คุณค่าของการเดินทางที่ไม่ได้อยู่แค่ ‘ปลายทาง’ แต่คือ ‘ระหว่างทาง’ : เมื่อ 3 สาวชาติพันธุ์เดินทางมาเจอกันใน ‘Empowered Storytelling Workshop’

670 กิโลเมตร คือ ระยะทางคร่าวๆ จากจังหวัดลำพูนมาที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ระยะทางจะไกลขนาดนี้ แต่ ดวงใจ จันตา ก็เป็นคนแรกๆ ที่มาถึงห้องกิจกรรม ‘Empowered Storytelling Workshop : เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายในเพื่อชาติพันธุ์’ วันนี้เธอก็ไม่ลืมที่จะใส่ชุดประจำชาติพันธุ์โผล่งซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง

“อุปสรรคของเราก็คือการเดินทาง”

คนอื่นอาจจะนั่งรถไฟฟ้าแล้วถึงเลย แต่สำหรับดวงใจนี่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเธอเหมือนกัน เธอเล่าว่าเธอโชคดีที่ขับรถเป็นเลยเดินทางออกมาจากหมู่บ้านด้วยตัวเองได้ เธอเลือกที่จะขับรถจากลำพูนมาที่กรุงเทพฯด้วยตัวเองเลย เพราะถ้าจะต้องใช้เครื่องบินก็ต้องเดินทางจากลำพูนไปสนามบินเชียงใหม่ เสียค่าจอดรถ ทุกวินาทีเป็นเงินเป็นทอง เธอเลยสบายใจที่จะขับรถมามากกว่า

สำหรับเธอการเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นคนอื่นๆ ที่ขับไม่ได้ หรือใช้เทคโนโลยีอย่างกูเกิลแมพ (Google Map) ไม่ค่อยคล่องก็จะยากไปกันใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครออกมาเลย มีหลายคนที่เดินทางออกมาจากชุมชนของตัวเองเหมือนกัน ซึ่งเป็นการเดินทางเพื่อไปทำงาน

“ตอนนี้เราอายุ 40 เพื่อนรุ่นใกล้เคียงกับเราออกจากชุมชนเพื่อไปทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมกัน เพราะลำพูนเองก็เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วย เด็กบางคนจบม.3 ก็ไม่ได้ต่อม.6 เพราะวุฒิม.3 กับ ม.6 พอเอาไปใช้ในการทำงานมันก็คือวุฒิที่เท่ากัน”

ดวงใจเล่าว่า งานในโรงงานเองก็ไม่ค่อยมั่นคง เพราะเมื่ออายุเกิน 45 แล้ว อาจจะเสี่ยงเป็นคนตกงานได้ หลายคนที่ต้องออกจากโรงงานก็เดินทางกลับมายังชุมชนและหาอาชีพแถวบ้านทำแทน ถ้าโชคดีที่ออกมาตอนฤดูเก็บผลผลิตลำไย งานที่ทำก็เป็นงานรับจ้าง เช่น เด็ดลำไย หักกิ่งลำไย แต่ก็เป็นอาชีพที่ต้องเสี่ยงกันหน่อย นอกนั้นก็บ้างที่มาเปิดร้านขายของชำ ร้านเสริมสวยในชุมชน

“สำหรับเราอาชีพที่รองรับทุกคนได้ดีที่สุด คืออาชีพที่เป็นวิถีวัฒนธรรม”

ดวงใจคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงดอยยาวแม่ขนาด อ.แม่ทา จ.ลำพูน ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ง คนเฒ่าคนแก่ก็ต่างยึดโยงกับอาชีพทอผ้ามาเป็นเวลายาวนาน ทั้งใยผ้า ลวดลาย สีสันก็มาจากธรรมชาติและมาจากวิถีในชุมชนทั้งนั้น ถ้าผ้าทอหายไป ก็เหมือนตัวตนของพวกเขาค่อยๆ หายไปด้วยเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ดวงใจยังมีส่วนร่วมในตลาดชุมชนอีกด้วย ซึ่งเป็นตลาดที่ขายของตามธรรมชาติที่ปลูกแบบไร้สารพิษ ไม่ว่าจะเป็น พริก ผักกาด โดยเน้นไปที่การทำกินอย่างยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับคนตัวเล็กๆ ในชุมชน

ดวงใจเล่าว่าตัวตนของเธอตอนอยู่ที่ชุมชนเป็นเหมือน ‘ศูนย์กลาง’ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นหรือใครต้องการความช่วยเหลือบางทีคนในชุมชนก็เลือกที่จะมาหาดวงใจ ล่าสุดเธอก็เป็นคนประสานงานกับการไฟฟ้าให้ชาวบ้านเตรียมตัวเนื่องจากจะมีการเปลี่ยนหม้อมิเตอร์ใหม่ ซึ่งเธอก็เต็มใจทำหน้าที่นี้เพราะมันเป็นการทำเพื่อพี่น้องในชุมชนกะเหรี่ยง

ในทางกลับกันตัวตนที่อยู่ในเมืองหลวง ดวงใจบอกว่าเธอเจอคนเก่งๆ มากมาย ต้องคอยแอบดูว่าใครกำลังทำอะไร มีความคิดแบบไหน และแลกเปลี่ยนกันให้ได้มากที่สุดเพื่อจะเอาความคิดเหล่านั้นกลับไปยังชุมชน

“คนในชุมชนของเราเขาก็เปิดรับความคิดทุกอย่างนะ เขาไม่ได้มาอยู่ตรงนี้กับเรา เขาก็จะถามเราบ้างว่ากรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้คนที่อื่นมีไอเดียอะไรบ้าง”

ถึงแม้ดวงใจจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมที่จะพาเดินทางไปไหนมาไหนได้ แต่เธอก็ยืนยันว่าเธอไม่คิดอยากย้ายไปไหน เธอยังคงอยากอยู่ที่นี่และพัฒนาชุมชนของเธอต่อไป เพราะยังมีคนรุ่นหลังๆ ที่ยังมีศักยภาพแต่ก็ต้องมีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้เด็กๆ และชุมชนยังอยู่ได้

“ตอนเราเรียนจบก็ไปสอบเป็นครูการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านตัวเอง พอมาอยู่ตรงนี้แล้วเราก็ไม่คิดจะไปไหนแล้ว”

จุดเด่นของมุสลิมมลายู คือ ‘การช่วยกันและกัน’

แม้จะอยู่เกือบใต้สุดของประเทศ แต่ นาซีฮะฮ์ มะโซะ หรือ อ๊ะ ก็มาถึงที่หมายจนได้ เธอเล่าว่าเธอเดินทางมาจากนราธิวาสโดยการนั่งรถมาที่หาดใหญ่ และนั่งเครื่องต่อมาที่กรุงเทพฯ สำหรับเธอสิ่งที่เป็นอุปสรรคเล็กน้อยในการเดินทางครั้งนี้ก็คือเครื่องบินดีเลย์ แต่อ๊ะเดินทางมากรุงเทพฯบ่อย ถ้าเป็นการเดินทางในเมืองละก็ถือว่าสบายมาก

อ๊ะเป็นคนมุสลิมมลายูที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนราธิวาส เกินกว่าครึ่งของคนในชุมชนเป็นคนมุสลิมมลายูนอกเหนือจากนั้นก็มีทั้งพุทธ คริสต์ ศาสนาอื่นปะปนกันไป พื้นจึงค่อนข้างหลากหลายแต่แบ่งกันชัดเจน

“ในหมู่บ้านเขาก็จะแบ่งโซนกัน เช่น ซอยนี้เป็นพุทธ ซอยนี้เป็นมุสลิม ก็มีสลับกันบ้าง แต่เพราะวิถีชีวิตที่ต่างกันเลยทำให้มีการแบ่งโซนกัน ถ้าเราเดินเข้าซอยที่เป็นคนพุทธก็จะเห็นว่าบ้านเขาเลี้ยงหมากัน แต่ของเราไม่มี”

ถึงจะแบ่งเป็นโซนแต่ก็ใช่ว่าต่างฝ่ายต่างไม่คุยกันเลย อ๊ะเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธออยากลองสัมผัสวิถีชีวิตของชาวพุทธว่าเขาฉลองวันปีใหม่กันยังไง คืนก่อนวันปีใหม่มีหลายบ้านออกมาฉลองด้วยการทำกับข้าว ร้องเพลง ดื่มเบียร์ อ๊ะใช้วิธีการแนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษา หลายๆ คนก็ต้อนรับเธอเป็นอย่างดี

ความขัดแย้งสำหรับเธอมันมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไม่ลงรอยกันไปเสียหมด เธอคิดว่ามันก็คงจะดีกว่านี้ถ้ามีพื้นที่ที่ให้ทั้งคนพุทธ คนมุสลิม หรือคนจากต่างศาสนาอื่นมาทำกิจกรรมร่วมกัน

“วันที่เราไปดูเขาจัดปาร์ตี้วันปีใหม่ เขาก็ชวนเราไปนั่งที่โต๊ะด้วยกัน เราเห็นเขาร้องเพลงสนุกสนาน เราก็พยายามศึกษาวิถีชีวิตที่ต่างจากเรามากขึ้น มันทำให้เราได้รับรู้ว่าถึงแม้จะต่างกันแต่เขาก็เปิดใจรับเรานะ และเราก็เปิดใจรับเขา”

อ๊ะว่าถ้ามองด้วยตาเผินๆ ก็เหมือนทุกคนแยกกันอยู่ แต่เมื่อได้มาคลุกคลีอยู่จริงๆ แล้วเราอยู่ร่วมกันได้ ‘ความสันติสุข’ คือเป้าหมายที่ชุมชนมุสลิมมลายูให้ความสำคัญ เพราะทุกคนก็อยากอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีใครเอาเปรียบใคร

แต่อ๊ะเองก็ไม่ได้แสวงหาความสันติสุขหรือความยุติธรรมอยู่ตลอดเวลา เธอเล่าว่าก็มีบางครั้งที่ต้องหยุดจากเรื่องเหล่านี้เพราะมันทำให้เธอบังเอิญมองข้ามความสุขของตัวเองไป

“บางทีคนเราก็พุ่งไปหาเป้าหมายอย่างเดียว จนลืมมองถึงตัวเอง การทำเพื่อผลประโยชน์ของสังคมแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ต้องกลับมามองตัวเอง กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราสภาพจิตใจของเราอาจจะเริ่มแย่แล้วก็ได้”

เอกลักษณ์ของชุมชนมุสลิมมลายูของที่อื่นอาจเป็นสิ่งของ แต่สำหรับอ๊ะมันคือ ‘การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน’ เธอบอกว่าคนที่นี่มีน้ำใจ คนมุสลิมด้วยกันไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรมาก็จะช่วยเหลือกันเป็นอันดับแรก ไม่ว่าคนนั้นจะมีอดีตที่ไม่ดีมาก่อนก็ตาม

“เราเชื่อว่ามนุษย์มีความผิดพลาดกันได้ การให้อภัยกัน การช่วยเหลือกัน มันเป็นจุดเด่นของศาสนาอิสลามเลย” อ๊ะทิ้งท้าย

การเดินทางมาพร้อมกับบรรพบุรุษชาติพันธุ์กะแย

วันนี้มีหลายคนที่เลือกใส่ชุดประจำชาติพันธุ์ของตัวเอง เช่นเดียวกันกับ ‘ดอย’ พรรณรัตน์ จงอมรรัตน์ ที่วันนี้เธอเองก็เลือกใส่ชุดที่นำเสนอความเป็นชาติพันธุ์กะแย ดอยมาในชุดผ้าซิ่นสีแดง มีลวดลายแบบแนวขวาง มาพร้อมกับผ้าโพกหัวสีแดง ผ้าคาดเอวสีขาว และเครื่องประดับเงินที่เข้าชุดกันเป็นอย่างดี

“เราพยายามใส่ชุดนี้ทุกครั้งที่มีโอกาส เรารู้สึกว่าการได้ใส่ชุดแบบนี้เหมือนการได้พาบรรพบุรษของเรามาที่นี่ ถ้าพวกเขายังอยู่ พวกเขาก็คงอยากจะทำอะไรดีๆ แบบนี้เหมือนกัน”

นอกจากความสวยงาม ชุดยังมีเอกลักษณ์และความหมายซ่อนอยู่ เธอเล่าว่าก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะใส่ชุดประจำชาติพันธุ์ร่วมกิจกรรม แต่เพราะเห็นว่างานนี้จัดเพื่อคนชาติพันธุ์โดยเฉพาะดอยเลยไม่อยากพลาดโอกาสที่จะแสดงความเป็นชาติพันธุ์กะแย

ดอยเป็นคนชาติพันธุ์กะแยที่มาจากบ้านห้วยผึ้ง จ.แม่ฮ่องสอน เธอต้องขับรถจากแม่ฮ่องสอนไปที่เชียงใหม่และขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่ลงกรุงเทพฯ แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินทางออกจากชุมชน เพราะดอยออกมาเรียนในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ยังเด็ก และตอนทำงานบางครั้งก็ไปกรุงเทพฯ บ้าง

โดยปกติดอยก็เดินทางทุกวันเพราะเธอต้องไปทำงานที่ศูนย์อพยพทั้ง 4 แห่งตามแนวชายแดนแม่ฮ่องสอน ได้แก่ บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม บ้านแม่ละอูน อ.สบเมย และบ้านแม่มาลาหลวง อ.สบเมย วิธีเดินทางก็คือการใช้รถและด้วยความที่แต่ละศูนย์อยู่ห่างไกลกันทำให้ดอยเปรียบการนั่งรถว่าเหมือนอยู่ใน ‘ดิสโกเทค’

“นั่งรถทีก็เหมือนอยู่ในดิสโกเทค ทำให้เราทั้งเมาทั้งมึน แถมอยู่ก็ไกล อย่างบ้านแม่สุรินทร์เราเลยใช้เวลานั่งรถไป 3 ชั่วโมง ขากลับออกมาก็ตั้งอีก 3 ชั่วโมง”

สำหรับการเดินทางของดอยมาเวิร์กช็อปในครั้งนี้อาจจะไม่ได้ลำบากเท่าที่เธอไปศูนย์อพยพ เธอคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร เนื่องจากเธอว่าตัวเองยังติดขัดเรื่องนี้อยู่

“บางทีเราก็รู้สึกตัวคุยไม่รู้เรื่อง (ขำ) เรามีหลายเรื่องที่อยากจะเล่าเลย แต่จะเล่ายังไงล่ะให้รู้เรื่องและไม่น่าเบื่อโชคดีที่มีอาจารย์ที่รู้จักชวนมา อาจารย์เขาเรียกมาแบบนี้แสดงว่าต้องรู้อะไรดีๆ ที่อยากจะแบ่งปันเราแน่ๆ เราก็เลยมาที่นี่”

ดอยบอกอย่างดีใจว่าการเดินทางมาครั้งนี้คุ้มค่ากว่าที่คิด เพราะเธอได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารและแถมยังได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ที่เป็นคนชาติพันธุ์และไม่ใช่คนชาติพันธุ์อีกด้วย จากเดิมที่เคยเข้าใจว่าการสื่อสารมีแค่การพูด เวิร์กช็อปนี้ทำให้เธอได้เห็นว่ามันมีวิธีอีกหลายอย่างที่จะสื่อสารออกไปโดยที่เราอาจจะไม่ต้องพูดเลยสักคำ

“ตอนแรกเราสื่อสารโดยใช้การพูดเป็นหลัก มันเลยทำให้ทักษะด้านอื่นๆ ของเราจางลงไปแล้วเราก็แทบจะไม่นึกถึงมันเลย แต่พอได้เข้ามาร่วมกิจกรรมมันทำให้รู้ว่าเราใช้สื่ออย่างอื่นได้ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มันธรรมชาติมากๆ”

ถ้าเกิดมีกิจกรรมครั้งหน้าอีก เราก็คงได้เห็นดอยเข้าร่วมพร้อมกับชุดประจำชาติพันธุ์ของเธอแน่ๆ เพราะเธอบอกว่าเธอรู้สึกดีที่ได้ใส่ชุดนี้ เธออยากนำเสนอความสวยงามของชาวกะแย และอยากให้ชาวกะแยภาคภูมิใจในตัวเอง เธอแอบกระซิบว่าเร็วๆ นี้เธอกำลังจะวางแผนออกแบบชุดของชาวกะแยแบบประยุกต์เพื่อที่จะให้เด็กรุ่นใหม่ หรือคนอื่นใส่ได้อย่างทะมัดทะแมงมากยิ่งขึ้น

“การเป็นคนชาติพันธุ์ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย เวลาเราไปขึ้นรับรางวัลเราก็จะใส่ชุดของกะแยตลอด เราอยากให้คนข้างนอกรู้จักกะแยมากขึ้นและอยากให้คนกะแยเองรักในการเป็นตัวเองด้วย” ดอยทิ้งท้าย

เพราะระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้ปลายทาง

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2567 กิจกรรม ‘Empowered Storytelling Workshop : เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายในเพื่อชาติพันธุ์’ ก็เสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย เป้าหมายอย่างหนึ่งของกิจกรรมนี้คือการพัฒนาการสื่อสารให้กับภาคีที่ทำงานด้านกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรกลุ่มชาติพันธุ์

กิจกรรมนี้เป็นการร่วมมือของ Mutual, MasterPeace, และ Studio Persona ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.

การได้พบเจอและแลกเปลี่ยนกันก็คืออีกเป้าหมายที่เวิร์กช็อปนี้ถูกสร้างขึ้นมา บรรยากาศในห้องกิจกรรมที่เต็มไปด้วยมวลแห่งความหวัง ความฝัน และความเป็นมิตรทำให้เวิร์กช็อปครั้งนี้เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับใครหลายๆ คน

เพราะทุกคนมาจากต่างที่ ต่างวัฒนธรรม บางคนเวลาเดินทางแค่ 10 นาที แต่ก็มีหลายคนที่ต้องใช้หลายชั่วโมงเพื่อจะร่วมกิจกรรมกับเราในวันนี้ ซึ่งหลายคนที่ยอมเดินทางมาไกลหลายร้อยกิโลก็เพื่ออยากพัฒนาทักษะและเอาสิ่งดีๆ กลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อ

ในทุกๆ การเดินทางเป้าหมายย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วระหว่างทางก็มีหลายเรื่องราวที่เรามองข้ามไปไม่ได้เหมือนกัน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ