เพราะ 1 คนเป็นได้หลายอย่างและเป็นแล้วก็เปลี่ยนได้ : ชวนทำความเข้าใจอุปสรรคของ LGBTIQNA+ ที่เป็นคนหูหนวก คนตาบอด และคนสูงวัย

เราเป็นใคร?

เคยลองถามคำถามนี้กับตัวเองกันบ้างไหม ถ้ายังไม่เคย ลองนึกดูสิว่าคำตอบที่ได้มีอะไรบ้าง

1 คนสามารถเป็นอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ‘เอ็ม’ ที่บอกว่าตัวเองเป็นคนพิการทางการเห็นและเป็นเกย์ หรือ ‘แก้ว’ (นามสมมติ) เล่าว่าตัวเองเป็นคนอายุ 60 และเป็นนอนไบนารี่ (Non-Binary) 

ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มีนิยามให้ตัวเองมากกว่า 1 อย่าง และพวกเขาก็เจอประสบการณ์ชีวิตหรือปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ความหลากหลายแบบนี้ที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เรียกว่า ‘อัตลักษณ์ทับซ้อน’

อัตลักษณ์ที่ทับซ้อน คือ การที่คนๆ หนึ่งอยู่กับการกดทับในสังคมมากกว่า 1 อย่าง เช่น การเป็น LGBTIQNA+ ที่มีความพิการ ทำให้การรับรู้หรือการเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศยากมากกว่าคนอื่นๆ หรือการเป็นคนข้ามเพศที่ศาสนาไม่เปิดรับต่อตัวตนของพวกเขาจนทำให้พวกเขาไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้

ใครๆ ก็ไม่อยากสูญเสียความเป็นตัวเองไป เพราะฉะนั้นแล้วทุกอัตลักษณ์จึงควรได้รับการมองเห็นและได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีกี่อัตลักษณ์

เอ็ม คนตาบอดที่นิยามว่าตัวเองเป็นเกย์ เล่าให้ฟังว่าเขาภูมิใจกับทุกอัตลักษณ์ที่ตัวเองมีและเขาก็คิดว่ามันไม่ควรจะเป็นปัญหาที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ ในชุมชนของเขาอีกมากมายไม่สามารถทำตามฝันของตัวเองได้ เอ็มจึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็อยากคนในสังคมเคารพทุกอัตลักษณ์ที่แต่ละคนมีเช่นเดียวกัน

วันนี้เราจึงนำเรื่องราวอัตลักษณ์ทับซ้อนจากคนตาบอด คนหูหนวก และคนสูงวัย ที่นิยามว่าตัวเองเป็น LGBTIQNA+ เจอ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจและให้เกียรติความหลากหลายกันได้มากยิ่งขึ้น

LGBTIQNA+

บางคนสามารถมองคำนี้แล้วเข้าใจทุกอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศภายใต้ตัวอักษรได้ทันที แต่สำหรับกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน นี่อาจจะเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องใช้เวลาในการเข้าใจมากกว่าคนอื่นเพราะพวกเขาสื่อสารด้วยการจดจำ ‘ภาพ’ ไม่ใช่ตัวอักษร

“เวลาเราไปติดต่อตามสถานที่ต่างๆ คนทั่วไปชอบเข้าใจว่าการเขียนใส่กระดาษให้คนหูหนวกอ่านก็ถือว่าเข้าใจกันแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่พอนะ การเขียนอ่านไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับคนหูหนวกทุกคน”

‘แบงค์’ ณ ภัทร อิ่มวิเศษ อดีตเจ้าหน้าที่คลินิกสวิง (Swing Thailand) ผู้ที่ดูแลกลุ่มคนหูหนวกโดยเฉพาะกล่าว คลินิกแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บริการด้านสุขภาวะทางเพศโดยเฉพาะ สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย และไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการ

ลองนึกภาพตามว่า เราต้องเดินทางไปอยู่ในประเทศที่ไม่รู้ภาษาของเขา ถ้าเราต้องการจะติดต่ออะไรที่ฉุกเฉินหรือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา แล้วเราไม่เข้าใจภาษาเขา สื่อสารไม่ได้ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน นี่คือเหตุการณ์ที่คนหูหนวกในประเทศไทยเจอบ่อย คลินิกสวิงจึงพยายามลดกำแพงด้านภาษาเหล่านี้และทำให้การเข้าถึงสุขภาวะทางเพศที่ดีเกิดขึ้นได้กับทุกคน

“ที่เราเคยคุยกับคนหูหนวกมา พวกเขาแยกได้แค่ เกย์ กะเทย ตุ๊ด เพราะพวกเขาจำเป็นภาพ ถ้าเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านี้มันก็จะค่อนข้างยากสำหรับพวกเขาแล้ว”

สำหรับคนหูหนวกบางกลุ่ม เกย์ คือ คนที่มีลักษณะเป็นชายและชอบผู้ชาย กะเทย คือ คนที่มีเพศกำเนิดชายและแต่งตัวคล้ายกับผู้หญิง มีผมยาว ส่วนตุ๊ด คือ คนที่มีลักษณะเป็นชายแต่มีพฤติกรรมบางอย่างที่คล้ายผู้หญิง ข้อจำกัดการเข้าใจความหลากหลายทางเพศของพวกเขาคือภาษา แถมในโรงเรียนที่สอนภาษามือก็อาจมีวิธีสอนที่ต่างกันจนทำให้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายต่างจากคนกลุ่มอื่น

การมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายที่จำกัด ส่งผลให้คนหูหนวกบางคนมีอุปสรรคในการ ‘ค้นหาตัวเอง’ แบงค์เล่าว่า เป็นความเข้าใจเรื่องเพศที่มีไม่กี่อย่างทำให้หลายคนจำกัดตัวเองไว้แค่บางเพศ ทั้งๆ ที่มันยังมีอีกหลายอัตลักษณ์และรสนิยมให้ค้นหา

“สำหรับคนที่หูหนวก มันยากนะที่เขาจะค้นหาตัวเองเจอ เพราะศัพท์ภาษามือไม่มีมีครบทุกเพศและต้องจำเป็นภาพ ในขณะที่ภาษาปกติมีศัพท์ใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ภาษามือต้องผ่านการรับรองก่อน การเข้าใจเรื่องเพศจึงมีความจำกัด”

น่าเอ็นดู คำนี้ที่ ‘เอ็ม’ ในฐานะคนที่พิการทางการเห็นหรือคนตาบอด ไม่ค่อยชอบ

คนทั่วไปหลายคนมักมองว่าการที่คนพิการทำอะไรหรือมีความสามารถเป็นเรื่องที่พิเศษและน่าเอ็นดู เอ็มคิดว่า การถูกมองว่าคนพิการสามารถทำอะไรต่างๆ ได้ควรจะเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกับที่คนอื่นๆ เป็น

“บางทีคนเห็นคนพิการเขาก็จะรีบพุ่งเข้ามาช่วยเหลือ เข้าใจว่าเขาคงหวังดี แต่ในฐานะคนพิการเราเองก็อยากทำอะไรด้วยตัวเองก่อน ถ้าทำไม่ได้จริงๆ เราถึงจะขอความช่วยเหลือ”

ไม่ว่าจะสงสารหรือเอ็นดู เอ็มก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ที่คนอื่นๆ รู้สึกกับเขาและเพื่อนคนพิการแบบนั้น คนพิการพยายามจะใช้ชีวิตให้ได้ด้วยตัวเองมากที่สุดเพราะพวกเขาก็อยากมีความภาคภูมิใจในตัวเองเหมือนกับคนอื่นๆ

“คนพิการก็เป็น LGBTIQNA+ ได้” เอ็มกล่าว เขาเป็นคนหนึ่งที่นิยามตัวเองว่าเป็นเกย์ และไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นแบบนี้มันสร้างอุปสรรคให้ชีวิตตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองแปลกไปกว่าใคร คนพิการและคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง

“ทุกวันนี้โลกเปิดกว้างแล้ว ไม่อยากให้คนตั้งคำถามว่า ‘เป็นคนพิการและจะยังเป็นเกย์อีกหรอ’ เราเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น”

การได้เป็นตัวเองคือสิ่งที่เอ็มชอบมากที่สุด เอ็มเล่าว่าสมัยเรียนมัธยมเอ็มมีความตั้งใจว่าจะแต่งตัวแบบผู้หญิง แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย เอ็มเริ่มรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องแต่งตัวหรือไว้ผมยาวแล้วก็ได้ แค่เป็นในแบบที่ตัวเองชอบก็พอแล้ว

“ตอนมัธยมเรากับเพื่อนคิดว่าจะแต่งตัวแบบผู้หญิงเลย เอาให้สวย เอาให้เป๊ะ ไม่ว่าจะแต่งหน้าหรือทาปากก็จะทำ แต่พอโตมาจนเข้ามหาวิทยาลัยเราได้เห็นความหลากหลายมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์และแต่งตัวสวย เราแค่แต่งตัวแบบที่เราชอบ”

เพศหรือความพิการไม่ได้กำหนดคุณค่าหรืออนาคตของตัวเรา เอ็มเชื่อว่าคนตาบอดสามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาอยากจะเป็น และคนในสังคมก็ควรเปิดรับความหลากหลายเหล่านี้ด้วยความรู้สึก ‘ธรรมดา’ ไม่ใช่ความรู้สึกแปลก สงสาร หรือเอ็นดู

ตัดผมสั้นแบบนี้เป็นทอมหรอ?

คำถามที่ผู้หญิงไว้ผมสั้นมักจะเคยเจอ โดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่ความเป็นผู้หญิงต้องผูกไว้กับความอ่อนหวาน นุ่มนวล ผมยาวสละสลวย ก่อให้ความเข้าใจที่ว่า ถ้าหากมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงแต่ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นแบบผู้หญิงตามบรรทัดฐาน นี่คงเป็นอะไรที่เรียกว่า ทอม

‘แต้ว’ รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย ได้สัมภาษณ์กลุ่ม LGBTIQNA+ สูงวัยและพบว่ากลุ่มเพศกำเนิดหญิงมักไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นคืออะไร เนื่องจากในสมัยก่อนถ้าไม่ใช่ผู้หญิงก็เป็นทอม เลสเบี้ยน ดี้ เท่านั้น พวกเขาหลายคนจึงนิยามตัวเองว่าเป็นทอมเพราะคิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับตัวเองที่สุด

“ตอนเป็นนักเรียนเราก็ชอบเพื่อนที่เป็นผู้หญิง เราเป็นคนที่พฤติกรรมห้าวๆ ด้วย ตอนเด็กๆ เราก็ไม่รู้นะว่าแบบที่เป็นเขาเรียกว่าอะไร แต่เห็นทุกคนบอกว่าเราเป็นทอม”

อุ้ม (นามสมมติ) กล่าว สิ่งที่อุ้มรับรู้ตอนเด็กๆ มาจากการบอกกล่าวของคนอื่นอีกที ไม่มีการสอนในโรงเรียนแบบจริงจังว่าความหลากหลายทางเพศคืออะไร ในเมื่อทุกคนคิดว่าอุ้มเป็นทอม อุ้มก็คิดว่าเธอคือทอมตามที่คนอื่นบอก

ทอม เป็นอัตลักษณ์ทางเพศแรกๆ ที่ผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นเพศกำเนิดหญิงใช้ทำความเข้าใจตัวเอง อาจารย์แต้วเล่าว่า กลุ่มเพศกำเนิดหญิงที่ไม่ได้มีพฤติกรรมตามบรรทัดฐานสังคมไทยมักเจอกับความคลุมเครือในการนิยามตนเอง สะท้อนให้เห็นว่าในอดีตสังคมไทยยังขาดข้อมูลและนิยามเกี่ยวกับรสนิยมของเพศหญิง เป็นไปได้ว่าการไม่เปิดกว้าง คือเหตุผลที่เรื่องเพศยังไม่ถูกพูดถึงมากพอในอดีต

หลายคนจึงต้องใช้เวลาเป็นเดือนจนถึงเป็นปีกว่าจะค้นพบตัวเองเจอ อุ้มในวัยราว 50 ตอนนี้มองว่าตัวเองไม่ใช่ทอมเหมือนตอนเด็กอีกแล้ว แต่สิ่งที่นิยามตัวของอุ้มได้ดีกว่า คือ เลสคิง นั่นเอง ซึ่งเลสคิงในความหมายของอุ้มคือผู้หญิงที่ยังแต่งกายเหมือนผู้หญิงอยู่ ไว้ผมยาว และมีแฟนเป็นผู้หญิง

เช่นเดียวกันกับแก้ว (นามสมมติ) แก้วชอบผู้หญิงและชอบทอมตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น แต่คนรอบข้างมักจะบอกว่าแก้วเป็นทอม แต่ลึกๆ แล้วแก้วอยากจะนิยามตัวเองว่าเป็นดี้เนื่องจากแก้วรู้สึกมีความสุขมากกว่าตอนที่ได้คบกับทอม

ในขณะเดียวกันแก้วก็ระบุว่าตนเองเคยแต่งงานกับผู้ชายมาก่อน ในอดีตแก้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตกลงแล้วตัวเองเป็นอะไรกันแน่ เนื่องจากในตอนนั้นนิยามสำหรับเพศหญิงไม่ได้มีหลากหลายแถมแก้วเองก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนกระทั่งในแก้วในวัย 60 พบว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา แก้วตรงกับนิยามของนอนไบนารี่ (Non-Binary) มากที่สุด

การเข้าใจว่าตัวเองเป็นนอนไบนารี่ทำให้แก้วได้ปลดล็อคอะไรหลายอย่างในชีวิตตัวเอง เหมือนกับว่าความสับสนและคลุมเครือที่เผชิญมาตลอดมันได้หายไปเพราะการเข้าใจคำไม่กี่คำ

“LGBTIQNA+ สูงวัยบางคนเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน สมัยก่อนคลังคำนิยามเกี่ยวกับเพศหลากหลายมีแค่ ทอม เลสเบี้ยน หรือกะเทย เขาก็เข้าใจว่าตัวเองเป็นทอมมาตลอด แม้บางครั้งจะรู้สึกไม่เข้ากับตัวเอง ซึ่งเขาเพิ่งปลดล็อคตัวเองว่าเป็นนอนไบนารี่ (Non-Binary) ตอนอายุ 60 นี้เอง” อาจารย์แต้วกล่าว 

คำว่า ‘เพศเลื่อนไหล’ จึงนำมาอธิบายสถานการณ์ของทั้งอุ้มและแก้วให้เห็นภาพได้มากที่สุด ในวัยเด็กเราอาจจะยังค้นพบตัวเองไม่เจอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้เจออีกต่อไป แต่ละคนยังมีเวลาอีกมากมายที่ยังได้ค้นหาตัวเอง ในขณะเดียวทั้งอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศก็ไม่ใช่สิ่งที่บังคับให้ตัวเองเป็นแบบเดิมตลอดไป เราสามารถนิยามตัวเองแบบไหนก็ได้และจะเปลี่ยนนิยามเมื่อไหร่ก็ได้เพื่อให้เราได้เป็นตัวเองมากที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ