เราต่างเป็น ‘คนดื้อ’ ไม่ว่าจะเด็กหรือจะแก่ : เข้าใจความต่างของสองวัย ผ่านคำว่า ‘ดื้อ’ จากงานวิจัยศึกษาค่านิยมที่คนแต่ละวัยมีต่อผู้สูงอายุ

ดื้อ เอาแต่ใจ เอาใจยาก สามคำนี้ทำให้เรานึกถึงคนวัยไหน?

คำตอบคือ ทุกวัย เด็กก็ดื้อได้ คนสูงวัยก็ดื้อได้เหมือนกัน ถึงอายุจะต่างกันแค่ไหน แต่คำว่า ‘ดื้อ’ ก็ยังใช้อธิบาย ‘พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก’ ของคนหลายวัยได้ เวลาที่เรามองว่าเด็กคนไหนดื้อ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมดื้อออกมา เพราะเขามองว่านั้นคือสิ่งที่เขาเป็น

กับผู้สูงวัยก็เช่นเดียวกัน ความเข้าใจและสายตาที่เรามองผู้สูงอายุล้วนมีผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา ถ้าคนส่วนมากเชื่อว่า ผู้สูงอายุคือคนที่ไม่มีความสามารถ ชีวิตของผู้สูงอายุก็จะโดนตีตราด้วยกรอบความคิดนี้ ตั้งคำถามกับคุณค่าตัวเอง แต่ถ้าหากทุกคนมองว่าผู้สูงอายุ คือ วัยที่โชกโชนประสบการณ์ วัยที่ยังมีคุณค่าเหมือนวัยอื่นๆ  มุมมองของผู้สูงอายุที่มีต่อตัวเองก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะยังมีคนที่เชื่อในตัวพวกเขา พวกเขาก็เลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวเองเหมือนกัน

บางครั้งร่างกายบอกไม่ แต่ใจยังไหวอยู่ ผู้สูงอายุบางคนยอมฝืนร่างกายเพราะเข้าใจว่าตัวเองยังไหว ‘ดื้อ’ คำนี้จึงถูกนำมาใช้กับผู้สูงอายุบ่อยครั้งในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น แอบกินอาหารที่หมอห้าม ไปเที่ยวคนเดียวโดยที่ไม่บอกใคร ทำสิ่งที่ห้ามซ้ำๆ จนบางทีคนวัยอื่นมักมองว่า ผู้สูงอายุเอาแต่ใจและไม่น่าอยู่ใกล้ ทั้งพฤติกรรมขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ ไม่ค่อยรับฟังคนอื่น เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระดับฮอร์โมน ความสามารถในการจำ และความสามารถในการมองเห็นหรือได้ยิน เป็นต้น 

งานวิจัยเรื่อง “ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย” โดย รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด และคณะ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจทัศนคติที่คนวัยอื่นมีต่อผู้สูงอายุ เพื่อหาแนวทางลดช่องว่างระหว่างวัย เพราะในวันที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว มุมมองที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้จึงสำคัญ 

วันนี้เราจึงได้นำเนื้อหาจากงานวิจัยบางส่วนมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เข้าใจผู้สูงอายุใกล้ตัวกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีใครถูกมองข้าม หรือถูกเข้าใจผิด

ผู้สูงอายุไม่มีประโยชน์ ผู้อายุเป็นภาระ และมักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง นี่คือตัวอย่างค่านิยมด้านลบที่คนวัยอื่นบางกลุ่มยังมีต่อผู้สูงอายุ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มช่วงวัยอื่นๆ คือ เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เอ็กซ์ (x) วาย (y) และซี (z) จาก 13 จังหวัดทั้งหมด 1,120 คน พบว่าค่านิยมเชิงบวกต่อผู้สูงอายุมีมากที่สุด 4.17% เช่น เคารพคนสูงวัย ให้เกียรติ และมีความรู้สึกอยากตอบแทนบุญคุณพวกเขา ส่วนทัศนคติด้านลบมีอยู่ที่ 2.46% 

สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลนี้ คือ Gen X เป็นช่วงวัยที่มีแนวคิดด้านบวกต่อผู้สูงอายุมากที่สุด ในขณะเดียวกัน Gen Y มีแนวคิดด้านลบต่อผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยอื่นๆ 

นอกจากทัศนคติแล้ว การปฏิบัติต่อผู้สูงอายุก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วรรณลักษณ์ให้ความสำคัญ เธอและทีมวิจัยค้นพบว่า Gen X, Gen Y, และ Gen Z มีการปฏิบัติต่อคนสูงวัยในระดับที่ดี 3.79% ยังคงเคารพและให้เกียรติผู้สูงอายุอยู่ รองลงมา 3.65% มองว่าผู้สูงอายุมีความสำคัญต่อสังคม และ 3.63% พร้อมที่จะดูแลพวกเขาด้วยความเหมาะสม

จะโตแค่ไหนก็เจอคำว่า ‘ดื้อ’ ได้เหมือนกัน

ใน 1 วันเราทำอะไรกันบ้าง? คำถามมักได้ยินกันบ่อยๆ แต่ถ้าไปถาม อุ๊ย นริมล ปีตะนีละผลิน เราควรจะเปลี่ยนเป็นคำถามว่า “ใน 1 วันมีอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง” ดีกว่า

ใครบอกว่าวัยเกษียณน่าเบื่อ สำหรับป้าอุ๊ย วัย 69 ปี นี่เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอได้สนุกไปกับชีวิต ป้าอุ๊ยชื่นชอบการทำกิจกรรมมาก จะทำจิตอาสา หรือจะออกกำลังกาย ถ้าทำได้ก็อยากจะทำให้หมด ชีวิตของหญิงโสดในช่วงสูงวัยไม่ได้น่ากลัวเสมอไป ป้าอุ๊ยบอกว่า เธอมีเพื่อนจากชมรม มีพี่น้องที่อยู่ใกล้ๆ แค่นี้ก็ไม่เหงาแล้ว

“ตอนแรกเรานึกภาพไม่ออกว่าเราจะเป็นผู้สูงอายุแบบไหน จนพ่อแม่เสีย เราค่อยๆ กลายเป็นคนอายุมากที่สุดของบ้าน เราก็พยายามเป็นคนสูงวัยที่รักษาสุขภาพจะได้เป็นภาระคนอื่นน้อยที่สุด หลักๆ ก็คืออยากเป็นคนสูงวัยที่พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ทำได้นะ”

ป้าอุ๊ยอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความสุขและเต็มที่ไปกับชีวิตบั้นปลาย แต่ก็ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะทำได้แบบเธอ เพราะบางคนมีโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิด หรือโรคอื่นๆ ที่ตามมากับวัยชรา

การเข้ามาเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้ป้าอุ๊ยได้ทำงานและพบปะกับเพื่อนๆ ผู้สูงวัยด้วยกันอย่างหลากหลาย ทำให้เธอเข้าใจเรื่องความเป็นผู้สูงอายุได้มากยิ่งขึ้น เธอเข้าใจดีว่าผู้สูงวัยทุกคนไม่ได้มีกำลังจะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเยอะๆ ได้แบบเธอ ซึ่งเราก็ไม่ควรไปตีตราพวกเขาว่า ขี้เกียจหรือไม่ยอมทำอะไรเลย เพราะการเป็นคนสูงวัยไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อจำกัดทางร่างกายและสภาพแวดล้อม ไม่ได้เอื้อให้ทุกคนได้ออกกำลังกาย หรือไปเที่ยวไหนต่อไหนได้ขนาดนั้น

ทัศนคติลบต่อผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ “ป้าว่าเราก็คงต้องมองการกระทำของผู้สูงอายุด้วยแหละ ว่า เป็นแบบที่เขาบอกกันไหม เด็กๆ เขากลัว ไม่อยากอยู่ใกล้ หรือคิดลบกับเราเพราะไปทำอะไรเขาหรือเปล่า ถ้าเราเป็นผู้สูงอายุที่ไม่น่ารัก คนอื่นเขาก็ต้องกลัวเราสิ ซึ่งป้าคิดว่าผู้สูงอายุที่เขาทำตัวดีๆ ก็มีเยอะแยะไปนะ ส่วนที่ไม่น่ารักก็มีอยู่จริง”

โครงการวิจัยฯ จับคู่ชมรมผู้สูงอายุที่ป้าอุ๊ยเป็นสมาชิกอยู่ ไปร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยและเพิ่มประสบการณ์ที่ดีต่อกันอีกด้วย ซึ่งป้าอุ๊ยเองก็เล่าว่า เป็นกิจกรรมที่สนุกดีสำหรับเธอ เพราะปกติไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมกับคนที่อายุน้อยกว่าสักเท่าไหร่ สิ่งที่ทั้งผู้สูงอายุและเด็กได้ทำ คือ กิจกรรมสลับกันเป็นผู้นำ เช่น ตอนช่วงเช้าเด็กๆ จะเป็นคนนำเล่นเกม ส่วนช่วงบ่ายก็เป็นผู้ใหญ่สอนเด็กๆ เต้นรำมวย นอกจากจะได้ความสนุก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยังได้รู้จักกันมากขึ้นอีกด้วย

“ช่วงแรกเด็กเขาดูเกร็งๆ เพราะเราเป็นผู้ใหญ่และวัยห่างกันมาก แต่พอเราค่อยๆ คุยกัน มีให้เขานำกิจกรรม เราก็เริ่มลดกำแพงกันได้มากขึ้น บางอย่างที่เราไม่รู้เด็กๆ ก็จะเป็นคนสอน บางอย่างที่เด็กไม่รู้เราก็จะสอนให้ แลกเปลี่ยนความรู้กันไป”

ช่องว่างระหว่างวัยลดลงได้จากการพูดคุยกัน ทั้งนี้ป้าอุ๊ยเชื่อว่า ทัศนคติด้านลบ หรือพฤติกรรมที่ไม่ดีที่แต่ละวัยประสบมานั้น อาจจะไม่ใช่ตัวตัดสินภาพรวมส่วนใหญ่ได้ ทุกคนย่อมมีเหตุผลของตัวเอง

“การที่เราบอกว่าเด็กสมัยนี้ดื้อกับผู้ใหญ่มันไม่ถูกต้องทั้งหมด เราจะไปตัดสินโดยที่ไม่รู้ว่าเขาเจออะไรมาไม่ได้ เช่น ถ้าเราบอกว่าเด็กคนนี้ดื้อ เราก็ต้องไปดูว่าเขามีเหตุผลอะไรที่เป็นแบบนี้ เขาอาจจะดื้อเพราะเราไปพูดไม่ดีกับเขาก่อนก็ได้”

“ถ้าเราอยากให้เขาทำดีกับเรา เราก็ต้องทำดีกับเขาก่อน” ป้าอุ๊ยทิ้งท้าย นี่เป็นสิ่งที่เธอเชื่อว่าเอามาปรับใช้ได้กับทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือเด็กๆ ก็ตาม

เด็กดื้อหรือผู้ใหญ่ไม่รับฟัง?

การเข้าใจในคุณค่าผู้สูงอายุไม่ได้สำคัญกับผู้สูงอายุเองอย่างเดียว แต่ยังสำคัญกับกลุ่มเยาวชนอีกด้วย นดา บินร่อหีบ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย บอกว่า ทั้งสองวัยจำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน สิ่งสำคัญที่ผู้สูงวัยมีแต่เด็กมีไม่เท่า คือ ประสบการณ์ชีวิต สิ่งนี้นี่เองที่ผู้สูงอายุสามารถสอนเด็กได้

“การเติบโตจากเด็กจนเป็นผู้สูงวัยได้ ประสบการณ์ชีวิตเขาจะเยอะกว่าเรามาก นี่คือสิ่งที่เราจะสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้ เราอยากจะให้เด็กและชุมชนเห็นถึงคุณค่าตรงนั้นของผู้สูงอายุ บางอย่างที่มันหายไปแล้วเราก็เรียนรู้จากผู้สูงอายุได้ เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่คนสูงวัยเขามีความรู้ในด้านนั้นๆ มานาน”

สภาเด็กฯ พยายามผลักดันให้ทั้งผู้สูงอายุและเด็กมีพื้นที่ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อที่จะลดความห่างไกล และยังให้เด็กๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจกับผู้สูงวัยอีกด้วย นดามองว่าการสื่อสารที่ดีจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัยได้ดีที่สุด

“บางทีผู้สูงอายุกับเด็กก็หวังดีต่อกัน แต่สื่อสารกันไม่ถูก เช่น ในมุมของผู้ใหญ่เขาก็อยากจะตักเตือนเพราะเขาเป็นห่วง แต่อาจจะเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่เด็กไม่ชอบ เด็กเลยไม่รับฟัง บางครั้งก็กลายเป็นเด็กดื้อในสายตาผู้ใหญ่ไปเลย ส่วนบางทีเด็กอยากพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจ แต่ก็มีวิธีสื่อสารกันผิด ความเข้าใจกันเลยยังไม่เกิดขึ้น”

ถอยออกมาคนละก้าว วิธีที่นดาใช้เชื่อมโยงช่องว่างระหว่างวัย เธอเชื่อว่า ทุกวัยจะเข้าใจกันได้ ถ้าทุกคนถอยออกมาเพื่อดูพฤติกรรมและนิสัยของคนในวัยตรงข้ามก่อน เช่น ถ้าหากผู้ใหญ่อยากสื่อสารให้เด็กเข้าใจ ก็อาจจะต้องดูบริบทก่อนว่า ข้อมูลนั้นๆ ควรจะพูดกับเด็กด้วยถ้อยคำและท่าทีแบบไหน ซึ่งเราจะรู้ได้ก็ตอนเมื่อไปคลุกคลีกับพวกเขามากพอ หรืออย่างเด็กก็ไม่ควรจะไปตีตราผู้ใหญ่ทุกครั้งที่เขาเข้ามาสอน ข้อมูลที่ผู้ใหญ่ส่งต่อมาอาจจะช่วยชี้นำให้เด็กเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นอกจากในห้องเรียนก็เป็นได้ 

“สภาเด็กฯ เองก็พยายามสร้างกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้เข้าไปทำร่วมกับผู้สูงอายุเยอะๆ อย่างล่าสุดก็มีกิจกรรมเต้นลีลาศที่ร่วมกับชมรมผู้สูงอายุด้วย พอได้เห็นคนต่างวัยได้มาพูดคุย ได้ออกมาสนุกด้วยกันโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าใครจะแก่กว่าใคร หรือใครจะเด็กกว่าใคร ภาพวันนั้นที่ออกมามันเลยน่ารักมาก”

เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่เองก็ต้องเข้าใจว่า เด็กในวันนี้ได้รับสื่อและอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมที่ต่างจากผู้ใหญ่ ส่วนเด็กเองก็ต้องเข้าใจสังคมที่ผู้ใหญ่เคยผ่านมาว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราอยู่กันทุกวันนี้ การเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างวัย และยังช่วยให้เด็กพัฒนาตัวตนเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่พวกเขาต้องการได้ในอนาคต

ไม่ใช่แค่ค่านิยม แต่มีผลถึงการกำหนดนโยบาย

ทัศนคติเชิงลบ หรือ ‘วยาคติต่อผู้สูงอายุ’ ที่งานวิจัยพบ คือ ผู้สูงอายุไม่มีประโยชน์ต่อสังคม วรรณลักษณ์ชี้ว่า อาจเป็นเพราะบางคนไม่สามารถปรับตัวให้เขากับยุคปัจจุบัน บางคนก็มีอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้บางคนหลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์

การศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มวัยต่างๆ ที่มีต่อผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยทำให้ทุกวัยต่างอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้สามารถมองเห็นแนวทางการพัฒนานโยบายที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย

‘การเคารพความเป็นมนุษย์’ คือสิ่งที่งานวิจัยเสนอว่า สามารถนำไปสู่การปฏิบัติและคุ้มครองผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม เราไม่จำเป็นต้องมองว่า พวกเขาอายุมากกว่าจึงต้องได้รับการเคารพ หรือผู้ใหญ่มองว่าเพราะเด็กยังอ่อนประสบการณ์ ยังไม่รู้มากเท่าผู้ใหญ่จึงไม่ต้องให้เกียรติกัน แต่มันจะดีกว่า ถ้าหากทุกคนมองว่าอีกคนคือมนุษย์ด้วยกัน และเราควรจะปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้ดีอย่างไร

ไม่ใช่แค่องค์กรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทัศนคติทางบวกต่อผู้สูงอายุ แต่องค์กรในช่วงวัยอื่นก็ด้วย งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนควรร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งและความอบอุ่นในครอบครัว เพราะเมื่อความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับวัยอื่นในครอบครัวดีแล้ว การมองผู้สูงอายุคนอื่นๆ ในเชิงบวกก็จะตามมาด้วย

ที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้คนต่างวัยเข้ามามีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำเข้าร่วมของผู้สูงอายุด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะร่างกายถดถอยตามอายุ แต่พวกเขาก็ยังมีศักยภาพ ยิ่งถ้าได้อยู่ในพื้นที่ที่ส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาแล้ว ผู้สูงวัยอาจจะเก่งไม่แพ้คนวัยอื่นเลยทีเดียว

และเมื่อคนวัยอื่นมองเห็นศักยภาพและความสำคัญของคนสูงวัย คนสูงวัยเองก็จะเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเองเช่นเดียวกัน พวกเขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของใคร และรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง:

รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด และคณะ. ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย

Shares:
QR Code :
QR Code