คนพิการอยากนั่งรถเมล์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไรเดอร์ก็อยากขับขี่ปลอดภัย แตกต่างกันแค่ไหน ทุกคนอยากใช้ชีวิตปกติ : ภรณี ภู่ประเสริฐ

ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ

คือเป้าหมายในการทำงานสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพราะเชื่อว่าการมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม จะเป็นพลังสำคัญในการดำเนินชีวิตของประชากรกลุ่มเฉพาะ 

ความหมายของประชากรกลุ่มเฉพาะ

“คือกลุ่มคนที่มีรูปแบบพิเศษในการใช้ชีวิต หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดคำว่าปัญหาเฉพาะของแต่ละกลุ่ม คือบางกลุ่มก็บอกว่าตัวเขาไม่ได้เป็นปัญหา แต่สภาพแวดล้อม สังคม นโยบายต่างหากที่เป็นปัญหา ทำให้เขาอยู่เหมือนคนอื่น ใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่นไม่ได้”  ความหมายจาก ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนัก9 

ประชากรกลุ่มนี้ที่เป็นเป้าหมายของสำนัก9 ในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น  ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ แรงงานนอกระบบ ชาติพันธุ์ ประชากรข้ามชาติ มุสลิม ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิง ผู้ต้องขัง และคนไร้บ้าน

ในความหมายข้างต้นอาจแบ่งประชากรกลุ่มนี้ออกเป็นสองกลุ่มคือ แตกต่างทางกายภาพ(ทางร่างกาย) กับ แตกต่างด้วยวิถีชีวิต หากสิ่งที่มีเหมือนกันของทั้งสองกลุ่มนี้คือ “มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าถึงทรัพยากร”  

แตกต่างทางกายภาพ หมายถึง คนที่มีร่างกายไม่เหมือนคนทั่วไป ตามองไม่เห็นเหมือนคนอื่น หูไม่ได้ยินเหมือนคนอื่น ไม่มีสัญชาติเหมือนคนอื่น หรือเกิดความเสื่อมถอยทางร่างกาย เดินช้าลง จำอะไรไม่ค่อยได้ ไม่มีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่น  เพศทางใจไม่ตรงสภาพกายจึงถูกมองว่าต่างจากคนทั่วไป ฯลฯ แต่ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความคิดว่าตัวเองแตกต่าง

แต่ประสบการณ์ ปฏิสัมพันธ์ หรือผู้คนแวดล้อมที่เติบโตมาต่างหาก ที่หล่อหลอมและผลักให้เขาคิดว่าตัวเองเหมือนคนอื่น น้อยลงเรื่อยๆ 

กับอีกกลุ่มที่แตกต่างด้วยวิถีการใช้ชีวิต เส้นทางที่เขาเลือกเดิน เลือกว่าไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร อยากอยู่นอกระบบ ไม่สนใจว่าเงินจะเยอะจะน้อยเพราะเป็นชีวิตที่เลือกเอง แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง รัฐควรสนับสนุนและคุ้มครองเขาในส่วนอื่นๆ เช่น แรงงานนอกระบบ ไรเดอร์  หรือคนที่ออกจากครอบครัวของตัวเองมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างคนไร้บ้านที่พบเห็นทั่วไปตามชุมชนเมือง 

“คนส่วนใหญ่มองว่าเขาเปราะบาง ด้อยโอกาส ชายขอบ เป็นคนอื่นที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ เลยถูกกวาดออกไป เราไม่ได้นิยามว่าใครเป็นกลุ่มเฉพาะตลอดชีวิต มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด วันหนึ่งเราอาจจะเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะก็ได้ เพราะเรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ รู้สึกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ หรือคนที่อยู่ในกลุ่มเฉพาะก็อาจจะเปลี่ยนกลับมาเป็นคนทั่วไปก็ได้ เพราะมีบางสิ่งเปลี่ยนไปที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ต่าง” 

 

คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นผลลัพธ์จากปัญหา 

ก่อนหน้านี้คนกลุ่มนี้อาจจะถูกมองว่าคือปัญหา แต่การทำงานของสำนัก9 มองว่าเขาคือผลกระทบและเป็นปลายทางของปัญหา ทั้งเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เป็นธรรม 

“เขาคือคนที่ตกหล่น นโยบายหรือสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่ไม่ให้โอกาสในการใช้ชีวิตกับเขา เขาถึงกลายเป็นคนที่มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เป็นแรงงานที่ถูกกดขี่ เป็นคนอื่น แล้วรากของปัญหามันซับซ้อนมากไปกว่าตัวปัจเจก แต่เป็นโครงสร้างของสังคม สถานการณ์ทั้งหมดมันกดดัน บีบคั้น ทำให้เกิดคนกลุ่มนี้”

ภูมิหลังด้านมานุษยวิทยา ทำให้หัวเรือของสำนัก9 สนใจเรื่องความหลากหลายและลงลึกมากกว่านั้นด้วยการค้นไปให้ถึงต้นสายว่ามาจากอะไร ความไม่เหมือนกันนั้นถูกอะไรทำให้ถ่างห่าง หลายคนเอา ‘ความต่าง’ นั้นมาสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเหยียด ดูถูก กีดกัน ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงขั้นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

“ยกตัวอย่าง การห้ามไม่ให้ชาวเลย้ายที่อยู่ เพราะกลัวต้นไม้จะถูกตัดไปสิบต้น มันอาจจะเปรียบไม่ได้กับชีวิตเขาที่อาจไม่มีเรือใช้ในการดำรงชีวิต แต่พอมาทำงานจริงก็เห็นว่า หน้าที่ของแต่ละคนแตกต่างกัน ฝั่งหนึ่งถูกมอบภารกิจเรื่องการพิทักษ์ป่า  อนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งก็สำคัญเช่นเดียวกันกับการทำงานในปัจจุบัน เรา(สสส.) อาจรู้สึกว่าหน้าที่ของบางหน่วยงานไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบางคน หรือการทำบทบาทตามที่ตัวเองคาดหวัง หลายครั้งนำไปสู่ความขัดแย้ง เห็นต่างกันในประเด็นของคนอื่น นี่แหละคือความต่างของแต่ละชีวิต”

‘ความต่าง’ จึงถูกนำมาแปรความหมายเป็นความหลากหลายของประชากรแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสำนัก9

หากโดยโครงสร้าง งานสนับสนุนและแก้ไขปัญหาของประชากรกลุ่มต่างๆ มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลและโอบอุ้มอยู่แล้ว คำถามสำคัญคือการเข้ามาของสสส. จะเข้ามาซ้ำซ้อนหรือทับทางงานเดิมที่มีอยู่แล้วหรือไม่ ผอ.สำนัก9  ตอบว่า ที่ทางของสสส.จะอยู่กึ่งกลางระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งตรงนั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก 

“สสส. มีงบน้อยมากถ้าเทียบกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ถ้าเทียบกับภาคประชาสังคม เรามีทรัพยากร มีเครือข่าย เรามีงบ

เพราะฉะนั้นการอยู่กึ่งกลางระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาสังคม มันเปิดพื้นที่ให้เราเห็นว่าภาครัฐมีพื้นที่ในการหยิบยื่นโอกาส กำหนดแนวนโยบายที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน แต่เราก็เห็นช่องว่างตรงนั้นว่า ภาครัฐไม่สามารถช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้าได้ จะมีคนตกหล่นจากนโยบายเสมอ และลดความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่งเท่านั้น” 

ช่องว่างในความหมายของภรณีแปลว่าโอกาสในการเสริมพลัง หรือ Empower ให้ประชากรกลุ่มนี้ยืนหยัด พึ่งพาตัวเอง 

“แทนที่จะเป็นการให้หรือสงเคราะห์ เพราะเงินเพียงเล็กน้อยไม่สามารถจะให้ได้ครอบคลุมทุกคน แต่ถ้าเราทำให้เขาเข้มแข็ง ยืนได้ด้วยตัวเอง มันจะยั่งยืนกว่า” 

นอกจากอุดช่องว่างด้วยการสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมแล้ว อีกภารกิจสำคัญคือการเป็น ‘ตัวกลาง’ เชื่อมโยงระหว่างนโยบายกับภาคปฏิบัติหรือการลงมือทำ เนื่องจากหลายกรณีพบว่ากฎหมายที่มีอยู่มีความเหมาะสมแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้ ปัญหาจึงไม่เคยถูกแก้ไข การเปลี่ยนแปลงจึงไม่เกิดขึ้น

“เช่น กรณีการจ้างงานคนพิการ ภาครัฐออกกฎหมายนโยบายแล้วให้เกิดการจ้างงาน (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550) แต่ทำไมถึงไม่มีโอกาสให้คนพิการ คนพิการวัยแรงงานยังตกงานเต็มไปหมด

เพราะเขาขาดคนเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเป้าหมายและนโยบายเข้าด้วยกัน ขาดคนไปคุยกับสถานประกอบการให้เข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าไม่ได้เพื่อให้เขาเสียค่าปรับมาไว้ที่กองทุน (กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เพียงอย่างเดียว แต่เขาต้องมีหน้าที่เอื้อโอกาสให้คนพิการมีงานทำด้วย”

 

การเห็นปัญหาชัดเจนคือ คือคุณสมบัติที่ตัวกลางอย่าง สสส. ต้องมี 

การเห็นว่าอะไรคือช่องว่างของเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือการมองประชากรแต่ละกลุ่มว่าชีวิตเขายังทุกข์ยากอยู่เพราะอะไร ขาดโอกาสเรื่องอะไร เจออุปสรรคใดบ้าง แล้วย้อนกลับมาสำรวจนโยบายว่าอะไรที่ทำให้เขาต้องเจออุปสรรคเหล่านั้น คล้ายใช้แว่นขยายส่องดูว่าอะไรที่ยังไม่ครบ และอะไรที่ยังรอการเติมเต็ม 

นี่คือบทบาทของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ 

 

“เพราะฉะนั้นการปรับมุมมองให้เห็นปัญหาแม้จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอเชื่อมโยงแล้วมันคือปัญหาระดับมหภาค ถ้าแก้ปมนั้นได้  ก็จะปลดล็อกทำให้คนอื่นที่ประสบปัญหาเดียวกันได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น”  

ดังนั้นในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ นอกจากเสริมพลังให้ภาคประชาสังคมและประชากรกลุ่มเฉพาะเดินหน้าด้วยตัวเองแล้ว อีกหน้าที่สำคัญของสำนักฯ คือ การสนับสนุนให้ศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และบางกรณีก็ต้องทำงานวิจัย รวมทั้งเผยแพร่รายงานให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายร่วมกันและถกเถียงบนข้อมูลชุดเดียวกัน 

ยกตัวอย่าง การผลักดันให้เกิดสวัสดิการที่เท่าเทียมแก่แรงงานนอกระบบ เช่น คนทำงานแพลตฟอร์มต่างๆ สำนัก9 นับหนึ่งด้วยการให้ทุนสนับสนุนเพื่อผลิตงานวิจัยโครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม ทำให้เราได้ข้อมูลของกลุ่มไรเดอร์ที่น่าเชื่อถือ และนำมาเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคม 

“เมื่อทุกคนเห็นข้อมูลร่วมกัน มันจะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือและการสนับสนุน เพราะเห็นปัญหาร่วมกัน และหาทางแก้ร่วมกัน” ธานี ชัยวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ ดังกล่าวอธิบาย 

ซึ่งสอดคล้องกับภรณีที่ใช้วิธีการนำองค์ความรู้และข้อมูลจริงมาขยายและชี้ให้เห็นต้นเหตุของปัญหากับงานประชากรอีกหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ คนพิการ 

“จึงเกิดเป็นงานวิชาการที่พิจารณาความคุ้มค่าของการลงทุน เพื่อเสนอต่อภาครัฐ ว่าการลงทุนปรับสภาพพื้นที่สาธารณะเพื่อคนพิการมีความคุ้มค่าเพียงใด โดยเริ่มจากการออกแบบ และคาดคะเนงบประมาณที่ต้องใช้ และเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ลดลงของคนพิการ เช่น ค่าเดินทาง ค่าจ้างผู้ดูแล ฯลฯ เพื่อให้เห็นว่าการลงทุนของภาครัฐจะเปลี่ยนชีวิตคนพิการได้ขนาดไหน” 

เมื่อภาครัฐและภาคประชาคมเห็นปัญหาร่วมกัน ลำดับต่อไปคือการขยับไปปรับและแก้นโยบายต่างๆ ด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่าย 

 

เป็นเพื่อน ขับเคลื่อนเคียงข้างภาคีและภาคประชาสังคม 

นอกจากงานวิชาการแล้วการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายก็สำคัญไม่แพ้กัน ภรณีเปรียบงานในส่วนนี้ของสำนักฯ ว่าเหมือนอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนให้ภาคีเจ้าของประเด็นเป็นผู้เคลื่อนไหวและออกแบบการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานด้วยตัวเอง 

“ถึงจะแค่หนึ่งคนก็คุ้มค่า มันคุ้มค่าในคนละความหมายกัน ไม่ใช่เรื่องตัวเงิน แต่เป็นเรื่องชีวิต”

การสนับสนุนของสำนักฯ จะไม่ใช่การยื่นความช่วยเหลือหรืออุดหนุนสงเคราะห์ แต่จะเหมือนเพื่อนคอยเดินอยู่ข้างๆ เส้นแบ่งตรงนี้มีแต่ค่อนข้างบาง และนั่นหมายถึงการทำงานที่เห็นหัวใจกัน  

“มันก็เป็นเส้นบางๆ แต่การหนุนให้เขาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง มีอาชีพ เป็นเรื่องแรกๆ ที่ทีมงานในสำนักฯ สนับสนุน  อย่างคนพิการ ถ้าไม่มีงานเขาต้องอยู่กับบ้าน ไม่มีศักดิ์ศรี หรือคนไร้บ้านก็อยู่ข้างถนน ต้องขอจากคนอื่น มันเป็นก้าวแรกที่ทำให้คนพึ่งตัวเองได้ เลี้ยงตัวเองได้ เราเชื่อเรื่องการส่งเสริมให้เขามีงานทำ  ซึ่งการมีงานทำอาจจะเริ่มจากการมีบ้านก่อน เพราะเวลาไปสมัครงานเขาก็ต้องถามว่าบ้านอยู่ไหน ถ้าบอกว่านอนข้างถนน โอกาสทำงานแทบจะเหลือศูนย์แม้จะเป็นงานรับจ้างรายวัน เพราะฉะนั้นงานสนับสนุนคนไร้บ้านที่หัวลำโพงจึงเริ่มจากการมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งก่อน เช่าบ้านตรงหัวลำโพง(ตรอกสลักหิน) แล้วเขาจะได้รับการจ้างงานเพราะรู้ว่าจะไปตามตัวได้ที่ไหน” 

ส่วนคนพิการ อาจจะต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมทักษะต่างๆ ทั้งการใช้ชีวิต ความรู้ ความพร้อมส่วนบุคคล แต่ทั้งหมดนี้ถ้าไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ยังต้องพึ่งพา สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการรอรับความช่วยเหลืออยู่ดี 

“นี่คือจุดแบ่งระหว่างการพึ่งตัวเองได้กับการต้องรอรับความช่วยเหลือไปตลอด คนสูงอายุเองก็เช่นเดียวกัน ทุกคนต้องการรายได้พอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเองได้ เราถึงไปขยับเรื่องเบี้ยยังชีพ บำนาญ และอาชีพ แม้จะสูงวัยแต่ส่วนใหญ่ยังมีศักยภาพ” 

ไม่ว่าจะเสริมพลังประชากรกลุ่มไหน ต้องเริ่มจากเชื่อมั่นก่อนว่าเขาเหล่านั้นมีคุณค่า มีศักยภาพ จากนั้นจึงจะไปสู่ขั้นตอนการทำให้เขาใช้ศักยภาพตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนพึ่งพาตัวเองได้ 

“พอเขามีงาน มีรายได้ก็กล้าที่จะมีปฏิสังคมกับคนอื่น มั่นใจที่คนอื่นยอมรับว่าตัวเองมีความหมาย มีคุณค่า ไม่ต้องพึ่งพาครอบครัว ไม่ต้องถูกกระทำความรุนแรงในบ้าน เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัวที่ดูแลตัวเองได้ บางคนถึงขั้นไปเลี้ยงคนอื่นได้ โอกาสเล็กน้อยเหล่านี้มันปลี่ยนชีวิตของคน” 

ทุกการวิ่งในลู่ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครนำหน้า ย่อมมีอุปสรรค 

มองจากมุมประชากรกลุ่มเฉพาะ เขาเองเจออุปสรรคหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ในบ้าน บางคนใช้ชีวิตยากตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดประตูออกไป 

เช่น ทำไมคนพิการหรือผู้สูงอายุถึงอยู่บ้านตามลำพังไม่ได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแล นั่นเพราะเขาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง การปรับบ้านตามหลักการ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล จึงต้องเข้ามา 

“ทำยังไงให้เขาเข้าห้องน้ำเองได้ หรือใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง การปรับบ้านคือเรื่องหลัก ตอนนี้ภาครัฐก็มีงบสำหรับปรับบ้านให้ แต่ปรากฏว่างบฯ ส่วนนี้ยังถูกใช้ไม่หมด หรือหน่วยงานที่เสนอการตั้งงบสำหรับการปรับบ้าน กลับไม่เจอคนที่ต้องการปรับจริงๆ 

นั่นเพราะขาดคนตรงกลางที่จะไปบอกว่ามีโอกาสทางนโยบาย อุดหนุนเงินในการปรับบ้านนะ นี่คือตัวอย่างอุปสรรคของการทำให้นโยบายที่มี ไม่นำไปสู่การปฏิบัติ” 

พอออกจากบ้านไปโลกภายนอก หลายคนใช้ชีวิตปกติไม่ได้ การเดินทางทั่วไปมีต้นทุนสูงกว่าคนอื่น 

“ทำไมคนพิการต้องขึ้นแท็กซี่ ทำไมไม่สามารถขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ก็เพราะรถเมล์มันสูง ขึ้นไม่ได้ ถึงต้องเรียกร้องรถเมล์ชานต่ำ การใช้ระบบรางที่คนอื่นใช้ คนอื่นอาจจะบ่นว่าค่าโดยสารแพง แต่คนพิการเข้าประตูไม่ได้ หรือเข้าไปแล้วเดินทางต่อไม่ได้ เพราะขึ้นไปถึงสถานีต้นทางแล้ว แต่ออกจากสถานีปลายทางไม่ได้ เรื่องพวกนี้คืออุปสรรค” 

จนมาถึงอุปสรรคที่มองไม่เห็น และดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่แก้ยากที่สุดคือความคิด ทัศนคติ  ที่ผลักประชากรกลุ่มเฉพาะให้ยิ่งห่างออกไป แม้นโยบายหรือภาครัฐจะพยายามดึงให้เข้ามาใกล้แค่ไหนก็ตาม 

“คนไร้บ้าน ถูกคนทั่วไปมองว่าเป็นคนขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน สกปรก โอกาสการมีงานทำสำหรับเขาจึงลำบากมาก โดนบล็อกด้วยวิธีคิดคนทั่วไป ทัศนคติที่ปิดกั้น” 

แม้กระทั่งคนพิการก็ถูกมองว่าไม่เหมือนคนอื่น ไม่อยากเป็นเพื่อนด้วย ไม่รู้จะคุยยังไง หรือถูกรังเกียจด้วยความเชื่อที่ว่า เกิดมาเป็นแบบนี้คงเพราะทำบาปทำกรรมมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว จึงเป็นที่มาของกิจกรรมอย่าง ‘วิ่งด้วยกัน’ ระหว่างคนทั่วไปและคนพิการ เพื่อเปิดประตูให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ของคนที่แตกต่างจากเรา 

“นี่คือการปรับทัศนคติ ถ้าเราลองคุยกับเขา ลองเป็นเพื่อนกับเขา อาจจะเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเราที่บอกว่าเราคงไม่สามารถเป็นเพื่อนกับคนพิการได้ มันจะเปิดใจคุยกันได้ กล้าที่จะเปิดบทสนทนาไปหาเขา กล้าอยู่ใกล้เขา บางคนนี่เดินอ้อมเลยเวลาเห็นคนพิการ เพราะความกลัว มันคือรากที่ฝังอยู่ในแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน  เราพยายามบอกถึงความเป็นมนุษย์ของเขาเหล่านั้นว่ามันจับต้องได้นะ เขาแค่มีอะไรบางอย่างที่ต่างจากเราบางเรื่อง” 

ยากไม่แพ้กันคือ อุปสรรคในตัวเอง  

ทัศนคติ วิธีคิดของคนทั่วไป ที่ปรับยากหนักหนา มุมหนึ่งก็ยังไม่ยากเท่าการกดทับตัวเองด้วยตัวเอง ซึ่งประชากรกลุ่มเฉพาะจำนวนไม่น้อยเกิดและเติบโตมาด้วยความคิดที่ว่าตัวเองไม่เท่ากับคนอื่น พยายามแค่ไหนก็ไม่มีวันเท่า 

“คือความไม่สู้ ยอมจำนนต่อสถานการณ์ เป้าหมายไปได้แค่นี้แหละ สู้ไปก็แพ้ ปล่อยไปตามชะตากรรม นี่คืออุปสรรคภายใน แล้วพอมาบรรจบกับอุปสรรคภายนอกอีก เรื่องนั้นจึงไปต่อลำบาก” 

การปลดล็อคเพื่อขอแรงทุกฝ่ายให้ร่วมผลักดันนโยบายจึงไม่ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ  หรือกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่มักถูกกีดกันและคิดว่ามาขออาศัยและมาหางานทำใน ‘บ้านคนอื่น’ เสมอๆ 

จึงเป็นที่มาของโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้าไปช่วยสื่อสาร ให้ข้อมูลเรื่องสุขภาพแก่กลุ่มประชากรข้ามชาติ ลาว เมียนมา และกัมพูชา ย้ำให้เขารู้ว่าสุขภาพและชีวิตของแต่ละคนนั้นสำคัญแค่ไหน สิทธิใดบ้างที่มีและควรได้รับ ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีโครงการ ‘ล่ามชุมชน’ ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน 

“คนเฒ่าคนแก่ที่ไม่รู้ภาษาไทย ก็เข้าใจ อบอุ่นใจมากขึ้น เดี๋ยวนี้เชียงรายไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอคติหรือเลือกปฏิบัติแล้ว และที่สำคัญคนบนดอยรู้สิทธิตัวเองมากขึ้น”ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จาก วิวัฒน์ ตามี จากเลขาฯ มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ (พชช.) ที่ทำงานเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิบริการทางสุขภาพ 

สอดคล้องกับหลักการเสริมแรงบันดาลใจของภรณีและทีมสำนักฯ ที่เห็นความสำคัญของการผลักดันให้ลุกขึ้นสู้ 

“ก้าวแรก ถ้าเจ้าตัวไม่ยอมก้าวออกมา เราจะใช้วิธีดึงคนเอื้อมมือถึงหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือก่อน เขาจะทำได้ และมีโอกาสจะสำเร็จ ควบคู่ไปกับการสร้าง Eco System ในสังคมที่มีกำแพงหลายอย่าง ในทัศนะ ความคิด ความเชื่อ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” 

ภรณี อธิบายว่า หลายๆ โครงการและการลงมือทำจึงนำไปสู่การถอดบทเรียน เป็นฮาวทูและหลักสูตรต่างๆ เพื่อเป็นพิมพ์เขียวให้คนรุ่นหลังใช้ในการขับเคลื่อนต่อไป อาทิ 

โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำและหนุนเสริมปฏิบัติการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นธรรมทางสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (นธส.) ซึ่งเป็นไปตามหลัก ‘พัฒนาศักยภาพ’ของสำนัก9 ผ่านหลักสูตรต่างๆ เช่น อำนาจภายใน,อำนาจร่วม,การฟังอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน ฯลฯ 

“การหนุนเสริมของสสส. หล่อเลี้ยงแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมทางสุขภาวะ และเชื่อว่าสังคมจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพได้ เราแค่ไปจุดประกายวิธีคิดบางอย่างของผู้เข้าร่วม  และสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยหล่อหลอม และสร้างการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน” 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ “ความเสี่ยงสูง ไร้ตัวตน เข้าไม่ถึง ถูกกีดกัน และยอมจำนน” หมดไปจากประชากรกลุ่มเฉพาะ 

ซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายและอุปสรรคไปพร้อมๆ กัน 

“เราไม่ได้แค่ทำให้คุณอยู่ในภาวะที่มีความสุข 100% เราพูดง่ายๆ กับกลุ่มเป้าหมายที่เราร่วมงานว่า สุขภาวะก็คือภาวะที่คุณมีความสุข ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม คุณพึ่งพาตัวเองได้ มีศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิต แล้วมันก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ถ้าจะทำด้วยกัน ถ้ามองเห็นสิ่งนั้น แล้วเชื่อมั่นว่าเราจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ เราก็จะต้องมีความพยายามและต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน”

“ความเป็นนักสู้ของเขา” 

คือสิ่งที่ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) เรียนรู้จากการทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะในหลายปีที่ผ่านมา 

“เราเห็นความยากลำบากในชีวิตของคนแต่ละกลุ่มที่เขาประสบปัญหาไม่เหมือนกันเลย สิ่งที่เราเคยอ่าน เคยรับรู้ มันน้อยกว่าชีวิตจริง น้อยกว่าสิ่งที่เราเจอในตอนทำงานเยอะมาก ยกตัวอย่าง คนไม่มีบัตรประชาชนต่อสู้เพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิ เราไม่รู้เลยว่าเบื้องหลังภาพการมายื่นหนังสือเรียกร้องที่ทำเนียบมันคืออะไร พอมีโอกาสไปเห็นชีวิตของเขา ถึงได้รู้ว่าการมีบัตรประชาชนสักใบคือการต่อสู้ทุกวิถีทาง สู้มาทั้งชีวิต” 

สำหรับภรณี ทุกภาคี ทุกเครือข่ายที่ร่วมทำงานและทุกคนในสำนักฯ “การสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ไม่ได้เรียกร้องมากไปกว่าสิ่งที่ตัวเองพึงจะได้รับ” คือปลายทางที่ทุกฝ่ายอยากไปให้ถึงในประชากรทุกกลุ่ม 

“กระบวนการคิด กระบวนการทำงานของเขา มันคือการต่อสู้ที่แลกมาด้วยน้ำตา หยาดเหงื่อ และชีวิตของพวกเขา นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่า สำหรับคนทั่วไป งานอาจจะหมายถึงสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับเงิน แต่สำหรับเขามันไม่ใช่ มันแลกกับชีวิต” 

และชีวิตเขาก็ไม่ต่างจากเรา 

“เขาอยากแค่มายืนในจุดที่คนอื่นได้ยืนเท่านั้นเอง เราที่เคยมีมุมมองว่าเขาขอมากไป เรียกร้องเยอะไป แต่ความจริงเขาแค่อยากขึ้นรถเมล์เหมือนคนอื่น อยากจ่าย 20-30 บาทเป็นค่ารถไฟฟ้า ไม่ได้อยากจ่าย 100-200 เป็นค่าแท็กซี่ ซึ่งพอมาทำงานทำให้เห็นว่าทั้งหมดนี้มันไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง ไม่ได้ถูกขอ ถูกตั้งคำถาม ถูกเรียกร้องมากกว่าสิ่งที่เขาควรจะได้รับเท่าเทียมกับคนอื่น หรือบางเรื่องเขาอยากได้รับแค่โอกาส มุมมองที่เปิดใจให้กับเขา เท่านั้นเอง” 

ตลอดการทำงานกับประชากรหลากหลาย ย่อมมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ แต่อะไรคือฟันเฟืองที่ทำให้มีคนมาร่วมวิ่งในลู่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

“เห็นปลายทางเดียวกัน เห็นประโยชน์ร่วมกัน ว่าเราจะต้องต่อสู้ฝ่าฟันไปยังจุดที่เรียกว่าสุขภาวะ”

ไม่ได้แปลว่าระหว่างทางจนถึงปัจจุบันปัญหาจะหมดไป อุปสรรคยังเปลี่ยนหน้าตาและเข้ามาท้าทายเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายคิดตรงกันคือ การทำงานราบรื่นมากขึ้น

“มีการแลกเปลี่ยนว่า ปัจจุบันประสบปัญหาอะไร ปลดล็อกไปทีละเรื่อง บางเรื่องอาจจะแก้เชิงนโยบาย บางเรื่องอาจจะต้องมาแก้เชิงพฤติกรรม หรือการเปิดโอกาสทางสังคม เพราะฉะนั้น ถ้าฝันที่ร่วมกันคือส่วนสำคัญที่เราดึง พา จนมาเป็นขบวน เราอาจจะไปปลดล็อกแค่บางเรื่อง ส่วนอีกบางเรื่อง เราอาจรู้สึกว่ามันเหนื่อยเหลือเกิน เกินตัว หรือต้องใช้เวลานาน เราก็จะมีงานเสริมพลัง” 

แต่การเสริมพลังที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลายเรื่องเป็นกำลังใจก้อนโตให้หลายๆ กลุ่มผลักดันกันเอง

“ไม่ว่าเราจะต้องคุยกับใครก็ตาม หรือต้องไปลดอุปสรรคใดก็ตาม ต่อให้ราชการ รัฐบาล หรือใครเปลี่ยนหน้าเข้ามา เราก็พร้อมและกล้าพอที่จะเข้าไปเสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่มันจะเกิดประโยชน์จริง เพราะเราเห็นตัวอย่างหลายเรื่องแล้ว การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สร้างโอกาส และเปลี่ยนชีวิตให้กับคน เรื่องพวกนี้มันจึงง่ายขึ้น เพราะมีตัวอย่างของความสำเร็จของการที่คนตัวเล็กลุกขึ้นสู้หลายเรื่อง มีพื้นที่นำร่องให้เห็น อุปสรรคที่หลายคนบอกว่ามันทำไม่ได้ ถูกปลดล็อกไปตั้งหลายเรื่อง และเป็นแรงผลักดันให้หลายฝ่ายลุกขึ้นสู้ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” 

ไม่มากก็น้อยการทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ประชากรกลุ่มเฉพาะเริ่มเขยิบเข้ามาใกล้และค่อยๆ ลดกำแพงลง 

“ปัจจุบัน สถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมถูกมองเห็นชัดขึ้น หลายคนไม่ยอมถูกกดขี่ หรือจำนนต่อสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรม วิธีคิดกล้าหาญ ลุกขึ้นพูด ลุกขึ้นสู้ เหล่านี้คือสภาพแวดล้อมและวิธีคิดของคนในสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ทำให้เรื่องนี้ทำงานง่ายขึ้น ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในหลายประเด็นและเป็นแรงกดดันจากคนในสังคมสู่ผู้กำหนดนโยบายว่าทำแบบนั้นทำไม่ได้อีกต่อไป” 

ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในคนแทบทุกกลุ่ม ทำให้การมองไม่เห็นคนตัวเล็ก กลายเป็นอาชญากรรม กลายเป็นเรื่องรุนแรง และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เสริมแรงด้วยพลังของสื่อ พลังของสังคม

ที่ทำให้การกดขี่คนตัวเล็กกว่าด้วยอำนาจเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ 

ยกตัวอย่างคนไร้บ้านที่การวิ่งไล่หรือฉีดน้ำใส่ในสมัยก่อนแทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว

“คนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเมืองมากขึ้น ไม่ว่าเมืองไหนในโลกนี้ก็มีคนไร้บ้าน การที่คนเอาน้ำฉีด เอาน้ำร้อนราดหน้าบ้านมันไม่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดจากการยอมรับ เข้าใจ และการสื่อสารให้เห็นถึงความเป็นเมือง ที่จะมีคนไร้บ้านเป็นประชากรส่วนหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ ภาครัฐเองก็เสนอรูปแบบการจัดการชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ มีศูนย์พักฯ ถามและเชิญชวนเขาว่าไปมั้ย ไม่ได้บังคับเหมือนในอดีต” 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อวิ่งไปสู่สังคมที่คนเท่ากัน ที่ภรณีให้คำจำกัดความว่าคือสังคมที่เปิดโอกาส ไม่กีดกันคนบางกลุ่มออกไปจากสภาพแวดล้อม จากการใช้ชีวิตทั่วไป 

“คนนั่งวีลแชร์เข้ารถไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง นั่นคือเท่ากัน หรือเด็กพิการเดินไปเข้าห้องน้ำ ไปโรงอาหารด้วยตัวเองได้ เพื่อนๆ ก็ไม่ล้อเลียน นั่นคือโอกาสทางการศึกษาที่เท่ากัน” 

และนี่คือคำถามทิ้งท้ายจากภรณี ที่คำตอบอาจไม่สำคัญเท่ากับการก้าวต่อไปข้างหน้า

“เราพร้อมหรือยังที่จะเอื้ออำนวยให้คนที่แตกต่างได้รับโอกาสทางการศึกษา โอกาสทางการทำงาน หรือการคุ้มครองทางสุขภาพ ถ้าเขาจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เสริมศักยภาพ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนอื่นๆ เขาก็ควรได้รับสิ่งนั้น ความเท่ากันคือความเสมอภาค การได้รับโอกาสจากทุกคน จากทุกนโยบาย โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ” 

สามารถดาวน์โหลดหนังสือ Voices for Change เสียงเพื่อการเปลี่ยนเเปลงได้ ที่นี่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ