‘กรุณาอย่าทำให้สะเทือนใจ’ แปลว่า แม่เหงา ลูกเลยทำ Craft it on แบรนด์งานคราฟต์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและคิดแทนคนอื่น

“สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนสูงวัย คือ เป็นโรคซึมเศร้า ความเหงา ลูกไปทำงานกันหมด”

แต่ชีวิตวัย 64 ปีของ ‘แม่อร’ อรสา  ดุลยยางกูล เจ้าของแบรนด์ Craft it on และหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการวัยนี้วัยดี โดยเพจมนุษย์ต่างวัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เธอมีงานปักผ้าและลูกค้าต่างวัยเป็นเพื่อน ทำให้คลายความเหงาลงไปได้บ้าง

ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว เพราะแม่อรมีกำลังใจจากลูกๆ และครอบครัวขณะที่ปักฝีเข็มลงบนผ้าเป็นลวดลายต่างๆ

ผ่านมา 4 ปี  Craft it on กลายเป็นแบรนด์งานปักงานฝีมือที่หลายๆ คนยอมรับและชื่นชม เพราะสำหรับแม่อร สินค้าทุกชิ้นคือการส่งต่อแนวคิดและความสุขของแม่อรถึงมือลูกค้าด้วยตัวเอง

เพราะไม่ว่าอายุเท่าไหร่ เราก็ยังอยากรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสุขกับสิ่งเล็กน้อยๆ ในชีวิต

และแม่อรก็กำลังส่งต่อความสุขและหลากหลายเรื่องราวให้กับคนทุกวัยผ่านสินค้าในแบรนด์ Craft it on ที่ผันมาจาก Pass it on ให้กับคนทุกวัย

แบรนด์ที่เกิดจากแรงซัพพอร์ตของลูก

จริงๆแล้ว “แม่อร”ชอบตัดเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่เด็กๆ จึงไปขอให้คุณแม่สอนตั้งแต่ออกแบบ การวางแพทเทิร์น จนถึงการตัดเย็บ

แม่อรบอกว่า คนสมัยก่อนจะตัดเสื้อผ้าใส่เองอยู่แล้ว สำหรับแม่อร เธอตัดชุดนักเรียนใส่เอง 

พออายุ 19 ปี แม่อรกลายเป็นช่างตัดเสื้อเต็มตัว ทำเรื่อยมาเกือบ 10 ปี  ชีวิตครอบครัวของแม่อรก็เริ่มต้นขึ้น

หลังจากแต่งงาน 2 ปี เธอก็เปลี่ยนบทบาทจากช่างตัดเสื้อเป็นคุณแม่ฟูลไทม์เลี้ยง ‘ริบบิ้น’ และ ‘โบว์’ ลูกๆ ทั้งสองคน ไปพร้อมๆ กับทำงานเย็บปักถักร้อยเป็นงานอดิเรก

“ช่วงที่เลี้ยงลูก ระหว่างลูกหลับ ทำงานเสร็จ มีเวลานั่งดูทีวี เราก็เย็บปักถักร้อย แรกๆ ทำถุงการบูรให้ลูกไปแจกเพื่อนตอนปีใหม่ ลูกไปต่างประเทศเราก็ทำเป็นจานรองแก้ว เป็นของที่ระลึกให้เพื่อนลูก”

เมื่อลูกเห็นว่าแม่ชอบและทำได้ โบว์ ลูกสาวคนโตที่เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบของตัวเองจึงสร้างแบรนด์ Craft it on ให้แม่ เริ่มจากหาบูธขายธงแต่งห้องและคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างๆ เสมอ

“ธงกับการบูรเป็นสินค้าชิ้นแรกๆ ที่แม่ทำ เพราะเป็นงานที่ลูกทำแล้วชอบ เขาก็มาบอกว่า แม่ทำขายเลย แม่ก็บ้ายอทำตาม (หัวเราะ) เขาเลยสร้างแบรนด์ให้ แล้วก็พาไปออกบูธ พอขายได้เราก็ดีใจ” แม่อรเล่าจุดเริ่มต้นของ  Craft it on ประสบการณ์ขายของครั้งแรก

เพราะมีลูกทั้งสองคนคอยซัพพอร์ทและเปิดพื้นที่ให้แม่ทำสิ่งที่ชอบได้เต็มที่ แม่อรเลยไม่เหงา เพราะต้องออกแบบและปักลายผ้าที่มีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่การนั่งปักผ้าสำหรับแม่อรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวันนี้แม่อรคือผู้สูงอายุ บางครั้งอาจจะมีปวดเอวหรือปวดหลังบ้าง ทำให้แม่อรต้องหาช่วงเวลาสำหรับพักผ่อนเพื่อหาแรงบันดาลใจแล้วกลับมาปักงานต่อได้

“เราก็ทำบ้าง เหนื่อยก็หยุด ขับรถออกไปเที่ยว ไปร้านที่อยากกิน พกปิ่นโต เราก็เอาอาหารขึ้นไปกินบนรถ ไปนั่งดูวิวสวยๆ จีบกันกับพ่อ (หัวเราะ)”

ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน แม่อรก็ยังยิ้มสู้ต่อไปได้ เพราะ Craft it on ไม่ใช่แค่แบรนด์ แต่หมายถึงแรงซัพพอร์ทของลูกและความสุขของแม่ในวัย 64 ปี

เพราะสินค้าทุกชิ้นมีเรื่องราว

สินค้าของ Craft it on มีตั้งแต่ธงแต่งห้องไปจนถึงผ้าคลุมที่ครอบไฟ

นอกจากลายปักที่แม่อรตั้งใจออกแบบและปักด้วยมือทุกชิ้นแล้ว สินค้าทุกชิ้นของ Craft it on จะมีเรื่องราวสอดแทรกอยู่เสมอ

ยกตัวอย่างเช่น แผ่นรองแก้วที่จะต้องมีปักลายในจุดที่แตกต่างกัน เพราะคนถนัดซ้ายจะวางแก้วก็ต้องเห็นลายดอกไม้ที่ปักอยู่ด้านขวา หรือปักรอบๆ สำหรับคนที่ไม่ต้องการความเร่งด่วน วางตรงไหนก็สามารถเห็นลวดลายได้ หรือผ้าเช็ดมือที่มีที่ติดด้านหลังเพื่อสะดวกต่อการแขวนเพื่อใช้งานและความสวยงาม รวมถึงถุงย่อยสลายที่ออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละคน เป็นต้น

เพราะการสร้างสรรค์ชิ้นงานแต่ละชิ้น แม่อรจะคิดแทนผู้ใช้เพื่อมอบสิ่งดีที่สุดให้กับลูกค้า 

“แม่คิดจากตัวเราเป็นที่ตั้ง เหมือนทำให้ตัวเราใช้ก่อนไปพร้อมๆ กับคิดแทนคนอื่นเพราะมันจะมีจุดเล็กๆ ที่มองไม่เห็น แต่เราต้องรู้ เราใส่ใจเรื่องของการใช้งาน ใช้ทน ถ้าอันไหนที่เราทำแล้วอาจจะยังไม่ดี เราจะถามลูกค้าว่า  ใช้แล้วเป็นยังไง อยากปรับตรงไหนมั้ย”

เมื่อแม่อรมีโอกาสเข้าร่วมโครงการวัยนี้วัยดีที่จัดโดยเพจมนุษย์ต่างวัยและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ก็ยิ่งเป็นย้ำแนวคิดของแม่อรว่า การทำของขาย เรื่องเล่ามันสำคัญจริงๆ

เพราะเรื่องเล่าคือส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้ามีมูลค่าและดูน่าสนใจ

“แม่รู้สึกว่าเราต้องมีสตอรี่ให้ตัวเองในการทำงาน นอกจากสตอรี่ที่จะเล่าให้ลูกค้าแล้ว เราก็ต้องมีที่มาที่ไปให้ชัดเจนด้วย”

มากกว่ารายได้คือความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ

สินค้าทุกชิ้น แม่อรทำด้วยใจ มองความสุขมากกว่ารายได้ 

“กลัวขายไม่ได้” แม่อรบอก เพราะเธอกลัวว่าตั้งราคาสูง ลูกค้าจะไม่เข้าใจ และไม่กล้าซื้อ 

ช่วงแรกๆ แม่อรกลัวจนไม่กล้าบอกราคาสินค้าได้ แต่เธอก็ได้รับแรงสนับสนุนและคำแนะนำจากแม่ค้ารุ่นลูกร้านข้างๆ แม่อรเลยกล้าคุยกับลูกค้าและมั่นใจมากขึ้น

“พอทำงานมาระยะหนึ่ง เราก็ไม่รู้ต้องตั้งราคายังไง ได้รับคำแนะนำจากเด็กๆ ที่ขายอยู่ร้านข้างๆ กัน ให้บอกราคาแบบมั่นใจ ไม่ต้องกลัว หรือถ้าลูกค้าต่อราคาแล้วลดไม่ได้อาจจะแถมสินค้าชิ้นเล็กๆ แทน ทุกวันนี้แม่อรก็นำมาวิธีการนี้มาใช้แทนคำขอบคุณให้ลูกค้า ค่อยๆ เรียนรู้ แล้วก็มาพัฒนาสินค้าให้ดูมีมูลค่ามากขึ้น”

เมื่อผ่านการลองผิดลองถูก แม่อรก็ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการวัยนี้วัยดี เธอจึงเริ่มเรียนรู้การคำนวณต้นทุนและการวางแผนธุรกิจ เพราะจริงๆ แล้ว ราคาสินค้าก็สำคัญไม่แพ้ลวดลายที่แม่อรตั้งใจปักเลย 

“บางทีเราก็เหนื่อย แต่ประเมินราคาไม่ถูก พอไปอบรมที่โครงการฯ วิทยากรมาสอนเรื่องการคิดต้นทุน กำไร และที่สำคัญคนทำงาน เพราะเรามักจะลืมคิดค่าแรงให้ตัวเอง การอบรมทำให้เราเรียนรู้การทำธุรกิจอย่างมีหลักการ ทั้งขายหน้าร้านและแบบออนไลน์ ลูกค้าที่ชอบงานเราก็น่ารักมาก บางทีเขาบอกว่าไม่ต้องลด เรารู้สึกใจฟูเลย ดีใจแบบพื้นที่ผ้ามีเท่าไหร่ปักเต็ม (หัวเราะ)”

เหตุผลที่แม่อรใส่ใจทุกรายละเอียดเพราะสินค้าคือตัวแทนของเธอในการส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นที่รักและชอบ ‘งานคราฟต์’ หรือ ‘งานฝีมือ’ เหมือนกัน 

คิดและทะเลาะกับตัวเองบ้างก็ได้ เพราะชีวิตสูงวัยไม่ได้น่ากลัว

สำหรับคนสูงวัยหรือใกล้สูงวัย การยอมรับว่าตัวเองกำลังอายุมากขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย

“สิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนสูงวัย คือ ความเป็นโรคซึมเศร้า เหงา ลูกโตหมด ไปทำงาน เวลามีคนมาถามว่า ลูกไม่มาเหรอ ก็บอกว่าไม่มาหรอก เขาไม่มีเวลา จริงๆ ก็รู้ทั้งสองฝ่ายว่าต่างคนต่างยุ่ง แล้วลูกก็รู้ว่าเรารู้สึกยังไง”

วิธีอ้อนลูกของแม่อร คือ การใส่เสื้อ ‘กรุณาอย่าทำให้สะเทือนใจ’ เสื้อที่ลูกกับแม่อรจะรู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราทั้งสองฝ่ายจะต้องกลับมาคุยกันบ้าง 

“แม่มีเสื้อเขียนว่า ‘กรุณาอย่าทำให้สะเทือนใจ’ เวลาเงียบกันไป แต่สักพักเอาเสื้อมาโพสต์ลงโซเชียล เขาก็จะรู้แล้ว แม่งอน ความห่วงใยของลูกจึงมาในรูปแบบของการแค่ทักมาถามว่า ทานข้าวยัง แค่นี้แม่ก็ชื่นใจแล้ว”

นอกจากกำลังใจจากลูกทั้งสองคนแล้ว แม่อรบอกว่าการให้กำลังใจกับตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน 

“เราจะคิดกับตัวเอง ทะเลาะกับตัวเอง พยายามสร้างตารางเวลาให้ยุ่งมาก คิดว่าต้องทำอะไรบ้าง เช้าทำอันนี้ ซักผ้าเสร็จ บ่ายไปซื้อของ ส่งของให้ลูกค้า เหมือนยุ่งนะ แต่มีลูกค้าเจ้าเดียว (หัวเราะ) จะได้ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องที่บั่นทอนกำลังใจ”

“บางทีคำว่าพลังบวก บวกยังไงถึงจะเรียกว่าบวก เราเหมือนสร้างพลังดีๆ ที่ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำให้วันนี้เป็นวันที่สนุกของเรา พอเราเหนื่อย คืนนี้เราพัก พรุ่งนี้ทำอะไรต่อ พรุ่งนี้ขี้เกียจทำงาน อยากกินส้มตำก็ไปกิน”

เพราะชีวิตสูงวัยแปลว่าอิสระ แล้วความเป็นอิสระของแม่อร เธอก็นำมาถ่ายทอดผ่านลายปักรูปดอกไม้นานาชนิดบนสินค้าของแบรนด์ Craft it on 

และชีวิต 64 ปีบอกแม่อรว่า งานคราฟต์คืองานที่เธอมีความสุขและสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ 

“ตอนนี้ถ้าคนอื่นถามว่าอาชีพอะไร ทำงานคราฟต์ พูดได้เลย” แม่อรบอกไว้แบบนั้น

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ