การจ้างงานเชิงสังคม : พอมีงานทำ คนพิการกลายเป็นหมอหรือครู มีเงินเลี้ยงครอบครัว สถานะเปลี่ยนหมดเลย
เดินทางไม่สะดวก ระดับการศึกษาน้อยเกินไป และทำงานไม่ได้
คือ สามจากหลากหลายข้อจำกัดเมื่อคนพิการจะต้องออกจากบ้านไปทำงาน แม้ลึกๆ แล้ว พวกเขาก็อยากทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว
การจ้างงานเชิงสังคมจึงเกิดขึ้น โดยมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเป็นหน่วยงานเชื่อมประสาน พัฒนากลไกให้เกิดการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ขณะเดียวกันสถานประกอบการก็สามารถจ้างงานคนพิการได้ตามข้อกำหนดกฎหมายในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.
การดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอด 7 ปีของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ทำให้รู้ว่า “คนพิการต้องการงานใกล้บ้าน” จึงทำให้การทำงานของมูลนิธิฯ ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนให้งานเข้าถึงคนพิการ แต่เป็นการประสานงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่คุยกับสถานประกอบการ คัดเลือกหน่วยงาน จัดเตรียมระบบสนับสนุนติดตาม และผลักดันกฎหมาย
โดยมีเป้าหมายเดียว คือ การเปิดพื้นที่และลดอุปสรรคให้คนพิการเข้าถึงงาน ลองเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้ จนนำมาสู่การพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต และสถานประกอบการก็สามารถจ้างงานคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมคืออะไร
สถานประกอบการที่มีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างพนักงานพิการ 1 คน
คือ ข้อกำหนดของสถานประกอบการตามมาตรา 33 ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550
หากสถานประกอบการไม่สามารถจ้างงานได้ ผู้ประกอบการจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ที่กำหนดว่า สถานประกอบการจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ โดยคิดจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงาน หรือช่วยเหลือคนพิการทางอ้อมตามมาตรา 35 เช่น การจัดจ้าง การให้สัมปทาน หรือให้ความช่วยเหลือคนพิการในด้านต่างๆ
แม้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่สถานประกอบการหลายแห่งก็ยังไม่พร้อมจ้างงานคนพิการทั้งเรื่องการเตรียมสภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับคนพิการ การจ้างงานเชิงสังคมจึงเกิดขึ้นเพื่อหางานที่เหมาะสมให้กับคนพิการ หมายถึง งานใกล้บ้านและเป็นงานที่พวกเขาสามารถทำได้ตามกำลังและความสามารถที่มี
หลักการทำงานของมูลนิธิฯ คือ การชวนสถานประกอบการเปลี่ยนการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 เป็นการมอบอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานที่ทำบริการสาธารณประโยชน์ หรือสถานประกอบการในชุมชนคัดเลือกคนพิการเข้ามาทำงานด้วยตัวเอง
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม บอกว่า การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้คนพิการได้ทำงานใกล้บ้าน คนรอบตัวห่วงคนพิการน้อยลง คนพิการได้แสดงศักยภาพ หน่วยงานมีคนทำงาน ทำบริการที่เป็นประโยชน์กับชุมชนได้มากขึ้น และสถานประกอบการสามารถจ้างคนพิการได้ตามที่กฎหมายกำหนด
“การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมเป็นทางเลือกและนวัตกรรมหนึ่งที่ทำให้คนพิการได้ทำงานใกล้บ้านอยู่ในชุมชนและภูมิลำเนา ลดปัญหาการเดินทางเขายังอยู่กับครอบครัวเขา เพราะฉะนั้นจะดูแลกันได้ง่ายขึ้น เพราะงานไปหาเขา แล้วก็เป็นงานที่เขาใช้ความสามารถทำงานให้หน่วยงานในพื้นที่ได้ ขณะเดียวกันหน่วยงานก็ได้เจ้าหน้าที่มาเพิ่มโดยไม่มีภาระงบประมาณ และบริษัทก็สามารถจ้างงานคนพิการได้ตามที่กฎหมายกำหนดโดยรู้ว่าคนพิการได้ทำงานจริงๆ และงานนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน”
คนพิการต้องการ ‘งานใกล้บ้าน’ และเป็นงานที่ไม่ได้เรียกร้องศักยภาพไปมากกว่าความเป็นตัวเขาเอง
ไม่เพียงแต่ปัจจัยของสถานประกอบการ แต่สำหรับคนพิการ อภิชาติบอกว่า การออกจากบ้านก็เต็มไปด้วยความท้าทายหลายด้าน ทั้งเรื่องการศึกษา การเดินทาง ความสามารถในการทำงาน สถานะเศรษฐกิจ และการต่อสู้กับมายาคติของสังคม
“สังคมออกแบบเพื่อรองรับคนทั่วไป แต่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับความพิการ โดยเฉพาะคนพิการที่มีความท้าทายสูง เช่น จำเป็นต้องใช้วีลแชร์ สังคมไม่ได้ออกแบบโครงสร้างให้เขาสะดวกขนาดนั้น สิ่งนี้ไม่ได้เป็นความผิดของใคร แต่มันเป็นความไม่พร้อมของทุกส่วนประกอบกัน”
“ถึงแม้ว่าจะมีคนพิการที่อยากทำงานตามบริษัท ห้างร้าน หรือโรงงาน แต่คุณสมบัติไม่ตรง เช่น ประสบการณ์ไม่ตรง เดินทางไม่สะดวก รวมถึงระดับการศึกษาน้อยเกินไป ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่านั้น บางส่วนไม่ได้รับการศึกษาเลย เฉพาะปัญหาเรื่องระดับการศึกษาไม่ต้องพูดถึงคนพิการ คนทั่วไปก็หางานยากเหมือนกัน”
“ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการส่งลูกหลานเรียนหนังสือเป็นความท้าทายใหญ่ในแง่เศรษฐกิจของครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ แล้วถ้าลูกหลานมีความพิการอีก เขาจะเป็นห่วงว่าถ้าเข้าเรียนจะปรับตัวได้ไหม จะถูกรังแกหรือเปล่า และข้อสำคัญ คือ คิดว่าคนพิการดูแลตัวเองไม่ได้ เรียนหนังสือไปก็สูญเปล่า ซึ่งว่าไม่ได้ เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและพื้นที่”
ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คนพิการต้องการ ‘งานใกล้บ้าน’ และเป็นงานที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่าความเป็นตัวเขาเอง ดังนั้นหน้าที่ของคนพิการในหน่วยงานชุมชนจึงรับบทผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ให้บริการท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่ซักประวัติคนไข้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แม่ครัวในโรงเรียน หรือเป็นผู้ช่วยช่างทาสีอาคาร เป็นต้น
“หน่วยงานพื้นที่จะกำหนดเองว่า เขาจะเปิดตำแหน่งอะไร เช่น เรียนจบการศึกษาระดับไหนก็ได้ แต่เป็นคนอัธยาศัยดี อ่านหนังสือได้ คุยกับคนเป็น คือ เป็นงานที่เปิดกว้าง ไม่ได้ซับซ้อน แต่ครอบคลุมทุกความพิการ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้พิการและหน่วยงานนั้นๆ”
ความร่วมมือและประสานงาน หัวใจสำคัญที่ทำให้การจ้างงานคนพิการเชิงสังคมเกิดได้จริง
งานหลักของมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม คือ การประสานงานและสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อเปิดช่องทางให้งานเข้าถึงคนพิการได้มากขึ้น
งานส่วนแรก คือ การคุยและชวนผู้ประกอบการให้เต็มใจเปลี่ยนจากการส่งเงินฯ เป็นการส่งเสริมอาชีพคนพิการแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานประกอบการหลายแห่งไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถจ้างงานคนพิการด้วยรูปแบบ ‘การจ้างงานคนพิการเชิงสังคม’ ได้ พวกเขาจึงเลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ แทนการจ้างงานคนพิการ
แต่ขั้นตอนการพูดคุยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายในองค์กร หากผู้บริหารไม่เห็นด้วย การทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็ไปต่อไม่ได้
“ข้อติดขัดคือเราเข้าไม่ถึงผู้บริหาร ไปติดอยู่ที่ฝ่ายทรัพยากรส่วนบุคคลหรือฝ่ายกฎหมาย เขาสนใจเรื่องกฎระเบียบแต่ไม่สนใจอิมแพคที่เกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่ถ้ามูลนิธิฯ ไปคุยเอง 99% เขาจะเอาด้วย เพราะเขาเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน รวมถึงเห็นเรื่องราวระหว่างทางของคนพิการว่า การช่วยคนพิการแบบนี้มันช่วยเปลี่ยนชีวิตของเค้ายังไงบ้าง แล้วคนพิการกลุ่มนี้ทำอาชีพสร้างประโยชน์กับสังคมได้อย่างไร” อภิชาติเสริม
งานต่อมา คือ การหาเครือข่ายในชุมชนที่จะตอบรับการทำงานของคนพิการที่ตั้งใจส่งเสริมอาชีพคนพิการจริงๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคีและเครือข่ายสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากร กลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ร่วมบูรณาการการทำงานจนปัจจุบันมีคนพิการได้ทำงานใกล้บ้านจำนวน 6,000 คน และมีงานทำต่อเนื่องปีละ 3,000 อัตรา จากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งหมด 1,200 แห่ง
และถึงแม้สถานประกอบการจะยินยอมและมีหน่วยงานที่ตอบรับศักยภาพของคนพิการแล้ว แต่ถ้ากฎหมายไม่อนุญาต การจ้างงานเชิงสังคมก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงนำมาสู่บทบาทสำคัญของมูลนิธินวัตกรรมสังคมอีกอย่างหนึ่ง คือ การประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้คนที่กำกับกฎหมายวางใจได้ว่า การจ้างงานเชิงสังคมเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและมีกลไกในการตรวจสอบที่เชื่อถือได้
“เราต้องได้รับอนุญาตจากภาครัฐที่กำกับเรื่องนี้ คือ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ด้วยการประสานให้บริษัทและคนพิการมาพูดคุยเตรียมเอกสารเพื่อเข้าไปดำเนินการกับภาครัฐจนได้รับอนุญาต ติดตามงานของบริษัทและตั้งกลไกการทำงานที่ทำให้บริษัทรับรู้การทำงานของคนพิการด้วย ขณะเดียวกันก็มีกลไกกำกับดูแลให้บริษัทจ่ายเงินให้คนพิการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีรายงานให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับรู้และสบายใจว่าเรื่องนี้ดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยมีเราอยู่ตรงกลางที่จะเชื่อมทุกคนและส่งต่อข้อมูลให้ทุกคนเพื่อให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้” อภิชาติเล่ากระบวนการ
มากกว่ารายได้ แต่งานจะเปลี่ยนคนพิการเป็นผู้ให้
เมื่อคนพิการมีงานทำ เขาจะเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้และรู้สึกว่ามีตัวตน
โดยเฉพาะคนพิการในครอบครัวที่มีรายได้น้อย เขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้กับครอบครัว แต่เป็นคนที่ดูแลตัวเองได้และเป็นเสาหลักครอบครัว
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและรับฟังเสียงของคนพิการที่ได้รับการจ้างงานเชิงสังคม อภิชาติบอกว่า พวกเขาสะท้อนว่า ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และมากกว่าตัวเงินคือความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ภาคภูมิใจ เป็นที่ยอมรับของคนอื่น
“คนพิการเขารู้สึกแย่อยู่แล้ว รู้สึกว่าชีวิตมันยากลำบาก ไม่มีรายได้ต้องพึ่งพาคนอื่น แล้ววันหนึ่งเขากลายเป็นคนที่ทุกเช้าออกไปทำงาน สมมติไปทำงานที่รพ.สต. ใส่ชุดฟอร์ม เปลี่ยนสถานะจากชาวบ้านเป็นคุณหมอ ไปโรงเรียนก็เรียกว่าเป็นคุณครู ลองคิดดูว่าจากคนหนึ่งที่ไม่มีใครมองเห็น วันหนึ่งกลายเป็นคนที่เรียกว่า หมอหรือคุณครู มีคนยอมรับ ทุกเดือนมีรายได้ 9,000 กว่าบาทซึ่งอาจเป็นคนที่มีรายได้สูงสุดในครอบครัว จากเดิมต้องเป็นคนขอ หลังจากมีงานทำ เขาเป็นคนที่ดูแลตัวเอง มีเงินเลี้ยงครอบครัว สถานะทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย”
ไม่เพียงแต่คนพิการที่รู้สึกว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือครอบครัวและสังคมได้ แต่ชุมชนก็มีมุมมองต่อคนพิการเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะคนพิการคือคนที่มีความสามารถและทำงานช่วยเหลือชุมชนไม่ต่างจากคนอื่นๆ
ส่วนฝั่งสถานประกอบการ อภิชาติมองว่า นายจ้างมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐที่มาขับเคลื่อนประเด็นการจ้างงานเชิงสังคมไปพร้อมๆ กัน
“พอทำงานมาระยะหนึ่ง การจ้างงานเชิงสังคมก็เป็นเรื่องที่รับรู้มากขึ้น ตอนนี้ถูกยกระดับเป็นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายของภาครัฐเองด้วย ส่วนของบริษัท พอเขาเห็นว่าการจ้างงานรูปแบบนี้ดี ถ้ามีโอกาสเขาก็อยากทำต่อ รวมถึงแนวโน้มในการคำนึงถึงการจ้างงานคนพิการเข้ามาเป็นพนักงานในระยะยาวก็มีมากขึ้นตามด้วย”
เมื่อคนพิการสามารถเข้าถึงงาน คนรอบตัวจะวางใจว่าคนพิการจะดูแลตัวเองได้ ขณะเดียวกันคนพิการเองก็จะมั่นใจ ภูมิใจและกล้าใช้ชีวิตในโลกที่ใครๆ ก็บอกว่า ไม่แน่นอน ซับซ้อน และเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเขาเอง