นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ : เวทนานิยม “อคติของผู้ประเสริฐที่มองคนว่าด้อยกว่า ในนามของความดี”

“วิธีคิดแบบเวทนานิยม คือเรามองเขาว่าด้อย ในนามของความดี เราคิดว่าเราช่วยเขา แต่จริงๆ มันคือกระบวนการที่เราไปจัดความสัมพันธ์มันไปกดทับเขา” 

นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) แพทยศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปศึกษาต่อปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนมีจินตนาการที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ เรียกว่า Empathic Imagination 

“เป็นจินตนาการที่ทำให้เราเข้าใจว่าชะตากรรมของคนอื่นเป็นยังไง แม้ว่าเราจะไม่เคยเผชิญด้วยตัวเองแต่ในแง่หนึ่งมันเป็นศักยภาพ ส่วนจะแสดงออกหรือไม่นั้นมันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างเข้ามากำหนด”

หนึ่งในนั้นคือ อคติ ที่อันตรายที่สุด คืออคติและการเลือกปฏิบัติที่แฝงมากับวิธีคิดมองคนต่ำกว่า เราเรียกว่า ‘เวทนานิยม’ เรามองเขาว่าด้อย ในนามของความดี 

“เช่น น้ำท่วม กลุ่มคนที่มาบริจาคของ ซึ่งมาด้วยความอยากช่วยเหลือมั้งนะ แต่คนที่อยู่ในศูนย์พักพิง วันๆ ก็จะถูกประกาศเสียงตามสายให้มารับของแจก เพราะผู้ที่มาแจกอยากถ่ายรูป อันนี้ผู้ให้สถาปนาตัวเองเป็นผู้ที่อยู่เหนือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ มาด้วยความเวทนา 

ซึ่งผมคิดว่าอคติที่แฝงอยู่ในวิธีคิดแบบเวทนานิยม มันเป็นตัวผลิตซ้ำอคติที่แก้ยากที่สุด แนบเนียนที่สุด และบ่อยครั้งก็ถูกตั้งคำถามน้อยที่สุด” 

แต่ถึงที่สุดแล้ว คุณหมอโกมาตรยังเชื่อว่า มนุษย์ผู้มีอคติยังรู้สึกรู้สา และความเวทนาเปลี่ยนได้ 

“เพราะความสามารถในการเข้าใจความต้องการของคนอื่น หรือเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ว่าเป็นยังไง โดยที่เราไม่ได้เป็นเขา มันเป็นคุณสมบัติทางสมองของมนุษย์”

คุณหมอเคยให้สัมภาษณ์ว่า ความอยากรู้จักชีวิตของคนที่แตกต่าง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิชามานุษยวิทยา และจริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ว่าการแสดงออกต่างหากที่แตกต่างกัน อยากขอคำอธิบายเพิ่มเติม

วิชามานุษยวิทยาเกิดจากการที่นักเดินทางไปพบกับกลุ่มคนต่างๆ เรียกว่าเป็นชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีพฤติกรรม วิถีชีวิต พิธีกรรมความเชื่อแตกต่างไปจากเรา ความแตกต่างนี้กระตุ้นให้เกิดคำถามและความอยากรู้อยากเห็น เช่น  สังคมยุโรปในสมัยโน้นเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น แล้วทำไมชนเผ่าอื่นถึงได้แตกต่างไปจากพวกเขามากมาย นี่เป็นที่มาของความสนใจ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่นักมานุษยวิทยาหรอก คนเราโดยทั่วไป เมื่อไปพบเห็นผู้คนหรือบ้านเมืองที่ต่างจากเรา เช่น วิถีชีวิต อาหารการกิน การแต่งกายที่ผิดแผกแตกต่างๆ จากเรา เราก็อยากรู้อยากเห็นในเรื่องแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่แล้ว 

แต่สำหรับนักมานุษยวิทยา พอยิ่งศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ มากๆ เข้าก็กลับยิ่งพบว่าท่ามกลางความแตกต่างทั้งหลาย ส่วนที่อยู่ลึกสุดคือความเป็นมนุษย์นั้น มันกลับเป็นหนึ่งเดียวกัน มนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ มีความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกันมากกว่าที่เรามองเห็นแบบผิวเผิน ที่เราเห็นว่าแตกต่างกันจริงๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ภายนอก

ความเหมือนกัน ที่คุณหมอบอกว่ามนุษย์เหมือนกันมากกว่าที่เราคิด มันมีอะไรบ้าง

เยอะมากเลย เช่น ความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ของชีวิต ต้องการกินอิ่มนอนอุ่น ต้องการชีวิตที่ปลอดภัย ต้องการหลักประกันในชีวิตระดับหนึ่ง ต้องการความรักความเข้าใจจากคนอื่น ต้องการครอบครัวที่อบอุ่นดูแลใส่ใจกัน ต้องการการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย เมื่อเผชิญกับความตายหรือการสูญเสียก็เศร้าโศกเสียใจเหมือนกัน ภูมิใจในความรู้ความสามารถของตัวเอง เมื่อเจอกับความเสี่ยง ความวิตก ก็ดิ้นรนแสวงหาที่พึ่งทางใจ  บางสังคมก็พึ่งหรือศรัทธาต่างๆ  อาจจะเป็นผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ แต่มันคือการสร้างหลักประกันความอุ่นใจ ยิ่งในภาวะที่ชีวิตมีความเสี่ยงสูงๆ ยิ่งหันมาหาที่พึ่งทางจิตใจในลักษณะต่างๆ 

มาลินอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญ ซึ่งศึกษาชนเผ่าที่อาศัยบนเกาะโทรเบียน การเดินเรือไปในท้องทะเลต้องเผชิญภัยอันตรายต่างๆ มีความเสี่ยงสูง เขาก็จะมีพิธีกรรม ในแง่นี้ วัฒนธรรมต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน คือ ความรู้สึกปลอดภัยจากความเสี่ยง  เหมือนเวลาเราไปเกณฑ์ทหาร ซื้อลอตเตอรี่ เราก็อาจพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออยากรู้ชีวิตช่วงนี้จะเป็นยังไงก็ไปดูดวงชะตาราศีซะหน่อย ความจำเป็นพื้นฐานเหล่านี้คล้ายกัน

สำหรับคุณหมอ วิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกันที่คุณหมอได้เจอคืออะไร

ผมเกิดต่างจังหวัด เติบโตที่สุรินทร์ ที่บ้านเป็นร้านค้าของชำ แต่ข้างๆ บ้านเป็นชุมชนชาวบ้าน ทุกวันเราก็จะเห็นชาวบ้านจูงควายไปทำนา ตกเย็นก็กลับมา ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาแตกต่างจากเรามาก บ้านเรือนของเขาก็ไม่เหมือนเรา บ้านเราเป็นห้องแถวขายของ ตอนเด็กๆ จะอยากรู้อยากเห็น ชอบเดินไปตามบ้านคนในชุมชนข้างบ้าน เข้าไปลัดเลาะดูตามใต้ถุนบ้านเขา พวกเครื่องมือทำมาหากิน คราด ไถ เครื่องมือประมง ไซดักปลา เบ็ด อะไรพวกนี้ เรารู้สึกว่าเครื่องมือเครื่องใช้ชาวบ้านน่าสนใจ แตกต่างจากชีวิตเรามากๆ กลายเป็นความอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่เล็กๆ ว่าทำไมมนุษย์ถึงได้มีวิถีที่แตกต่างกันได้มากมายขนาดนี้

ความอยากรู้อยากเห็น มันเป็นพื้นฐานของทุกคนเลยใช่ไหม

ส่วนหนึ่งก็เป็นธรรรมชาติของมนุษย์นะ แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความอยากรู้อยากเห็น อย่างช้าง มีลูกช้างเดินตาม พอมันไปเจออะไรแปลกๆ เข้า มันก็หยุดดู การอยากรู้อยากเห็นอาจเป็นสัญชาติญาณของสิ่งมีชีวิต ถ้าเราไม่ช่างสังเกต ไม่เรียนรู้สิ่งรอบตัว เราก็อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้ ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยนะ คือถ้าไม่เรียนรู้ ก็ไม่สามารถปรับตัว และก็อาจจะสูญพันธุ์ไป

ถ้าเป็นความรู้ด้านมานุษยวิทยา ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจความแตกต่าง หรือสามารถเห็นสิ่งที่เรามีอยู่ร่วมกัน หรือเหมือนกัน 

ความสามารถในการเข้าใจความต้องการของคนอื่น หรือเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ว่าเป็นยังไง โดยที่เราไม่ได้เป็นเขา จะว่าไปมันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ มันเป็นคุณสมบัติทางสมองของมนุษย์ ซึ่งสมองส่วนนี้ในทางชีววิทยาเรียกว่าส่วนเนื้อสมองสีขาว ถ้าทำให้เราเข้าใจชะตากรรมของคนอื่น ถ้ามันมีพัฒนาการที่ดี เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้ดี 

สมองส่วนนี้จะเจริญเติบโตมากที่สุดในวัยราว 3-7 ขวบ ถ้าในช่วงวัยนี้ เราอยู่ในสังคมที่ครอบครัวใกล้ชิดกัน มีเพื่อน อยู่ในสังคมที่ได้พบเห็นรู้จักกับคนอื่นๆ ได้พบเห็นผู้คนที่หลากหลายแตกต่างกัน มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขา สมองส่วนนี้ก็จะได้รับการกระตุ้นให้เจริญมากหน่อย อันนี้พูดในเชิงชีวภาพนะ 

ถึงสมองส่วนหนึ่งของมนุษย์จะทำหน้าที่นี้ แต่นอกจากเหตุผลทางชีววิทยาแล้ว ก็ยังมีปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้มนุษย์เข้าใจหรือไม่เข้าใจกัน แต่โดยพื้นฐานก็คือมนุษย์มีศักยภาพที่เข้าใจคนอื่นอยู่แล้ว เมื่อผนวกเข้ากับวิวัฒนาการทางสังคม เช่น ความจำเป็นในการร่วมมือกันของมนุษย์ยุคหินในการออกล่าสัตว์ขนาดใหญ่ หรือการเกิดขึ้นของภาษา ซึ่งภาษาเป็นระบบสัญญะที่ทำให้เราสามารถสื่อสารความจำเป็น ความต้องการ ความสุขความทุกข์ของฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายได้รู้ อันนี้ทำให้เราไม่เพียงเข้าใจในเรื่องรูปธรรม แต่ยังเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดในเชิงนามธรรมด้วย

ทั้งเงื่อนไขทางชีวภาพ ปัจจัยทางสังคม และระบบวัฒนธรรมมาประกอบกัน มันช่วยให้มนุษย์มีจินตนาการอย่างหนึ่งขึ้นมา เป็นจินตนาการที่ทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ จินตนาการนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Empathic Imagination เป็นจินตนาการที่ทำให้เราเข้าใจ รับรู้ และรู้สึกได้ว่าชะตากรรมที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นยังไง แม้ว่าเราจะไม่เคยเผชิญด้วยตัวเอง เช่น เราไม่เคยเสียลูก แต่เราจะรู้ว่าแม่ที่ต้องเสียลูกไปมันปวดร้าวแค่ไหน มันเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่มีอยู่ หรือในอีกแง่หนึ่ง การเข้าอกเข้าใจหรือเห็นใจในชะตากรรมของคนอื่นเป็นศักยภาพของความเป็นมนุษย์  ส่วนจะแสดงออกหรือไม่นั้นมันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างเข้ามากำหนด

หมายความว่าเราต่างมี Empathic Imagination เพียงแต่จะแสดงออกหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งเลือกที่จะแสดงออกหรือไม่แสดงออกบ้างคะ 

ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือสังคม สังคมจะสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้เราสามารถเห็นใจหรือไม่เห็นใจกัน เช่น นโยบายรัฐบางอย่าง ก็ง่ายที่จะทำให้คนช่วยเหลือกัน ทำให้เราแสดงความเห็นอกเห็นใจ สมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ จะมีเรื่องเล่ากันว่า วิชาบางอย่างที่เราเรียน อย่างเช่นการเจาะคอ มันอาจมีประโยชน์อย่างมากในกรณีฉุกเฉิน มีการพูดกันว่า สมัยก่อนที่โรคคอตีบยังระบาดอยู่ หมอคนหนึ่งขึ้นรถไฟไปแล้วพอดีไปเจอเด็กป่วยจากคอตีบ หายใจไม่ออก แล้วกำลังจะตาย หมอคนนั้นก็เลยปลอกปากกาลูกลื่น Bic เจาะที่คอให้ตรงตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตราย และทำให้มีรูหายใจให้เด็ก เด็กก็เลยรอดตาย ถามว่าถ้าเป็นสมัยนี้จะมีหมอคนไหนกล้าทำมั้ย ผมคิดว่าคงจะไม่มีหรอก เพราะสังคมเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งเรื่องกฎหมาย หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาที่ทำให้การเข้าไปช่วยเช่นนี้เป็นความเสี่ยง โชคดีที่โรคคอตีบก็หมดไปแล้วในปัจจุบัน แต่สังคมสมัยนี้ก็อาจมีส่วนทำให้การแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือการให้ความช่วยเหลือที่มีความเสี่ยงกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น

หรือตัวอย่างของการเข้าคิวรับของแจก เราอาจจะเห็นบางประเทศที่คนเข้าคิวกันเพื่อรับถุงยังชีพในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ แต่ในบางประเทศ เวลามีรถมาแจกของคนจะแย่งชิงกัน แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่เข้าคิวกัน ถามว่าเขาไม่เห็นอกเห็นใจกันเหรอ ก็ไม่เชิงนะ  ถ้าเรามีระบบที่ทุกคนที่มารับความช่วยเหลือจะถูกจดบันทึกชื่อไว้ แล้ววันนี้ถึงไม่ได้ แต่เขาก็มั่นใจว่าพรุ่งนี้หรือวันต่อมาก็จะมีของใช้จำเป็นเหล่านี้มาแจก และพรุ่งนี้เขาจะได้ก่อน แบบนี้เขาก็คงแย่งกันน้อยลงนะ เพราะว่าคนที่ยังพอมีเขาก็ให้คนที่จำเป็นกว่าไปรับก่อน เพราะวันต่อๆ มาเขามั่นใจว่าเขาจะได้รับเช่นกัน

ระบบที่ดีมันจะทำให้คนแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ในด้านที่ดีได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมาย นโยบาย ระบบงานในองค์กร ความสัมพันธ์ในชุมชน หรือแม้แต่ในหมู่บ้านจัดสรรที่นิติบุคคลดูแล ระบบสามารถถูกออกแบบให้คนช่วยเหลือกันได้ง่ายได้

 

ถ้าพูดถึงสังคมเรา มันมีระบบหรือนโยบายใดบ้างที่ออกมาแล้วมันขัดต่อการสร้าง Empathic Imagination 

สมมติเราขับรถ ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือเราเดินไปบนทางเท้าที่ขรุขระ เป็นหลุม เดินไปแล้วล้มจนขาแพลง เราเองก็คงไม่ชอบ ยิ่งนึกไปถึงคนพิการที่นั่งรถเข็น คนเฒ่าคนแก่ หรือผู้หญิงท้อง เราก็รู้แก่ใจว่ามันสร้างความทุกข์ยากลำบากให้กับผู้คนทั้งหลาย แต่ถึงเราจะเจอเรื่องแบบนี้ คิดว่าเราจะไปแจ้งทางการมั้ย ว่าให้มาซ่อมถนนหรือทางเท้า หรือว่าเราเห็นคนมาลักฝาปิดท่อระบายน้ำที่เป็นเหล็กไปขาย หรือเห็นอาคารที่ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็นคนพิการ เราจะเป็นธุระไปแจ้งให้ทางการจัดการแก้ปัญหาไหม ระบบสังคมที่ทำให้เรื่องสาธารณะกลายเป็นเรื่องของทางราชการ มันไม่ใช่หน้าที่อะไรของคุณ ระบบสังคมที่ทำให้มันไม่เป็นธุระของเรานั่นแหละ ที่ทำให้เราดูแลเพื่อนบ้านเราน้อย ความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathic imagination มันก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นเรื่องของคนสาระแนไปทุกข์แทนคนอื่น 

บางทีความเคยชินของเราก็มีส่วนทำให้ “การทำอะไรตามปกติ” กลายเป็นการซ้ำเติมคนที่มีชีวิตแตกต่างออกไป ผมรู้จักกับคนพิการคนหนึ่งอยู่ที่กาฬสินธุ์ ชื่อลุงประเวศ เกิดมาแขนข้างขวาพิการ คือแขนกุดสั้น ขาสองข้างก็กุด แต่มีมือข้างซ้ายที่พอใช้งานได้ แกอยากจะไปเรียนหนังสือแต่โรงเรียนก็ไม่รับ แกก็นั่งดูพี่สาวถือกระเป๋าแต่งตัวไปเรียน แกอยากไปเรียนมากเลยบังคับให้พี่สาวไปเรียนกลับมาต้องมาสอนแกทุกวันจนแกเรียนเก่งกว่าพี่สาว ต่อมาแกก็ไปเรียนเป็นช่างซ่อมพัดลม เครื่องไฟฟ้า แกก็ทำงาน มีชีวิตอยู่ได้

แกเคยพูดคำหนึ่งว่า “ตอนที่เราเกิดมาพิการ เราจะพิการนิดเดียว แต่สังคมจะทำให้เราพิการมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา” อันนี้ผมว่ามันเป็นความจริงนะครับ แกยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการตอกตะปูที่ฝาบ้านเพื่อใช้แขวนผ้าโดยทั่วไป เราก็ตอกระดับความสูงตามปกติ คือสูงเท่าที่มือเราเอื้อมไปแขวนผ้าได้ แต่พอเราตอกระดับนั้น ลุงประเวศก็กลายเป็นคนพิการเพิ่มไปอีก เพราะแขวนผ้าเองไม่ได้ ทุกๆ อย่างที่สังคมยึดถือเป็นเรื่องปกติ มันก็จะทำให้ลุงประเวศพิการมากขึ้นมากขึ้นโดยปริยาย ทั้งที่เราอาจไม่ได้เจตนาที่จะทำอะไรเช่นนั้นเลย อันนี้คือ ระบบของความเป็นปกติวิสัย ทำให้เราไม่ตระหนักหรือเข้าใจในมุมมองของผู้คนที่แตกต่างออกไป การทำตามปกติของเราก็อาจจะไปซ้ำเติมเขา หรือจะเรียกว่า ความเป็นปกติไปกดทับ Empathic imagination ก็ได้   

จากคำว่า Empathic Imagination มันเกี่ยวโยงกับเรื่องอคติอย่างไรหรือเปล่า

ผมคิดว่า อคติมันเป็นทัศนะที่ทำให้การมองโลกมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ มันไปบดบังความเข้าอกเข้าใจ หรือความเห็นใจคนอื่น โดยเฉพาะอคติที่เกิดจากความไม่รู้และความกลัว เพราะมันไปตัดสินล่วงหน้าและตัดสินไปแบบไม่ได้พิจารณาตรึกตรองให้รอบด้าน  อคติไม่เพียงไปกดทับความเห็นใจหรือความเข้าใจในความทุกข์ของคนอื่น แต่มันยังไปลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาที่แก้ไขได้ยาก

เราอาจมองอคติโดยแยกออกเป็นสามระดับด้วยกัน ระดับหนึ่งคือ ปัจเจก คือมนุษย์ทุกคนเติบโตมา มีประสบการณ์ ความรับรู้และวิธีมองโลกที่สังคมบ่มเพาะให้กับเรา เราก็โตมาแบบนั้น มีคุณค่าบางอย่างที่สังคมถ่ายทอดให้ยึดถือว่าเรื่องนี้ดี เรื่องนี้ไม่ดี เราเรียนรู้และเติบโตและถูกปลูกฝังมาแบบนั้น มันก็อยู่ในระดับตัวบุคคล ยิ่งถ้าเราขาดการไตร่ตรองหรือตรวจสอบตนเอง เราก็อาจรับรู้โลกไม่ได้รอบด้าน และเกิดอคติขึ้นได้ง่ายๆ  

อันที่สองคือ อคติหรือการเลือกปฏิบัติระดับสังคมเลย เช่น การเลือกรับคนเข้าทำงาน มีการกำหนดระเบียบต่างๆ ทำให้คนได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น พนักงานที่เป็นผู้หญิง อาจมีโอกาสได้รับค่าตอบแทนไม่เท่ากับผู้ชาย หรืออาจเติบโตทางงานบริหารได้จำกัดกว่า ระบบอภิสิทธิ์ต่างๆ หรือระบบที่ปฏิบัติต่อคนอย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งระบบที่ว่า บางทีคนที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบก็อาจปฏิบัติไปตามความเคยชิน ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำอคติหรือการเลือกปฏิบัติโดยเขาเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่สร้างอคติ 

แต่ที่สำคัญและอันตรายที่สุดคืออันที่สาม คืออคติและการเลือกปฏิบัติที่ฝังแฝงอยู่ในวิธีคิด คือ มันเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์หรือการมองโลกที่มองคนบางพวกบางกลุ่มว่าต่ำกว่า คนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าเวทนาและเราจะช่วยเหลือเขาได้ก็ด้วยการสงเคราะห์ เราเรียกว่าวิธีคิดแบบเวทนานิยม คือเรามองเขาว่าด้อยและต้องการความช่วยเหลือ ส่วนเราเป็นผู้ให้การสงเคราะห์ในนามของความดี เราอาจคิดว่าเราช่วยเขา แต่จริงๆ แล้วกระบวนการที่เราไปจัดความสัมพันธ์กับเขานั้นมันไปกดทับเขา ให้เขาเป็นเบี้ยล่าง เป็นผู้รับการอนุเคราะห์ และเราเป็นตัวแทนของความดีที่อยู่เหนือกว่าผู้คนเหล่านี้ 

อย่างเช่นการไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อย่างเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ คนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นกลุ่มเปราะบางก็ได้ เพราะเขาไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีอาหาร แล้วก็จะมีบุคคลผู้ปรารถนาดีกลุ่มหนึ่ง ที่มาบริจาคของให้การช่วยเหลือ พวกเขาอาจมาด้วยความอยากช่วยเหลือ แต่คนที่อยู่ในศูนย์พักพิงเหล่านี้ วันๆ ก็จะถูกประกาศเสียงตามสายให้มาเข้าแถวรับของแจก เพราะผู้ที่มามอบถุงยังชีพอยากถ่ายรูป อันนี้ผู้ให้ได้สถาปนาตัวเองเป็นผู้ที่อยู่เหนือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ มาด้วยความเวทนา ซึ่งผมคิดว่าอคติที่แฝงอยู่ในวิธีคิดแบบเวทนานิยม มันเป็นตัวผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำที่แก้ยากที่สุด แนบเนียนที่สุด และบ่อยครั้งก็ถูกตั้งคำถามน้อยที่สุด

เวทนานิยมมาจากไหน ในบริบทสังคมไทย

ถ้าพูดไปถึงรากฐาน ผมว่ามันไปเชื่อมโยงกับวิธีคิดแบบกรรม คนมีกรรมเก่า ทำกรรมชั่วไว้จึงต้องชดใช้กรรม คุณมีชีวิตตกต่ำอับเฉาเพราะชาติที่แล้วไม่ได้ทำความดี ก็ต้องทุกข์ทนไป ส่วนเราเป็นสัตว์ที่ประเสริฐแล้ว ทำบุญมาดีแล้ว จึงได้กินดีอยู่ดีมีฐานะในชาตินี้ และมาสงเคราะห์คุณเพื่อสะสมบุญไปในชาติหน้า คนที่ทุกข์ทนเองที่ยอมรับวิธีคิดและคำอธิบายแบบนี้ก็ยินยอมก้มหน้าทนทุกข์และทำบุญเพื่อจะได้เกิดใหม่ให้มีชีวิตดีกว่าเดิม โดยไม่ได้สนใจกับโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมหรือกดขี่เขาอยู่ ในขณะเดียวกัน ความคิดบางอย่างก็ดูจะถูกทำให้อ่อนแอไป อย่างเช่น ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มักถูกทำให้เป็นความคิดแบบตะวันตก ไม่ใช้วิธีคิดแบบไทยๆ ประเทศไทยผู้คนจึงไม่ค่อยจะเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งหาจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน เราก็ต้องรู้เท่าทันอคติต่างๆ 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางทีคนรับเองก็คิดว่าที่ฉันลำบากแบบนี้ เพราะมันเป็นกรรมของฉัน ฉันเองก็ทำบาปมาเยอะ 

อันนี้ก็มีส่วนสำคัญ คือ วิธีคิดที่ทำให้เหยื่อโทษตัวเองทำให้ไม่มองไปที่ระบบโครงสร้างหรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรม ระบบหรือโครงสร้างสังคมมีส่วนทำให้คนคิดและผลิตซ้ำวิธีคิดแบบนี้ได้เยอะมาก ในขณะที่คนที่มีอภิสิทธิ์ต่างๆ จะถูกมองว่าเป็นคนมีบุญวาสนา อันนี้ เราเองก็อาจคิดไปด้วยว่าถ้าเราไปใช้บริการหน่วยงานต่างๆ แล้วเราได้รับการอนุเคราะห์เป็นพิเศษ เช่น มีเส้นมีสาย หรือมีคนมาช่วยเรา เราก็จะรู้สึกดีเพราะเราได้ประโยชน์ และเราเพิกเฉยกับระบบที่ไม่เป็นธรรมนี้ก็เพราะเราได้เปรียบ แต่ก็มีคนที่เสียเปรียบแต่ยังยอมรับชะตากรรมโดยดุษฎี การสร้างสังคมที่เท่าเทียมบางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจว่า ถ้าไม่มีระบบแบบนี้ ทุกคนก็จะได้รับการปฏิบัติเหมือนๆ กัน 

เช่น ในระบบโรงพยาบาลหลายแห่งมีระบบอภิสิทธิ์ คือ ระบบฝากครรภ์พิเศษ คือถ้าเราเป็นผู้หญิงท้องแแล้วไปโรงพยาบาล เราจะไม่มีความมั่นใจว่าหมอที่มาทำคลอดให้เราจะใช่หมอที่ดีที่สุด เราก็ไปฝากครรภ์ที่รพ.รัฐนั่นแหละ แล้วก็ไปถามพยาบาลว่าหมอคนไหนทำคลอดดี แล้วเราก็จะไปฝากท้องที่คลินิกของหมอคนนั้น แล้วเลียบเคียงถามว่าอยากคลอดกับคุณหมอ อยากฝากครรภ์พิเศษ เขาก็จะรับ โดยมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ระบบนี้มีอยู่เป็นปกติมาช้านาน แม้ได้ข่าวว่ามีความพยายามจะแก้ไขจากทางราชวิทยาลัยฯ แต่การเอื้อให้อภิสิทธิ์เช่นนี้ก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องไปแล้ว  ส่วนคนที่ไม่สามารถไปฝากครรภ์พิเศษได้ก็ต้องยอมรับให้การคลอดเป็นไปตามชะตากรรม

คิดอีกทางถ้าเราใช้ ‘กรรม’ เป็นคำอธิบาย เราก็ไม่ต้องตรวจสอบหรือหาเหตุผลแล้ว เพราะคำว่าเวทนาหรือสงสารมากับความคิดแบบสงเคราะห์ มันคือการทำแล้วรู้สึกดีก็ถือว่าจบ ไม่ต้องสนใจกับโครงสร้างหรือความไม่เป็นธรรมอื่นๆ

ก็มีส่วนนะ เพราะทุกวันนี้ลำพังจะเอาตัวรอดก็ยากอยู่แล้ว การช่วยเหลือคนอื่นแบบที่ง่ายที่สุด คือ การสงเคราะห์ก็อาจจะเป็นคำตอบที่สะดวก แต่นอกเหนือจากการเวทนาและการสงเคราะห์ในระดับปัจเจกแบบไม่ตั้งคำถามแล้ว เราก็ยังสามารถให้ความช่วยเหลือในเชิงระบบได้ไม่ยาก เช่น การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายก้าวหน้า สนับสนุนองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ให้การช่วยเหลือที่ยั่งยืน หรือสนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งการสงเคราะห์รายบุคคลเช่น ทำบุญ แจกของ อะไรพวกนี้มันก็สะดวกและง่าย แต่ขณะเดียวกันมันก็มีมิติทางความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อยู่ด้วย ผู้คนที่ทำเรื่องเวทนานิยมต่างๆ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นผู้มีบุญคุณ กลายเป็นสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา ทั้งในสังคมการเมือง ที่ใช้เวทนานิยมสร้างคะแนนความนิยม เปลี่ยนพลเมืองเป็นผู้รับส่วนบุญ ผู้ประกาศนโยบายกลายเป็นนักบุญมาโปรยทาน  รวมทั้งบริษัทห้างร้านที่ทำ CSR เพื่อสร้างภาพพจน์องค์กรตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยการไปบริจาคข้าวของ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจดำเนินธุรกิจเอาเปรียบผู้บริโภค ผูกขาด หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือแบบเวทนานิยมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกขาวธุรกิจสีเทาเหล่านี้

ที่ผ่านมา เรื่องประชากรกลุ่มเปราะบาง ถูกเล่าในแบบเวทนานิยม ซึ่งมันอาจจะเวิร์คในตอนนั้น แต่ตอนนี้มันอาจไม่แล้วเพราะไม่ได้ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น อย่างนั้นเราควรเล่าเรื่องคนกลุ่มนี้ต่อไปอย่างไร 

เวลาเราเล่าเรื่องให้คนเห็นใจกันมันก็ไม่เลวร้ายเสียทีเดียว บางทีการช่วยเหลือเฉพาะหน้า มันก็สำคัญจริงๆ อย่างเขาที่เขากำลังอดตายตรงหน้าเรา ยังไงก็ต้องเอาอาหารให้เขากินก่อน ซึ่งมันก็อาจจะมีสถานการณ์หรือบริบทที่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ต้องไม่ใช่การช่วยเหลือแบบเวทนานิยมที่กดทับผู้รับการช่วยเหลือในนามของความดี เพราะเงื่อนไขแบบเวทนานิยมมันมักจะเป็นสาเหตุของการเข้าไปหาประโยชน์จากกลุ่มที่แสดงตัวเป็นคนดี เป็นคนปรารถนาดี มีเมตตา ซึ่งนับวันจะยิ่งตรวจสอบได้ยาก

แต่การเล่าเรื่องแบบเวทนานิยม ต้องเข้าใจก่อนว่า การเขียนเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ ตัวละครหรือสถานการณ์ที่ถูกนำมาเขียน ส่วนใหญ่จะเขียนเพื่อให้เขามีชีวิตชีวาขึ้น มักเน้นที่ภาพเหมารวมของเขา เช่น ถ้าเราเขียนถึงเมียน้อย ก็จะมีภาพขึ้นมาเลยว่าเมียน้อยเป็นยังไง หรือถ้าเราเขียนถึงคนไร้บ้าน คนพิการ คนในสลัม ส่วนหนึ่งเราทำตัวละครเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้คนอ่านจดจำและเข้าใจเขาได้ง่าย เรามีชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยภาพเหมารวมซึ่งมีทั้งเชิงบวกและลบ เราจัดหมวดหมู่ของคนแล้วเราก็ดูภาพรวมว่าคนกลุ่มนี้มีลักษณะยังไง เราเติบโตมาในสังคมที่ฝึกให้จดจำคนผ่านภาพเหมารวมเหล่านี้ ภาพเหมารวมจึงเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่แล้วในสังคม มันทำงานโดยการช่วยทำให้เราจัดความสัมพันธ์และรู้ว่าจะคาดหวังอะไรจากใคร

ในการเล่าเรื่อง เราก็อาศัยภาพเหมารวมในการสื่อสารกับผู้อ่าน ซึ่งมีทั้งบวกและลบ ปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้ ไม่ว่าจะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ เด็ก วัยรุ่น ก็จะถูกภาพเหมารวมในเชิงลบมาก อาจเป็นเพราะสังคมที่เร่งรีบทำให้เราเสพเรื่องที่ง่ายๆ ฟังเรื่องที่ไม่ซับซ้อน คนดีคนชั่วแยกจากกันได้ชัดเจน มันเร้าอารมณ์ได้ดีกว่าการต้องมาพิจารณาตรึกตรอง แต่เราก็ต้องแยกแยะว่าเรื่องเล่าที่เป็นงานศิลปะหรือวรรณกรรมชั้นดี ส่วนมากมักจะเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเหล่านี้ ให้คนเห็นว่า “ความเป็นมนุษย์” ที่ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีท่ามกลางความพิกลพิการของผู้คนและสังคม งานศิลปะทำให้เราเคารพและดื่มด่ำกับคุณค่าและความเป็นมนุษย์ที่อยู่ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์ฉาบฉวยเฉพาะหน้า เรื่องเล่าของกลุ่มคนที่เสียเปรียบหรือเปราะบางจึงไม่จำเป็นต้องผลิตซ้ำการตีตรา แต่มันอาจทำหน้าที่ปลดปล่อยหรือเปิดโปงโครงสร้างอำนาจที่กดทับเขาเหล่านั้นก็ได้

ผมว่าถ้าเราสร้างความเข้าใจในเรื่องราวและชะตากรรมของคนเหล่านี้ให้คนเข้ามาสัมผัสได้มากขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ก็จะถูกบอกเล่าให้คนได้ยิน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่และโอกาสที่จะให้เขาได้เล่าเรื่องราวของเขาเอง เป็นเรื่องที่ถูกบอกเล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ก็จะทำให้คนเข้าใจเรื่องราวมากขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราเน้นเรื่องเสียงที่คนไม่ได้ยิน

 

ถามแบบซื่อๆ เลยค่ะ ทำไมคนเรามีอคติต่อกันได้ง่ายมากเลย

อันนี้มันไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศ แต่เกิดขึ้นทั่วโลก เราอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นผลผลิตของยุคสมัยก็ได้ เพราะในยุโรปหรือในอเมริกาเองก็เกิดอคติขึ้นมากับกลุ่มคนต่างๆ เยอะ และเกิดเป็นความรุนแรงด้วยซ้ำ เช่น การกระทำต่อคนผิวดำ ผู้อพยพลี้ภัย หรือแรงงานต่างชาติ คนผิวดำเองก็มากระทำคนเอเชีย คนผิวขาวก็ไปกระทำกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น 

ผมว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอคติต่อคนได้ง่ายขึ้น เพราะโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน เราสร้างโลกแวดล้อมที่มีคนที่เหมือนๆ กับเรามากขึ้นตลอดเวลา ผู้คนก็จับกลุ่มในความชอบเหมือนๆ กัน เพื่อนที่ไม่ชอบเราก็อันเฟรนด์ไป มันก็จะเป็น echo chamber เป็นโลกเป็นถ้ำที่ปลอดภัยของเรา ที่ก้องเสียงสะท้อนของตัวเอง พอมีคนที่แตกต่างจากเรา เราก็รู้สึกไม่ใช่พวกเรา ความเป็นอื่นถูกสร้างมาจากอัตตลักษณ์ของกลุ่มที่แข็งแรง ผมคิดว่าแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นแง่หนึ่งที่จำเป็น คือจะทำยังไงให้เกิดการสนทนาข้ามกลุ่ม เหมือนสมัยก่อนที่มีความแตกต่างทางศาสนา เขาก็จะพยายามสร้าง inter-faith dialogue คือการสนทนาข้ามทางความเชื่อ อันนี้ก็มีความจำเป็น

แล้วเราจะสร้างสังคมที่รู้สึกรู้สากันได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องไปเลือกตั้งก่อน (หัวเราะ) 

ถ้าพูดแบบกว้างๆ มันอาจจะมีอยู่ในสามส่วน ส่วนแรกคือทำกับตัวเอง นั่นคือทำตัวเองให้เข้าใจโลก เข้าใจความหลากหลาย เปิดใจรับความแตกต่างให้ได้มากขึ้น เรื่องบางเรื่องเรามีอคติไม่รู้ตัว การที่เราได้พูดคุยกับคนที่ไม่ได้รู้จักเขาเลย ก็อาจทำให้อคติลดลง

ผมชอบคำพูดของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น เขาบอกว่า “I don’t like that man. I must get to know him better.” คือ ผมไม่ชอบขี้หน้าไอ้หมอนี่เลย คงต้องหาเวลาไปรู้จักกับเขามาขึ้นหน่อย ส่วนมากเราไม่ชอบขี้หน้าใครเราก็ไม่คุยหรือไม่อยากไปรู้จักให้ดี แล้วเอาจริงๆ ความไม่ชอบขี้หน้ามักจะเกิดจากการมีข้อเท็จจริงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่พอไปคุยหรือทำความรู้จักแล้วก็อาจพบว่าเขาก็คล้ายๆ เรา  ส่วนใหญ่อคติจะมาจากการรับรู้ความจริงเพียงเสี้ยวส่วน

อันที่สองระดับองค์กร เพราะเราก็ทำงานในองค์กร จะเป็นกลุ่ม หรือเป็นสมาชิกของชุมชนอะไรสักอย่าง ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยๆ กันได้ ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานลดอคติลง สามารถทำได้หลายเรื่องมากเลย ตั้งแต่นโยบายการรับคนเข้าทำงาน การสร้างสิ่งแวดล้อม การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ไม่เลือกปฏิบัติ หรือลดการผลิตซ้ำอคติของผู้คน ก็สามารถทำได้ในระดับองค์กรหรือชุมชนที่เราทำงานอยู่ด้วย

อันสุดท้ายคือระดับประเทศเลย ต้องส่งเสียง ไปเลือกตั้งก่อน แต่ว่านอกเหนือจากการเมืองทางการก็ยังมีการเมืองสาธารณะอีกเยอะแยะเลยในชีวิต เช่น ช่วยกันรณรงค์ส่งเสียงให้คนรับรู้ สื่อสารให้คนเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ จัดกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจเรื่องอคติ การสนทนาสถานการณ์เหล่านี้ให้ต่อเนื่อง การทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เคารพในความหลากหลาย สังคมที่คนเท่าเทียมกัน และรู้เท่าทันอคติ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ