เพราะสูงวัยแปลว่าอิสระ ‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ พื้นที่ของชาวสูงวัยได้ปล่อยของ กลับมาทำตามฝันอีกครั้ง

บูทร้านค้าที่เรียงรายกันอยู่ในชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อาจเป็นภาพที่คนในพื้นที่หรือคนแวะมาชินตา แต่ความพิเศษของร้านค้าที่มาครั้งนี้ คือ เจ้าของร้านล้วนเป็นคนชมรมวัยเก๋า หรือ ‘ผู้สูงอายุ’ ที่เกษียณแล้วแต่ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ อยากหาอะไรทำ พวกเขาจึงมาออกบูทโชว์ฝีมือที่มี

‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ ภายในงาน “เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ” โดย Young Happy ยังแฮปปี้ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 – 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นหนึ่งพื้นที่ให้ชาวสูงวัยได้โชว์ฝีมือ เติมคุณค่าให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะวัยไหนทุกคนยังมีคุณค่าและศักยภาพของตัวเอง

ขนมไทย น้ำพริก ผ้าบาติก เครื่องปั้นเซรามิก ฯลฯ ส่วนหนึ่งของการมาปล่อยของโดยเหล่าคนสูงวัย

“วัยเกษียณเป็นวัยอิสระ ที่เราจะกลับไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ เริ่มมีความสุขละ เราได้กลับไปวาดรูป มีที่ไหนสอนอะไรที่เกี่ยวกับวาดรูปเราจะไปตลอด คือใช้ชีวิตอย่างมีอิสระที่มีคุณค่ามากขึ้น”

‘ณารา’ และพี่สาว ‘ศรีจันทร์’ มาออกบูทโดยพาผลงานขึ้นชื่อของพวกเขาอย่าง ‘พวงมาลัยผ้าลูกไม้’ มาด้วย สองสาวบอกว่าพวกเขาไม่ชอบอยู่เฉยๆ ต้องหมั่นหากิจกรรมทำเสมอ เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ยังแข็งแรง

ณาราบอกว่า งานฝีมือเป็นสิ่งที่พวกเขาชอบทำมากๆ เป็นความฝันตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยค่านิยมในยุคที่พวกเขาเติบโต การทำงานในสายงานมั่นคงย่อมดีเสมอ ทำให้พวกเธอต้องเก็บความชอบไว้ในลิ้นชัก รอเวลาเหมาะสมที่จะได้เปิดมันอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลานั้นก็คือช่วงเกษียณ

“อย่างน้อยเราก็ยังไม่ได้ทิ้งสังคม ยังออกมาข้างนอกมาพบปะคน มันเป็นการสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้เรา”

ในตลาดจะมีบูทอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง เราเก็บข้อมูลมาฝากกัน ซึ่งนอกจากของในบูทจะน่าสนใจแล้ว ก็ยังโชว์ให้เราเห็นอีกว่า อายุยังคงเป็นเพียงตัวเลขเสมอ เรายังสามารถทำอะไรได้ที่ต้องการ ไม่แน่ว่าช่วงเวลานี้อาจทำให้เราได้กลับมาทำตามฝันกันก็ได้



พวงมาลัยสีขาวที่ไม่ได้มาจากดอกรักอย่างที่เราคุ้นชิน แต่เป็นผ้าลูกไม้สีขาว เป็นผลงานจากร้านของสองพี่น้อง ‘ศรีจันทร์’ และ ‘ณารา’ ที่นำมาออกร้านในครั้งนี้

คนพี่อย่างศรีจันทร์อธิบายให้เราฟังว่า ผ้าที่นำมาใช้เรียกว่า ‘ผ้าลูกไม้ฉีก’ เป็นไอเดียที่เธอได้ตั้งแต่สมัย ‘สาวๆ’

“เราชอบทำงานแบบนี้อยู่แล้ว ทำมาหลายสิบปีตั้งแต่ 40 กว่าๆ จนตอนนี้ 76 ละ (หัวเราะ)

“เวลาทำงานเราจะชอบเอาอะไรแปลกๆ มาทำ อย่างผ้าลูกไม้เห็นแล้วก็เลยลองซื้อมาทำพวงมาลัยดู” 

ชีวิตของสองสาวนั้นคล้ายกัน คือ มีสิ่งที่ตัวเองชอบทำแต่ไม่ได้สานต่อ ส่วนหนึ่งเพราะค่านิยมในยุคนั้น อย่างณาราที่ชอบภาษาและงานศิลปะตั้งแต่เด็ก แต่ทัศนคติของผู้ใหญ่มองว่าควรเรียนสายวิทย์ หรือเป็นหมอถึงจะดีที่สุด ทำให้ณาราเลือกที่จะเรียนด้านธุรกิจ จบมาก็ทำงานในธนาคาร จนกระทั่งเกษียณถึงได้เวลาทำสิ่งที่เธอชอบ

“ถึงบอกว่าวัยเกษียณเป็นวัยอิสระ ที่เราจะกลับไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ เริ่มมีความสุขละ เราได้กลับไปวาดรูป มีที่ไหนสอนอะไรที่เกี่ยวกับวาดรูปเราจะไปตลอด คือใช้ชีวิตอย่างมีอิสระที่มีคุณค่ามากขึ้น”

ทั้งสองคนเป็นสมาชิกประจำเกษียณคลาสและคอร์สออนไลน์อื่นๆ ที่ Young happy เปิดสอน โดยเฉพาะศรีจันทร์ที่ลงเรียนเกือบจะทุกคอร์ส จนแทบจำไม่ได้แล้วว่าลงเรียนอะไรไปบ้าง

“เป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่ชอบเลย ชอบทำอะไรก็ได้ อย่างทำงานพวกนี้เราก็ได้ขยับข้อมือบ้าง”

นอกจากพวงมาลัยผ้าลูกไม้ ก็มีโบว์ติดผม แล้วก็มีลูกบอลเสริมกล้ามเนื้อ ที่ศรีจันทร์บอกว่าพยายามคิดชิ้นงานที่คนวัยเดียวกันสามารถทำได้ เพราะนอกจากทำขายแล้ว ศรีจันทร์ก็ยังรับบทเป็นวิทยากรสอนงานเหล่านี้ให้คนที่สนใจ ส่วนใหญ่เธอจะสอนที่ศูนย์ฝึกอาชีพของกรุงเทพฯ ซึ่งกระจายอยู่ตามเขตต่างๆ 

ระหว่างที่แนะนำผลงานให้เราฟัง ศรีจันทร์บอกอีกว่า การทำงานนี้นอกจากจะทำให้ไม่ต้องอยู่เฉยๆ ยังได้ขยับร่างกาย มันคือการได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบด้วย ไม่ต้องกดดันว่าต้องทำปริมาณชิ้นงานเท่าไร หรือตั้งเป้ายอดขาย แต่ทำเพลินๆ ถ้าเหนื่อยก็พักแล้วค่อยกลับมาทำใหม่เมื่อพร้อม 

ส่วนณาราเองออกตัวว่ามีฝีมือไม่เท่าพี่สาว เลยขอเป็นคนช่วยดูแลระบบร้าน ออกแบบโลโก้ ติดต่อลูกค้าที่สนใจแทน เธอบอกว่ากิจกรรมพวกนี้ช่วยเรื่องสุขภาพจิตคนวัยเธอ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญมากๆ 

“อย่างน้อยเราก็ยังไม่ได้ทิ้งสังคม ยังออกมาข้างนอกมาพบปะคน มันเป็นการสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้เรา”

เครื่องปั้นดินเผาประดับด้วยงานโมเสก ที่ ‘ตุ๊ก’ บอกว่าเธอเป็นคนออกแบบเอง จากประสบการณ์ที่เรียนจบจิตรกรรม ทำงานเป็นดีไซเนอร์มาหลายสิบปี ตอนนี้ในวัย 62 ปี ตุ๊กหันมาจับงานเครื่องปั้นดินเผาประดับโมเสก

“เราไปเห็นเครื่องปั้นดินเผาแถวบ้านตรงปากเกร็ด คิดว่ามันน่าจะทำอะไรได้มากกว่ารูปทรงนี้ เลยเอามาดีไซน์ใหม่แล้วส่งให้คนปั้น ส่วนแผ่นโมเสกก็ซื้อมาจากหลายๆ ที่ มีจากนครปฐมด้วย บางที่เขาเลิกทำไปแล้วก็มี”

ชีวิตของตุ๊กมีงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งเสมอ ก่อนจะมาทำงานปั้นอย่างเต็มตัว ตุ๊กเคยเปิดคาเฟ่ขายกาแฟ ส่วนงานปั้นเป็นเพียงงานอดิเรกที่เธอหัดทำแล้วนำมาวางขายในร้าน พอมีคนสนใจมากขึ้น ทำให้ตุ๊กหันมาจับงานนี้เต็มตัว

แต่ตุ๊กก็วางแผนว่าเธออยากเปิดสตูโอสอนทำงานฝีมือ อยากสร้างเป็นสังคมให้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน เธอวางแผนไว้ในใจว่าจะใช้พื้นที่คาเฟ่เก่ามาทำสตูดิโอ

“เราวางจะทำสตูดิโอสอนทำเครื่องปั้นดินเผา สอนวาดรูปต่างๆ ให้คนที่ชอบสิ่งเดียวกันมาจอยกัน กะว่าจะเน้นสอนผู้สูงอายุเป็นหลักเพราะเราเคยสอน ตอนนั้นสอนทำสวนขวด มีคนมาเรียนประมาณ 6 – 7 คน

“เหนื่อยนะ (หัวเราะ) เพราะบางทีสอนแล้วถ้าเขาทำไม่ได้เขาก็จะทิ้งทันที เราก็ต้องมานั่งทำให้ทีละคนๆ แต่เราเห็นเขาก็มีความสุขกันไงเลยอยากสอนต่อ” 

อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ตุ๊กเข้าใจผู้สูงอายุ แล้วชีวิตของเธอในตอนนี้นอกจากทำงานศิลปะที่สนใจไปเรื่อยๆ ก็คือทำความเข้าใจชีวิตที่อยู่ในขั้นปล่อยวาง

“เราไม่กังวลเรื่องอายุเลยนะ เมื่อ 6 – 7 ปีที่เราทำร้านกาแฟ ซึ่งเราก็รักมันนะ แต่ทำแล้วเหนื๊อยเหนื่อย เหนื่อยมากๆ ยิ่งเจอโควิดยิ่งเหนื่อย พอเราตัดสินใจเลิกทำเหมือนได้ปลดล็อก ชีวิตมีอิสระขึ้น อยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ

“อย่างบ้านเราก็พยายามเก็บๆ นะ อันนั้นไม่ใช้เอาออก เพราะตอนที่แม่เสียของๆ แม่วางไว้ที่เดิมหมดเลย เราเข้าใจเรื่องนี้ดี ตอนนี้ก็พยายามสบายๆ อยากทำอะไรก็ทำเลย”

“ของเราไม่แพง อย่างเค้กส้ม 35 บาท ใช้เนื้อส้มเพียวๆ เลยนะ เราทำสูตรเพื่อสุขภาพด้วย น้ำพริกของกลุ่มเราก็ใช้วัตถุดิบคัดสรรทุกอย่าง อยากให้ลองชิมด้วยว่ารสชาติเราไม่ได้แพ้เจ้าอื่นนะ อาจจะถูกใจวัยรุ่น”

‘อู๊ด’ ที่ยืนอยู่หน้าบูทวิสาหกิจชุมชนคลองชักพระ ตลิ่งชัน เชิญชวนให้เราลองดูของที่วางในร้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาดุกฟู ขนมชั้น เค้กส้ม แล้วก็เปียกปูนที่อู๊ดบอกว่าเป็นเมนูขึ้นชื่อของเธอเลย

อดีตอู๊ดเคยทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง พอถึงวัยเกษียณเธอยังไม่อยากอยู่เฉยๆ ยังอยากมีกิจกรรมทำ เลยเลือกเดินไปที่สำนักงานเขตแถวบ้านเพื่อหาว่า คนวัยเธอพอจะมีอะไรทำได้บ้าง เจอกับกลุ่มเพื่อนๆ วัยเกษียณที่หากิจกรรมทำเหมือนกัน เลยชวนกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทำของขาย และสาธิตสอนอาชีพให้คนในชุมชนที่สนใจ

แม้ว่าของกินที่นำมาขายส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของอู๊ด แต่เธอบอกว่าจริงๆ แล้วตัวเองทำอาหารไม่เป็นเลย เพิ่งได้มีโอกาสมาเรียนช่วงเกษียณที่ศูนย์ฝึกอาชีพของกรุงเทพฯ 

“เราออกไปเรียนไม่ได้เจอแต่คนสูงวัยนะ วัยรุ่นก็มี มีน้องที่อายุน้อยที่สุดที่เคยเจอ 17 ปี เขามาเรียนทำอาหารนะ ไม่ไปเรียนหนังสือ เราก็ถามเขาว่าทำไมไม่ไปเรียนละ เขาบอกว่าไม่ได้หวังปริญญา แต่หวังอาชีพ เป็นเด็กผู้ชายด้วยนะ หัวเขาไปไวมากๆ ทำเก่งกว่าเราอีก”

การใช้เวลาในช่วงวัยเกษียณของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป สำหรับอู๊ดมันก็เป็นวัยหนึ่งที่เธอยังอยากใช้ชีวิตให้เหมือนกับช่วงวัยอื่นๆ 

“การมาออกร้านแบบนี้เราถือว่าเป็นการพักนะ ถ้าอยู่บ้านจะเบื่อ มันจะเกิดงานซ้ำๆ ไม่ดูทีวีก็อ่านหนังสือ ไม่อ่านหนังสือก็ทำงานบ้าน แล้วก็กินข้าว วนลูปไปแบบนี้ ถ้าได้ออกมาข้างนอกอย่างน้อยเราได้คอนเนกชัน ทำอะไรที่ให้เราได้แอคทีฟขึ้น ซึ่งไม่ต้องได้เป็นเงินก็ได้”




Shares:
QR Code :
QR Code