“วิทยาศาสตร์ครึ่งหนึ่ง หลักศาสนาครึ่งหนึ่ง” วิธีสร้างมัสยิดปลอดบุหรี่ในแบบของมัสยิดนูรุลฮีลาลบ้านบุดี ที่เชื่อว่าคนเลิกสูบได้หากมีใจที่ศรัทธา
ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด โดยปี 2564 อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราสูบทั้งประเทศคือ 17.4% โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราสูบบุหรี่สูงสุดของไทยก็อยู่ที่ภาคใต้ คือ กระบี่ สตูล พังงา นครศรีธรรมราช ระนอง และมีการสูบในศาสนสถานอยู่ที่ 21%
บุหรี่และยาเส้นใบจาก คือ สองสิ่งที่คนมุสลิมในชุมชนบ้านบุดี ต.บุดี จ.ยะลา คุ้นเคยบางคนสูบตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายจนกลายเป็นผู้สูงวัย เพราะสภาพแวดล้อมและสังคม ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมที่ติดบุหรี่
“ด้วยความที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวน ต้องเข้าป่า วิธีที่ไล่ยุงได้ก็คือการสูบบุหรี่ด้วย เข้าป่าทีก็สูบบุหรี่ที เขาก็เลยติดบุหรี่กัน ต่อให้ออกจากป่าก็ยังสูบอยู่”
สูดิน เลาะหะมะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเลขานุการมัสยิดนูรุลฮีลาลบ้านบุดี เล่าว่าที่สูบกันไม่ใช่แค่ 1-2 มวน แต่บางคนสูบเป็นหน่วยซองเลยทีเดียว การสูบบุหรี่ในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ดูธรรมดามากๆ แต่อิหม่ามและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็มีความเห็นตรงกันว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติและควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน เพราะเยาวชนหลายคนก็เริ่มอยากลองบ้างแล้ว
แต่การที่จู่ๆ จะเข้าไปบอกเลยว่า “อย่าสูบนะ มันไม่ดี” ก็คงจะไม่ได้ผล สูดินมองว่ายังเป็นการกดดันอีกด้วย วิธีที่ใช้ก็คือการค่อยๆ เข้าไปพูดคุยด้วยกันทุกวัน โดยเฉพาะเวลาที่ทุกคนมารวมตัวกันละหมาดที่มัสยิด
“เราไปชักชวนให้เขาเข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน ของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ทำให้เขาเข้าใจถึงโทษของบุหรี่เท่าที่จะทำได้ ใช้วิธีโน้มน้าวดีกว่าที่จะไปกดดันเขา”
บางคนเข้าร่วมโครงการเพราะอยากเลิกบุหรี่จริงๆ แต่บางคนก็เข้าร่วมเพราะเห็นว่าอิหม่ามเป็นคนชวนเข้าร่วมโครงการจึงเกรงใจ แต่ไม่ว่าจะเข้าร่วมด้วยเหตุผลอะไร แค่เข้ามาก็ถือว่าดีแล้ว
นอกจากนี้ที่มัสยิดบ้านบุดียังมีสมุดบันทึกประจำวัน ที่เอาไว้คอยจดว่าแต่ละวันและสัปดาห์หนึ่งสูบบุหรี่ไปเท่าไหร่ เพื่อให้เป็นการบันทึกที่เห็นพัฒนาการของตัวเอง หรือจดไว้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของแต่ละคนเป็นอย่างไร
ผลลัพธ์ของการลดบุหรี่แน่นอนว่าคือการมีสุขภาพที่ดี คนในชุมชนที่ลดบุหรี่เล่าให้สูดินฟังว่า หลังจากลดบุหรี่ไปเขารู้สึกกินข้าวอร่อยขึ้น ร่างกายมีแรง ไม่รู้สึกห่อเหี่ยวเท่าแต่ก่อน แต่อีกทาง มัสยิดอยากให้รางวัลเล็กๆ เพื่อเป็นกำลังใจแก่คนที่ลดบุหรี่ได้ เพราะอยากให้ทุกคนรู้สึกได้รับการสนับสนุนอยู่ตลอด แถมจะได้มีกำลังใจลดบุหรี่ต่อไปอีกด้วย
‘ใจ’ คือ สิ่งที่อิหม่ามและสูดินมองว่าสำคัญต่อการลดพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นอย่างมาก บางคนเลิกได้แล้วแต่กลับมาสูบใหม่ เพราะดันไปเจอกับสภาพแวดล้อมและสิ่งเร้าต่างๆ ที่กระตุ้นให้อยากบุหรี่อีกครั้ง ฉะนั้นแล้วมัสยิดจึงพยายามทำให้ใจของพวกเขาแข็งแรงขึ้นและทนต่อสิ่งเร้าให้ได้ด้วยวิธีการพูดคุยรวมถึงการนำหลักศาสนาเข้าช่วย
ตามหลักศาสนาอิสลาม บุหรี่ คือ ‘ฮารอม’
“มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ดูแลร่างกายของตน เพราะว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มา อะไรก็ตามที่เราทำแล้วก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อร่างกายก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด”
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวไว้ในรายการวิทยุนับเราด้วยคน EP.19 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นั่นหมายความว่าการกระทำใดที่ทำให้ร่างกายหรือจิตใจของตัวเองเสื่อมเสียคือเรื่องที่ผิด รวมไปถึงการสูบบุหรี่ก็ด้วย
หลายๆ มัสยิดก็พยายามรณรงค์การลดบุหรี่ในกลุ่มคนมุสลิม เนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการสำรวจว่ามีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ปัญหานี้จึงต้องมีการเร่งแก้ไข วิธีการเอาหลักศาสนามาเข้าช่วยทำให้คนมุสลิมเข้าใจถึงโทษของการทำร้ายตัวเองด้วยบุหรี่ได้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมัสยิดด้วยว่าจะตีความว่าบุหรี่ผิดหลักศาสนาในแบบไหน
“แล้วแต่ทัศนะของแต่ละมัสยิดว่าเขามองบุหรี่ยังไง อย่างที่นี่อิหม่ามไม่เห็นด้วยกับบุหรี่ มองว่าบุหรี่คือ ฮารอม”
สูดินเล่าว่าที่มัสยิดนูรุลฮีลาลบ้านบุดีมองว่าบุหรี่คือ ‘ฮารอม’ คำนี้มีความหมายว่า ‘ห้าม’ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า ฮาลาล คำที่คนทั่วไปได้ยินกันบ่อยๆ ที่แปลว่า อนุญาต คำว่าฮารอมเมื่อนำมาใช้ในบริบทของศาสนาก็จะหมายถึงสิ่งที่ศาสนาห้าม
ฮารอมรวมไปถึงสิ่งที่ห้ามนำมาบริโภค เช่น สุกร สุนัข หมูป่า ลิง แมว รวมไปถึงอาหารหรือเครื่องดิ่มที่มีส่วนผสมจากแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังมีการอธิบายเพิ่มว่าอะไรก็ตามที่นำไปสู่การกระทำที่ต้องห้าม สิ่งนั้นก็เป็นฮารอม เช่น นอกจากคนที่สูบบุหรี่จะฮารอมแล้ว ผู้ขาย ผู้ผลิต และผู้เกี่ยวข้องก็ถือว่าละเมิดสิ่งต้องห้ามเหมือนกัน
นอกจากนี้ที่มัสยิดแห่งนี้ยังมีคู่มือที่เอาไว้ใช้อธิบายการสูบบุหรี่อีกด้วย คู่มือคุฏบะฮฺ จัดทำโดยแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“จงอย่าสร้างความเดือดร้อน หรือความเสียหายให้กับตัวเองและผู้อื่น”
ข้อความนี้ถูกระบุไว้ในคู่มือดังกล่าว พร้อมมีการอธิบายเพิ่มว่า ผู้สูบเองก็จะเป็นคนที่เสียสุขภาพ ในขณะเดียวกันการพ่นควันบุหรี่ออกมาสู่บรรยากาศก็จะทำให้คนอื่นที่อยู่รอบข้างต้องสูดดมควันบุหรี่เข้าปอด ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างรุนแรง เพราะผู้สูบกำลังสร้างความเสียหายให้กับสุขภาพของคนอื่น
ที่มัสยิดนูรุลฮีลาลจึงต้องหลักศาสนามาใช้ประกอบการช่วยคนในชุมชนลดบุหรี่ โดย ดรอสะ มะสาและ อิหม่ามประจำมัสยิดนูรุลฮีลาลบ้านบุดี มองว่าทั้งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และหลักศาสนาเป็นสองสิ่งที่เอามาใช้ได้ ทั้งนี้ถ้าบริบทฝั่งใดฝั่งหนึ่งเป็น การลดบุหรี่ในชุมชนอาจจะทำไม่ได้เต็มที่
“สมมติว่าคะแนนเต็ม 100 เราเอาหลักวิทยาศาสตร์มาช่วยครึ่งนึง และหลักศาสนามาช่วยอีกครึ่ง ถ้าขาดฝั่งใดฝั่งหนึ่งไป มันก็จะไม่เต็มที่”
อิหม่ามกล่าว ข้อดีของการนำหลักศาสนามาใช้ก็คือ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่ที่ไหน แต่ถ้าหากเขามีใจที่ศรัทธาต่อพระเจ้า เขาก็จะมีภูมิคุ้มกันกับตัวเองได้ว่าไม่ควรสูบบุหรี่
ปลูกฝังพฤติกรรมห่างไกลบุหรี่ตั้งแต่เด็ก
นอกจากจะทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่หันมาลดแล้ว ดรอสะ มะสาและ อิหม่ามประจำมัสยิดนูรุลฮีลาลบ้านบุดี ยังอยากที่จะให้เยาวชนในชุมชนไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่เริ่มสูบกว่าจะเลิกได้นั้นเป็นเรื่องยากมาก จึงเป็นที่มาของชมรมเยาวชนนูรุลฮีลาลบ้านบุดี
“เราเริ่มเห็นแล้วว่าเยาวชนในชุมชนมีความเสี่ยงที่จะสูบ ถ้าไม่มีการป้องกันหรือให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง เขาก็อาจจะอยากรู้อยากลองและก็หันไปสูบได้ เรามองว่าบุหรี่คือจุดเริ่มต้นของยาเสพติด”
เด็กๆ ในชมรมเยาวชนนูรุลฮีลาลบ้านบุดี จะได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งเล่นกีฬา ทำกิจกรรมจิตอาสา และออกค่าย ซึ่งชมรมนี้ก็สร้างทีมฟุตบอลที่ชื่อว่า นุรูลฮีลาลบุดี ฟุตบอลคลับ (Nurulhilal Budi Football Club) เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกายและมีกิจกรรมทำ แถมปลูกฝังให้ห่างไกลบุหรี่อีกด้วย
“เราอยากให้เด็กๆ มีจิตสำนึกเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะพอเขาคิดได้เองเขาก็จะหักห้ามตัวเองได้ แต่ถ้าเราต้องคอยไปบอกเขา ก็ไม่รู้ว่าลับหลังเขาจะไปสูบบุหรี่ไหม”
ที่ชุมชนบ้านบุดีมักจะผลักดันให้เด็กเป็นแกนนำในหลายๆ เรื่อง ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่ทางมัสยิดมีกิจกรรม คนที่นี่ก็มักจะเห็นเด็กๆ ออกมาช่วยงาน หรือออกมาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนเสมอ เพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพและรู้สึกตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเหมือนกัน
อิหม่ามเฝ้าดูการเติบโตของเด็กตั้งแต่อยู่ในชุมชน ไปจนถึงเรียนจบปริญญาตรี ความภูมิใจของอิหม่ามคือการได้เห็นเด็กๆ ในบ้านบุดีเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นี่จึงเป็นเป้าหมายของอิหม่ามเสมอมา
ปัจจุบันวิธีการและแนวคิดของมัสยิดบ้านบุดีก็ได้เริ่มส่งต่อไปยังมัสยิดที่ใกล้เคียง อิหม่ามก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้อยู่บ่อยๆ เพื่อให้มีมัสยิดปลอดบุหรี่อีกหลายๆ ที่
“เราก็บอกกับคนอื่นๆ ว่าการช่วยลดบุหรี่นี่มันทำดีกว่าไม่ทำอยู่แล้ว ถึงแม้ผลออกมาอาจจะไม่เป็นตามที่คาดหวัง แต่มันก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”
อ้างอิง :
- คู่มือแนะนำฮาลาล-ฮารอม โดย สถาบันมาตราฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
- คุฏบะฮฺ ต้านบุหรี่และยาสูบ โดย แผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)