SWING คือ บริการสุขภาพจาก ‘คนขายบริการ’ เพื่อ ‘คนขายบริการ’
ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
หนึ่งในข้อมูลที่เราจะพบได้เมื่อเสิร์ชคำว่า ‘มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ’ หรือ Swing Thailand บนโลกอินเทอร์เน็ต
คำถามต่อมาอาจสงสัยว่า แล้วมูลนิธินี้เกี่ยวกับอะไร? – ตรงตามชื่อของมูลนิธิเลย พวกเขาทำงานและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อเป้าหมายให้พี่น้อง Sex Worker หรือพนักงานบริการทางเพศ ไม่ว่าจะหญิง ชาย หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ในฐานะที่เป็นแรงงานและมนุษย์คนหนึ่ง
‘สุขภาพ’ เป็นมิติที่ SWING ให้ความสำคัญลำดับแรกๆ เพราะอาชีพพนักงานบริการถูกสังคมมองในแง่ลบ ทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัว เมื่อป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ไม่กล้าไปหาหมอเพราะอาย รวมถึงอาชีพนี้ผิดกฎหมายยิ่งกลายเป็นปิดตายประตูพวกเขาที่จะเข้าถึงการรักษา สุดท้ายก็ส่งผลเสียกับเจ้าตัวที่อาการอาจแย่ลง
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิ เล่าย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว ภาพจำที่สังคมมีต่ออาชีพ Sex worker ว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ทำให้เพศอื่นๆ ที่ทำงานนี้ แต่ไม่มีบริการรักษาเวลาพวกเขาเจ็บป่วย เพราะความไม่เข้าใจและความอายว่ามีเพศสัมพันธ์แตกต่างจากกรอบที่สังคมตั้งไว้ ทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพของ Sex worker ที่เป็น LGBTQ+ ยากลำบาก
“มันเป็นกำแพงที่ใหญ่มากๆ ทำให้พี่น้องเราเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ เราต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า คนขายบริการไม่ได้มีแค่เพศหญิง มันมีเพศชาย มี LGBTQ+ ด้วย รวมถึงจะทำยังไงให้เขาได้รับการดูแล เข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะกับพวกเขา”
เป็นที่มาของการทำ ‘คลินิกสุขภาพ’ สำหรับคนทำงานบริการทางเพศ ตรวจรักษาโรคที่เกิดจากการทำงาน เข้ารับบริการฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ และรับถุงยางอนามัย สารหล่อลื่นฟรี
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรกๆ ของการทำงานนี้ ที่ปลายทาง Swing ต้องการทำให้ระบบบริการสุขภาพทั้งประเทศมีพื้นที่ให้กับ Sex worker และ LGBTQ+
ลงลึกกันมากขึ้นด้วยการสนทนากับสุรางค์ จันทร์แย้ม และจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิ ถึงการทำงานของมูลนิธิและความสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนทุกคนควรได้รับ ไม่ว่าจะเพศหรือประกอบอาชีพใดก็ตาม
ที่มาของคลินิกบริการสุขภาพเพื่อ LGBTQ+ ที่มีอัตลักษณ์เชิงซ้อน
กลุ่มเป้าหมายหลักที่มูลนิธิทำงานด้วย คือ Sex Worker และ LGBTQ+ ที่มีอัตลักษณ์เชิงซ้อน หมายความว่าเป็น LGBTQ+ ที่เป็นคนหูหนวก เป็น Sex worker หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ พวกเขามีตัวตนอื่นๆ นอกเหนือจากเป็น LGBTQ+ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ยากลำบาก งานของมูลนิธิที่ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างระบบบริการสุขภาพที่พวกเขาเข้าถึงได้
จำรอง ยกตัวอย่าง LGBTQ+ ที่เป็นคนหูหนวก ซึ่งสื่อสารด้วยภาษามือ แต่ในการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นภาษาพูด บุคลากรที่ใช้ภาษามือได้มีน้อย โรคหรือวิธีการรักษาบางอย่างก็ยังไม่มีในภาษามือ กลายเป็นอุปสรรคสำหรับพี่น้องคนหูหนวกที่จะได้รับบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
งานของ SWING เก็บรวบรวมความต้องการของพี่น้องเหล่านี้ว่า เขาต้องการระบบบริการสุขภาพแบบไหน ปัญหาสุขภาพที่พวกเขามีคืออะไรบ้าง ก่อนจะออกแบบบริการให้สอดคล้องความต้องการและเปิดเป็นคลินิก ที่ในกรุงเทพฯ และพัทยา ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้บริการตรวจ HIV (human immunodeficiency virus) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ บริการตรวจวัดระดับฮอร์โมนส์สำหรับคนข้ามเพศ รวมถึงคัดกรองโควิด โดยคลินิกของ Swing ทำหน้าที่เป็นคนคัดกรองตรวจโรคเบื้องต้น ก่อนส่งต่อให้โรงพยาบาลที่ทำงานร่วมกันรักษาต่อไป
การสำรวจและเก็บข้อมูล SWING เริ่มทำกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นคนหูหนวก เปิดเป็น workshop ให้คนหูหนวกมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในขณะเดียวกันมูลนิธิก็จัดวิทยากรมาให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง เพราะคนหูหนวกบางคนเข้าไม่ถึงความรู้ทางสุขภาพ บางคนไม่รู้จัก HIV ไม่รู้ว่าอาการที่ตัวเองมีคือโรคอะไร ไปหาหมอก็ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือเข้ารับการรักษาแล้วแต่สื่อสารไม่เข้าใจอาจทำให้เขาไม่ได้กินยา หรือดูแลตัวเองผิดวิธี
เป้าหมายต่อไปที่มูลนิธิอยากทำ คือ พจนานุกรมภาษามือ รวบรวมคำศัพท์ที่ใช้เวลาเข้ารับบริการสุขภาพ คำเรียกโรคต่างๆ ในภาษามือ โดยชวนคนหูหนวกมาออกแบบกันเอง
“การสื่อสารกับหมอไม่ได้มันเป็นอุปสรรคที่ชัดเจนมากของคนหูหนวก สิ่งที่หมอพูดไม่มีในภาษามือ คนหูหนวกก็ไม่เข้าใจ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องมีดิกชันนารี เราควรมาออกแบบภาษามือสำหรับใช้ในระบบบริการสุขภาพ เช่น ‘ซิฟิลิส’ ควรสื่อสารในภาษามือยังไง” จำรอง อธิบาย
กลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นแรงงานต่างชาติ การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในไทยก็เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาเช่นกัน เพราะบางคนอยู่แบบผิดกฎหมาย ไม่กล้าไปหาหมอ ระบบบริการสุขภาพที่ SWING ทำเลยพยายามลดอุปสรรคส่วนนี้ เช่น จัดการเอกสารทางกฎหมาย เป็นตัวกลางพาพวกเขาเข้าสู่ระบบบริการที่เตรียมไว้
“งานนี้น่ารักอย่างหนึ่ง คือ ให้พี่น้องที่มีเพศสภาพ อัตลักษณ์เหมือนกัน แต่ว่าเป็นคนต่างชาติ เป็นคนหูหนวก และเป็น Sex Worker ได้มาอยู่ด้วยกัน ได้เข้าใจกันและกัน ในวิถีชีวิตทั่วไปคนที่มีความต่างกันมากๆ เราไม่มีโอกาสได้เจอหรือสื่อสารกันเท่าไร แต่งานนี้ทำให้เขาได้มาเจอกัน มันช่วยทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าเราไม่ได้แตกต่าง ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น เรายังมีเพื่อนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แล้วเราจะช่วยดูแลกันอย่างไร” สุรางค์กล่าว
คลินิกจะเปิดบริการให้สอดคล้องกับเวลาชีวิตคนใช้ เช่น คลินิกที่พัฒน์พงศ์เปิดให้บริการ 11.00 – 18.00 น. สร้างความสะดวกให้กับพี่น้องว่าเขาสามารถมารับบริการได้ง่ายๆ ไม่ต้องหยุดกิจกรรมอื่นมาเพื่อหาหมอ
รวมถึงผู้ให้บริการในคลินิกเองก็เคยเป็น Sex worker หรือเป็น LGBTQ+ เช่นกัน มูลนิธิชวนคนเหล่านี้ที่สนใจมาฝึกพัฒนาศักยภาพจนสามารถให้บริการคนอื่นๆ ได้
“คนเข้ามาใช้บริการคลินิกเราต่อเนื่องนะ เพราะเขารู้สึกว่าได้มาเจอเพื่อน เป็นเพื่อนที่เป็นมืออาชีพ เข้าใจและพูดภาษาเดียวกัน อันนี้จุดสำคัญทำให้เขาสบายใจ มีความสุขระหว่างเข้ารับบริการ” สุรางค์ เล่าถึงฟีดแบ็กคนใช้บริการที่มีให้เธอ
เมื่อ ‘เห็นคุณค่าในตัวเอง’ ก็จะรักและดูแลตัวเองเป็น
จุดเด่นของระบบบริการสุขภาพที่ SWING ทำ คือ ให้คนที่มีอัตลักษณ์และเพศสภาพเหมือนกันมาเป็นคนให้บริการ การเตรียมพวกเขาให้พร้อมเป็นเรื่องสำคัญ
สุรางค์ อธิบายถึงวิธีเตรียมเจ้าหน้าที่ว่า จะมีเรื่องที่เขาต้องระมัดระวังในการให้บริการ เพราะคนแต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของเขาเอง เช่น คนหูหนวก ที่จะมีเจ้าหน้าที่เป็นคนหูหนวกคอยให้บริการ หรือแรงงานต่างชาติ ก็มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกันให้บริการ เช่น ลาว กัมพูชา
การมีภูมิหลังเหมือนกันทำให้พวกเขาเข้าใจกันง่ายขึ้น เรื่องสำคัญที่ต้องสร้างให้กับคนให้บริการรวมถึงคนอื่นๆ ที่มูลนิธิทำงานด้วย คือ ทำให้เขาเคารพในตัวเอง สุรางค์ อธิบายว่า การที่สังคมมองอาชีพนี้ในแง่ลบ ส่งผลให้เจ้าตัวคิดเสมอว่าตัวเองไม่ดีพอ ดังนั้น ต้องทำให้เขาเคารพตัวเอง รักตัวเองเป็น จากนั้นเขาจะจะดูแลตัวเองได้ สนใจเรื่องสุขภาพ
“การที่เราทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่เพื่อไปเดินบอกใครๆ ว่าฉันเป็น Sex Worker แต่ภาคภูมิใจว่าเราทำอะไรได้ เคารพตัวเอง เคารพในสิ่งที่ทำ สุดท้ายเขาจะรักตัวเอง รู้ว่าต้องดูแลสุขภาพตัวเองยังไง
“ที่ Swing เราอยู่เป็นครอบครัว คนที่มาทีหลังเขาจะเห็นคนที่อยู่ก่อนหน้าที่ภาคภูมิใจในตัวเอง กล้าพูดว่าเขาเป็นใคร ทำงานอะไร สุดท้ายก็เกิดการส่งต่อความรู้สึกพวกนี้ ไม่ต้องรู้สึกอายว่าตัวเองเป็นใคร เพราะความอายมันทำให้เราไม่กล้าไปไหนต่อ เกิดความกลัว ฉะนั้นการมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ทำให้เขากล้าที่จะก้าวข้ามความกลัว ก้าวข้ามสิ่งที่ตัวเองไม่กล้าพูดได้”
จำรอง เคยเป็น Sex worker มาก่อน ความมั่นใจป็นสิ่งที่ขาดหายไปในตัวคนเหล่านี้ การได้รับคำชื่นชมกลายเป็นพลังที่จะช่วยตามหาสิ่งที่ขาดไป และการที่มีต้นแบบให้เห็นว่า เขาทำได้ เราก็สามารถทำได้เหมือนกัน
นอกจากเรื่องสุขภาพ มูลนิธิยังทำงานในมิติอื่นๆ นั่นคือเรื่องการศึกษา ชวน(ใคร) เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนคนที่ต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะประกอบอาชีพ จากการสำรวจรู้ว่าอาชีพที่พวกเขาสนใจมี 3 อย่าง คือ ทำเล็บ ตัดผม และทำเบเกอรี่ มูลนิธิก็จะจัดคอร์สอบรม เตรียมอุปกรณ์ให้ จนสามารถไปประกอบอาชีพได้เองควบคู่กับงานเดิมที่ทำ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม
“เรารู้ว่าข้อจำกัดคนกลุ่มนี้ คือ เรื่องการศึกษา เราก็จะทำให้การเรียนรู้มันสนุก เข้าใจได้ง่ายๆ วิทยากรที่เชิญมาให้ความรู้ ส่วนใหญ่เราจะใช้รุ่นพี่ที่มูลนิธิเคยทำงานด้วยก่อน เขาจะมีวิธีสื่อสารกันเอง แล้วทำให้คนอื่นเห็นว่าคนอื่นยังทำได้ เราก็ต้องทำได้
“การชื่นชมและการเติมเต็มกันเรื่องกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันทำให้เขาเติบโตและลุกขึ้นมาทำงาน Sex Worker ที่เมื่อก่อนเป็นผู้รับบริการสุขภาพ ตอนนี้กลับกลายมาเป็นผู้ให้บริการสุขภาพ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเขามากๆ เลย” สุรางค์ เล่า
จำรองแชร์วิธีเรียนรู้ที่เหมาะสมกับ Sex worker คือ Learning By Doing เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
“ให้คนพาทำไปเลย เพราะเรียนด้วยการนั่งฟังอย่างเดียวเขาอาจได้รับข้อมูลไม่เต็มประสิทธิภาพ”
เปลี่ยนทัศนคติคนที่มีต่อ Sex Worker ด้วยการชวนมาทำงานด้วยกัน
มายาคติหรือภาพจำที่สังคมมีต่ออาชีพ Sex Worker เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานของ Swing โดยเฉพาะทัศนคติของคนที่ใช้กฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของอาชีพนี้โดยตรง เช่น ตำรวจ
สุรางค์รู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนเข้าใจในสิ่งนี้ เธอเลือกใช้วิธี ‘คนละครึ่ง’ ชวนมาทำงานด้วยกัน เพื่อให้พวกเขาเห็นภาพจริงๆ ของ Sex Worker ที่ไม่ใช่มาจากคำบอกเล่า
“เราจะรับนักเรียนนรต.มาอยู่ฝึกงานด้วยทุกปี มาอยู่กับเรา 2 สัปดาห์ ก็ทำงานเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ของ SWING คนหนึ่ง learning by doing เรียนความแตกต่างด้วยกัน
“นรต.บางคนที่เข้ามาจะบอกก่อนว่า ภาพที่เขามีต่อ Sex Worker ไม่ดีเลย ฉะนั้น สมควรแล้วที่ต้องใช้กฎหมายปราบปราม แต่ 2 สัปดาห์ที่เขาอยู่กับเรา เขาได้เห็นชีวิตคนจริงๆ เห็นความยากลำบากของพี่น้อง Sex Worker ภาพที่เขาเคยมีเปลี่ยนไปเลย
“มีน้องนรต.คนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เขาอยากทำมากที่สุด คือ ให้ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีออกไป เพราะเขาเห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหา สร้างความยากลำบากให้ชีวิต Sex Worker มาก”
Swing พยายามหาช่องทางต่างคนต่างจะมาเจอกันคนละครึ่งทางได้อย่างไร ค่อยๆ มาสร้างความเข้าใจระหว่างกันผ่านการมองเห็นชีวิตแต่ละคนจริงๆ อาจได้ผลมากกว่าการโต้เถียงหรือพยายามไปเปลี่ยนอีกฝ่าย
“กฎหมายมัน strong มาก มีแค่ว่าอันนี้ต้องถูก อันนี้ต้องผิดนะ คนทำงานก็จะคิดแบบนั้น แต่พอมาลงพื้นที่จริงๆ สิ่งที่เขารับรู้ว่าการค้าประเวณีผิดกฎหมาย แต่มีป้าคนหนึ่งที่อายุเท่าแม่เขาเลย ไม่มีลูกเต้าเลี้ยงเลยต้องมาทำงานแบบนี้เพื่อเลี้ยงตัวเอง ซึ่งมันจะผิดกฎหมายยังไงละ เขาจะจัดการเรื่องนี้ยังไง ถ้ากฎหมายบอกว่ามีถูกมีผิด บางครั้งกฎหมายไม่สามารถใช้กับชีวิตคนได้ 100%” จำรอง กล่าว
การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เรื่องพื้นฐานสามัญที่ทุกคนควรได้รับ
เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นที่มาของงานมูลนิธิ SWING เพราะระบบสุขภาพเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้รับและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การมีสุขภาพดีเป็นเรื่องสามัญ เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันที ชีวิตของเราก็ดีตามไปด้วย สามารถไปโฟกัสสิ่งอื่นๆ
และการทำระบบบริการสุขภาพที่ตั้งต้นมาจากแนวคิดว่า ทุกคนสามารถให้บริการได้ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น คนในชุมชนเองก็สามารถลุกขึ้นมาทำได้ โดยได้รับการเตรียมตัว ฝึกฝน มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งสุรางค์บอกว่าโมเดลการให้บริการสุขภาพเช่นนี้ทั่วโลกกำลังสนใจ ทางมูลนิธิกำลังให้ข้อมูลฝั่งลาว กัมพูชา กลุ่มที่สนใจอยากทำเหมือนกัน
ในมุมมองของสุรางค์ การทำงานนี้นอกจากทำให้กลุ่ม LGBTQ+ และ Sex Worker เข้าถึงบริการสุขภาพได้ มันคือการรวมตัวของกลุ่มคนที่ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวอีกต่อไป ยังมีเพื่อนมีพี่น้องที่เผชิญเรื่องเดียวกัน พร้อมจะจับมือช่วยกันพาเดินต่อไปด้วยกัน
“พอเรามีพื้นที่ให้เขามารวมกลุ่มกัน มันเห็นพลังของเขาในการทำงานของเขา เห็นความสุขที่เกิดขึ้นว่า เขาไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไป อันนี้คือสิ่งที่เป็นคำตอบว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สุรางค์กล่าวทิ้งท้าย