ทุนจำนวนมาก บางคนอาจจะไม่สามารถทำได้ งบจากรัฐเองก็มีไม่มากนัก ทำให้อสม.และคนในพื้นที่จะช่วยกันลงความเห็นว่า บ้านหลังไหนควรจะได้รับการปรับปรุงโดยเร็ว สำหรับละเอียดและคนในชุมชนนาคูณใหญ่จะพิจารณาจากบ้านที่ไม่สามารถอยู่ได้คงทนถาวร บ้านที่มีคนพิการ หรือบ้านที่มีผู้สูงอายุ

การปรับบ้านไม่ได้ช่วยแค่เจ้าของบ้านที่เป็นคนอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อสม. ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย เพราะเมื่อคนในชุมชนมีบ้านที่ปลอดภัย อสม. ก็จะมั่นใจได้ว่าชาวบ้านจะลดความเสี่ยงที่จะลื่นล้มหรือประสบอุบัติเหตุได้อีกด้วย

UDC นครพนมเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับเครือข่ายอื่นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายชาญชัย แมดมิ่งเหง้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ จ. นครพนม ได้พยายามขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนและครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ ที่มีโครงการสร้างงานให้ผู้สูงอายุสามารถหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ มิติทางสุขภาพโดยการ่วมมือกับ อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มิติทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้นได้จากการสร้างโรงเรียนผู้สูงอายุ และสุดท้ายมิติทางสภาพแวดล้อมที่ให้ช่างชุมชนและ UDC ในการปรับสภาพแวดล้อม

อาจารย์บรรจง ภูละคร หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนของมหาวิทยาลัยนครพนม มองว่านาคูณใหญ่คือพื้นที่ Age Friendly Communities ชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุและคนพิการ จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ และที่สำคัญยังเป็นตัวอย่างของพื้นที่ที่รวบรวมองค์กรนอกเครือข่ายมาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนนาคูณใหญ่ได้อย่างเข้มแข็งอีกด้วย

“Age Friendly Communities มันคือเรื่องของบ้านและพื้นที่สาธารณะ ถ้าเราทำบ้านดีแต่พื้นที่สาธารณะเข้าไม่ถึง มันก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่นาคูณใหญ่มีพื้นที่ที่ตรงตามหลัก UD ไม่ว่าเป็นห้องน้ำ ทางลาด เราทำเพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้งานได้และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับบ้านของคนในพื้นที่ด้วย”

นอกจากความปลอดภัยสิ่งที่บรรจงเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ ความสุนทรีย์ที่เจ้าของบ้านมีต่อบ้านในวันที่เขาสบายใจกับพื้นที่ของตัวเอง

“อย่างแม่ดมก็เกิดความภูมิใจ ว่าตัวเองก็ดูแลตัวเองได้ คนอื่นไม่ต้องมาดูแลนะ แถมยังมีเรื่องความงามสุนทรีย์ บางหลังก็เขาก็จะมีเวลามาจัดบ้านให้มันสวยได้มากขึ้น เพราะว่ามันปลอดภัยแล้ว หลายๆ อย่างมันดีขึ้นตามมาจนเราเห็นได้ชัด”

พื้นฐานของมนุษย์เริ่มมาจาก ‘บ้าน’

“บ้านเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เราจะต้องทำให้มันปลอดภัย เป็นบ้านที่อยู่อย่างมีความสุข เพราะบ้านเป็นสิ่งแวดล้อมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนที่เราจะก้าวออกไปข้างนอก ไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้บริการอาคารสาธารณะ เราอาจจะต้องเริ่มจากทำบ้านของเราให้ปลอดภัยก่อน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นหัวหน้าศูนย์ UDC ประจำภาคใต้เล่าให้ฟังถึง  ความจำเป็นของบ้านที่จะต้องสร้างความปลอดภัยให้กับคนอาศัย

ทำให้หน้างานอีกอย่างของเครือข่ายศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคน คือ รวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับการออกแบบและส่งต่อไปให้สังคม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ นับตั้งแต่ปี 2553 ที่เครือข่ายก่อตั้ง UDC ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานบริการวิชาการ งานวิจัย งานออกแบบปรับปรุง และงานที่ปรึกษา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการประสาน และสนับสนุนให้โครงการออกแบบเพื่อทุกคนเข้าถึงงบประมาณและภาคีเครือข่ายอื่นๆ ได้ ภายใต้การทำงานที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมุ่งสร้างความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง

ผู้อยู่อาศัย อสม. อบต. ผู้ใหญ่บ้าน มหาวิทยาลัย และสสส. ทุกคนที่ได้กล่าวทั้งหมดถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยให้บ้านหนึ่งหลังปรับปรุงสำเร็จ กลายเป็นบ้านที่เหมาะกับการอยู่อาศัยได้ ความร่วมมือและความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายเลยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปรับปรุงบ้าน ลักษณะการช่วยเหลือของ UDC มักจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนพิการ

“เดิมทีผู้สูงอายุที่เดินไม่ได้ หรือต้องมีคนช่วยตลอดเวลา พอเราปรับบ้าน เช่น ติดราวจับ เขาก็รู้สึกมั่นใจที่จะใช้ชีวิตในบ้าน เขาจะเดินไปด้วยตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถนะทางกาย และส่งผลให้สุขภาพจิตตัวเองดีขึ้นด้วย เพราะลดการพึ่งพาคนอื่น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเป็นภาระใคร”

‘ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้าน’ จะเห็นได้ว่าการมีบ้านที่ดีช่วยในการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจไปโดยธรรมชาติ

นอกจากผู้สูงอายุและคนพิการ UDC ก็ได้มีความพยายามในเข้าหากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยในการปรับสภาพแวดล้อมอีกด้วย รศ.ดร. นวลวรรณ ทวยเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU.UDC) และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแสงสว่างสำหรับผู้สูงอายุ เล่าว่า กลุ่มเป้าหมายที่ทาง KU.UDC ดูแลอยู่ คือ กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษและกลุ่มผู้ที่มีภาวะทางสมอง

“การออกแบบบ้านสำหรับกลุ่มเป้าหมายนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากพวกเขามีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และมีภาวะสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ทั้งความจำ การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ อย่างเด็กออทิสติกก็จะวิ่งชนนู่นนี่ เพราะเขาจะ hyper sensitive ก็คือมีความไวต่อแสง รูป รส กลิ่น เสียง เพราะฉะนั้นเรื่องความปลอดภัยต้องระวังเป็นพิเศษมากๆ”

แสง สี เสียง ในสภาพแวดล้อมล้วนมีผลต่อการรับรู้ของพวกเขาทั้งหมด อาจารย์เล่าว่า อย่างสีที่ช่วยให้เด็กกลุ่มออทิสติกอยู่ในภาวะที่สงบและมีสมาธิมากขึ้น คือ สีเขียว แสงจากหลอด LED สีส้มอุ่นๆ ก็เป็นแสงที่ควรใช้กับเด็กกลุ่มนี้เนื่องจากมีความนิ่งกว่าเมื่อเทียบกับแบบอื่น

“เพราะฉะนั้น บ้านไม่ใช่แค่ที่นั่ง นอน ยืน เดินเฉยๆ บ้านมันมีความหมายถึงการเยียวยาสภาวะทางจิตใจ ความปลอดภัย รวมถึงความอบอุ่นในอนาคตของเขาด้วย บ้านคือที่รวมชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมดทั้งมวลเลย” นวลวรรณ ทิ้งท้าย

หลังจากความสำเร็จในการพัฒนาภาคีเครือข่ายด้าน Universal Design ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป้าหมายต่อไปของ UDC คือสร้างนวัตกรรมการทำงานเพื่อปรับสภาพแวดล้อม เชื่อมโยงหน่วยงานและภาคีใหม่ๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น และยกระดับการทำงานเพื่อขยายพื้นที่การทำงาน โดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม

หากใครสนใจเข้าร่วมโครงการปรับบ้านกับเครือข่ายศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคน สามารถติดต่อไปที่เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน Universal Design Center หรือสามารถติดต่อไปยังเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ 12 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

สำรวจคู่มือบ้านใจดี บ้านที่ออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design Home) ได้ที่ www.section09.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ