‘ที่พักราคาถูก’ สิ่งที่คนอยากได้ไม่ว่าอายุเท่าไร หรือมีเงินแค่ไหน : ‘บ้านพูนสุข’ ที่พักเข้าถึงได้และบริหารโดย ‘คนไร้บ้าน’

รั้วเหล็กที่ความสูงเท่ากับเอวของเรา พร้อมกับมีป้ายที่ทำมาจากไม้เขียนบอกไว้ว่า ‘บ้านพูนสุข’ จุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้

“มากันยังไง”

‘พิม’ (นามสมมติ) คนที่เรานัดคุยด้วยครั้งนี้เดินออกมาต้อนรับจากบ้านสีขาวสูง 2 ชั้น ก่อนจะชวนนั่งเพื่อเริ่มต้นการพูดคุย สถานที่นี่มาไม่ยาก เพียงแต่ไม่มีทางเลือกมากนัก ตามสภาพระบบขนส่งสาธารณะของบ้านเรา ยิ่งอยู่นอกตัวเมืองจังหวัดปทุมธานี ตัวเลือกการเดินทางมีจำกัด คือ นั่งรถรับจ้างต่างๆ ที่มี หรือขับมาเอง แต่เราก็พาตัวเองมาได้ เพราะที่นี่มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เป็นศูนย์พักพิงของคนไร้บ้านที่บริหารโดย ‘คนไร้บ้าน’ เอง

บ้านพูนสุขเป็น 1 ในศูนย์พักพิงคนไร้บ้านที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน ที่ต้องการทำศูนย์พักพิงที่ให้พี่น้องคนไร้บ้านดูแลกันเอง เพราะพวกเขาเชื่อว่าความเข้าใจและศักยภาพที่คนไร้บ้านมี จะช่วยลดจำนวนการเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่ และพาคนไร้บ้านคนอื่นๆ กลับมาตั้งหลักชีวิตได้

พิมเคยเป็นคนไร้บ้านอยู่ที่ย่านหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร ก่อนจะเข้าร่วมโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าว โดยสนับสนุนค่าเช่าที่อยู่อาศัยและการหางานทำ เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านกลับมาตั้งหลักชีวิตได้

หลังจากที่พิมตั้งหลักชีวิตได้ รวมไปถึงสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่อยู่ในย่านเดียวกัน ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเอ่ยปากชวนพิมมาดูแลศูนย์แห่งนี้

“พอมาถึงที่นี่ เราเริ่มจากทำตลาดที่อยู่ตรงปากทางเข้า จากเป็นพื้นที่โล่งๆ นะ เพื่อเอาเงินมาหมุนเวียนในศูนย์ แล้วก็อยากให้พี่น้องไปขายของด้วย แต่มันมีความเสี่ยงสูง ถ้าซื้อของไปขายแล้วขายไม่ได้ เงินก็หายไป คนที่นี้เลยอยากทำงานรับจ้างมากกกว่า เราก็ปล่อยให้คนอื่นเช่า เอาเงินมาหมุนเวียนในศูนย์เป็นค่าน้ำค่าไฟ” พิมเริ่มเล่าให้เราฟังถึงแพลนและอนาคตที่เธอวางไว้ให้บ้านพูนสุข

ที่อยู่อาศัยราคาสูง คนจ่ายไม่ไหว ลงเอยเป็นคนไร้บ้าน

70% ของประชากรในบ้านพูนสุขเป็น ‘ผู้สูงอายุ’ อาจจะสัมพันธ์กับประเทศเราที่ตอนนี้ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว และอีกไม่นานจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ขณะที่เด็กเกิดใหม่ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สำหรับพิมและคนที่นี่ ‘ปากท้อง’ เป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญ เพราะแปลว่าไม่ต้องหิว และมีโอกาสกลับไปตั้งหลักชีวิตอีกครั้ง

‘ทำงาน’ เป็นวิธีการได้เงินที่รับรู้กันทั่วไป แต่ความยากของคนที่นี่หรือคนไร้บ้านเองในการหางาน คือ ไม่ค่อยมีประตูบานไหนเปิดรับพวกเขา พิมเล่าว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่ชอบทำงานรับจ้างรายวัน เสร็จงานก็ได้เงินเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหลอกหรือไม่จ่ายเงินทีหลัง ทำให้งานของคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างสารพัด เช่น รับจ้างต่อแถวซื้อของ เสริฟ์อาหารในโรงแรมหรืองานต่างๆ หรือทำงานในไซต์ก่อสร้าง

แต่คนไร้บ้านที่นี่การหางานยากกว่าที่อื่นๆ ตรงที่พวกเขาเป็นผู้สูงอายุและคนพิการ ร่างกายอาจไม่ไหวที่จะออกไปทำงานข้างนอก พิมเลยหางานอื่นๆ ที่พวกเขาพอทำได้ รับจ้างดูแลสวนในบ้านพูนสุข หรือทำของขาย ซึ่งของล่าสุดที่ทำเป็นยาดม

“เมื่อก่อนเราเคยทำขนมขายนะ แต่มันยากเพราะคนซื้อด้วยความสงสาร แต่ไม่กล้ากิน มองว่าเขาเป็นคนพิการ เป็นคนไร้บ้าน เราไม่อยากให้คนมองหรือซื้อด้วยความสงสาร เลยหาอะไรทำขายที่ไม่ใช่ของกิน”

พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ของบ้านพูนสุข มีโซนสำหรับพักอาศัยอยู่ประมาณ 2 ส่วน แบ่งเป็นส่วนอยู่ ‘ประจำ’ ที่เป็นตึก 2 ชั้น มี 20 ห้อง และส่วน ‘มั่นคง’ เป็นห้องเรียงต่อกันประมาณ 8 ห้อง ความแตกต่างที่พิมอธิบายให้เราฟัง ห้องประจำจะมีราคาเช่าถูกกว่า ขนาดเล็กกว่าห้องแบบมั่นคง เป็นตัวเลือกสำหรับคนไร้บ้าน คนที่เข้ามาอยู่ใหม่ๆ จะเลือกแบบห้องประจำ ก่อนจะขยับไปห้องมั่นคงเมื่อมีรายได้พอตัว หรือออกไปใช้ชีวิตข้างนอกในเส้นทางที่เขียนเอง

ค่าใช้จ่ายของคนที่อยู่จะมีค่าห้องและค่าน้ำ-ไฟ ค่าห้องถ้าเป็นประจำจะอยู่ที่เดือนละ 200 บาท ส่วนมั่นคงอยู่ที่เดือนละ 400 บาท ค่าน้ำ-ค่าไฟจะคิดเป็นรายเดือนตามค่าใช้จ่ายจริง นำมาหารกับทุกๆ คนที่อยู่

พิมบอกว่า ที่อยู่อาศัยถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ที่หลับนอน แต่เป็นหลักฐานในการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การทำงาน นายจ้างมักจะถามว่าพักอยู่ที่ไหนเพื่อประเมินว่าจะจ้างงานหรือไม่ คนไร้บ้านบางคนที่อยากทำงานแต่ไม่มีบ้านพักก็มีโอกาสถูกปฎิเสธ 

ถ้าเลือกได้ก็คงอยากได้ราคาที่ถูกจ่ายไหว สวนทางกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ค่าที่พักเริ่มถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูล Ddproperty เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่ประกาศขายช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2566 ราคาขายที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีประมาณ 1% ในขณะที่ราคาขายที่มีจำนวนเยอะที่สุดอยู่ที่ 1 – 3 ล้านบาท มีประมาณ 27% ซึ่งคอนโดและทาวน์เฮาส์ส่วนใหญ่มีราคาอยู่ที่ 1 – 3 ล้านบาท ขณะที่บ้านเดี่ยวมีราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป

“เคยมีป้าคนหนึ่งที่โดนครอบครัวทำร้ายและไล่ออกจากบ้านในวันเดียวกัน เขาเดินจนมาเจอที่นี่ ซึ่งมันสําคัญกับคนคนหนึ่งมากนะ กับการจะไม่มีที่อยู่ หรือคนไร้บ้านที่เขาอยากเปลี่ยนตัวเอง เพราะด่านแรกที่เจอถ้าจะเช่าห้อง คือ ค่ามัดจำ 

“เราเคยเจอกับตัวเองมาแล้ว ตอนที่มาเหยียบกรุงเทพฯ วันแรกๆ เราไม่มีเงินไว้สำหรับจ่ายมัดจำห้อง เลยต้องเช่ารายวันเอา ซึ่งพอมีที่อยู่อาศัยทุกอย่างมันเปลี่ยนไป เราไม่ต้องกังวลว่าจะปลอดภัยไหม หรือกลัวว่าจะเจอฝนตกไหม” 

อนาคตที่บ้านพูนสุขจึงไม่ได้เปิดให้แค่คนไร้บ้านเท่านั้น แต่จะเปิดให้ทุกๆ คนที่ต้องการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก พิมชี้ให้เราดูที่ว่างเปล่าส่วนหนึ่งที่วางแผนจะทำเป็นห้องเช่าราคาถูกในอนาคตอันใกล้นี้

“ขนาดห้องเช่าที่มันแพงก็ยังมีคนไปอยู่เลย แปปเดียวเต็ม แล้วถ้ามีห้องเช่าราคาถูก ก็น่าจะทางเลือกหนึ่ง ไม่ทำให้คนต้องหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะส่วนใหญ่คนที่หลุดออกมาเป็นคนไร้บ้าน คือ คนที่หลุดออกจากมาห้องเช่าพวกนี้ มีป้าคนหนึ่งเคยทำงานออฟฟิศ แล้วเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ทํางานปกติไม่ได้ ก็จ่ายค่าห้องไม่ไหว ถูกเขาไล่ออกมา จากคนมีงานทำดีๆ นะ ทุกอย่างมันมีผลมาจากราคาห้องเช่าที่อยู่ในเมืองนี่แหละ ที่ทำให้คนเข้าไม่ถึง

“สิ่งสําคัญที่สุดของห้องเช่าราคาถูก คือ ต้องไม่มีเงินวางมัดจํา ห้องจะแพงแค่ไหนไม่ได้สําคัญ สําคัญตรงที่ว่าห้องต้องวางมัดจำ 3 เดือน ต้องมีค่าประกันล่วงหน้า บางทีมีเงิน 5,000 ก็ใช่ว่าจะเช่าอยู่ได้ ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย”

 

รถปันสุข ออกไปช่วยเหลือและแจกจ่ายความสุขให้คนไร้บ้าน โดยคนไร้บ้าน

รถกระบะ 4 ล้อที่วันนี้เราไม่ได้เจอตัวเป็นๆ เห็นแค่ภาพถ่ายในโทรศัพท์ที่พิมโชว์ให้ดู เป็นรถที่คนในบ้านพูนสุขจะขับเพื่อออกไปช่วยคนไร้บ้านตามจุดต่างๆ พิมที่เป็นคนออกไอเดียนี้เล่าให้ฟังว่า การเป็นคนไร้บ้านทำให้รู้ว่าปัญหาที่ต้องเผชิญมีอะไรบ้าง ปัญหาสำคัญ คือ ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อยืนยันตัวตนและได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ คนไร้บ้านบางคนไม่มีบัตรหรือทำหาย จะไปติดต่อทำใหม่ก็ยากเพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน

รถปันสุขจึงมีบริการที่พร้อมให้คนไร้บ้านตามความต้องการ ไม่ว่าจะบริการช่วยเดินเรื่องเอกสารราชการต่างๆ หางานทำ หรือหาข้าวของที่จำเป็น ซึ่งงานนี้คนบ้านพูนสุขไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีมูลนิธิที่อยู่อาศัยร่วมด้วย

“เราคิดว่าถ้าเรามีรถปันสุข เราสามารถไปหาพวกเขาได้ทุกที่เลยนะ ไม่ต้องให้เขามาหาเรา เอาความช่วยเหลือไปให้เขา ไม่ต้องรอให้มาขอ วันแรกที่ออกไปเราไปตรงใต้สะพานปิ่นเกล้า ตรงนั้นมีคนไร้บ้านอยู่เยอะ เอาเสื้อผ้าที่เรารับบริจาคมาจากหน่วยงานต่างๆ ใส่รถไปให้เขา ได้พูดคุยกับคนที่อยู่ตรงนั้น เขาไว้ใจเรา ใครอยากทํางานก็เอาเบอร์โทรแลกกัน ถ้ามีงานเราจะได้โทรหาเขาได้  ใครไม่มีบัตร ก็นัดกันพาเขาไปทําบัตร การมีบัตรประชาชนสามารถต่อทุกอย่างในชีวิตได้เลย ไม่ว่าจะสุขภาพ หรือไปสมัครงาน” 

นอกจากสะพานปิ่นเกล้า หัวลำโพงก็เป็นย่านที่รถปันสุขขับไปถึง เพราะแม้จะมีบางคนที่หลุดพ้นจากภาวะไร้บ้านแล้ว แต่ยังมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

‘ไร้บ้าน’ เป็นเพียงภาวะหนึ่งของชีวิต และเราจะกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

ถ้าไม่ได้เป็นคนไร้บ้าน พิมคิดว่าชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไร? หลังจากได้ยินคำถามนี้ พิมนิ่งคิดไปสักครู่หนึ่งก็จะตอบว่า “มันก็มีเป้าหมายแหละเนอะ มีความฝันอะไรของตัวเองไปเรื่อยเปื่อย แต่ด้วยความที่เราเคยล้มหลายครั้งกับชีวิต ตอนนี้เลยไม่อยากวางเป้าหมายที่ชัดเจนเกินไป รู้สึกว่าแค่ตอนนี้สิ่งที่เราทําอยู่ เรายังอยู่กับมันได้ ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองอยากทําอะไรเป็นพิเศษ”

ร้านค้าที่เรียงรายอยู่หน้าบ้านพูนสุข นอกจากเป็นร้านที่ถูกเช่าจากคนนอกที่สนใจ ยังมีล๊อกหนึ่งที่พิมขอเช่าเพื่อเปิดเป็นร้านของของมือสอง เป็นสิ่งที่พิมชื่นชอบการขายของ ส่วนอีกงานหนึ่งที่พิมทำ คือ การช่วยเหลือคนไร้บ้านคนอื่นๆ เธอบอกว่าการทำงานนี้แม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนมากมาย แต่มันเพิ่มคุณค่าในตัวเอง

“เรายังรู้สึกบางอย่าง จะใช้คำว่าบอบช้ําก็ได้ กับสิ่งที่เราทําเพื่อตัวเอง แต่พอได้มาทำเพื่อคนอื่นเยอะๆ รู้สึกเรามีคุณค่ากว่าเดิมเยอะ ไม่ได้ทําเพื่อตัวเองอย่างเดียวแล้วไง เราอาจจะทําให้ครอบครัวด้วย ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่อันนี้เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เอาตรงๆ ก็มีทั้งคนปกติ คนมีปัญหา สารพัดอย่างแต่กลับรู้สึกว่า เออ มันเป็นอะไรที่ท้าทายดี เราสนุกกับมันอยู่” 

จะเรียกว่าคนกลุ่มนี้เป็นครอบครัวหนึ่งของพิมก็ว่าได้ อาจจะไม่ได้สายเลือดเดียวกัน แต่มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน และเคยอยู่ในภาวะ ‘คนไร้บ้าน’ 

ถึงบทสนทนาครั้งนี้จบลง แต่ชีวิตของพิมและคนบ้านพูนสุขยังเดินต่อไปเรื่อยๆ มีเป้าหมายในการกลับมาตั้งหลักชีวิตตัวเองอีกครั้ง และหวังว่าชีวิตช่วงนี้จะเป็นประสบการณ์ที่ให้เขามองกลับไปเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวตลอดไปจนตาย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ