หลานม่า : ลูกหลานจะไม่ถูกตีตราว่า ‘อกตัญญู’ ถ้าสังคมช่วยเตรียมพร้อมผู้สูงวัยให้ดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขายังคงมีความสามารถดูแลตัวเอง

“เวลาเป็นเงินเป็นทอง”

เมื่อผู้เป็นแม่เอ่ยปากขอให้ลูกคนเดียวอย่าง ‘เอ็ม’ ไปดูแลแม่ของเธอ เอ็มไม่ได้มีท่าทีปฏิเสธเด็ดขาด เพียงแต่ว่าต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน สำหรับเอ็มมันคือค่าตอบแทนที่ควรได้รับ แลกกับเวลาที่เขาใช้ดูแล ‘อาม่า’

หลานม่า ภาพยนตร์ใหม่ล่าสุดจาก GDH 559 นำเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตหลายๆ คน คือ สมาชิกครอบครัวเข้าสู่ช่วงสูงวัย ในฐานะลูกหลานจะรับมือเรื่องนี้อย่างไร เรื่องเล่าผ่านตัวละครหลักเอ็ม หลานชายคนเดียวของอาม่าเหม้งจู ที่มีลูกๆ 3 คน แม่ของเอ็มเป็นลูกสาวคนเดียว ส่วนพี่น้องอีก 2 คนเป็นลูกชาย

ลูกแต่ละคนมีเส้นทางชีวิตของตัวเอง ลูกสาวอย่าง ‘สิ้ว’ รับหน้าที่ดูแลแม่เป็นหลักไปพร้อมๆ กับเลี้ยงดูลูกชายคนเดียว วนพี่ชายคนโต ‘เคี้ยง’ ก็วุ่นอยู่กับครอบครัวตัวเอง ‘โส่ย’ ลูกชายคนเล็กก็มีภาระที่ต้องดูแลเป็นหนี้ก้อนโตที่เกิดจากการเล่นพนัน ถึงชีวิตจะต่างแต่สามพี่น้องก็มีจุดร่วมเหมือนกัน คือ ไม่มีเวลามาหาแม่ วันที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาเลยเป็นวันสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน อย่างเทศกาลเช็งเม้ง วันตรุษจีน หรือวันที่แม่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

ความสัมพันธ์ระหว่างหลานชายอย่างเอ็มกับอาม่าก็ห่างไกลเช่นกัน สำหรับเอ็มอาม่าคืออาม่า ญาติคนหนึ่งที่เริ่มร่วงโรยตามวัยที่เพิ่มขึ้น ชีวิตของเอ็มเองมีสิ่งที่สนใจมากที่สุดคือการหาเงิน จนเขาได้ข่าวลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งรับหน้าที่ดูแลอากงป่วยติดเตียง หลังอากงเสียก็ได้มรดกก้อนใหญ่ ทำให้เอ็มได้ไอเดียหาเงิน ความสนใจเอ็มพุ่งไปที่อาม่า เขาเปลี่ยนใจขอมาดูแลอาม่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้เลยเป็น How To Make Millions Before Grandma Die (วิธีได้เงินจากอาม่าก่อนตาย) 

เนื้อหาเพียงเท่านี้ก็คงทำให้คนดูพอรู้คร่าวๆ ว่า เนื้อเรื่องตลอด 2 ชั่วโมงที่หนังฉายจะเป็นอย่างไร บทบาท ‘คนดูแล’ เป็นวัตถุดิบสำคัญที่หนังหยิบมาเล่า รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2565 โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ภาพรวมสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีประมาณ 1,109 ล้านคน หรือร้อยละ 14 จากประชากรทั้งโลก 8,000 ล้านคน มีเพียงทวีปแอฟริกาทวีปเดียวที่ยังไม่เข้าสังคมสูงวัย  

ไทยนับเป็นอันดับสองที่มีประชากรสูงวัยมากที่สูงในอาเซียน 13 ล้านคน หรือร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (Aging Society) ชีวิตของประชากรสูงวัยไทยส่วนใหญ่ยังคงทำงานเพื่อให้มีรายได้ แต่งานที่ทำได้มักเป็นงานนอกระบบ ทำให้การคุ้มครองหรือค่าตอบแทนมีอัตราต่ำ ขณะที่สวัสดิการจากภาครัฐอย่างเบี้ยยังชีพ ก็นับเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ตัวเลขปี 2565 มีจำนวนคนที่รับเบี้ยยังชีพ 10,913,245 คน คิดเป็นเงิน 82,341 ล้านบาท

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า สถานการณ์การออมของผู้สูงวัย มีร้อยละ 54 ของผู้สูงวัยที่ออมเงิน ขณะที่คนอื่นๆ ไม่มีเงินออม แล้วต้องแบกรับภาระหนี้สินทั้งของตัวเอง และครอบครัว 

ผู้สูงวัยในหนังถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่อยู่เพียงลำพัง ใช้ชีวิตโดยปราศจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ส่วนอีกกลุ่มกลับห้อมล้อมด้วยครอบครัว ความเป็นอยู่ก็ดีกว่า เหตุผลที่คนสองกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตแตกต่างกันอยู่ที่ปัจจัยทางทุนทรัพย์ เมื่อลูกหลานมีทุนกำลังมากพอ ก็จะมีเวลามากตามไปด้วยที่จะดูแลผู้สูงวัย จ้างคนดูแลที่เชี่ยวชาญมาแบ่งเบางาน หรือซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกทำให้การอยู่กับผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องยาก 

ขณะเดียวกันหนังก็พยายามสื่อสารว่า ความต้องการของคนสูงวัยไม่ได้ยิ่งใหญ่ เพียงต้องการ ‘เวลา’ จากลูกหลาน ถ้าใครที่ให้เวลาพวกเขาได้ โดยเฉพาะในช่วงนับถอยหลังชีวิต พวกเขาก็จะรักและมอบทุกอย่างให้ ทำให้ผู้สูงอายุเป็นเป้าหมายของเหล่าหลานๆ ที่อยากมาดูแลเพื่อได้ผลประโยชน์

การละทิ้ง หรืออยู่ห่างไกลจากญาติสูงวัยคงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากทำ แต่เพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการดูแลคนสูงวัยถือเป็นงานหิน ตั้งแต่การดูแลทางกายภาพอย่างอาบน้ำ ดูแลความสะอาด กินข้าว ฯลฯ ถ้าคนไหนมีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็เพิ่มความยากเข้าไปอีก แต่หนังไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกกลัว ขยาดไม่อยากเจอ แต่ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาๆ ไม่ได้ยากจนทำไม่ได้ แม้แต่เอ็มที่เพิ่งเริ่มมาดูแลอาม่าก็สามารถทำงานนี้ได้ดี

แต่สิ่งที่คนดูแลต้องรับมือและใหญ่กว่า คือ เรื่องจิตใจ ถึงมีประโยคที่ว่าคนสูงวัยก็คือเด็กในร่างผู้ใหญ่ พวกเขาจะเริ่มเอาแต่ใจตัวเอง พฤติกรรมที่ชวนตั้งคำถาม บางรายมีอาการหลงลืม อาม่าของเอ็มไม่ได้มีปัญหาจิตใจมากนัก เพียงแต่ความเหงาที่ไม่มีครอบครัวมาอยู่ใกล้ๆ การมีเอ็มเข้ามาในชีวิตก็ทำให้อาม่ามีความสุขเพิ่งขึ้น

เอ็มทุ่มเทดูแลอาม่าเพราะเขามีเป้าหมายสำคัญต้องการเป็นคนโปรดและได้รับมรดกที่อาม่าทิ้งไว้ให้ ทำให้เขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการดูแลอาม่า เป็นปัญหาสำหรับคนดูแลบางคนรู้สึกว่า เขาไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง

“แม่เราต้องดูแลคุณยายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง จะไปไหนก็ไม่ได้เลย ถามว่าเครียดไหม…เครียดสิ เพราะเขาต้องดูแลคนนี้ตลอดเวลา ชีวิตไม่ได้ออกไปไหน ทำให้บางครั้งมีการใส่อารมณ์กันบ้างระหว่างผู้ดูแลกับคนในความดูแล  

“ถามว่าเขาโกรธกันไหม ก็ไม่โกรธหรอก แต่ว่ามันมีอาการหลุด มีเรื่อง Burnout เราก็เข้าใจนะ แต่ว่าจะหาทางออกยังไง ถ้าคนที่หาทางออกไม่ได้ เราก็จะเห็นตามข่าว เช่น ตบตีคนแก่”

เรณู ภาวะดี นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น เห็นสถานการณ์นี้บ่อยครั้ง ทั้งญาติคนไข้ที่เธอรักษาและครอบครัวของตัวเอง ภาพแม่ดูแลยายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง จนไม่มีเวลาใช้ชีวิตของตัวเอง

ธุรกิจให้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุค่อยๆ เติบโตในไทย บริบทสังคมที่เรากลายเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัว แม้จะเคยมีมุมมองว่า การจ้างคนอื่นมาดูแลพ่อแม่ หรือพาไปอยู่บ้านพักคนชราเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หรือแสดงถึงความ ‘อกตัญญู’ 

ในมุมเจนวิทย์ วิโสจสงคราม รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและผู้ก่อตั้งบั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy HomeCare) ธุรกิจให้บริการคนดูแลผู้สูงอายุตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน งานนี้ จะช่วยลดการตีตราลูกหลานที่ไม่สามารถดูแลพ่อแม่สูงวัยได้เต็มที่ ให้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยมืออาชีพ โดยเริ่มให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง  

ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ แต่เมื่อวันหนึ่งที่ลูกหลานอายุมากขึ้น ณ วันนั้น การดูแลอาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่า คือ คนที่เข้าใจและเป็นเพื่อนคลายเหงาชีวิตบั้นปลายของเราได้

“เราจะเห็นว่าในอดีตต้องมีสมาชิกครอบครัวสักคนหนึ่งเสียสละดูแลพ่อแม่สูงวัย มันเป็นภาพจำ ว่าคนนี้ไม่ได้ทำงานต้องดูแลแม่ ดูแลพ่อ แต่พี่น้องคนอื่นไปทำงาน มันเป็นค่านิยมที่สังคมเรายึดถือทำๆ กันมาโดยไม่คิดว่ามันต้องเปลี่ยน   

“การดูแลพ่อแม่มันเหนื่อยนะ หนึ่ง คือ ไม่รู้ต้องทำอย่างไร สอง ถ้าไม่ดูแลสังคมก็บอกว่าอกตัญญูอีก แล้วทำไมต้องมาตีตราเราด้วย ในเมื่อเราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลที่มากพอและต้องออกไปทำงาน ถูกไหม” เจนวิทย์กล่าว

โจทย์ที่ตัวละครในหลานม่าและเราในชีวิตจริงต่างต้องเจอ คือ จะดูแลญาติสูงวัยอย่างไร วิธีก็มี 108 อย่าง และไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องที่สุด พวกเราต่างต้องรับมือสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กับรับผิดชอบชีวิตตัวเอง แต่มุมหนึ่งผู้สูงวัยเองก็ยังมีความสามารถที่จะดูแลตัวเอง วัยที่มากขึ้นและร่างกายที่เปลี่ยนไป ไม่ได้แปลว่าพวกเขาต้องรอรับความช่วยเหลือฝ่ายเดียว หากมีการจัดการและการสนับสนุนที่เพียงพอเหมาะสม ก็จะทำให้เขาดูแลตัวเองได้ ทำให้คุณค่าในตัวเองยังคงมีอยู่ให้พวกเขารับรู้ 

เป็นเป้าหมายของหลายๆ องค์กรที่พยายามทำงานสร้างสังคมรองรับประชากรสูงวัย อย่างสสส. ที่สนับสนุนการทำงานเพื่อพัฒนาผู้สูงวัยให้กลายเป็น Active Aging ผ่านงานและการขับเคลื่อนต่างๆ เช่น โมเดล ‘ธนาคารเวลา’ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนช่วยกันดูแลกัน และช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีความต้องการ ด้วยวิธีที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ หรือยังแฮปปี้ (YoungHappy) พื้นที่ทางสังคมที่สนับสนุนให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้พัฒนาศักยภาพ ผ่านการเติมทักษะที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต และจัดกิจกรรมให้เขาได้ทำอย่าง ‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ ให้พวกเขาได้ออกมาโชว์งานฝีมือ แสดง ‘ความเก๋า’ ที่ยังคงมีอยู่ในตัว 

“วัยเกษียณเป็นวัยอิสระ ที่เราจะกลับไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้ เริ่มมีความสุขละ เราได้กลับไปวาดรูป มีที่ไหนสอนอะไรที่เกี่ยวกับวาดรูปเราจะไปตลอด คือใช้ชีวิตอย่างมีอิสระที่มีคุณค่ามากขึ้น”  

‘ณารา’ และพี่สาว ‘ศรีจันทร์’ มาออกบูทโดยพาผลงานขึ้นชื่อของพวกเขาอย่าง ‘พวงมาลัยผ้าลูกไม้’ มาด้วย สองสาวบอกว่าพวกเขาไม่ชอบอยู่เฉยๆ ต้องหมั่นหากิจกรรมทำเสมอ เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้ยังแข็งแรง

ณาราบอกว่า งานฝีมือเป็นสิ่งที่พวกเขาชอบทำมากๆ เป็นความฝันตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยค่านิยมในยุคที่พวกเขาเติบโต การทำงานในสายงานมั่นคงย่อมดีเสมอ ทำให้พวกเธอต้องเก็บความชอบไว้ในลิ้นชัก รอเวลาเหมาะสมที่จะได้เปิดมันอีกครั้ง ซึ่งช่วงเวลานั้นก็คือช่วงเกษียณ  

“อย่างน้อยเราก็ยังไม่ได้ทิ้งสังคม ยังออกมาข้างนอกมาพบปะคน มันเป็นการสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้เรา”  

สังคมบ้านเรายังคงอยู่ช่วงต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับประชากรสูงอายุ ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นอาจรวมถึงคนวัยอื่นๆ ด้วย เพราะสุดท้ายพวกเราก็ต้องเข้าสู่ช่วงสูงวัย และเป็นสิ่งที่เราอยากเจอ คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีรออยู่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ