“ผู้หญิงมุสลิมขอหย่า นี่แปลว่าสุดๆ แล้วนะ เพราะมันมีอุปสรรคเต็มไปหมดที่จะไม่ให้เขาหย่า” คุยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ รศ. ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์

“ผู้หญิงมุสลิมขอหย่า นี่แปลว่าสุดๆ แล้วนะ เพราะมันมีอุปสรรคเต็มไปหมดที่จะไม่ให้เขาหย่า” 

เพราะกว่าจะก้าวออกไปตัดความสัมพันธ์จากสามีได้ เธอต้องแบกรับความกลัวความผิดบาป ความขัดแย้งจากครอบครัวของทั้งสองฝ่าย รวมถึงศาสนาและชุมชน ที่แม้จะเห็นใจ แต่ไม่เข้าใจ และไม่ยื่นมือ ความเจ็บปวดภายใต้ความรุนแรงจึงถูกกักเก็บไว้ จนกัดกินครอบครัวและตัวเธอเอง เหมือนคลื่นใหญ่ใต้น้ำที่สงบนิ่ง ไม่ว่ากี่ระลอกก็ไม่เคยถูกมองเห็น 

“งานของเราไม่เคยง่ายเลย เพราะมันทำงานกับความเชื่อและความกลัวของคน”คำนิยามงานที่ รศ.ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์ ทำมาตลอดหลายปีเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัญหาในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกทั้งในเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่เอามาพูดคุยกับคนนอก หลายครั้งก็ไม่ถูกมองเห็น รวมทั้งกลไกทางกฎหมายและกลไกการช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก

“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาใกล้ตัวและเราต้องยื่นมือเข้าไปช่วย” การพูดคุย หรือไถ่ถามจากคนรอบข้าง เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยคนที่ประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงประเภทนี้ได้ 

โครงการพัฒนาแกนนำและกลไกชุมชนเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ที่ รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ ทำร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มต้นจาก ‘เพื่อนบ้าน’ คนในชุมชนคุ้นหน้าคุ้นตา มาเรียนรู้ร่วมกันและปรับมายด์เซตใหม่ว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคนในชุมชน พากันตระเวนเยี่ยมเพื่อนบ้าน สอบถามสารทุกข์สุขดิบ และช่วยแก้ไขปัญหา อีกทั้งช่วยกันประสานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ผู้ถูกกระทำได้รับความช่วยเหลือ

“เรื่องแบบนี้จะให้คนนอกพื้นที่มาบอกไม่ได้ แต่ต้องเห็นความทุกข์ด้วยตัวเอง” ความทุกข์ ความกลัว และกำลังใจ คือสิ่งที่คนในชุมชนจะได้เรียนรู้ร่วมกันตลอดเส้นทาง อาจารย์สุชาดา  กำลังบอกกับเราในบทสนทนาถัดจากนี้

สภาพการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในชายแดนใต้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้เราขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และการหย่าร้าง เรามักเจอปัญหาว่าผู้หญิงมุสลิมไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะจารีตประเพณีที่ต้องเชื่อฟังผู้ชายในครอบครัว ความเชื่อบางอย่าง เช่น การหย่าร้างเป็นเรื่องบาป  ทำให้เมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงที่อยากหย่าก็หย่าไม่ได้ ผู้หญิงมุสลิมที่ทำงานด้วยหลายคนเป็นทุกข์ที่สามีมีภรรยาหลายคน แต่ดิ้นรนจะหย่าร้างก็ยาก ผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้าน การหย่าต้องขออนุญาตผู้นำศาสนาก่อน เยาวชนหญิงชายใกล้ชิดกัน ยังถูกจับแต่งงานเพราะถูกบอกว่าละเมิดประเพณี ยังมีเด็กหญิงและหญิงสาวถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ ร่างกาย และอนาคต

ก่อนที่จะทำโครงการนี้ เมื่อราว 6-7 ปีก่อน เคยร่วมกับมูลนิธิธีรนารถกาญจนอักษร ทำงานในตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเพราะความไม่สงบในชายแดนใต้ ที่นี่ เราเริ่มสร้างแกนนำผู้หญิงมุสลิมไว้ ชวนเขามาทำงานเรื่องการเข้าถึงความเป็นธรรมของผู้หญิงในระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมตามจารีตมุสลิม เราชวนเขาทำงานกับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดที่มี อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่นอกจากจะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการมัสยิด เผยแผ่คำสอน และดำเนินกิจกรรมทางศาสนา ยังมีบทบาทในเรื่องการไกล่เกลี่ยการพิพาทในครอบครัว การหย่าร้าง  เราชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ดูแลทุกข์สุข และป้องกันอาชญากรรมในหมู่บ้านมานั่งคุยเรื่องความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนั้น เรายังทำงานกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อหาลู่ทางให้ผู้หญิงมุสลิมได้รับความเป็นธรรมเมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เข้าถึงการหย่าร้างที่เป็นธรรม และได้รับการเยียวยาที่ควรจะเป็นเมื่อตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ นอกจาก นั้นเรายังให้ความรู้กับผู้หญิงถึงระบบยุติธรรมของภาครัฐ และภาคเอ็นจีโอที่มีอยู่นอกชุมชน เพื่อให้ผู้หญิงเลือกใช้พึ่งพาหากระบบยุติธรรมในชุมชนจารีตที่มีทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับความยุติธรรม

พอเราทำโครงการใหม่ คือโครงการนี้ เราได้ขยายงานไปที่ตำบลทุ่งพลาซึ่งอยู่ติดกับตำบลควนโนรี คนในตำบลนี้ส่วนใหญ่เป็นพุทธ คนสองตำบลนี้แม้จะต่างศาสนากันแต่ทั้งคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมมานาน 

โครงการพัฒนาแกนนำและกลไกชุมชนเพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นได้อย่างไร

การทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย ถือได้ว่ามีนโยบายและกฎหมายรองรับชัดเจน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น   สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) หรือบ้านพักเด็กและสตรีในระดับจังหวัด แต่เราเห็นว่าการทำงานเป็นรูปแบบ top – down จากข้างบนลงข้างล่าง และเน้นการตั้งรับปัญหามากกว่าทำงานเชิงรุก ทำให้คนที่ประสบปัญหาที่อยู่ในระดับหมู่บ้านเข้าไม่ถึงกลไกรัฐที่มีอยู่ และชาวบ้านเองก็ไม่กล้าที่จะไปติดต่อหน่วยงานราชการ 

กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวที่มีอยู่ (พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550) เขียนบอกว่า ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแล เอาใจใส่ เฝ้าระวัง ใครพบเห็นต้องแจ้งตำรวจ แต่ในความเป็นจริง คนในชุมชนที่เราทำงานด้วยยังมองว่า นี่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อยากเข้าไปยุ่ง ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือ 

ในชุมชนที่เราทำงานมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เมื่อก่อนเขาสนใจแค่เรื่องชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงเด็ก หรือตรวจวัดความดัน เบาหวาน ไม่ได้สนใจว่าใครถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวบ้าง 

ในการแก้ไขปัญหานี้ โครงการเลือกที่จะใช้คนในชุมชนเป็นตัวละครหลัก เหตุผลที่อาจารย์เลือกทำงานกับพวกเขาคืออะไร

เราต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่ปัญหาไกลตัว ไม่ใช่ปัญหาครอบครัวใครครอบครัวมัน แต่เป็นปัญหาใกล้ตัวและเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องยื่นมือเข้าไปช่วยดูแลในฐานะสมาชิกคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในตำบล 

เราใช้กระบวนการพัฒนาแกนนำ หรือคนในชุมชนที่สนใจ จัดอบรมให้ความรู้โดยเริ่มจากความรุนแรงในครอบครัวมีรูปแบบไหน เป็นอย่างไร ความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัวเป็นอย่างไร เราจะป้องกันการเกิดความรุนแรงได้อย่างไร ให้แกนนำสามารถวิเคราะห์ไปถึงระบบนิเวศน์ที่ผู้หญิงอยู่ว่า เป็นมิตรหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิง จนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้

เราชวนแกนนำออกเยี่ยมบ้าน เพื่อสังเกต ถามสารทุกข์สุขดิบกับคนในชุมชนโดยเฉพาะกับผู้หญิง ช่วงแรกที่ออกเยี่ยมบ้าน แกนนำหลายคนก็เกร็ง เขาบอกว่า “ถ้าเข้าไปคุย คนจะหาว่ามาสอดรู้สอดเห็นครอบครัวเขา”

นอกจากนี้ เราสอนทำ ‘แผนที่เดินดิน’ หลังเยี่ยมบ้าน ก็มาพล็อตจุดบ้านที่มีความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงลงบนแผนที่ ถ้าความเสี่ยงระดับกลางใส่สีเหลือง แต่ถ้าพบมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วใส่สีแดง แล้วจึงเอาแผนที่เดินดินของแต่ละหมู่บ้านมารวมเป็นภาพตำบลว่า แต่ละตำบลมีเคสที่เสี่ยงและเคสที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวกี่เคส มีลักษณะไหนบ้าง เพื่อจะแยกแยะว่าเคสไหนต้องป้องกัน หรือช่วยเหลือทันที แผนที่นี้ยังใช้วางแผน ออกแบบโครงการ และคิดกิจกรรมที่จะเข้าไปช่วยเหลืออื่นๆ ได้

เราใช้กระบวนการ Feminist Participatory Action Research หรือการวิจัยชาวบ้านที่ ใช้แนวคิดสตรีนิยมและใช้กระบวนการที่ให้ชุมชนเก็บข้อมูลเองแล้วเอาข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ และออกแบบกิจกรรมเอง เป็นการนำเอากระบวนการทำวิจัยของ “คนใน” มาทำให้คนตระหนักรู้ในปัญหาเองไม่ใช่การให้คนอื่นไปบอก แต่ต้องเรียนรู้ ไปดู ไปเห็นความทุกข์ยากด้วยตัวของเขาเอง และจากเดิมที่ปัญหามันไม่เคยพูดคุยกันเลย ไม่เคยสนทนากันเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเลย เขาก็คุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ และเริ่มคิดช่วยเหลือ รวมตัวกันเป็นทีมจิตอาสา

แกนนำที่มาเข้าร่วมมีจำนวนเท่าไหร่ มีฟีดแบ็กไหมว่า การทำโครงการนี้เปลี่ยนเขาไปอย่างไร

ตอนแรกคนในชุมชนยังไม่เข้าใจงานเรา มีแกนนำที่ active อยู่ไม่มาก ทำมาเรื่อยๆ ก็มีคนมาเข้าร่วมเป็นแกนนำหลักประมาณ 60 คน  แล้วแกนนำหลักก็ไปชักชวนชาวบ้านคนอื่นมาเข้าอบรมเป็นอาสาสมัคร ‘ตาสับปะรด’ อีกเป็นร้อยคน คนเหล่านั้น คอยสอดส่องเฝ้าระวังครอบครัวในละแวกบ้านตัวเอง และถ้าพบเคสมีปัญหาความรุนแรง ก็รายงานปัญหามายังแกนนำหลักหรือผู้นำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านก็จะรู้กันทั่วไปว่าในหมู่บ้านมีการทำงานป้องกันเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอยู่นะ อันนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดการทำความรุนแรงในครอบครัว คนที่มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงก็ระมัดระวัง ไม่กล้าทำ และคนที่ประสบความรุนแรงก็ได้รับการดูแล 

แกนนำที่มาร่วมงานกับเรา ส่วนใหญ่จะเป็น อสม. และ บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ จ. ชายแดนใต้ ที่มีในทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว นอกนั้นเป็นชาวบ้านจิตอาสาทั่วๆ ไป ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่จะทำงานตามหน้าที่ เช่น บัณฑิตอาสาจะช่วยงานพัฒนาชุมชนทั่วๆ ไป ส่วน อสม.ก็ดูเฉพาะเรื่องสุขภาพกาย ทำงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น 

แต่พอเราจัดโครงการเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและผู้หญิง ทั้งบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ และ อสม. ก็เอาความรู้ที่ได้รับการอบรมจากโครงการเรามาบูรณาการ มีมิติเรื่องความรุนแรงในครอบครัวพกติดตัวไปด้วยเวลาไปทำงาน เช่น อสม. เวลาไปวัดความดันหรือเบาหวานให้ผู้หญิง ก็จะสังเกตว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายไหม เขาเอาใจใส่ สังเกต และบูรณาการเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมาสู่งานประจำของเขา 

แกนนำมีผู้ชายเข้าร่วมบ้างไหม

มี ทั้งจากการชักชวน และเขาเป็นคนที่มีบทบาทในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น ผู้นำทางศาสนา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. เป็นต้น ผู้นำท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การมีแกนนำผู้ชายที่เป็นผู้นำชุมชนมาทำงานด้วย มันช่วยเอื้ออำนวยให้แกนนำคนอื่นๆ ในตำบลได้เข้าถึงกลไกของรัฐ กลไกท้องถิ่น ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานภาพรวม 

ทัศนคติของแกนนำผู้ชายบางคนแรกๆ จะบอกกับเราว่า ผู้หญิงก็ทำความรุนแรงกับผู้ชายเหมือนกัน เช่น ด่าทอ เราก็ไม่ปฏิเสธความคิดเขา แต่ให้เห็นด้านอื่นๆ ด้วย ที่ผู้หญิงถูกผู้ชายใช้ความรุนแรง ทำให้เขาได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ มีความเข้าใจมากขึ้น 

งานนี้ทำเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรง แต่ระหว่างทางอาจารย์เจอปัญหาอื่นๆ ด้วยไหม

จากเดิมที่คิดว่า ที่มุ่งทำแค่เรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างเดียว ปรากฎว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติดด้วย เช่น ในบางครอบครัว ลูกชาย สามี และมีเยาวชนหญิงบางคนก็ใช้ยาเสพติดด้วย 

ส่วนใหญ่แล้วผู้ชายที่ติดยาเสพติด ไม่ทำงาน ข่มขู่เอาเงินจากคนในครอบครัวไปซื้อยา และเวลาที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้มักเลือกข่มขู่เอากับผู้หญิงในครอบครัว  เช่น แม่ เมีย น้องสาว พี่สาว ซึ่งคิดว่าอ่อนแอกว่า มีอำนาจน้อยกว่า สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ความรุนแรงจากยาเสพติดก็ยังอยู่ภายใต้กรอบความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจระหว่างเพศอยู่ ทำให้สิ่งที่แกนนำในชุมชนให้ความสำคัญอีกอย่าง คือ การช่วยเหลือผู้หญิงหรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวจากสมาชิกที่ติดยา เช่น การดึงตำรวจเข้ามาพูดคุย หรือเจรจาพูดคุยเพื่อให้คนที่ติดยาเข้าสู่การบำบัด 

อุปสรรคสำคัญของการทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีอะไรบ้าง และเราผ่านมาได้อย่างไร

อุปสรรคแรก คือ แกนนำและผู้นำในชุมชนรู้สึกว่า หมู่บ้านตัวเองไม่มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพราะปัญหานี้มักจะเกิดคู่กับปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด เขาก็จะพูดแค่ปัญหายาเสพติด ไม่พูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ทำให้สุดท้ายอาจสาวไปไม่ถึงหรือยังไม่อยากเปิดเผยออกมา ซึ่งพอเราทำงานสักระยะหนึ่ง แกนนำก็พูดเองว่า ในหมู่บ้านเขามีความรุนแรงทางเพศ มีการข่มขืนสมาชิกในครอบครัวและเด็กอยู่

ส่วนอุปสรรคที่สอง คือ แกนนำไม่กล้าเข้าไปแตะต้องปัญหาความรุนแรงของคนในหมู่บ้าน เพราะกลัวโดนหาว่ามายุ่งเรื่องชาวบ้าน เป็นปัญหาเชิงทัศนคติที่ว่า เรื่องผัวเมีย เรื่องครอบครัวให้เป็นเรื่องครอบครัว คนนอกอย่าไปยุ่ง พอทำงานไประยะหนึ่ง ทัศนคติแบบนี้ของแกนนำก็ค่อยๆ หายไป 

การที่ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดไม่สามารถหย่าร้างได้ง่ายๆ รวมถึงการที่สามีสามารถมีภรรยาได้หลายคน ส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างไร

ผู้หญิงมุสลิมส่วนใหญ่ไม่กล้าหย่าเพราะกลัวทำผิดหลักศาสนา ซึ่งงานของเราจะไม่ไปยุ่งเรื่องนั้น แต่มาทำงานกับความทุกข์ในปัจจุบันของเขา

ในความคิดเรา ศาสนาเป็นเรื่องการตีความ ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นคนตีความและเข้าข้างตัวเอง  อย่างเช่นที่บอกว่าผู้ชายมุสลิมสามารถมีภรรยาได้ 4 คน ถ้าไปดูลึกๆ ในหลักศาสนาจะเข้าใจเลยว่า ผู้ชายคนนั้นต้องมีฐานะการเงินพร้อมที่จะเลี้ยงดูภรรยาทั้ง 4 คนได้อย่างเท่าเทียม และภรรยาคนแรกต้องยินยอมด้วย ถ้าภรรยาคนแรกไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถมีภรรยาที่สอง ที่สาม หรือที่สี่ ได้เลย แน่นอนว่าในปัจจุบันภรรยาคนแรกส่วนใหญ่จะไม่ยินยอม แต่ผู้ชายก็มักจะอ้างศาสนาว่าอนุญาตให้มีภรรยาได้ 4 คน 

กฎหมายชารีอะห์ที่ใช้ในชายแดนภาคใต้ มักมีการตีความที่ผู้หญิงเสียประโยชน์ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงตรงนี้ เช่น การหย่าร้างที่เขาต้องไปขออนุญาตจากผู้นำศาสนา ซึ่งผู้นำศาสนาก็จะโน้มน้าวไม่ให้หย่า อิหม่ามบางคน จะบอกผู้หญิงว่า“กลับไปละหมาดเพิ่มจะได้ไม่คิดหย่า” 

หรือถ้าไปขออนุญาตหย่ากับคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัด ที่นั่นก็ไม่มีแผนกที่มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงคอยรับเรื่อง เคยมีเคสนึงมาเล่าให้ฟังว่าไปยื่นเรื่องขอหย่า เจอเจ้าหน้าที่ผู้ชายเป็นคนรับเรื่อง พูดกับเขาว่า “อยากมีผัวใหม่ละสิถึงมาขอหย่า” ซึ่งเป็นการตัดกำลังใจผู้หญิงตั้งแต่ขั้นตอนแรก 

จึงเคยมีการต่อสู้ของผู้หญิงมุสลิมกลุ่มหนึ่ง ที่เขาต้องการให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ไปคุยเรื่องหย่าร้างมีผู้หญิงเป็นคนรับเรื่อง 

การทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับงานอื่นๆ มีอะไรเป็นจุดร่วม

ได้มากกว่าเป้าหมายที่เรากำหนดไว้นะ ทำให้ชุมชนตื่นรู้เรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะจากเดิมคนในชุมชนมองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตัวใครตัวมัน บวกกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำให้คนในชุมชนมีความไม่ไว้ใจกัน โครงการนี้จึงทำให้คนมารวมตัวกันได้มากขึ้น 

แล้วโครงการนี้ยังเสริมพลัง (empower) คนในพื้นที่ งานเสริมพลังชุมชนให้เข้มแข็งในพื้นสามจังหวัดชายแดนใต้ยังมีน้อย อาจเป็นเพราะรัฐมองว่าชาวบ้านเข้มแข็งขึ้นแล้วจะไปต่อต้านรัฐ ทำให้งานพัฒนาที่เข้าไปทำในชายแดนใต้เน้นไปในแนวสงเคราะห์เสียมาก แต่โครงการเราไปเสริมศักยภาพให้คนในพื้นที่เข้มแข็งจากภายใน สามารถจัดการดูแลปัญหาในชุมชนของตัวเองได้ แต่กลไกภาครัฐควรคอยหนุนเสริม ให้ความสะดวกและทรัพยากร ส่วนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยและภาคเอ็นจีโอก็ช่วยหนุนเสริมในเชิงวิธีคิดและวิธีการทำงานพัฒนาชุมชนแบบใหม่ๆ ที่สร้างการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน นอกจากทีมเราเองแล้ว เราเชิญวิทยากรและกระบวนกรหลายท่านมาร่วมพัฒนาศักยภาพให้กับแกนนำในโครงการ เราให้เขาเรียนรู้วิธีการประเมินการทำงานของทีมตนเอง ฝึกทักษะการลงเยี่ยมเคสความรุนแรง เก็บข้อมูล บันทึก วิเคราะห์สถานการณ์ การให้การปรึกษา การสื่อสารกับภาครัฐ และอื่นๆ

แกนนำจิตอาสาในโครงการนี้ เขาไปถึงขั้นคิดทำระบบเฝ้าระวังเรื่องความรุนแรงภายในหมู่บ้าน สร้างแกนนำตาสับปะรด ให้แต่ละบ้านคอยดูแลกัน คอยดูว่ามีบ้านไหนที่มีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ การทำร้ายกันในครอบครัว หรือแม้แต่ความรุนแรงจากความยากจนในครอบครัว หรือว่าผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง เขาก็พล็อตจุดบ้านไว้หมดในแผนที่เดินดิน

โครงการเรามีการจัดเวทีพบปะกับกลไกระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เพื่อเชื่อมแกนนำในชุมชนเข้ากับกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  ทำให้เขากล้าเดินทางออกไปนอกชุมชนเพื่อสื่อสารกับกลไกภาครัฐ ดึงความช่วยเหลือเข้ามาหรือส่งต่อเคสออกไปรับความช่วยเหลือ เราช่วยประสานงานให้ทีมแกนนำเดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และสามารถจัดตั้งคณะทำงาน คณะขับเคลื่อนกลไกในการป้องกัน และช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับจังหวัดได้ โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ส่วนในระดับอำเภอก็มีนายอำเภอเป็นประธาน แต่ความล่าช้าของการทำงานจากภาครัฐในพื้นที่ก็ยังมีอยู่บ้าง 

แล้วความแตกต่างเรื่องศาสนากลับกลายเป็นจุดแข็งงานนี้ เพราะแกนนำทั้งคนพุทธและคนมุสลิมที่แต่เดิมเคยรู้จักกันเพราะอยู่บ้านใกล้กัน แต่ไม่เคยทำงานด้วยกันในลักษณะนี้เลย พอมาทำงานจิตอาสาร่วมกันก็กลายเป็นเพื่อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่มีปัญหาและอุปสรรคที่ไปด้วยกันไม่ได้ มันกลายเป็นจุดแข็งที่ว่า แกนนำหลายคนสะท้อนว่าโครงการนี้ทำให้เขามีเพื่อนร่วมทาง จากเดิมที่เคยให้คำปรึกษาหรือให้ความช่วยเหลือเคสความรุนแรงเพราะความสนิทสนมส่วนตัว ซึ่งก็ให้ความช่วยเหลือไปเพียงลำพัง และยังไม่รู้ทักษะการให้การปรึกษา เมื่อมีโครงการนี้ทำให้แกนนำในชุมชนเขามีทักษะนี้และไม่ต้องทำงานช่วยเหลือเคสเพียงลำพังอีก

โครงการเรามีการอบรมเรื่องการทำ Case Conference หรือการช่วยเหลือเฉพาะกรณีให้กับแกนนำ เพื่อสร้างทีมทำงานช่วยเหลือเคสอย่างเป็นระบบขึ้นมา เช่น เมื่อมีเคส แกนนำของตำบลก็จะมีทีมส่งต่อว่าให้แจ้งใครเป็นอันดับแรก แจ้งใครเสร็จแล้วจะต้องมาประชุมกัน เชิญใครมาประชุมบ้าง เขาก็จัดการเคสได้เอง โดยไม่เป็นการให้เคสเข้าไปหาแค่คนใดคนหนึ่งอย่างที่เคยมี ทำให้ทั้งเคสทั้งแกนนำเขารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว ไม่ต้องสู้คนเดียว

การทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับงานอื่นๆ มีอะไรเป็นจุดร่วม

เราทำงานท้าทายกับจารีตประเพณีที่สั่งสมมานาน ทำงานกับความกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติของคนซึ่งการละลายความกลัวในสิ่งเหนือธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องผ่านกระบวนการพูดคุยกันและการคลี่คลายปมความเชื่อจากความเชื่อ ซึ่งเราต้องทำงานเชิงวิธีคิดกับผู้นำทางความเชื่อและผู้นำชุมชน 

เรามักถามเขาว่า ถ้าลูกสาวคุณ น้องสาวคุณ แม่คุณ ประสบความทุกข์ยากเพราะไม่สามารถกลับมาพึ่งพาครอบครัวได้แล้ว ตัวคุณเองในฐานะพ่อทนเห็นลูกสาวหรือแม่ตัวเองทุกข์แบบนั้นได้ไหม มันเป็นเรื่องความทุกข์ยากของทุกคน เราต้องค่อยๆ ช่วยเขาคิดระหว่างความเห็นอกเห็นใจคนใกล้ชิด กับความกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติ ให้มันโต้เถียงกันเอง แล้วให้เขาเลือกว่าจะเชื่อทางไหน

หนึ่งในนั้นคือการทำงานกับผู้หญิงม้งเรื่องการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้หญิงม้ง นำมาสู่การรื้อฟื้นพิธีกรรมพาลูกสาวกลับบ้าน เพราะว่า ในความเชื่อเดิมของสังคมม้ง ลูกสาวไม่ใช่ลูกของบ้าน แต่เป็นแขกชั่วคราว ที่เมื่อแต่งงานแล้วก็ไปเป็นสมาชิกของครอบครัวสามี เมื่อถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่สามารถหย่าหรือเลิกได้ สุดท้าย กระบวนการทำงานที่ให้ชุมชนและผู้หญิงม้งเข้ามาเป็นตัวหลักโดยเราหนุนเสริม ช่วยเขาแก้ปัญหาจารีตเรื่องนี้ได้ โดยแกนนำผู้หญิงม้งได้พูดคุยกับผู้นำทางจิตวิญญาณม้ง ซึ่งบอกว่า อันที่จริงแล้วชุมชนม้งมีพิธีกรรมหย่าที่สามารถรับลูกสาวกลับบ้านได้โดยไม่ขัดกับความเชื่อ ในหมู่บ้านที่เราเข้าไปทำงานจึงมีการรื้อฟื้นประเพณีการหย่าขึ้น และสามารถรับลูกสาวม้งที่เลิกสามี หรือเป็นหม้ายกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เดิมได้ ผู้หญิงหม้าย ผู้หญิงหย่าสามี ก็มีที่ไปไม่ต้องระเหเร่ร่อน

ท้ายที่สุด การทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อผู้หญิงในชายแดนใต้นี้เปลี่ยนแปลงคนทำงานหรืออาจารย์เองอย่างไรบ้าง

ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ถ้าอธิบายว่าเกิดจากความคิดชายเป็นใหญ่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราเลยสนใจลงไปแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่โดยต้องใช้กระบวนการทำงานแบบนี้ คือ การทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมแนวสตรีนิยม หรือ feminist participatory action research นี้  เราไม่อยากเป็นนักวิชาการสตรีนิยมที่อยู่บนหอคอยงาช้างอย่างเดียว งานของเรายืนยันว่าการเป็นนักสตรีนิยมต้องไปพร้อมกันทั้งทฤษฎีและปฏิบัติการ

และเราเชื่อว่าการทำงานกับคนชายขอบ ไม่ใช่แค่เข้าไปสงเคราะห์ และทำงานแบบจัดอบรมครั้งเดียวจบแล้วปล่อยคนไปทำงานลำพัง การทำงานของเราต้องสนับสนุนคนพื้นที่ตลอดเวลา ต้องมีการ coaching และพัฒนาศักยภาพเขาเต็มที่ สนับสนุนให้เขาสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ การเสริมพลังให้เขามีอำนาจในตัวเอง แล้วเขาก็จำไปทำอะไรๆ ได้ด้วยตัวเอง นำศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการนี้ไปทำงานพัฒนาเรื่องอื่นๆ ในชุมชนได้ต่อ จะยั่งยืนกว่า

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ