“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีสิ่งที่ไม่คาดฝันมากระแทก แล้วเราไม่สามารถแบกรับสภาวะนั้นได้ ถ้าใช่ เราคือกลุ่มคนเปราะบาง” ธานี ชัยวัฒน์

“เศรษฐกิจนอกระบบในเมืองไทยที่เป็นหาบเร่ แผงลอย คนตัวเล็กตัวน้อย จริงๆ มันมีมูลค่าเยอะมากที่ไม่ถูกนับรวมใน GDP แล้วยังมีเศรษฐกิจที่ไม่ถูกกฎหมายอีกจำนวนมาก ผมก็เลยสนใจตรงนี้”

สภาพระบบเศรษฐกิจบ้านเราเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนใจและมาร่วมทำโครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม

โครงการดังกล่าวศึกษาสภาพการทำงาน และนำเสนอแนวทางในการทำงานที่เหมาะสมของแรงงานนอกระบบในกลุ่ม ‘คนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker)’ ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

‘คนทำงานแพลตฟอร์ม (platform worker)’ ยังไม่มีการให้คำนิยามหรือบัญญัติศัพท์ทางวิชาการอย่างชัดเจน สามารถอธิบายได้เพียงว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำงานขายของ ขายแรงงาน ทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่าดิจิทัลแพลตฟอร์ม (digital platform) 

และการถูกนับเป็นแรงงานนอกระบบ เพราะไม่เข้าข่ายรูปแบบแรงงานแบบดั้งเดิมตามกฎหมาย ก็ส่งผลกระทบหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสวัสดิการในฐานะลูกจ้าง หรือการได้รับความคุ้มครองขณะทำงาน พวกเขาจึงต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทำงานเหล่านี้ดีขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม ได้แก่ กลุ่มขับขี่ยานพาหนะรับจ้าง กลุ่มบริการส่งอาหาร และกลุ่มรับจ้างทำงาน ที่กำลังเผชิญปัญหาหลายด้านจากการทำงาน และทำให้พวกเขาค่อยๆ เข้าสู่สถานะ ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ เมื่อไม่มีความมั่นคงและรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

แรงงานแพลตฟอร์ม : เจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ต้องรักษาเอง

ในงานวิจัยดังกล่าว แสดงผลการศึกษา คนทำงานแต่ละกลุ่มมีคุณลักษณะประชากรที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเพศ อายุ การศึกษา และลักษณะครอบครัว เช่น กลุ่มขับขี่ยานพาหนะรับจ้างมักเป็นผู้ชายวัยกลางคน กลุ่มบริการส่งอาหารมักเป็นวัยรุ่นชาย และกลุ่มรับจ้างทำงานบ้าน มักจะเป็นผู้หญิง เนื่องจากลักษณะของงานเหมาะกับสถาพการทำงานของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกัน คือ ได้รับความเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่ไม่มีสวัสดิการหรือได้รับความคุ้มครองส่วนนี้จากนายจ้าง เช่น กลุ่มบริการส่งอาหารประมาณ 78.9% ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือค่าสินไหมชดเชยจากการบาดเจ็บขณะที่ทำงาน เป็นต้น

ทำให้ข้อเสนอที่งานวิจัยระบุไว้เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น คือ สัญญาจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work) ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) และการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition)

เรากำลังอยู่ในสังคมที่ทุกคนมีโอกาสเป็นกลุ่มเปราะบาง

“ในทางภาษาศาสตร์ ความเปราะบาง (Vulnerability) หมายความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสิ่งที่ไม่คาดฝันมากระแทกคนคนหนึ่ง แล้วเขาไม่สามารถแบกรับสภาวะนั้นได้ เช่น ถ้าคนนั้นมีภาวะเปราะบางทางการเงิน แล้วมีคนที่บ้านป่วย ถ้าเขาไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ เขาอาจจะต้องไปเป็นหนี้เพื่อหาเงินมารักษา”

เมื่อเราไม่ได้มีต้นทุนสูงหรือฐานชีวิตที่มั่นคง การอยู่ในสังคมและสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ อาจทำให้วันหนึ่งเรามีโอกาสกลายเป็น ‘คนเปราะบาง’ ได้ ซึ่งแรงงานนอกระบบก็อยู่ในกลุ่มนี้

ธานี อธิบายต่อว่า แต่ไม่ใช่แรงงานนอกระบบทุกคนจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานที่อยู่ในกลุ่มศักยภาพสูง พวกเขาจะมีทักษะและความสามารถสูง เป็นที่ต้องการของตลาดการทำงาน ปัจจุบันคนกลุ่มนี้จะนิยมทำงานแบบฟรีแลนซ์ (รับจ้างอิสระ ไม่ขึ้นต้นกับที่ไหน) ทำให้นับเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่ง 

แต่จะมีกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อยู่ในกลุ่มคนเปราะบาง เป็นกลุ่มที่ทักษะหรือความสามารถอาจไม่ค่อยตรงตามความต้องการตลาด เน้นใช้แรงงาน ซึ่งผลกระทบของการอยู่ในกลุ่มเปราะบางจะเริ่มปรากฎเมื่อพวกเขาไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม ประกอบกับรายได้น้อย ทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่มีเงินเก็บมากพอ ส่งผลต่อชีวิตในอนาคต เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม

“สมมติว่าผมยังอายุน้อย มีการศึกษาน้อย ผมทำงานโดยใช้ร่างกายเป็นหลัก ตอนผมอายุ 20 – 30 ปี ผมยังทำงานได้ แต่ผมอาจไม่มีเงินเก็บ เพราะทำงานวันต่อวันรายได้ก็แทบไม่พอใช้แล้ว เพราะทำไปได้เรื่อยๆ วันหนึ่งผมอายุ 60 ผมทำงานไม่ไหว ก็จะเป็นวันที่ผมมีโอกาสเป็นคนตกงาน ไม่สามารถหางานใหม่ได้ มีโอกาสเป็นคนไร้บ้าน เพราะผมไม่มีเงินเก็บ และไม่มีเวลาที่จะลงทุนความรู้ที่จะสะสมทุนให้อยู่ได้ในช่วงสูงอายุ 

“คนที่ไม่มีเงินออมยามเกษียณหลายคนเป็นกลุ่มคนเปราะบาง คือ เปราะบางเมื่ออายุมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีวินัยหรือใช้เงินจนหมด แต่ส่วนหนึ่งเพราะชีวิตเขาทำงานภายใต้ค่าแรงที่ถูกกดให้ต่ำ ไม่มีเงินเหลือออม อันนี้มันสะท้อนความล้มเหลวบางอย่างของนโยบายรัฐ พอเป็นแบบนี้เราก็เลยเห็นผู้สูงอายุ หรือคนที่ประสบอุบัติเหตุจำนวนมาก การเป็นคนพิการและคนไร้บ้านที่ไม่มีคนดูแล”

ความซับซ้อนของสถานการณ์นี้อยู่ที่คนคนหนึ่งสามารถเปราะบางได้หลายด้าน เช่น ด้านรายได้ หรือสุขภาพ 

“ผมอาจเป็นแรงงานนอกระบบ และผมอาจมีโอกาสเป็นคนไร้บ้าน หรือกลายเป็นคนพิการ  คือประชากรกลุ่มเปราะบางมีความลื่นไหล และแต่ละกลุ่มมีโอกาสเชื่อมโยงกัน  คือ เปลี่ยนจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง”

กลไกในการแก้ไขปัญหา หรือคุ้มครองความเสี่ยงของประชากกรกลุ่มเปราะบาง จึงต้องเป็นนโยบายที่เฉพาะเจาะจงมากๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ความยากอย่างหนึ่ง คือ การไม่มีข้อมูลของคนกลุ่มนี้ ทำให้การคิดแผนทำงานต่อกลายเป็นเรื่องยาก

“เราแทบจะไม่รู้เลยว่า คนคนหนึ่งมีความเปราะบางในเรื่องอะไรบ้าง กระจัดกระจายอยู่ที่ไหน เขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้น ความเปราะบางจะกลายเป็นเรื่องที่ทับซ้อนกัน”

“ทางแก้ปัญหาหนึ่งที่เราพยายามจะใช้ คือ เราย้อนกลับไปในอดีต เราไม่มองไปอนาคต ถ้าแก่แล้วมีครอบครัวแล้วลูกดูแลพ่อแม่เป็นอย่างดี ลูกไม่ทิ้ง พ่อแม่ก็ไม่ลำบาก ไม่ผิดนะครับ ค่านิยมความกตัญญูของเราอาจจะดีก็ได้ แต่ว่าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาที่กลไกการจัดสรรทรัพยากรสำหรับอนาคต แต่เราถอยกลับไป

“ต่างจากนั้น เราไปทำงานกับชุมชน ทำสังคมให้เข้มแข็ง ซึ่งไม่ผิด อันนี้ดีอยู่แล้ว แต่มันไม่ควรเป็นทางออกที่เป็นทางเดียวของเรื่องนี้ กลับไปให้ลูกดูแลพ่อแม่ หรือกลับไปที่ชุมชน มันไม่ใช่เรื่องนั้นทั้งหมด แต่เป็นปัญหาเรื่องของโครงสร้างด้วย”

‘การมีอารมณ์ร่วม’ ยังคงเป็นตัวช่วยหนึ่งในการแก้ปัญหา และทำให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น

โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ อาจเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้ข้อมูลของแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ และสามารถหาทางวางแผนชีวิตการทำงานที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้พวกเขาดูแลตัวเองได้

“ข้อมูลสำคัญมากครับ เพราะว่าเวลาที่เราคุยกัน เราจะพูดบนข้อเท็จจริงที่เห็นร่วมกัน คือ ตัวข้อมูล แต่ไม่ได้แปลว่าหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ดีนะ แต่ข้อมูลจะเป็นตัวยึดที่ทำให้เราทุกคนเห็นเป้าร่วมกัน ดีหรือไม่ดีเราก็มาถกเถียงบนฐานข้อมูล”

ในฐานะคนทำงานวิจัย ธานีให้ความสำคัญกับข้อมูล เขายกตัวอย่างสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กลุ่มคนเปราะบางเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาจำนวนมาก เมื่อภาครัฐต้องการให้ความช่วยเหลือ แต่ขาดข้อมูลพวกเขา ไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไร อยู่ตรงไหนบ้าง ทำให้นโยบายหรือมาตรการที่ออกมาอาจเข้าไม่ถึงทุกคน

“การเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และทำให้ทุกคนเห็นร่วมกันได้ ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที มันจะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือ การสนับสนุนของมวลชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยกันได้”

‘อารมณ์ร่วม’ เป็นสิ่งที่มีผลต่อการทำงานขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ เพื่อให้ได้ฐานคนจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่มองหาได้ยากในสังคมตอนนี้

“เรามีอารมณ์ร่วมกับคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราน้อยไปนิดนึง เมื่อก่อนเรามักบอกว่า ‘ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด’ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของคนอื่น คำว่าหน้าที่คือหน้าที่ในการรับใช้อำนาจเหนือเรา ไม่ใช่แค่อำนาจทางการเมือง แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ เช่นอำนาจในที่ทำงานด้วย”

ธานี ให้ความเห็นว่า บริบทสังคมที่ผ่านมาทำให้คน trust หรือเชื่อใจคนอื่นน้อยลง มองเป็นคนแปลกหน้า ตามมาด้วยการหายไปของ empathy การทำความเข้าใจคนอื่นที่แตกต่าง เมื่อคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเรา ก็ทำให้เราไม่ได้ให้ความสนใจ กลายเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มไป

ดังนั้น การมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่เปิดเผย ทำให้คนได้รับรู้ข้อมูลของกลุ่มคนที่เขาไม่ได้ใกล้ชิด แต่มองว่ากำลังประสบปัญหา จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้คนมีอารมณ์ร่วมเยอะขึ้น และเป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ธานีมองเห็นว่ากำลังเกิดขึ้น

“ผมเห็นการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเยอะขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การมองเห็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เขาเห็นความมีชีวิตอยู่หรือรูปแบบการทำงานของแรงงานนอกระบบ เมื่อคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แรงงานนอกระบบก็ได้ประโยชน์ส่วนนี้ไปด้วย พอคนเห็นมากขึ้น การผลักดันเชิงนโยบายจะเป็นไปได้มากขึ้น”

“แล้วพอเรามองเรื่องแรงงานที่เป็นเรื่องคน ผมมองว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คือ แทนที่เราจะมองเห็นเรื่องการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ระบบสาธารณสุขที่เหลื่อมล้ำ หรือระบบสวัสดิการที่เหลื่อมล้ำ การมองมาที่ตัวคนเป็นการบูรณาการความเหลื่อมล้ำหลากหลายประเภทให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น เวลาที่เราทำงาน เราไม่ต้องแยกส่วนว่าให้คนไปเท่ากันเรื่องการศึกษานะ เอาคนเป็นตัวตั้งเนี่ยแหละ ถ้าคนเท่ากัน แปลว่ามันคือเท่ากันหลายๆ ด้าน” ธานีทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ