“ชีวิตดีๆ สร้างได้ทุกวัย เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าวัยไหนก็สามารถใช้ชีวิตให้มีคุณค่าได้” คุยกับประสาน อิงคนันท์ในวันที่ความสุขวัยเกษียณต้องเตรียมพร้อมและฝึกฝน

ตอนนี้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว

“การเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงอายุ แต่เป็นปัญหาร่วมของคนทั้งสังคม”

เพราะ ประสาน อิงคนันท์ ผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย เชื่อว่า วัยเกษียณไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่และเป็นวัยแห่งความอิสระ จาก งาน เวลาที่มากำหนดชีวิต รวมถึงสามารถเลือกชีวิตที่เราต้องการได้ ถ้าเราเตรียมพร้อมมาอย่างดี 

แต่การจะมีอิสระ เลือกชีวิตที่อยากจะเป็นได้ สิ่งนี้ไม่ใช่มาเริ่มต้นในวันที่เราอายุ 60 ปี แต่ควรเริ่มมาก่อนหน้านั้น นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘วัยนี้วัยดี’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนผู้สูงอายุมาต่อยอดทักษะเดิม เพิ่มทักษะใหม่และพัฒนาเป็นธุรกิจของตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับผู้สูงอายุด้วยกัน รวมไปถึงกับคนต่างวัย พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกเหงาเมื่อถึงวัยเกษียณ

อย่างน้อยๆ ชีวิตวัยเกษียณ พวกเขาก็จะมีโอกาสได้ทำงานที่รักและสร้างรายได้เล็กๆ น้อยได้ แต่เหนืออื่นใดก็คือการสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน

ตลอดการทำงานเรื่องผู้สูงอายุของประสานบอกเขาว่า ชีวิตสูงวัยก็คือพีเรียดหนึ่งในชีวิตเช่นเดียวกับช่วงวัยอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะการจะเป็นสูงวัยที่มีคุณภาพในอนาคตไม่สามารถทำได้ทันที แต่ต้องผ่านการเตรียมตัวและฝึกฝนจนถึงเวลาที่เราเป็นผู้สูงวัย

ท่ามกลางความหลากหลายในสังคม เหตุผลที่ทำให้เลือกทำงานด้านผู้สูงอายุคืออะไร

ตอนแรกๆ  เราไม่ได้สนใจประเด็นนี้ในเชิงภาพรวม  แต่สนใจว่าผู้สูงวัยเป็นคนๆ ไป เช่น คนนี้วิธีคิดแข็งแรงดีหรือมีวิธีคิดก้าวหน้า คมคาย เรามองเป็นบุคคล แต่พอเรามาตั้งบริษัทของตัวเองและมีโอกาสทำรายการเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น  ก็เริ่มหาข้อมูลเชิงลึกแล้วเห็นว่า เมื่อสังคมสูงวัยเกิดขึ้นจริงๆ จะส่งผลกระทบอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนสูงวัยอย่างเดียว แต่คนทุกวัยจะได้รับผลกระทบ เช่น ลูกก็ต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า แถมยังต้องดูแลลูกของตัวเองอีก เหมือนที่เขาเรียก  sandwich generation 

รวมถึงเห็นว่าถ้าคนก่อนเกษียณอายุ เช่นอายุประมาณ 50-55 ปีที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ หากไม่เตรียมพร้อมตัวเองอย่างจริงจัง ชีวิตช่วงบั้นปลายจะไม่สะดวกสบายเหมือนอย่างที่ตั้งใจไว้  เพราะมีทั้งภาระค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล สังคม เพื่อนฝูง ที่ไม่เหมือนเดิม ยิ่งถ้าไม่มีครอบครัว ลูกหลาน อาจจะต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาระดับนโยบายว่า รัฐจะหาเงินที่ไหน มาดูแล เป็นรัฐสวัสดิการให้กลุ่มผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตทีดี ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในญี่ปุ่น หรือในหลายๆ ประเทศ ที่เข้าสูงสังคมสูงวัยไปก่อนหน้าเรา รัฐต้องเสียเงินมากขึ้นเพื่อนำไปดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเงินเหล่านี้ก็มาจากคนทำงานอายุ 25-35 ปี หมายถึงคนกลุ่มนี้ต้องรับผิดชอบ จ่ายภาษีให้กับรัฐ เพราะสังคมมีคนวัยทำงานน้อยลง อันนี้แหละคือสิ่งที่เราพยายามจะบอกว่า สังคมสูงวัย ไม่ใช่เรื่องของคนแก่ แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย 

งานที่เราทำอยู่ อาจจะไม่ได้ขับเคลื่อนในเชิงการแก้ปัญหา แต่เป็นการขับเคลื่อนในด้านการป้องกันปัญหา สิ่งที่เพจมนุษย์ต่างวัยพยายามสื่อสารก็คือ การสื่อสารเรื่องมายด์เซ็ต หรือ ทัศนคติ 

คือทำให้ผู้สูงวัย มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตตนเอง มองว่าชีวิตในวัยเกษียณไม่ใช่การสิ้นสุด แต่อาจจะเป็นการเริ่มต้น ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยากทำอะไรก็ได้ทำ เป็นวัยที่มีอิสระ พึ่งพาตัวเองได้และมีความภูมิใจกับชีวิตในช่วงวัยนี้ ในอีกมุมหนึ่ง เราก็สื่อสารเรื่องประเด็นสังคมสูงวัยให้กับคนต่างวัย เพื่อบอกให้เขารู้ว่า การจะแก่อย่างมีคุณค่าต้องมีการเตรียมตัว และควรเริ่มที่จะเตรียมตัวได้เลย ไม่ต้องรอให้เกษียณ 

ขณะเดียวกันก็อยากให้คนต่างวัย เข้าใจผู้สูงวัยมากขึ้น และมองให้เห็นว่า พวกเขายังมีศักยภาพอะไรบ้าง ที่สามารถนำมาผสมกับคนในวัยอื่นๆ จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้ แทนที่จะมองผู้สูงวัยว่าคือภาระ ต้องการการพึ่งพิงอย่างเดียว 

ด้วยแนวคิดนี้เลยทำให้เกิดโครงการวัยนี้วัยดีหรือเปล่า

จากที่ทำประเด็นผู้สูงอายุมาระยะหนึ่ง สิ่งที่เรามองเห็น คือ คนอายุ 50-60 ปีสมัยนี้ ไม่ใช่คนแก่ที่จะอยู่ติดบ้าน ห่อเหี่ยวไม่มีเรี่ยวแรง แต่คนเกษียณยุคใหม่หรือกำลังจะเกษียณจำนวนไม่น้อย พวกเขายังมีพลังที่อยากจะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ  ยังมีอะไรอีกมากมายที่เขาทำเพราะพ้นไปจากภาระหน้าที่ต่างๆ แล้ว และอยากจะเริ่มต้นการผจญภัยครั้งใหม่ เราก็เลยคิดว่า น่าจะทำเรื่องอาชีพและการงาน เมื่อมีงาน ก็จะมีความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พบเจอเพื่อน ทั้งคนวัยเดียวกัน และคนต่างวัย ได้ออกจากบ้าน มีสังคม และหากทำสำเร็จก็จะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยขับเคลื่อนการสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้สูงวัยเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสังคม ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการวัยนี้วัยดี  โครงการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการหรือทำอาชีพของตัวเอง  

ที่มีชื่อโครงการสั้นๆ ว่า วัยนี้วัยดี ส่วน tagline คือ วันดีๆ เกิดได้ในทุกวัย หัวใจของโครงการนี้  เราต้องการบอกว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณ การเรียนรู้หรือการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ยังสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โครงการนี้เราจึงฝันอยากเห็นคนเกษียณแล้วได้ออกมาทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากากรทำงาน อาจจะไกลไปถึงเปิดโอกาให้เขาใช้ความสามารถที่เขามี ค่อยๆ คิดแบรนด์ของตัวเองออกมา จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างงานที่พวกเขาอยากทำขึ้นมาได้ 

กลุ่มเป้าหมายหลักของเรา คือ คนที่อยากลุกขึ้นมาทำอาชีพใหม่ โดยใช้ความรู้เดิม หรือเป็นความรู้ใหม่ก็ได้ จะเป็นคนก่อนวัยเกษียณหรือเกษียณแล้วก็ได้ เราไม่ได้มุ่งเป้าไปที่รายได้ หรือเงิน สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตั้งหลักของโครงการฯ  แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการได้ออกมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง 

คนสูงวัยที่เข้าโครงการนี้เรียนเรื่องอะไรบ้าง

ช่วงแรกของโครงการฯ มีสถานการณ์โควิดเราเลยจัดมินิทอล์กจำนวน 8 ครั้ง คุยเรื่องอาชีพต่างๆ เช่น อาชีพการทำ food truck อาชีพด้านเกษตร อาชีพนักแสดง อาชีพบาริสต้า  เพราะเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าผู้สูงวัยหรือคนใกล้เกษียณกำลังมองหาอาชีพและโอกาสใหม่ๆ ที่เป็นอาชีพอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ  แต่ไม่รู้ว่าจะอบรมที่ไหน พอจะลงทุนทำเลยก็ไม่รู้ว่า ทำได้ไหม หรือว่าตัวเองชอบจริงหรือเปล่า

เราเลยเปิดคอร์สอบรมทั้งหมด 8 ครั้ง เพื่อให้ผู้มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงวัย มาถ่ายทอดประสบการณ์ด้านอาชีพให้ฟังกัน  ตอนแรกรับสมัครคอร์สละ 30 คน แต่พอเริ่มเปิดรับสมัครบางคอร์สมีคนสมัครร้อยกว่าคน ซึ่งมันสะท้อนว่าผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อย ต้องการหนทางในการประกอบอาชีพ 

เหตุผลคือหนึ่ง เขาอยากมีรายได้เสริมในการดูแลตัวเอง และสอง ทุกคนล้วนต้องการกิจกรรมบางอย่างที่ยังทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้ออกไปทำงานและมีคุณค่า

พอหลังจากทำ มินิทอล์คแล้ว เราก็เปิดรับสมัครผู้สูงวัยจำนวน 10 กลุ่ม เป็นผู้ประกอบวัยเกษียณ ที่มีอาชีพอยู่แล้ว หรือ ตั้งใจอยากจะสร้างอาชีพ มาอบรมกับวิทยากรประมาณ 3 เดือน มีเงินให้ทดลองทำกลุ่มละประมาณ 5,000 บาทให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจเลย เช่น เรื่องแบรนด์ดิ้ง การตั้งราคาสินค้าเพราะบางครั้งผู้สูงอายุไม่กล้าตั้งราคาสินค้า กลัวแพง การคิดต้นทุนกำไร  การวางกลยุทธ์การค้าขายในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการ 

แล้ววิทยากรเราก็เป็นหัวกะทิระดับประเทศ เช่น คุณต่อ เพนกวิน อาจารย์กฤตินี พงษ์ธนเลิศ และอีกหลายๆ ท่าน เพราะอยากทำให้เห็นว่า ถ้าผู้สูงอายุได้รับการติดอาวุธทางด้านความรู้แล้วเขาจะสามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะที่ผ่านมาเขาอยากเรียนนะ มีคอร์สเปิดสอนมากมาย  แต่การไปเรียนรวมกับคนในวัยอื่นๆ  บางทีผู้สูงอายุรู้สึกว่ายาก เพราะตามบทเรียนไม่ทัน ทำให้ไม่กล้าถาม เพราะกลัวจะเป็นภาระให้คนอื่น แต่ การจัดคอร์สแบบนี้ ผู้สูงอายุบอกตรงกันเลยว่า พอได้เรียนกับคนวัยใกล้เคียงกันเขาไม่เขินอายที่จะถาม ไม่ทันก็บอกว่าไม่ทัน กล้าที่แสดงความคิดเห็น 

เมื่อจบโครงการฯ ไป มีผู้สูงวัยในโครงการฯ บางท่านที่มีความสามารถ ก็นำความรู้นี้ไปถ่ายทอดต่อให้กับกลุ่มผู้สูงวัยด้วยกันอีกด้วย 

นอกจากศักยภาพของผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการ คุณมองเห็นอะไรจากการทำงานในโครงการนี้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งค้นพบในการทำงานเรื่องสังคมสูงวัย คือ คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าการเกษียณคือจุดสิ้นสุด แต่จริงๆ แล้วคนสูงวัยเชื่อว่า ชีวิตแต่ละช่วงเวลามันไม่เหมือนกัน เช่น ตอนเราเรียนชั้นประถมก็เป็นช่วงวัยหนึ่ง หรือพีเรียดหนึ่งของชีวิต เราก็มีความสุข หรือเรียนรู้ในแบบเด็กประถม พอถึงมัธยมก็เป็นอีกพีเรียดหนึ่ง มีเพื่อน ได้ทำอะไรแบบเด็กวัยรุ่น พอเข้ามหา’ลัย จบแล้วเป็น first jobber ก็อีกพีเรียดหนึ่ง แต่งงานก็เป็นอีกพีเรียดหนึ่ง พอมาถึงอายุใก้ลเกษียณสัก 55 หรือ เกษียณแล้วสัก 60 ปีก็เป็นอีกพีเรียดของชีวิต แต่ละพีเรียดของชีวิตเราก็จะมีการเรียนรู้ มีมุมมองต่อโลก ต่อสังคม ต่อผู้คนแตกต่างกันไป 

แต่บางทีคนมักจะเข้าใจว่าพอ 60 แล้วจบ ต้องพักผ่อนอยู่บ้าน แต่ความจริงแล้ว ช่วงชีวิตนี้เรายังต้องการเรียนรู้หรือทำสิ่งใหม่ๆ หรืออยากจะหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับช่วงวัยนี้  เราก็เลยคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องมีพื้นที่รองรับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจังและต้องเข้าใจเขาด้วย เพื่อเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ และได้พาตนเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

แล้วสำหรับคุณ แนวคิดเรื่องผู้สูงวัยเปลี่ยนไปไหมจากการทำงานเรื่องนี้มากขึ้น

เปลี่ยนไปนะ เราคิดว่าช่วงวัยเกษียณ ถ้าเราเตรียมตัวมาดี ไม่ลำบากเรื่องการเงิน และสุขภาพยังแข็งแรง เราคิดว่า ช่วงวัยนี้จะเป็นอีกช่วงวัยแห่งความสุข เพราะเป็นวัยที่เราอิสระจากหลายสิ่งหลายอย่าง จากภาระหน้าที่การงานที่เคยมากำหนดตารางชีวิตของเรา จากบทบาทต่างๆ ที่สังคมมอบให้ แต่เมื่อเป็นวัยอิสระจากงาน และเวลา ทำให้ผู้สูงวัยสามารถกำหนดชีวิตตัวเองว่าอยากทำหรือไม่อยากทำอะไร และยิ่งถ้าผู้สูงอายุเข้าใจตัวเอง รู้ถึงความต้องการของตนเอง ยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ทั้งสภาพร่างกายและสังคมที่เปลี่ยนไป สามารถบริหารชีวิตได้ดี พึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และมีทางเลือก กำหนดชีวิตตนเองได้ ไม่แน่ว่าช่วงเกษียณอาจเป็นช่วงวัยที่ดีช่วงหนึ่งเลยก็ได้

เมื่อชีวิตสูงวัยเป็นพีเรียดหนึ่งและมีอิสระ เราต้องเตรียมตัวแค่ไหนถึงจะใช้ชีวิตอย่างอิสระได้จริงในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้

เราไม่สามารถบอกได้ว่า คุณต้องมีเงิน 10 ล้านแล้วคุณจะเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุข เพราะคนที่มีเงินมาก พอใช้ในช่วงเกษียณเขาอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ แต่ถามว่าเงินจำเป็นไหม นั่นก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เราเลยคิดว่า การเตรียมความพร้อมอาจจะต้องทำหลายด้าน แน่นอนล่ะด้านการเงินเราต้องให้ความสำคัญ ด้านสุขภาพก็จะเป็น เราคงไม่อยากจะเป็นคนแก่ที่ป่วยไข้ ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ถ้าจะป่วยก็ขอให้ช่วงเวลาเจ็บป่วยสั้นที่สุด หรือพูดง่ายๆ ว่าช่วงการติดเตียงน้อยที่สุด การเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนเกษียณ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าจำเป็นมากๆ ก็คือการเตรียมใจ   

สำหรับการเข้าสู่วัยเกษียณ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายของเราให้ได้ว่า มันจะไม่เหมือนเดิม ไม่แข็งแรงเท่าเดิม และอาจจะมีบางอย่างชำรุด เสื่อมสภาพไปบ้าง อันนี้เป็นเรื่องของร่างกาย ส่วนเรื่องนอกร่างกายก็คือ เราต้องยอมรับได้ว่า โลกมันไม่เหมือนเดิมและเปลี่ยนเร็วมากไม่เหมือนยุคสมัยที่เราเติบโตมา ที่โลกจะเปลี่ยนแปลงช้ากว่าตอนนี้เยอะมาก เมื่อโลกเปลี่ยน คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคหลังเขาก็เปลี่ยน และคิดไม่เหมือนเรา  แล้วการคิดไม่เหมือนเราก็ไม่ใช่ว่าผิด เพราะว่าเขามีฐานคิดที่แตกต่างจากเราไปแล้ว สิ่งที่เราเห็นว่าดี เขาอาจจะเห็นว่าไม่ดีก็ได้   ถ้าสมมติเราไม่ยอมรับหรือเตรียมใจ และไม่สามารถที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ไม่สามารถยอมรับความคิดของคนรุ่นใหม่ ไม่สามารถที่จะยอมรับความคิดของลูกๆ หลานๆ ในบ้านของตัวเองได้ก็อาจทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดขึ้นมา  อยู่กับลูกหลานไม่ได้ อยู่ด้วยแล้วไม่สบายใจ ในขณะเดียวกับ ลูกหลานก็ไม่อยากอยู่ใกล้เรา 

หรือแม้แต่เตรียมใจยอมรับว่าสถานภาพของตัวเองมันไม่เหมือนเดิม อันนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจ เคยเจอคุณป้าท่านหนึ่ง ป้าบอกว่าไม่มีความสุข อยู่กับลูกๆ ไม่ได้ เพราะลูกๆ ชอบออกคำสั่ง แล้วก็ดูแลเขาเหมือนเด็ก ทั้งๆ ที่สมัยก่อนเขาคือผู้หญิงเก่ง เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่พอตอนนี้อายุมาก ไม่แข็งแรง ไม่ได้ไปทำงานอยู่แต่บ้าน ก็เลยรู้สึกอึดอัด ที่ลูกๆ ต้องมาคอยสั่งคอยบอกให้เราทำโน่นทำนี่ ห้ามไม่ให้ไปไหนต่อไหน ทั้งๆ ที่รู้นะว่าลูกหวังดี แต่ก็ยอมรับไม่ได้ เราเลยคิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า เราไม่สามารถกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปในแบบที่เราคิดแล้ว เราจะลุกขึ้นมาทำนั่นทำนี่เหมือนเดิม มันคงเป็นไปไม่ได้ บางครั้งเราก็ต้องยอมรับ และยอมเป็นผู้ฟัง ผู้ตามบ้าง หลังจากเป็นผู้นำมาทั้งชีวิต  

เพราะแบบนี้ ผู้สูงวัยเลยรู้สึกว่าเขาตัวเล็กลงเมื่ออายุมากขึ้นไหม

คำว่าตัวเล็กลง มุมของผมหมายถึงการถูกลดทอนความสำคัญและบทบาท คิดว่าความรู้สึกแบบนี้จะเกิดกับผู้สูงอายุเองอยู่แล้ว เช่น คุณเคยเกษียณมาด้วยตำแหน่งอธิบดี เคยเป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่ๆ เคยเป็นคนสุดท้ายที่เคาะทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นคนกำกับดูแลและตัดสินใจ เมื่อเขาทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ความรู้สึกของตัวเขาเอง เขาก็จะรู้สึกเหมือนกันว่าตัวเล็กลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าเราเข้าใจในสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไป และคิดว่า ไม่มีสิ่งใดที่มันจะคงทนถาวรแบบเดิมได้ เราก็จะยอมรับจุดนี้ได้นะ แต่อย่างไรก็ตามเราก็คิดว่า คนต่างวัยก็ไม่ควรมองข้ามประสบการณ์หรือความรู้บางอย่างของผู้สูงวัยไปนะ เราสามารถหยิบจับประสบการณ์ หรือ ฝีไม้ลายมือบางอย่างของพวกเขาออกมาใช้ได้ 

แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราเชื่อว่าไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคน ที่พออายุมากขึ้นแล้วจะหมดสภาพหรือไม่เท่าทันต่อโลกนะ เราคิดว่า มีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยเปิดกว้าง และค่อยๆ ทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน เขาพร้อมที่จะยอมรับ เข้าใจ และบางคนก็เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  มนุษย์ต่างวัยเราเลยมี tag line ที่เรามักจะใช้ก็คือ อะไรกันแน่ที่ทำให้เราต่างกัน  ‘วัย” หรือ ใจเพราะเอาเข้าจริงๆ เราก็เคยเจอเด็กรุ่นใหม่บางคนที่มีวิธีคิดที่ไม่ open mind ปิดกั้น ไม่สนใจที่จะยอมรับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหมือนกันนะ 

ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนกลับมีจิตใจที่เปิดกว้างพร้อมที่จะรู้สึกว่ามาทดลองทำสิ่งใหม่ มาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกับสิ่งที่ไม่เคยทำ ผิดก็ได้ไม่เป็นไร  แต่ก็มีเด็กรุ่นใหม่ๆ บางคนกลับกลัว ไม่กล้าที่จะลองผิดลองถูก ก็เลยคิดว่าบางทีเรื่องวัยไม่ใช่ตัวตัดสินความเป็นคน เรื่องจิตใจ เรื่องวิธีคิดมากกว่าจะเป็นตัวตัดสิน  

โครงการวัยนี้วัยดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้คนสองวัยมาเรียนรู้ร่วมกันด้วยไหม

โครงการวัยนี้วัยดีเป็นการเปิดโอกาสให้คนสูงวัยมาเจอเพื่อนใหม่ๆ เจอองค์ความรู้ใหม่ๆ  บางวิชาเขาจะได้เรียนกับครูที่อายุรุ่นลูก ซึ่งเขาเปิดกว้างมากนะ และพร้อมเรียกวิทยากรว่าเป็น เป็นครู เรียกเป็นอาจารย์ได้อย่างสนิทใจ

แล้วการเปิดคอร์สแบบนี้ก็เหมือนการมาโรงเรียน ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาเจอเพื่อนใหม่ๆ เราคิดว่าคนที่อายุ 60 กว่าปีแล้ว ได้มีโอกาสพบเจอเพื่อนใหม่ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องที่โชคดีมาก ลองย้อนดูชีวิตเราสิว่า พอยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสในการเจอเพื่อนใหม่ๆ จะน้อยลง 

เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะทำอะไรก็ได้

นอกจากวัยนี้วัยดีที่เราทำเรื่องอาชีพ เรายังมีอีก workshop หนึ่งก็คือ workshop เราต่างเหมือนกัน กิจกรรมนี้เราชวนเด็กอายุ 14-15 จนถึง 70 มาทำเวิร์คชอปด้วยกัน มาอยู่ด้วยกัน 2 วัน 1 คืน แล้วก็มาเรียนรู้กัน  เพื่อทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ววัยไม่ใช่การแบ่งแยกว่าเราต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราเหมือนกันก็คือ ความเป็นมนุษย์  ไม่ว่าวัยไหนเราก็เคยมีความกลัว เคยผิดหวัง เคยสมหวัง เคยท้อแท้มาเหมือนกันทั้งนั้น  

เราคิดว่าการชวนคนต่างวัยมาเวิร์คชอปแบบนี้ มันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างของวัย ซึ่งปกติเรามักจะแบ่งคนออกเป็นเจน แล้วก็บอกว่าคนแต่ละเจนต่างกัน มีทัศนคติไม่เหมือนกัน แต่เวิร์คชอปจะละลายสิ่งเหล่านี้ออกไป เราอาจจะมีส่วนที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมก็คือ เรายังมีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความเป็นมนุษย์นี่แหละ เราเอาความเหมือน ในความเป็นมนุษย์ มานั่งคุยกัน ให้รู้ว่า ไม่ว่าวัยไหนก็มีความทุกข์ มีความสุข มีความโดดเดี่ยวทั้งนั้น เมื่อเราเป็นเหมือนกัน เราจะทะเลาะกันทำไม ทำไมเราไม่มาเห็นอกเห็นใจ แล้วช่วยดูแลกัน

การมาอยู่ร่วมกัน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ เราก็คิดว่า ทุกคนก็จะได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัว เช่น ผู้ใหญ่ชอบสอนและพูดเยอะ เวลาเด็กเอาปัญหาความทุกข์ใจมาบอก แทนที่จะฟังเยอะ แต่กลับพูดเยอะ เน้นสอน การมาอยู่ร่วมกันกับคนที่ไม่ใช่ญาติ ลูกหลาน เขาก็จะได้มาเรียนรู้ว่า เขาจะพูดฝ่ายเดียวไม่ได้ เขาต้องรู้จักฟังด้วย ในขณะเดียวกันเด็กๆ ร่นใหม่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า แต่ละวัยก็มีธรรมชาติไม่เหมือนกัน และฝึกให้เขาเป็นผู้ฟังความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น

เพราะส่วนใหญ่เราอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งวัยเพศและกลุ่มที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เรามองเห็นชัดเจน คือ เราต่างจากเขายังไง ก่อนที่จะคิดว่าเราเหมือนกับเขาตรงไหน

ชีวิตเราแต่ละคนก็เหมือนวงกลม แต่ละคนก็มีวงกลมเป็นของตนเอง แต่สังเกตดีๆ บางทีพื้นที่บางส่วนในวงกลมของเราก็ไปทับซ้อนกับพื้นที่ในวงกลมของคนอื่น  สิ่งที่จะบอก คือ เวลาคุยกันเราเลือกคุยได้ เราสามารถคุยส่วนที่เราเหมือนกันหรือทับซ้อนกันก็ได้ ไม่ใช่คุยแต่ส่วนที่เราแตกต่างกัน เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันจะช่วยลดความขัดแย้งและทำให้เกิดการมองเห็นความเป็นมนุษย์ระหว่างกันมากขึ้น ยอมรับกันได้ว่า ทำไมเขาคิดแบบนั้น ทำไมเราคิดแบบนี้ เขาก็มีส่วนที่เราไม่ชอบ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีส่วนที่เราชอบเหมือนกัน เราต่างกันในบางเรื่อง และเหมือนกันในบางเรื่อง 

ในวงกลมของเด็กกับผู้สูงวัย อะไรคือส่วนที่ทับซ้อนกัน

จากเวิร์คชอป เราเห็นว่าจุดที่ซ้อนทับกัน คือ ความเป็นมนุษย์และความเป็นคนเหมือนๆ กัน ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ จะเกษียณแล้ว หรือ 10 กว่า 20 กว่า คุณจะต้องเผชิญบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน 

ในเวิร์คชอปมีกิจกรรมที่เราเรียกว่า night dialogue มีชาอุ่นๆ ให้จิบ คุยกันท่ามกลางความมืด แบบสบายๆ เหมือนเพื่อนต่างวัยนั่งคุยกัน เราจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ  คละวัยกันตั้งแต่ First jobber จนถึงอายุ 70 ปี แล้ว ผลัดกันฟังประสบการณ์ first jobber ก็เล่าความทุกข์ของตัวเองว่ารู้สึกยังเก่งไม่พอ ยังไม่สามารถได้งานที่ตัวเองอยากได้ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็เล่าเรื่องความผิดหวังในวัยที่เขาเคยอายุเท่านี้ให้ฟังหรือความผิดหวัง ความท้อแท้ใจในวัยอายุ 70 กว่าที่เขาเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว เคยดูแลลูกทุกคน แต่พอวันหนึ่งที่เขาอายุ 70 เขารู้สึกว่าเขาสูญเสียอำนาจเหล่านั้นไปหมดแล้ว เขาถูกดูแลเหมือนกับคนแก่คนหนึ่งในบ้าน เขารู้สึกว่าเขาสูญเสียตัวตนบางอย่าง

เราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นส่วนที่ทำให้วงกลมสองวงมันทับซ้อนกันและให้เราเข้าใจกันมากขึ้นว่า จริงๆ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่คุณก็มีปัญหาเหมือนกัน มีคนสะท้อนออกมาว่า ไม่ว่าคุณอายุเท่าไหร่ก็ล้วนมีปัญหาเหมือนกัน ต้องเผชิญบางอย่างด้วยกันทั้งนั้นก็เลยคิดว่ามากน้อยยังไงมันก็ทำให้คนแต่ละวัยได้มองเห็นตัวเองอย่างเข้าใจและไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ทุกข์ที่สุดในโลกเพียงคนเดียวหรือช่วงวัยของฉันเป็นช่วงวัยที่แย่มาก แล้ววัยอื่นดีกว่า

เหมือนพาเขาออกจาก safe zone เพื่อไปอยู่พื้นที่ตรงกลางซึ่งตัวเขาเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันปลอดภัยเท่าของเก่าหรือเปล่า เป็นแบบนั้นไหม

ใช่ มันเหมือนกับเราเคยอยู่ในพื้นที่เดิมๆ มาตลอด แล้วเราก็ดีลกับปัญหาเดิมๆ ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ แต่พอเราออกไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ๆ บ้างซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลางที่เราคิดว่ามันปลอดภัยเพียงพอ เราจะได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วมันมีวิธีการดีลกับปัญหาที่เราเจอในแบบใหม่หรือเปล่า 

เราอาจจะได้รู้ว่าจริงๆ ปัญหาที่เจอมันไม่ใช่ปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ แต่ต้องหาวิธีแก้ใหม่ ไปเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาของคนอื่น แล้วเราอาจค้นพบว่ามันก็มีทางไปได้ 

เหมือนพาเขาออกจาก safe zone เพื่อไปอยู่พื้นที่ตรงกลางซึ่งตัวเขาเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันปลอดภัยพื้นที่เดิมหรือเปล่า เป็นแบบนั้นไหม

สิ่งที่เราพยายามสื่อสาร คือ เรื่องสังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องผู้สูงวัยที่อายุ 60 ปีไปแล้วอย่างเดียว แต่เรื่องสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัยที่คุณจะต้องเห็นความสำคัญและเป็นปัญหาร่วมของสังคม ถ้ามองว่าเป็นเรื่องของผู้สูงวัย เราจะไม่เอาเรื่องนี้มาพูดให้ให้คนอายุ 25-30 ปีฟัง เพราะเราคิดว่าเขายังไม่สูงวัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนกลุ่มนี้ควรจะต้องรู้ และมองให้เห็นอย่างเชื่อมโยงว่าว่าเรื่องสังคมสูงวัยมันเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไรบ้าง และเขาจะมีส่วนร่วมนการแก้ไขหรือเตรียมรับมืออย่างไร 

ถ้าคนกลุ่มนี้มองภาพเหล่านี้ไม่เห็น ไม่ได้เตรียมตัวเองว่า วันหนึ่งตัวเองก็จะเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ได้รับผลกระทบ เขาก็จะไม่มีการเตรียมความพร้อม แต่ในเชิงนโยบาย เราคิดว่าภาครัฐควรจะต้องมองให้เห็นว่า ปัญหานี้มันสำคัญสักแค่ไหน มันเป็นประเด็นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายใน 1-2 ปี แต่ต้องมีแผนระยะยาวรองรับ และเตรียมความพร้อม ต้องมองภาพให้เห็นว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น การออกแบบเมือง เพื่อรองรับ การกำหนดอายุเกษียณ การสร้างงาน การเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงวัยออกมาใช้ชีวิต การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เตรียมการเรื่องรัฐสวัสดิการ การออม มีอีกหลายมากที่ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ 

แต่ถ้าบริบทของการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยยังเป็นแบบนี้ แล้วภาพสังคมสูงวัยในฝันของคุณเป็นอย่างไร

สังคมในฝัน คือ ทำให้คนเคารพกันได้ ไม่ใช่เคารพนับถือเพราะว่าคุณอายุมากกว่าแล้วต้องเคารพคุณ แต่เราคิดว่าเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา เช่น คุณไม่สามารถไปบุลลี่คนสูงวัยที่คิดต่างจากคุณได้ ขณะเดียวกัน ผู้สูงวัยก็ไม่สามารถลบหลู่ ดูหมิ่นคนในวัยอื่นๆ ที่คิดไม่เหมือนกับเราได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเคารพกันในวันที่ผู้สูงวัยเยอะขึ้นเรื่อยๆ

ตลอดการทำงาน คุณเรียนรู้อะไรจากผู้สูงวัยบ้าง

สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง เราต้องเรียนรู้เพื่อยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้ได้ และใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและมีพลังชีวิตที่ดี ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะวัยไหน ก็มีความสุขได้ 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ