‘ดูแลพ่อแม่ตามความสามารถ ไม่ใช่ภาระหน้าที่’ ความหมายของ ‘กตัญญู’ ในวันนี้ ไปพร้อมๆ กับโครงสร้างสังคมที่รองรับคนทุกช่วงวัย

“ชีวิตเหมือนติดกับดักความกตัญญู จะขยับไปทำอะไรไม่ได้เลย”

กระทู้หนึ่งในเว็บไซต์สังคมออนไลน์แห่งหนึ่ง ฝ่ายคนตั้งกระทู้อยากปรึกษาปัญหาชีวิต เขาต้องกลายเป็นเสาหลักของบ้านดูแลแม่และน้อง งานดูแลเริ่มเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจำนวนเงิน แถมไม่รู้ว่าหน้าที่นี้จะจบลงเมื่อไร ทำให้เจ้าตัวเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจ จนต้องการคำแนะนำว่า เขาควรทำอย่างไรต่อไป

ถ้าเป็นสัก 4-5 ปีที่แล้ว หรือแม้กระทั่งตอนนี้เอง เราคงคาดเดาคำตอบได้ว่าจะเป็นแนว “เป็นหน้าที่ที่ลูกต้องทำ” “ถ้าลูกไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ถือเป็นคนอกตัญญู” กระทู้นี้ถูกตั้งเมื่อปีที่แล้ว บรรยากาศของคำตอบเลยเปลี่ยนไปจากที่คาดไว้ กว่า 80 คำตอบที่เข้ามาแนะนำเจ้าของกระทู้ ต่างให้เขายึดความต้องการตัวเองเป็นหลัก ปล่อยวางสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ แม้จะเป็นการดูแลพ่อแม่ก็ตาม

“ทุกคนล้วนมีสัญชาตญาณของการอยู่รอด เอาตัวรอด ถึงคุณไม่ช่วยเขา เขาก็จะเรียนรู้ในการที่ต้องอยู่ให้รอดจนได้” หนึ่งในคำแนะนำที่มอบให้เจ้าของกระทู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กตัญญู’ กลายเป็นคำที่ระบุหน้าที่ลูกไปโดยปริยาย พวกเขามีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วก็กลายเป็นการวางแผนใช้ชีวิตบั่นปลายของบางคน จนหลายครั้งมีการตั้งคำถามในโลกโซเชียลว่า คนที่ไม่มีลูกวางแผนใช้ชีวิตเกษียณอย่างไร การมีลูกเลยถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการันตีว่า ชีวิตในช่วงสูงวัยจะมีคนรับดูแลตัวเองต่อ

คนที่อยู่ในสถานะลูกจึงตั้งคำถามกับสิ่งนี้ว่า ทำไมพวกเขาที่เลือกเกิดไม่ได้ แต่ต้องถูกกำหนดหน้าที่ให้ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย


เมื่อกตัญญูถูกใช้เป็นกุศโลบายให้คนต้องดูแลกันเอง มากกว่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐ

“ในอดีตที่ผ่านมา สังคมพยายามปลูกฝังเรื่องความกตัญญู เพราะความกตัญญูเป็น Social Safety Net (โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม) กลไกที่ทําให้ครอบครัวกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเปราะบาง ถ้าไม่มีความกตัญญูเสาหลักตรงนี้ก็จะทลายลงทันที”

เป็นมุมมองของ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพพลได้ทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้สูงวัยมีความสุข มี 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ สุขภาพที่ดี สถานะการเงิน และการมีส่วนร่วมกับสังคม ยังได้พบปะผู้คน ได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกเหมือนที่ผ่านมา

สถานะการเงินดูจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะเราต่างรับรู้ว่าเงินช่วยทำให้อะไรๆ ในชีวิตง่ายขึ้น ปัจจุบัน ผู้สูงอายุบางคนยังอาจคาดหวังว่า ตัวเองจะยังได้รับการดูแลจากลูกหลาน จนอาจทำให้มีการวางแผนออมเงินไว้ใช้ในยามสูงวัยอย่างไม่เพียงพอ

ความกตัญญูจึงมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ลูกหลานหลายคนถูกสอนตั้งแต่เริ่มเข้าระบบการศึกษาว่า พวกเขาจะต้องเรียนสูงๆ มีการงานทำดีๆ ได้เงินเยอะ เพื่อกลับมาดูแลพ่อแม่และครอบครัว ลูกบางคนก็อดตั้งคำถามกับสิ่งนี้ไม่ได้ 

“ไม่ใช่ว่าความกตัญญูมันพังทลายไปแล้วสําหรับคนรุ่นใหม่ แต่ผมคิดว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ มันคือการตั้งคําถามว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ดีกับเรา เรายังต้องดีกับพ่อแม่ไหม และความกตัญญูยังเป็นคุณค่าทางสังคมที่จำเป็นอยู่ไหม และเป็นคุณค่าที่เราต้องบังคับให้ทุกคนในสังคมมีเหมือนกันหมดไหม

“ผมคิดว่าการดูแลพ่อแม่ในปัจจุบันควรจะเกิดความรู้สึกว่า เมื่อพ่อแม่ดีกับเราในวันที่เราเป็นเด็กและดูแลตัวเองไม่ได้ เราก็อยากตอบแทนพ่อแม่ในวันเขาดูแลตัวเองได้น้อยลงเหมือนกัน คนที่กตัญญูกับพ่อแม่คงไม่ได้เรียกตัวเองว่า เป็นคนกตัญญู และก็คงไม่ได้คิดว่าด้วยว่า ความกตัญญูเป็นหน้าที่ เขาดูแลพ่อแม่เพราะคิดว่า ควรทำและอยากทำ ไม่ได้คิดว่าต้องทำหรือ ได้บุญหรืออะไร แต่ถ้ามีเคสที่บอกว่า พ่อแม่ไม่ดีกับเรา แล้วเรายังต้องตอบแทนหรือเปล่า ผมคิดว่าอันนี้เป็นอีกเรื่องที่เราต้องมาคุยกัน”

เมื่อถอยออกมาจากความเป็นครอบครัว คือภาพรวมของประเทศ เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐต้องออกแบบโครงสร้างสังคมให้รองรับทุกช่วงอายุของพลเมือง สุดท้ายจะไม่มีการผลักภาระการดูแลไปให้ใคร ไม่ว่าจะพ่อแม่ดูแลลูก หรือลูกดูแลพ่อแม่เมื่ออายุมากขึ้น แต่โครงสร้างสังคมจะช่วยลดภาระ และทำให้ความสัมพันธ์ของคนเข้มแข็งขึ้น 

“มันคือการวางนโยบายที่มองการพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งต้องสอดคล้องกัน ถ้ารัฐบาลอยากจะทำโครงสร้างให้ดีขึ้น สิ่งที่ต้องเริ่มทํา คือ ปฏิรูปการศึกษา สะสมทุนมนุษย์ไว้ คิดง่ายๆ ว่า พอมีความรู้คนจะมีแนวโน้มเข้าถึงการดูแลตัวเองมากขึ้น มีสุขภาพดี เลือกที่จะดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่อย่างพอดีมากขึ้น ดีกว่านั้นก็ไม่ยุ่งเกี่ยวเลย การศึกษาดีก็หาเงินได้ แถมการศึกษาก็เป็นพื้นที่ที่ทําให้เราสามารถมีสังคมมีเพื่อนที่ดีได้ด้วย ฉะนั้น การลงทุนด้านนี้มันจะส่งผลตั้งแต่เกิดไปจนตาย แต่ว่านโยบายอื่นๆ ก็ยังต้องทําคู่กันด้วยนะ  

“ชีวิตผู้สูงอายุสามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตคนทั้งประเทศได้ เพราะผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มคนเปราะบาง เวลาคนเรามีความทุกข์ ถ้าเป็นคนวัยทํางานอาจจะยังจัดการได้ มีทางเลือกเยอะ แต่เวลาผู้สูงอายุมีความทุกข์ เขาจะจัดการได้ยาก เช่น เราอายุ 70 อยากเดินออกไปซื้อของ แต่เจอฟุตบาทไม่ดี เดินบนนถนนก็กลัวโดนรถเฉี่ยว ยิ่งถ้าล้มก็มีโอกาสบาดเจ็บร้ายแรง สิ่งเหล่านี้คือความเปราะบางของคนสูงวัย ถ้าเราไม่สามารถจัดการให้คนเปราะบางใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ มันแปลว่า เรายังทํางานเรื่องคุณภาพชีวิตประชาชนได้ดีไม่พอหรือเปล่า”

 

เรายังต้องการสวัสดิการและการรองรับจากรัฐ ที่ไม่ผลักภาระไว้ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือมีประชากรสูงวัยคิดเป็นร้อยละ 20 ต่อประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง สถิติประชากร สำรวจโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า อัตราการเกิดประชากรในปี 2564 มีจำนวน 544,570 คน ในขณะที่อัตราการผู้เสียชีวิตมีจำนวน 563,650 คน

อีก 30 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่า อัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุเหลือเพียง 2 คนต่อ 1 คน โครงสร้างประชากรนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า อนาคตการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรวัยต่างๆ จะเปลี่ยนไป คนวัยทำงานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุในบ้านมากขึ้น

การเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยจึงเป็นเรื่องที่รัฐและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญ เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการทำงาน สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยต้องเริ่มเตรียมพร้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก เพราะสุดท้ายทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ ผ่านการทำงาน  4 มิติ คือ

1.มิติด้านเศรษฐกิจ สร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับคนสูงวัยและคนรุ่นใหม่ เช่น พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ การส่งเสริมการออม การจ้างแรงงานสูงวัย เป็นต้น

2.มิติสภาพแวดล้อม สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งในบ้านและสถานที่สาธารณะ ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

3.มิติสุขภาพ ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยให้แข็งแรง และพึ่งพาตัวเองได้นานที่สุด รวมถึงพัฒนาระบบบริการสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

4.มิติชุมชนและสังคม สนับสนุนการร่วมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในชุมชน การส่งเสริมความเข้มแข็งชมรมผู้สูงอายุ การพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงสื่อสารกับสังคมว่า สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการที่ภาครัฐจัดหาให้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุทุกคนในแต่ละเดือน แต่รายได้จากสวัสดิการส่วนนี้ยังไม่เพียงพอ ทำให้การสร้างรายได้อื่นๆ สำคัญ และต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่พวกเขายังมีแรงทำงานหาได้ เพื่อเก็บออมในวัยบั้นปลาย 

ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทำงานขับเคลื่อนเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ ผ่านการสนับสนุนของสำนัก 9 ออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติที่จะครอบคลุมชีวิตผู้สูงอายุทุกคน ให้เข้าถึงการออมเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ ระบบนี้จะเป็นหลักประกันทางใจและทำให้คนมั่นใจกับการเป็นคนสูงวัย ไม่เป็นภาระของใคร

ระบบนี้ยังอยู่ในช่วงผลักดันเพื่อให้ได้ใช้จริง ระหว่างนี้วรเวศม์แนะนำแนวทางการออม ที่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอให้ใกล้ถึงวัยเกษียณ โดยมี 3 ข้อหลักๆ คือ

1.เช็กสิทธิหลักประกันของตนเอง เช่น สิทธิประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ ฯลฯ

2.จิตนาการว่าต้องการใช้ชีวิตสูงวัยแบบไหน

3.นำสิทธิและภาพชีวิตมาเปรียบเทียบว่าเงินเพียงพอหรือไม่ ต้องออมเิงนเพิ่มเติมอีกเท่าไร

“มันคือการวางแผนการเงินไปให้ไกลที่สุดจากวันนี้ที่เราอยู่ จริงๆ สามารถเริ่มต้นได้ก่อนเริ่มทำงานด้วยซ้ำ แต่จะวางแผนการเงินเพื่ออะไร ก็แล้วแต่คน เพราะช่วงชีวิตของเราก็มีหลายเรื่อง เช่น ซื้อรถ ซื้อบ้านสำหรับครอบครัว ส่งลูกเรียน ผมคิดว่าให้น้ำหนักต่างกันไปได้ เพราะถ้าไม่มองให้ไกล คุณก็จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ” 

สำหรับวรเวศม์ หลักประกันรายได้ของคนสูงวัย คือ การวางแผนการเงินระยะยาว ซึ่งแต่ละช่วงวัยอาจมีเป้าหมายในการออมแตกต่างกันไป แต่สำคัญคือต้องเริ่มคิดและวางแผนชีวิตในแต่ละช่วง เพื่อให้ท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาได้น้อย และยังได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ

สุดท้ายอาจไม่ต้องมีคำว่ากตัญญูเพื่อมากำกับว่า ลูกต้องมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ แต่จะเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่มีใครต้องเป็นภาระของใคร

อ้างอิง

หนังสือ Voices of Change เสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลง

section09.thaihealth.or.th 

stat.bora.dopa.go.th

Shares:
QR Code :
QR Code