“ใครถามว่าไปไหน เราจะบอกว่ากลับบ้าน” โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งที่แชร์ค่าห้องกับคนไร้บ้านและตั้งหลักชีวิตไปพร้อมกัน

หัวลำโพง สถานีรถปลายทางของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานในกรุงเทพมหานครและเป็นสถานีต้นทางของคนเมืองที่จะเดินทางกลับบ้าน

ขณะเดียวกัน ในตรอกสลักหิน ตรอกเล็กๆ ใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง คือ ห้องเช่าขนาดเล็กของกลุ่มเปราะบางที่เคยมีสถานะเป็น ‘คนไร้บ้าน’ มาก่อน ห้องเหล่านี้มีไว้เพื่อเก็บของ อาบน้ำ ซักผ้า และพักผ่อนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการทำงานในวันต่อไป

ห้องเช่าขนาดเล็กนี้ คือ ส่วนหนึ่งของ ‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ ที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาครัฐ และประชาสังคม ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้คนไร้บ้านเริ่มต้นชีวิตของตัวเองใหม่อีกครั้ง

สริญญา กิตติเจริญกานต์ ผู้จัดการโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งบอกว่า จุดเริ่มต้นของโครงการฯ ไม่ได้มาจากคนทำงาน แต่มาจากการลงพื้นที่คุยกับพี่น้องคนไร้บ้านจริงๆ เพราะที่อยู่อาศัย คือ ด่านแรกที่จะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงาน

“เราลงพื้นที่ไปคุยกับพี่น้องที่หัวลำโพง เขาต้องการความช่วยเหลือเบื้องต้นเรื่องที่อยู่อาศัย

เนื่องจากการไม่มีที่อยู่ทำให้เขาเก็บทรัพย์สมบัติไม่ได้ บวกกับไม่มีที่อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า แต่งตัวเพื่อที่จะไปหางานทำได้ เป็นเหมือนโดมิโนเลย พอไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่อาบน้ำ ไม่ที่ซักผ้า เขาก็จะไปหางานทำยาก”

เกณฑ์คัดเลือกคนไร้บ้านที่จะเข้าโครงการ คือ เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เพิ่งออกมาใช้ชีวิตสาธารณะไม่นาน หรือคนที่เคยเช่าบ้านทั้งรายวัน รายเดือน แล้วประสบปัญหาต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และต้องยอมรับเงื่อนไขสำคัญให้ได้ว่า โครงการไม่ได้สนับสนุนค่าที่พักอาศัยตลอดระยะเวลา แต่สนับสนุนแค่บางช่วงเและบางส่วนเท่านั้น 

ขั้นตอนต่อมา เมื่อคนไร้บ้านตอบรับและเข้ามาอยู่ในโครงการคนละครึ่ง หน้าที่ของพวกเขา คือ หางานทำเพื่อนำมาจ่ายค่าเช่าห้องที่แชร์ร่วมกับโครงการฯ คนไร้บ้านจ่ายค่าห้อง 60% และโครงการจะช่วยเหลือสมทบอีก 60% และส่วนที่เกินมาอีก 20% จะนำไปรวบรวมไว้ในเงินบัญชีกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับการช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการในอนาคต

รวมถึงผู้เช่าทุกคนจะต้องมีเงินออมเป็นของตัวเอง โดยโครงการฯ กำหนดให้ผู้เช่าต้องออมเงิน โดยแบ่งออมเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกวันละบาทเป็นกองทุนสำหรับการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย และก้อนที่ 2 ออมวันละบาท เพื่อสมทบเข้ากองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย  โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะดูแล เงินออมนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านในโครงการฯ หลังจบโครงการ

ส่วนการทำงานกับเจ้าของห้องเช่า สริญญาบอกว่า จริงๆ แล้วเจ้าของห้องเช่าเป็นผู้ประกอบการที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนไร้บ้านเช่าห้องมาอยู่แล้ว และบางคนก็ไม่รู้ว่าผู้เช่าคือคนไร้บ้าน 

ดังนั้น เมื่อเข้าไปขอความร่วมมือ พวกเขาจึงยินดีเข้าร่วม เพราะหากมองมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการห้องเช่าก็ได้ประโยชน์จากเงินค่าเช่า ถึงจะได้รับล่าช้าไปบ้างตามรายได้ของผู้เช่าที่ได้รับเป็นรายวัน แต่ส่วนหนึ่งก็มีความมั่นใจว่าได้ค่าเช่าแน่นอน เพราะตัวโครงการฯ พร้อมด้วยหน่วยงานลงไปคุยทำความเข้าใจร่วมกัน และคนไร้บ้านก็มีที่อยู่อาศัยเพื่อเก็บของและพักผ่อน 

ปัจจุบันนับตั้งแต่เริ่มโครงการที่อยู่คนละครึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีจำนวนห้องเช่า 23 ห้อง และมีคนไร้บ้านเข้าร่วมโครงทั้งหมด 37 คน ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันว่า ทุกวันที่ 1 ของเดือนทุกคนต้องจ่ายค่าเช่า 

โดยระยะเวลา 6 เดือน ไม่มีใครค้างค่าเช่าห้องเลย สริญญามองว่า อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจต่อการเข้าร่วมโครงการ

“ข้อตกลงของเราคือทุกวันที่หนึ่ง ทุกคนต้องมาจ่ายค่าเช่าห้อง พี่น้องที่เข้าร่วมโครงการเขาก็มีระเบียบวินัยที่จะต้องไปจ่าย ถึงแม้ว่าจ่ายยังไม่ครบ แต่ก็คือไปจ่าย และก็บอกไปว่า ยังไม่ครบนะ วันไหนที่จะเอาไปจ่ายเพิ่มให้ครบ มันเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ”

“ช่วงหลังเวลาเรานัดคุยกับกับเครือข่ายพี่น้องคนไร้บ้านก็เชิญผู้ประกอบการเข้ามาด้วย เข้ามาฟัง เข้ามาเรียนรู้ว่าโครงการเราทำอะไร คนไร้บ้านที่มาเช่าห้องพักอยู่ไม่ได้เป็นตามภาพที่เขาคิดว่า ไม่ทำงาน ขี้เกียจ นอนในพื้นที่สาธารณะ ให้เขาได้พูดคุย สร้างภาพจำใหม่ไปด้วยกัน”

ฝั่งเพียว (นามสมมติ) แกนนำกลุ่มคนไร้บ้านย่านตรอกสลักหินเล่าไปในทิศทางเดียวกันว่า ค่าห้องคือค่าใช้จ่ายแรกที่กลุ่มคนไร้บ้านจะนึกถึงก่อนเสมอ ค่าเช่าจึงไม่ใช่ปัญหาของคนไร้บ้าน

“เราบอกพี่น้องทุกคนว่า ทุกวันที่ 1 ถ้าไม่จ่ายโครงการก็จะไม่โอนครึ่งหนึ่งให้ แล้วพวกเขากลัวการต้องกลับไปนอนที่เดิม เขาได้เงินมาปุ๊บ เขาจ่ายเลย ทุกครั้ง บางคนเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 25 เราไม่เคยมีปัญหาเรื่องค่าห้องเลย”

เพราะการมีห้องเช่า คือ หลักประกันสำคัญในการหางาน เพียว (นามสมมติ) แกนนำกลุ่มคนไร้บ้านย่านตรอกสลักหินบอกว่า คำถามแรกๆ ของการสมัครงาน คือ บ้านอยู่ไหน เมื่อมีบ้านแล้ว แม้จะเป็นบ้านเช่า คนไร้บ้านก็สามารถตอบได้ว่า เขาพักอยู่ที่ไหน โอกาสเข้าถึงงานก็มีมากขึ้น

“เวลาเราไปทำงาน สิ่งแรกที่นายจ้างจะถามเราคือบ้านอยู่ไหน ถ้าคนที่ไม่มีห้อง เขาก็ต้องนอนริมคลอง รับรองว่านายจ้างทุกคนเขารับไม่ได้หรอก แต่พอมีห้อง เราสามารถตอบได้เต็มปากว่าเช่าห้องอยู่ตรงนี้”

สำหรับเพียว ห้องเล็กในตรอกเล็กๆ ข้างสถานีรถไฟหัวลำโพงไม่ได้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการสร้างงาน แต่เป็นการเรียกความมั่นใจและความภูมิใจของคนไร้บ้านกลับมา 

“วันนี้บางคนมีงานประจำ เพราะตอบได้เต็มปากว่า เช่าห้องอยู่เหมือนคนทั่วไป ทุกวันนี้ใครถามพวกเขาว่าไปไหน เขาตอบว่ากลับบ้าน กลับห้อง เพราะมันคือความภูมิใจของคนไร้บ้านทุกคน”

คำว่า ‘บ้าน’ ของหลายคนอาจเป็นสถานที่ที่เราทิ้งตัวได้ แต่สำหรับคนไร้บ้านในวันนี้ บ้านของพวกเขาหมายถึงครอบครัว เพื่อน พี่น้อง แม้จะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

“นี่คือบ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว พวกเราดูแลกันและกัน” เพียวอธิบายเพิ่ม

รวมถึงห้องขนาดเล็กนี้ยังมอบความรู้สึกปลอดภัยให้กับคุณยายลี (นามสมมติ) วัย 65 ปี คนไร้บ้านที่เพิ่งเข้ามาร่วมโครงการฯ ประมาณ 3 เดือน บอกว่า อาชีพหลักของเธอ คือ การเก็บขวดและของเก่าไปขาย มีรายได้ไม่เกินวันละ 200 บาท แต่ห้องเช่าริมทางบันได ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยและนอนหลับสนิท

“อยู่ข้างนอกมันไม่สบาย อย่างน้อยอยู่ที่นี่ยังได้นอนหลับ ไม่ต้องหวาดระแวง”

โครงการบ้านคนละครึ่งจึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้น ความฝัน และความหวังของกลุ่มคนไร้บ้านที่ค่อยๆ ลบคำว่า ‘ไร้บ้าน’ ออกไปและกลับไปใช้ชีวิตที่มีครอบครัวจากบ้านหลังใหญ่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนอยู่ด้านหลัง

เพื่อวันหนึ่งเขาจะเป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ด้วยอาชีพที่เขาอยากทำจริงๆ รวมถึงสังคมหยุดตั้งคำถามและตัดสินคนไร้บ้าน แต่สิ่งที่เขาต้องการ คือ โอกาสในการตั้งหลักชีวิตเพื่อเดินหน้าต่อในทุกๆ ก้าวอย่างมั่นคงด้วยแรงกายและใจทั้งหมดที่เขามี

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ