“สะสมทรัพย์ สะสมสุขภาพ สะสมเพื่อน ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง” เตรียมตัวแก่แบบไม่ต้องคิดว่าตัวเองจะมีลูกหรือไม่ จาก นพพล วิทย์วรพงศ์ นักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจ ‘ความสุข’ ของผู้สูงวัยไทย

สิ่งหนึ่งที่ใครก็หนีไม่พ้น คือ อายุที่เปลี่ยนไป สักวันหนึ่งเราก็จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แก่ตัวเหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า ที่อาจจะไม่ได้กระฉับกระเฉงเท่าตอนหนุ่มสาวเราเคยลองจินตนาการไหมว่า แก่ตัวไปเราจะเป็นแบบไหน?

ปี 2565 สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ไทยเข้าสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย ทำให้รัฐ หน่วยงานอื่นๆ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้และพยายามออกแบบนโยบายสังคมเพื่อให้เหมาะสมกับพวกเขามากที่สุด 

คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ทั้งรัฐ ลูก และคนสูงวัยเองต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น

การจะรู้ว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ สามารถใช้เครื่องวัดได้หลากหลายแบบ อีกหนึ่งเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตโดยองค์การอนามัยโลก (WHO Quality of Life: WHOQOL) ระบุว่า คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุขึ้นอยู่กับประเด็น 6 ข้อ ได้แก่ ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง (Autonomy), การรับรู้ตามประสาทสัมผัส (Sensory Abilities), การยอมรับความตายและกระบวนการการตาย (Death and Dying), มุมมองต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต (Pas, Present, and Future Activities), ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด (Intimacy), และ การมีส่วนร่วมในสังคม (Social Participation) เมื่อทั้ง 6 ข้อนี้ออกมาดีอาจหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

สำหรับ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณภาพชีวิตและความสุขเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน เมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ย่อมมีความสุข และความสุขก็เกิดมาจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้น ถ้าหากจะดูว่าทุกวันนี้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือยัง เราอาจมองผ่านความสุขได้

‘ความสุข’ เรื่องที่ฟังดูธรรมดา เกิดขึ้นได้ง่ายและยากสลับกันไป ขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนมองความสุขของตัวเองว่าเป็นแบบไหน ถ้าเป็นไปได้แม้แต่เราเองก็อยากมีความสุขไปทุกช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เงื่อนไขในชีวิตบางอย่างอาจจะทำให้เราไม่ได้เข้าถึงความสุขได้ง่ายขนาดนั้น ยิ่งในวัยที่เปลี่ยนไป ความสามารถที่จะเข้าถึงสุขอาจไม่ได้มีเท่าสมัยก่อน

สมมติถ้าความสุขเมื่อครั้งยังหนุ่มคือการได้เล่นกีฬา สังสรรค์กับเพื่อน ออกไปดูหนังรอบดึก แต่ในวัย 80 ที่ร่างกายเปลี่ยนไปตามเวลา แม้จะเป็นความสุขเดียวกับวัยหนุ่มแต่เราไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้เต็มที่อีกแล้ว แล้วเราจะเตรียมตัวอะไรได้บ้างเพื่อให้ตัวเองมีความสุขไม่ต่างจากวัยหนุ่มอีกครั้ง

จะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขไว้ตั้งแต่ในวันที่ร่างกายยังไหว วันนี้ รศ.ดร. นพพล วิทย์วรพงศ์ ขอเป็นคนแชร์เรื่องราวจากงานวิจัยความสุขของผู้สูงวัยในไทย ที่จะทำให้เรารู้ว่า การเป็นผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เราเข้าใจ พร้อมกับสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของผู้สูงวัยในปัจจุบัน

ทำไมถึงเลือกศึกษาความสุขของผู้สูงอายุ

เวลาพูดเรื่องความสุข คนมักไม่ได้มองว่าสำคัญมากในบริบทสังคมไทย เพราะมันมีเรื่องที่ต้องคิดก่อนเรื่องความสุขเยอะ มีคนตั้งคำถามว่า ประเทศไทยในตอนนี้จำเป็นต้องคิดเรื่องความสุขของประชาชนเลยหรือไม่ เพราะหลายคนปากท้องยังไม่ดีอยู่เลย

แต่เราคิดว่า มันสามารถดูทุกอย่างไปพร้อมกันได้ ทั้งคุณภาพชีวิตและศึกษาความสุขไปได้ด้วย เพราะในการศึกษาความสุขของประชากร มันก็สะท้อนให้เห็นหลายเรื่อง เช่น ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความสุขบ้าง มันสัมพันธ์กับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วย เราสามารถนำปัจจัยที่ศึกษามานำเสนอ อาจจะช่วยการคิดนโยบายของรัฐบาล หรือคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปเพื่อเตรียมตัว

แล้วความสุขของผู้สูงวัยในประเทศไทยคืออะไร

ขอตอบเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข มันมีองค์ประกอบ 3 อย่าง หนึ่ง – สุขภาพ ผู้สูงวัยก็มีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ลุกเดินได้อย่างสะดวก เมื่อสุขภาพดีก็จะสามารถทำให้มีความสุขได้ ซึ่งสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ  คือ Physical health สุขภาพทางกาย หมายถึง การที่เรามันไม่มีโรค หรือมีโรคแต่เราจัดการกับมันได้ และ Functional health สุขภาพขั้นพื้นฐาน คือ ความสามารถในการดูแลตัวเอง การเคลื่อนไหว เช่น หยิบจับของเองได้ 

สอง – ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเงิน เพราะว่าไม่มีเงิน ก็ยากที่จะมีความสุข และสาม – การมีส่วนร่วมกับสังคม เช่น การมีเพื่อน ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก

ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข เหมือน หรือแตกต่างจากวัยอื่นๆ ไหม

ปกติมีความคล้ายคลึงกัน ปัจจัยการเกิดความสุขในแต่ละวัย แต่ภาวะของผู้สูงอายุต่างจากคนวัยอื่นๆ เพราะว่าผู้สูงอายุอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างเปราะบาง บางคนไม่มีแรงที่จะทํางานได้แล้ว ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องเงิน หรือไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก การเข้าร่วมสังคมก็อาจมีปัญหา  

เรามองว่าสิ่งที่ทำให้แตกต่างกันระหว่างวัย คือ ความสามารถในการได้มาซึ่งปัจจัยนั้น เช่น ผู้สูงอายุก็อาจจะมีความต้องการในเรื่องของจิตใจ การดูแลจิตใจที่มันมากขึ้นกว่าคนวัยทํางาน เพราะว่าผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดภาวะที่เหงามากกว่าคนวัยทํางาน ผู้สูงอายุ 1 ใน 10 คน มีภาวะความเหงา และความเหงาเป็นแหล่งเกิดความทุกข์ได้

ที่สำคัญเลย ความเปราะบางอันนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสุขผู้สูงอายุมีความสําคัญ เพราะความสุขผู้สูงอายุในปัจจุบัน ที่จริงแล้วมันสะท้อนถึงความสุขของคนในวัยทํางานในปัจจุบันด้วยนะ เพราะคนวัยทํางานในปัจจุบันก็คือผู้สูงอายุในอนาคตอยู่ดี

‘สำหรับคนสูงวัย แค่มีลูกหลานอยู่พร้อมหน้าก็สุขใจแล้ว’ อาจารย์คิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้

จากการศึกษาเราพบว่า การมีลูกทําให้ทั้งสุขภาพ เงิน และการมีส่วนร่วมในสังคมเพิ่มขึ้นได้  แปลว่าผู้สูงอายุที่มีลูก มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีกว่า มีเงินมากกว่า และมีส่วนร่วมในสังคมมากกว่าคนที่ไม่มีลูก เราจะเห็นได้ว่า การมีลูกเป็นเงื่อนไขของการมีความสุขของผู้สูงอายุในประเทศ ณ ปัจจุบัน เพราะว่าลูกส่งผลต่อทุกปัจจัยที่ทําให้เกิดความสุขได้

แต่ความสุขนี้ไม่ได้มาจากตัวผู้สูงอายุเอง การมีลูกดันเป็นเงื่อนไขของความสุข มันก็สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยผู้สูงอายุเปราะบางมาก เพราะว่าต้องพึ่งพาบุตรหลานอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะที่สังคมต่อไปคนจะมีลูกน้อยลงเรื่อยๆ

หนึ่งในปัจจัยความสุขของผู้สูงวัยไทยมาจากการมีลูก สิ่งนี้กำลังจะบอกอะไรเรา

มันมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ เพราะคนอาจจะเลือกไม่มีลูกก็ได้ หรือเรารู้ได้ยังไงว่า การมีลูกมันจะช่วยจริงๆ วันหนึ่งเขาอาจจะช่วยได้ แต่อีกวันเขาอาจจะช่วยไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราเลยอยากให้คนที่กําลังจะเป็นผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวเรื่องนี้ เพื่อให้ตัวเองมีความสุขได้เองมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาจากบุตรหลานหรือใคร เราควรดูแลตัวเองและมีความสุขด้วยตัวเองได้ในวัยเกษียณ

เราไปถามคนวัยทํางานด้วยว่า ในอนาคตแหล่งรายได้ที่สําคัญสุดจะเป็นอะไร บางกลุ่มก็จะมองว่าแหล่งรายได้ที่สําคัญสุด คือ ครอบครัว จุดนี้เองที่เราพบว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่แหล่งรายได้ที่สําคัญสุดในวัยเกษียณเป็นครอบครัว ตัวเขาในฐานะที่เป็นคนวัยทํางานจะมีแนวโน้มในการออมน้อยลง สะท้อนให้เห็นความเปราะบางเหมือนกัน แปลว่าในอนาคตเขาก็จะหวังพึ่งลูกหลานทันที การหวังพึ่งบุตรหลานไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าความหวังนั้นมันอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป การมีลูกไม่ได้การันตีว่าเขาจะดูแลเรานะ

ความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ความสุข หลายคนหวังพึ่งการดูแลของลูกหลานช่วงบั้นปลาย ในมุมอาจารย์คิดว่าผู้สูงอายุควรเตรียมพร้อมเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

มีประมาณ 3 แหล่งหลักๆ แหล่งที่ 1 คือ ผู้สูงอายุจะได้จากครอบครัว เช่น บุตรหลาน เป็นเรื่องที่ยังคงเกิดขึ้นได้ แหล่งที่ 2 คือ ตัวผู้สูงอายุเองเป็นคนหา และแหล่งสุดท้าย3 คือ รัฐ 

จากการศึกษาของเราสะท้อนให้เห็นเลยว่า ปัจจุบันครอบครัวเป็นเงื่อนไขในการเกิดความสุขของผู้สูงอายุ และฝากความหวังให้เขาช่วยดูแลตัวเอง ทำให้คนวัยทํางานมีแนวโน้มออมน้อยลง วางแผนการเงินสำหรับช่วงนั้นก็จะลดลง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐอย่างแน่นอนรัฐ รัฐต้องมีส่วนร่วมด้วย

แต่ในอนาคตมันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้แล้วนะ เพราะคนมีลูกน้อยลง หมายความว่าเราก็ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นถูกไหม? และรัฐก็อาจจะต้องช่วยมากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่ารัฐอาจจะปรับตัวหรือมีสวัสดิการดีๆ ไม่ทันตอนเราแก่ เราก็ยิ่งต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นนะ เราเลยอยากให้คนเตรียมตัวแก่แบบยังไม่ต้องคํานึงว่า ตัวเองจะมีลูกหรือไม่ นี่แหละที่สำคัญ

นโยบายและสวัสดิการที่รองรับผู้สูงอายุได้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เวลาพูดถึงนโยบายผู้สูงอายุ เรามองแค่ผู้สูงอายุในปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการเตรียมการให้กับผู้สูงอายุในอนาคตด้วย นโยบายกับวัยทํางานในปัจจุบันต่างหากที่สำคัญ จะทําให้เขาเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขได้หรือไม่ได้

เช่น ระบบบํานาญ ตอนนี้ 70 – 80% ของแรงงานไทย เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งแรงงานนอกระบบโดยนิยาม ก็คือไม่มีระบบเงินเกษียณนะ อยากมีเงินเกษียณต้องออมเองเท่านั้น แล้วก็ต้องตั้งคําถามว่า ประเทศไทยมีเครื่องมือในการออมอะไรบ้าง ที่จะจูงใจให้คนออม หรือการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายก็ด้วย ถ้าคนในสังคมยังดื่มเหล้า สูบบุหรี่เยอะ ในอนาคตเมื่ออายุเยอะขึ้น ก็มีแนวโน้มเกิดปัญหาสุขภาพ

ดังนั้น รัฐควรลงทุนกับการเตรียมความพร้อมให้วัยทำงานตอนนี้ เพื่อให้พวกเขากลายเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และมีความสุขได้มากขึ้น เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายทั้งหมดมันสัมพันธ์กันที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนคนหนึ่งดีเวลาพูดนโยบายผู้สูงอายุก็ต้องพูดนโยบายอื่นๆ ควบคู่ เช่น นโยบายภาษี นโยบายการศึกษา และนโยบายของวัยอื่นๆ ด้วย สมมติว่า คนที่มีระดับการศึกษาสูงก็มีแนวโน้มจะหาเงินได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้นก็มีโอกาสออมได้เยอะขึ้น และออมได้เยอะขึ้นก็เพิ่มโอกาสเป็นคนแก่ที่มีความสุขมากขึ้น ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมดเลย

นโยบายที่ดีไม่ได้มองแค่ช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่ต้องดูชีวิตคนทั้งหมด ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตาย

ใช่เลย มันคือการวางนโยบายที่มองการพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ซึ่งต้องสอดคล้องกัน ถ้ารัฐบาลอยากจะทำโครงสร้างให้ดีขึ้น สิ่งที่ต้องเริ่มทํา คือ ปฏิรูปการศึกษา สะสมทุนมนุษย์ไว้ คิดง่ายๆ ว่า พอมีความรู้คนจะมีแนวโน้มเข้าถึงการดูแลตัวเองมากขึ้น มีสุขภาพดี เลือกที่จะดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่อย่างพอดีมากขึ้น ดีกว่านั้นก็ไม่ยุ่งเกี่ยวเลย การศึกษาดีก็หาเงินได้ แถมการศึกษาก็เป็นพื้นที่ที่ทําให้เราสามารถมีสังคมมีเพื่อนที่ดีได้ด้วย ฉะนั้น การลงทุนด้านนี้มันจะส่งผลตั้งแต่เกิดไปจนตาย แต่ว่านโยบายอื่นๆ ก็ยังต้องทําคู่กันด้วยนะ

ชีวิตผู้สูงอายุสามารถสะท้อนคุณภาพชีวิตคนทั้งประเทศได้ เพราะผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มคนเปราะบาง เวลาคนเรามีความทุกข์ ถ้าเป็นคนวัยทํางานอาจจะยังจัดการได้ มีทางเลือกเยอะ แต่เวลาผู้สูงอายุมีความทุกข์ เขาจะจัดการได้ยาก เช่น เราอายุ 70 อยากเดินออกไปซื้อของ แต่เจอฟุตบาทไม่ดี เดินบนนถนนก็กลัวโดนรถเฉี่ยว ยิ่งถ้าล้มก็มีโอกาสบาดเจ็บร้ายแรง สิ่งเหล่านี้คือความเปราะบางของคนสูงวัย ถ้าเราไม่สามารถจัดการให้คนเปราะบางใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ มันแปลว่า เรายังทํางานเรื่องคุณภาพชีวิตประชาชนได้ดีไม่พอหรือเปล่า

รัฐ ลูกหลาน หรือผู้สูงวัย ใครใน 3 กลุ่มนี้ที่มีส่วนทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขได้มากที่สุด

สำหรับผู้สูงอายุในอนาคต เราว่าควรเตรียมตัวใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง สำหรับเราภาพนี้ชัดที่สุดแล้ว รัฐช่วยได้ในระดับกว้าง เช่น บริการสาธารณสุข บริการการดูแลระยะยาว แต่โดยรวมแล้วมันก็จะดีกว่าถ้าเราพึ่งพาตัวเองได้

ถ้าผู้สูงอายุคนหนึ่งต้องใช้ชีวิตที่ไม่มีความสุข มันสามารถเป็นภาพที่สะท้อนอะไรได้ไหม

สะท้อนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ไม่ดี และยังสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศ รวมถึงโครงสร้างประเทศด้วย ถ้าผู้สูงอายุมีความทุกข์ชัดแล้วนะว่า ประเทศนี้มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ไม่ใช่แค่เฉพาะคนสูงวัย แต่วัยอื่นๆ ก็ด้วย

อาจารย์มีคำแนะนำที่อยากให้คนที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เริ่มจากการสะสม ไม่ว่าจะสะสมทรัพย์ สะสมสุขภาพ สะสมเพื่อน 3 อย่างนี้สำคัญมากๆ อย่าไปทะเลาะกับชาวบ้านเขา (หัวเราะ) การสะสมเงินกับเพื่อนอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก เท่าสิ่งที่หลายคนมองข้าม คือ การสะสมสุขภาพ ความทุกข์ของการอยากตายมันเกิดจริงตอนที่เรากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนะ ผู้ป่วยติดเตียง คือ คนที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ระดับหนึ่ง แต่ไปไหนมาไหนเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ นี่คือการสูญสิ้นอิสรภาพ เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของเราอีกอย่าง อาจเป็นการทํายังไงก็ได้ให้เราไม่ติดเตียง หรือติดเตียงระยะสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งมาจากการสะสมสุขภาพของเราให้แข็งแรง

การเตรียมตัวสำหรับช่วงบั้นปลาย สามารถเริ่มทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอใกล้ๆ 

ถูกต้อง วางแผนสะสม 3 อย่างตามที่บอกไป อย่างเรื่องสะสมทรัพย์ ถ้าเราคิดไว้แล้วว่าจะไม่มีลูก ก็วางแผนไว้เลยควรจะมีเงินกี่บาทไว้ใช้หลังเกษียณ คำนวณระยะเวลาที่เราจะมีชีวิตอยู่ สมมติคิดว่าตัวเองจะจากไปตอนอายุ 85 ถ้าเกษียณตอน 60 ก็มี 25 ปีที่เราต้องใช้เงินตอนเกษียณ ก็ลองคิดมาว่า แต่ละเดือนมันน่าจะใช้กี่บาท ปีนึงใช้เงินเท่าไร จากนั้นก็ออมเงินตั้งแต่ตอนนี้นี่แหละ เพื่อให้มันถึงเป้าหมายของเรา

ถ้าเรามีเพื่อนที่ตัดสินใจจะอยู่เป็นโสด หรือไม่มีลูกหลายคน ลองคุยกันว่า ตอนที่แก่ตัวไปเราติดต่อช่วยดูแลกันและกันไหม พาไปหาหมอ จะได้ไม่ต้องไปคนเดียว เพราะบางทีเราอาจจะต้องนอนโรงพยาบาล หรือไปตรวจตาแล้วตามองไม่เห็นชั่วคราว อะไรแบบนี้วางแผนก็ไว้ก็ดีเลย

ส่วนสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องเริ่มปรับพฤติกรรมบางอย่าง ลดเหล้า บุหรี่ หันมากินอาหารที่บำรุงร่างกายให้มากขึ้น เปลี่ยนไม่ได้ทันทีหรอก แต่ก็ต้องคอยฝึกไป คิดไว้ว่าที่ทำทุกอย่างนี้ไปก็เพื่อทำให้เรามีความสุขที่สุดไปตลอดชีวิต

ล้อมกรอบ

หลักประกันความมั่นคงที่สำคัญของการสูงวัย คือ เงินสำหรับชีวิตวัยเกษียณ ภาครัฐก็ออกนโยบายที่สนับสนุนส่วนนี้ อย่างเช่นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ก็มีหลายเสียงที่บอกว่าจำนวนเงินยังสวนทางกับค่าใช้จ่ายในชีวิตรายวัน ก็เลยมีความพยายามทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมทางด้านการเงินสำหรับวัยเกษียณ เช่นที่ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ อย่างระบบบำนาญแห่งชาติ โดยทั่วไปจะมีบางอาชีพที่มีสวัสดิการบำนาจให้ เช่น ข้าราชการ ฯลฯ ระบบบำนาญแห่งชาตินี้จะทำให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้การออมเงินวัยเกษียณได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ