สุเหร่ากับมัสยิดต่างกันยังไง? ข้าวหมกไก่ใส่กล้วยหอม ไปเที่ยวและเรียนรู้ชีวิตชาวมลายู-มุสลิม ที่คลองสามวา
8 โมงเช้าวันอาทิตย์ที่ควรใช้เวลาอยู่บนเตียงนอนให้เต็มอิ่ม แต่เรากลับพาตัวเองออกมาที่สวนลุมพินี อันเป็นสถานที่นัดพบและเริ่มต้นทริปในวันนี้ กรุงเทพฯ เมืองรวมมิตร : คลองสามวา จัดโดย มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เป็นกิจกรรมเดินเที่ยว (Walking Tour) ภายใน 1 วัน ที่จะพาเราไปรู้จักกรุงเทพฯ ในมุมต่างจากเดิม
คลองสามวาอาจเป็นชื่อที่คุ้นหูกันดี เป็น 1 ใน 50 เขตของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออก หนึ่งในเอกลักษณ์ของคลองสามวา คือ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
รายงานการศึกษาการกระจายตัวของมัสยิดในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 โดยกรุงเทพฯ ระบุจำนวนคนมุสลิมในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 มีประมาณ 165,076 คน จากประชากรทั้งหมด 5,692,284 คน คลองสามวาก็เป็นเขตหนึ่งที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น นอกจากนั้นก็มีเขตหนองจอก มีนบุรี สะพานสูง ฯ
“กรุงเทพฯ ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวมลายู-มุสลิม”
ต้นคูน-ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์ ครูสอนประวัติศาสตร์และเป็นหนึ่งในวิทยากรที่จะพาทัวร์ครั้งนี้ เล่าให้ฟังคร่าวๆ ถึงบริบทของคนมุสลิมในไทย โดยเริ่มต้นจากทำความเข้าใจเรื่องคำกันก่อน ซึ่งคำที่เราได้ยินบ่อยๆ และอาจคิดว่าเป็นคำที่มีความหมายเหมือนกัน คือ อิสลามและมุสลิม ต้นคูณอธิบายว่า อิสลามเป็นชื่อศาสนา ถ้าจะเรียกคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ต้องใช้คำว่ามุสลิม
ส่วนที่ว่าเป็นชาวมลายู-มุสลิม เพราะมุสลิมในไทยส่วนใหญ่มาจากทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุมลายู ฉะนั้น คนมลายูไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาอิสลามเสมอไป และมลายูก็ไม่เท่ากับอิสลามด้วย
เอาเป็นว่าขอเล่าข้อมูลเป็นน้ำจิ้มเพียงเท่านี้ก่อน ถ้าอยากรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น อักษรถัดจากนี้เป็นข้อมูลที่เราบันทึกเก็บมาฝาก ไม่ต้องร่วมทริปก็ได้ความรู้และประสบการณ์กลับไปไม่แพ้กัน
ข้าวหมกไก่ อาหารยอดนิยมของคนมลายู-มุสลิม
ทริปวันนี้เราจะไป 3 สถานที่ด้วยกัน คือ มัสยิดกามาลุลอิสลาม (สุเหร่าทรายกองดิน), มัสยิดกมาลุลอิมาน ชุมชนวังตาหนวด และฟารุกฟาร์ม ระยะทางจากสวนลุมฯ ไปสถานที่แรกนับว่าไกลมาก รถเมล์สีฟ้า หรือรถโดยสารปรับอากาศ NGV ที่จอดข้างสวน คือ ยานพาหนะของเราในครั้งนี้ ขนาดของมันเหมาะกับจำนวนผู้รวมทริปที่มีเกือบ 20 ชีวิต มีบางคนที่ใช้วีลแชร์ด้วย แต่ไม่ต้องห่วง รถเมล์ประเภทนี้มีทางลาด อำนวยความสะดวดสำหรับวีลแชร์
เจ้าภาพอย่างมูลนิธิด้วยกันฯ เป็นมูลนิธิก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อว่า ความพิการไม่มีอยู่จริง ถ้าหากเราปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับข้อจำกัดของทุกคน ความพิการก็จะหายไป งานของพวกเขาจึงเป็นการคิดค้นนวัตกรรมและออกแบบสภาพแวดล้อม ที่จะทำให้ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ องค์กรที่มีความเชื่อเหมือนกัน หนึ่งในนัั้นคือสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เพื่อนร่วมทัวร์ครั้งนี้เลยมีทั้งคนพิการทางการมองเห็นและการเคลื่อนไหว ร่วมออกเดินทางเก็บประสบการณ์ และเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายไปด้วยกัน
ระหว่างที่นั่งรถ แพท-พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล นักเขียนและนักเดินทาง เป็นอีกหนึ่งวิทยากร ใช้เวลาช่วงนี้เปิดหลักสูตรมลายู-มุสลิม 101 เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคร่าวๆ
อิสลาม (Islam) เป็นศาสนาเอกเทวนิยม (ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว) ที่เชื่อว่า มีต้นกำเนิดที่เมืองเมกกะ หรือประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน อิสลามเป็นคําภาษาอาหรับ อาจมีรากศัพท์มาจากคําว่า อัสละมะ หมายถึง สันติ นอบน้อม ยอมจำนนสิ้นเชิง (ต่อพระเจ้า)
ผู้นับถือศาสนาอิสลามเข้ามาในดินแดนประเทศไทยนานนับพันปีแล้ว เป็นผลจากการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซียในอดีต คนเหล่านี้ได้ชักชวนให้ชนชาติมลายูซึ่งอาศัยอยู่ทางใต้ของไทยหันมาเข้าศาสนาอิสลาม หนึ่งในนั้นมีอาณาจักรปัตตานีเป็นอาณาจักรสำคัญของชาวมลายู ต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างปัตตานีและสยาม ท้ายที่สุดปัตตานีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสยาม ชาวมลายูปัตตานีจำนวนมากโยกย้ายถิ่นฐาน กระจายไปทั่วประเทศ กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวไทยที่นับถืออิสลามส่วนใหญ่ในไทยทุกวันนี้
คนมุสลิมแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ที่อยู่ อย่างมลายู-มุสลิม ต้นคูณบอกว่า ‘โสร่ง’ เป็นจุดเด่น โสร่งเป็นผ้าที่มีลวดลายต่างๆ นุ่งห่มเฉพาะผู้ชาย คล้ายๆ การนุ่งผ้าถุง
ใช้เวลาประมาณ 50 นาที เราก็เดินทางมาถึงสถานที่แรก คือ มัสยิดกมาลุลอิมาน ชุมชนวังตาหนวด เพื่อมาเรียนรู้ทำข้าวหมก อาหารขึ้นชื่อของคนมลายู-มุสลิม โดยมี ‘ยิมมูฮัมหมัด’ บิหลั่นประจำมัสยิด เป็นคนสอนทำ
“สูตรของพ่อตา เราเป็นคนช่วยเขาหุงข้าว จนพ่อตาบอกว่า ‘ช่วยป๊ะหน่อย ทำไม่ไหวแล้ว’ เราก็เรียนรู้จำสูตรมาทำเรื่อยๆ”
อิหม่ามตำแหน่งที่คนน่าจะคุ้นเคยที่สุด เป็นตำแหน่งผู้นำประจำมัสยิด แต่ยังมีอีก 2 ตำแหน่ง คือ คอเต็บ ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด และบิหลั่น ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจ
ข้าวหมกสูตรของยิมมูฮัมหมัดคล้ายคลึงกับข้าวหมกสูตรอื่นๆ แต่มีเคล็ดลับอยู่ที่การใส่ ‘กล้วยหอม’ ลงไปตอนหุงข้าวด้วย เขาบอกว่ามันจะช่วยให้ข้าวหอมหวานขึ้น บริเวณครัวที่ทำอาหาร คือ ลาน ข้างๆ มัสยิด แบ่งกลุ่มกันทำ 3 ส่วน คือ ส่วนทำข้าวหมก ส่วนทำน้ำจิ้ม และส่วนทำน้ำซุป กิจกรรมนี้ให้แต่ละคนเลือกว่า อยากทำอาหารส่วนไหน โดยมียิมมูฮัมหมัดเป็นคนเดินดูและคอยสอน
วัตถุดิบสำหรับทำข้าวหมกมีหลากหลาย บางอย่างเราก็ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ที่มีมากๆ กระจายอยู่เต็มโต๊ะวางของ คือ เครื่องเทศต่างๆ ทั้งกระวาน กานพลู อบเชย เม็ดผักชี ฯลฯ ยิมมูฮัมหมัดบอกว่า ชอบใช้เครื่องเทศจากอินเดีย เพราะให้ความหอมมากกว่าเครื่องเทศจากพื้นที่อื่นๆ ส่วนเนื้อสัตว์ที่กินคู่กับข้าวหมก โดยมากจะนิยมเป็นเนื้อไก่ วัว และแพะ ส่วนครั้งนี้ใช้ไก่
“ถ้าให้เทียบก็เหมือนข้าวกะเพราไก่ เวลาไปร้านข้าวแล้วไม่รู้จะสั่งอะไร ก็สั่งข้าวหมกไก่ มันเป็นอาหารสิ้นคิด (หัวเราะ)”
‘สราวุธ’ ลูกของยิมมูฮัมหมัดที่มาเป็นลูกมือวันนี้ เล่าให้เราฟังว่า ข้าวหมกไก่ถือเป็นอาหารอยู่คู่คนมลายู-มุสลิม ทุกๆ งานสำคัญจะมีการทำข้าวหมกไก่เสิร์ฟ เพราะทำง่ายและสะดวกในการรับประทาน ถือเป็นวัฒนธรรมเล็กๆ ที่ถ้าใครในชุมชนทำข้าวหมกเด็ดๆ ก็จะถูกเชิญไปทำข้าวหมกในงานเลี้ยง พ่อของเขาก็ถูกเชิญไปประจำ
สราวุธไม่ได้ไปช่วยพ่อทำบ่อยๆ เพราะมีงานที่ต้องดูแล แต่ถ้าไปเมื่อไรสราวุธบอกว่า ตัวเองจะต้องรับตำแหน่งคนชิมคนสุดท้าย “พระเจ้าให้ลิ้นผมเรื่องรสชาติ (หัวเราะ)” เพราะอาหารจานหนึ่งมีหลายขั้นตอน ถ้าชิมบ่อยๆ อาจทำให้ลิ้นที่รับรสชาติเยอะเพี้ยนได้ในตอนท้าย คนที่ชิมคนสุดท้ายจึงสำคัญมากๆ ที่จะชิมแล้วตัดสินว่า อาหารจานนี้พร้อมเสิร์ฟหรือไม่
บรรยากาศในครัวเฉพาะกิจนี้ค่อนข้างวุ่นวาย ต่างคนต่างโฟกัสกับงานตรงหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ชวนเพื่อนๆ ร่วมทริปมาทำด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะเพิ่งเจอครั้งแรก แต่หลายคนก็ดูสนิทกันทันที รวมถึงคอยอำนวยความสะดวกให้เพื่อนๆ ที่นั่งวีลแชร์ด้วย เพราะบางขั้นตอน เช่น ผสมข้าวในหม้อต้องใช้ไม้พายขนาดใหญ่ ให้เหมาะกับปริมาณข้าว บางคนอาจจะจับไม่ถนัด ต้องอาศัยคนช่วย
กลิ่นหอมๆ ของข้าวและไก่ร้อนๆ โชยมาให้เราได้สัมผัส พร้อมกับท้องที่ร้องรับทันที รสชาติของมันอาจไม่ได้แตกต่างจากข้าวหมกไก่ที่เราเคยกินมากนัก นอกจากความหวานของข้าวหมกที่มาจากกล้วย แต่ก็รับรู้ได้ว่าอาหารจานตรงหน้ามีความใส่ใจผสมลงไปด้วย พร้อมๆ กับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ทุกคนมาทำข้าวหมกไก่ ก็ทำให้มื้อนี้เป็นมื้อที่เราประทับใจสุดๆ
มัสยิด Vs สุเหร่า ต่างกันยังไง?
สถานที่ที่สองที่เราไป คือ มัสยิดกมาลุลอิสลาม (สุเหร่าทรายกองดิน) แพทเล่าว่า เป็นมัสยิดที่มีอายุเก่าแก่ แต่สร้างครั้งแรกเมื่อไรไม่ปรากฏแน่ชัด แต่อาจเป็นช่วงยุครัชกาลที่ 3 เมื่อชาวมลายูเริ่มย้ายถิ่นมาตั้งรกรากตามแนวคลองแสนแสบที่ถูกขุดขยายไปทางตะวันออก ส่วนที่ว่าทำไมมีชื่อสุเหร่าทรายกองดินด้วย มีเรื่องที่เล่าต่อกันมาว่า รัชกาลที่ 5 ประพาสคลองแสนแสบ ใกล้กับที่มัสยิดตั้งอยู่ ตอนนั้นยังเป็นมัสยิดไม้ มีกองดินกองทรายวางเต็มไปหมดสำหรับต่อเติม รัชกาลที่ 5 ได้มีรับสั่งถามคนที่อยู่บริเวณนั้น และทรงได้รับคำตอบว่ากำลังสร้างมัสยิด นับตั้งแต่นั้นคนเลยเรียกมัสยิดนี้ว่าสุเหร่าทรายกองดิน
อาจสงสัยว่า แล้วมัสยิดกับสุเหร่าต่างกันยังไง ทำไมถึงใช้สองคำนี้ ทั้งสองคำเป็นคำเรียกศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม มัสยิดมีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า สถานที่สักการะ ส่วนสุเหร่ามาจากรากศัพท์ภาษามลายูซึ่งใช้โดยชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในไทย ในประเทศไทยจึงมีการใช้ปะปนกันทั้ง 2 คำ ซึ่งชาวมุสลิมในแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา คือการละหมาด เพื่อแสดงความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ฯลฯ
มัสยิดที่นี่มีขนาดใหญ่สูงประมาณตึก 3 ชั้น ตัวอาคารทาด้วยสีครีม ขาว และเขียว มีหออะซาน หรือหอคอยสำหรับประกาศเรียกเมื่อถึงเวลาละหมาด ซึ่งชาวมุสลิมจะละหมาดวันละ 5 ครั้ง เพื่อนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ถัดจากตัวอาคารก็เป็นสนามหญ้าสีเขียว และคลองแสนแสบ
สิ่งที่เราสังเกตได้นอกจากความสวยงามของมัสยิด คือ สีที่ใช้ ทั้งมัสยิดที่นี่และที่แรก ต่างมีสีเขียวเป็นส่วนประกอบ เพราะคนมุสลิมมองว่า สีเขียวเป็นสีแห่งธรรมชาติ ความสงบ อุดมสมบูรณ์ ฯลฯ และเป็นสีโปรดของท่านนบีมุฮัมมัด ศาสดาของอิสลาม พวกเขาจึงนิยมใช้สีเขียว
“บ้านเราความเป็นมลายูกับมุสลิมมันแยกกันไม่ออก จริงๆ บางสิ่งเป็นของมลายู ไม่ใช่มุสลิม เช่น คำเรียกพ่ออย่าง ‘ป๊ะ’ คนชอบเข้าใจผิดว่าเป็น ‘ภาษาอิสลาม’ ซึ่งไม่จริง อิสลามเป็นชื่อศาสนา ไม่ใช่ภาษา ป๊ะคือคำเรียกพ่อของคนมลายู เป็นภาษามลายู”
จากประสบการณ์ของแพทที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมและศาสนาเขามองว่า ในไทยศาสนาค่อนข้างสัมพันธ์กับเชื้อชาติ ศาสนาอิสลามเป็นที่รู้จักในฐานะศาสนาของชาวต่างชาติที่คนไทยเรียกว่า ‘แขก’ ภาพลักษณ์ของอิสลามมักถูกมองเป็น ‘แขก’ จึงไม่แปลกที่คนมุสลิมจะเรียก ‘คนไทย’ แทนคนที่นับถือศาสนาพุทธ และบางท้องที่พวกเขาก็เรียกตัวเองว่า ‘คนแขก’ และใช้คำว่า ‘แขก’ เรียกสิ่งต่าง ๆ ในศาสนาอิสลาม เช่น ‘หนังสือแขก’ หมายถึงพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
แพทเล่าอีกว่า สุเหร่าทรายกองดินมีการขยายสร้างสุเหร่าไปที่อื่นๆ ด้วย เพราะปริมาณคนใช้ค่อนข้างมาก ทำให้สุเหร่าเดิมไม่สามารถรองรับได้พอ ต้องมีการสร้างเพิ่ม ซึ่งข้อปฏิบัติของคนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องลงทะเบียน ‘สัปบุรุษประจํามัสยิด’ คือการระบุว่าตัวเองอยู่มัสยิดไหน เพื่อกำหนดที่ประกอบศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันที่สุเหร่าทรายกองดินคาดว่ามีจำนวนสัปบุรุษประมาณ 8,000 คน
‘ออกไปเที่ยว’ กิจกรรมสำหรับทุกๆ คน ที่ไม่ควรมีข้อจำกัด
ขณะที่เรามาถึงสถานที่สุดท้าย คือ ฟารุกฟาร์ม ซึ่งเป็นร้านขายอินทผลัมชื่อดัง ผลไม้ที่คนมุสลิมนิยมทาน โดยเฉพาะหลังถือศีลอด ที่พวกเขาต้องงดจากการดื่มน้ำและกินอาหารทุกอย่าง ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงตกดิน อินทผลัมเลยเป็นอาหารที่เหมาะกับการกินในช่วงนี้ เพราะมีรสหวานและให้พลังงานสูง ช่วยเข้าไปทดแทนการขาดน้ำและอาหารของร่างกายได้
ระหว่างที่ทัวร์เราก็สังเกตเห็นว่า มีเพื่อน 2 คนที่มักจะเดินด้วยกัน ความน่าสนใจ คือ พวกเขาจับเชือกเส้นหนึ่ง ก็เลยเดินไปถามเพื่อคลายความสงสัย ‘วิเชียร’ หนึ่งในสองบอกกับเราว่า เชือกนี้เป็นอุปกรณ์สำหรับไกด์รันเนอร์ที่จะพาคนตาบอดเดิน
วิเชียรประสบอุบัติเหตุทำให้สูญเสียการมองเห็นไปข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างเริ่มมีอาการพร่ามัวเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่สภาพร่างกายก็ไม่สามามารถหยุดวิเชียรจากการใช้ชีวิตได้ เขายังออกไปทำสิ่งที่เคยทำ อย่างไปวิ่งที่สวนลุมประจำจนได้เจอกับมูลนิธิด้วยกันฯ ที่มาจากงานวิ่ง ทำให้วิเชียรได้มาร่วมทีม และร่วมกิจกรรมอื่นๆ อย่างการไปเที่ยวครั้งนี้
“เวลาออกทริปเรารู้สึกสนุก เพราะส่วนตัวไม่ค่อยได้ไปเที่ยวเองเท่าไร ไปกับที่นี่ก็ดีมีคนช่วยพาไป ได้เที่ยวเหมือนคนปกติ”
‘โอ๊ค’ ไกด์รันเนอร์วันนี้ของวิเชียร เขาเล่าว่าจริงๆ เป็นไกด์ให้วิเชียรมาเกือบ 10 ปีแล้ว ทั้งคู่เจอกันที่งานวิ่งด้วยกัน งานที่มูลนิธิด้วยกันฯ จัด แล้วก็ร่วมทางมาเรื่อยๆ จากการวิ่งก็ค่อยขยับขยายเป็นเที่ยว โอ๊คบอกว่าการวิ่งหรือไปเที่ยวกับวิเชียร และคนพิการคนอื่นๆ มันทำให้เขาได้ประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น
“มันทำให้เราสัมผัสสิ่งรอบข้างได้ลึกซึ้งขึ้น เพราะหน้าที่หนึ่งของไกด์รันเนอร์นอกจากนำทาง คือ การเล่าว่าสิ่งรอบๆ ตัวของพวกเขาเป็นยังไง มีอะไรบ้าง ทำให้อีกคนที่อาจมองเห็นไม่ชัดเจน ได้รับรู้เหมือนกัน”
อาจจะรวมตัวเราด้วยที่การเที่ยวครั้งนี้ทำให้ได้รู้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนมลายู-มุสลิม รวมไปถึงเพื่อนๆ คนพิการด้วย ถึงการเดินทางจะจบลง แต่ยังมีข้อมูลและภาพที่เราจะบันทึกเก็บไว้ในความทรงจำและหวังว่าจะได้ไปอีกครั้ง
อ้างอิง