“การฆ่าตัวตาย ถึงแม้คนนั้นจะตัดสินใจแล้ว แต่ถ้าคนรอบข้างใส่ใจ เราอาจไม่เสียเขาไป” วิธีลดอัตราการฆ่าตัวตายที่ ‘ตำบลชมภู’ อำเภอสารภี อดีตอำเภอที่มีคนฆ่าตัวตายมากที่สุด

เนื้อหาต่อไปนี้มีการพูดถึงการฆ่าตัวตาย

สารภี

เป็นอำเภอที่มีขนาดเล็กและเป็นอำเภอเดียวในเชียงใหม่ที่ไม่มีภูเขา สภาพภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ในอดีตพื้นใต้ดินมีก๊าซเรดอน (สารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง) สูง ทำให้คนสารภีมีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจสูงกว่าที่อื่นๆ 

และหนึ่งปัญหาที่อยู่คู่คนสารภี คือ การฆ่าตัวตาย

“2 เดือนที่ผ่านมา มีคนสารภีฆ่าตัวตายสำเร็จไปแล้ว 3 ราย” ข้อมูลจากมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพญาชมภู

เนื้อหาในประโยคอาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ที่สารภีมันเป็นสัญญาณของการทำงานแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตายตลอด 20 ปี และตอนนี้จำนวนตัวเลขลดลง

“สถิติการฆ่าตัวตายในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อำเภอสารภีเคยเป็นที่ 1 ถามว่าตอนนี้ปัญหาของเราหายไปไหม ก็ยังไม่หาย เรายังคงมีสถิติฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขลดลง”

มัลลิกาทำงานลดจำนวนคนฆ่าตัวตายในพื้นที่ตำบลชมภู เป็นหนึ่งในตำบลของอำเภอสารภี ด้วยการดึงคนใกล้ตัวอย่าง ‘ครอบครัว’ มาช่วยกันแก้ไข กลุ่มคนแรกๆ  ที่ช่วยเฝ้าระวังและป้องกันเหตุการณ์ไม่ให้เกิดขึ้น

“บุคลากรทางการแพทย์อาจเป็นคนหนึ่งที่ช่วยคนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด ซึ่งคนที่จะช่วยและป้องกันได้ดีที่สุดเป็นคนแรก คือ ครอบครัว

“เราจะพูดเสมอว่า บางครั้งคนที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย เขาอาจจะยังไม่ตัดสินใจทันที บางคนพูดมานาน พูดบ่อยๆ เป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง เราก็ต้องไปปรับทัศนคติแกนนำชุมชน ญาติ คนที่เกี่ยวข้องกับเขาว่า ถ้ามีสัญญาณลักษณะนี้ให้เฝ้าระวัง เราอาจจะป้องกันเหตุการณ์ได้”

สูดหายใจลึกๆ แล้วไปต่อกับเนื้อหาถัดจากนี้ เราจะพาไปดูวิธีแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตายที่สารภี ผ่านการทำงานในต.ชมภู ทำให้ตัวเลขจากหลักร้อยลดฮวบเหลือหลักสิบ หรือหลักหน่วยได้อย่างไร 

ยาเสพติด หนี้สิน โรคเรื้อรัง สาเหตุที่ทำให้คนเลือกฆ่าตัวตาย

เหตุผลนั้นมีหลากหลาย แต่ละคนมีความคิด ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน บางเรื่องที่คนมองว่าปกติธรรมดา อาจเป็นต้นเหตุให้บางคนเลือกทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

มัลลิกา เล่าว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนชมภูอันดับหนึ่ง คือ การใช้สารเสพติดและพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์ บางคนรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต มองไม่เห็นว่าจะทำอะไรต่อ รวมถึงถูกคนรอบข้างปฎิเสธเพราะพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้หลายคนเลือกทางออกด้วยการจบชีวิต

สาเหตุรองลงมา คือ อาการป่วยด้วยเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและคนพิการ รู้สึกท้อระหว่างรักษา ไม่มีความหวังว่าพวกเขาจะหาย และสาเหตุล่าสุดที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด คือ ปัญหาหนี้สิน ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ปี 2564  จำนวนประชากรในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งหมด 1,628,663 คน เป็นผู้ชาย 782,835 คน และผู้หญิง 845,828  จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 216 คน แยกเป็นผู้ชาย 181 คน ผู้หญิง 35 คน 

การเก็บข้อมูลของอำเภอสารภีเอง มัลลิกาเล่าว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565  มีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตาย 5 คน เป็นผู้ชายทั้งหมด ซึ่งเป็นเพศอันดับต้นๆ ที่เลือกทางนี้

“เป็นข้อมูลที่เราเจอในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด บางคนไม่เคยพูดหรือมีสัญญาณเลย ตอนเช้ากินข้าวกับครอบครัว ตอนเย็นตัดสินใจแล้วก็มี”

สภาพภูมิประเทศที่ทำให้คนสารภีมีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนที่อื่นๆ มัลลิกามองว่า ปัจจัยนี้ส่งผลกับการฆ่าตัวตายน้อย เธอคิดว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการฆ่าตัวตายของคนมาจากสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่

“สถานการณ์ ณ ปัจจุบันทันด่วนที่ทำให้เขาตัดสินใจ เช่น ปัญหาหนี้สิน ธุรกิจล้มไม่รู้จะจัดการยังไง”

การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ความใส่ใจจากคนรอบข้างทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ 

กลุ่มที่ติดอันดับเสี่ยงหรือฆ่าตัวตายมากที่สุด มักเป็นคนพิการและผู้สูงอายุ ที่ชมภูเองมีงานที่ทำเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ คือ CBID (Community-based Inclusive Development) กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

หัวใจของกระบวนการนี้ คือ ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุ 

“การทำ CBID คือ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราพยายามดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้”

ชวนคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นอสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) คนที่ใกล้ชิดกับคนที่มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย ผู้นำชุมชน มาอบรมรับความรู้ ตั้งแต่การเฝ้าระวังสังเกตพฤติกรรมที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตาย วิธีพูดคุยเพื่อถามสารทุกข์สุกดิบ การลงไปเยี่ยมบ้านสมาชิกในชุมชน 

“ส่วนมากเราจะไปชวนคุย ถามไถ่ว่าชีวิตช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง ถ้าเขาเล่าว่ากำลังเครียดเรื่องอะไรค่อยเจาะลึกลงไป หรือถ้าเรามีข้อมูลในมือ ก็ไปชวนคุยว่ามันส่งผลกระทบกับชีวิตเขายังไง อย่างเคสผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เขาจะพูดทุกวันว่าอยากตาย รู้สึกท้อแท้กับการใช้ชีวิตพอได้คุยกันลึกๆ จริงๆ ตัวเขาไม่ได้อยากตาย เขายังมีความหวังว่าจะรักษาหาย แต่เกิดเบื่อชีวิตช่วงนั้น การคุยของเราจะทำให้ได้ข้อมูลกว้างๆ หรืออาจเจาะลึกได้บางเรื่อง”

แม้จะเตรียมพร้อมสักเท่าไร แต่เรื่องนี้ก็ไม่สามารถควบคุมได้ 100% เพราะเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล เคสที่มัลลิกาพบส่วนใหญ่ มักจะเป็นคนที่ตัดสินใจฉับพลัน

“ถ้าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาจะมี sign สัญญาณบางอย่าง ทีมงานจะเข้าไปทำงานด้วยเลย ญาติๆ ก็เฝ้าระวัง แต่หลายๆ เคสเขาจะพูดบ่อยว่าจะตาย พูดทุกวัน แรกๆ ครอบครัวก็ให้ความใส่ใจดี นานๆ ไปเขาจะว่าปกติ คงไม่ตัดสินใจทำจริง แต่พอถึงวันที่เขาตัดสินใจจริงๆ ญาติเองก็ไม่คาดคิด”

ความสำคัญของคนอื่นๆ ที่ช่วยแก้ไขป้องกันการฆ่าตัวตายได้

การฆ่าตัวตายอาจเป็นเรื่องของบุคคลนั้นๆ การตัดสินใจของเจ้าตัวมีผลที่สุด แต่มัลลิกาเชื่อว่า ความใส่ใจจากคนรอบตัว บางครั้งก็สามารถเปลี่ยนความคิดที่ตัดสินใจไปแล้วให้เปลี่ยนได้

“ตัวเราเองก็เคยมีคนในครอบครัวที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ส่วนตัวมองว่าคนที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย หนึ่ง – เป็นความต้องการของเขาอยู่แล้ว สอง – เขามีสัญญาณที่แสดงออก แต่คนรอบข้างอาจจะไม่ได้ใส่ใจ ทุกครั้งที่เราลงพื้นที่ เพื่อหา sign เล็กๆ พวกนี้

“มีหลายคนที่เมื่อเราได้คุยกับญาติเขา ทำความเข้าใจกับคนที่เสี่ยง มีคนที่เปลี่ยนความคิดและยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงตอนนี้ เราเลยมองว่าการฆ่าตัวตาย ถึงแม้คนนั้นจะตัดสินใจไปแล้ว แต่ถ้าคนรอบข้างใส่ใจเขามากขึ้น เข้าใจเขามากขึ้น เข้าใจปัญหาที่เขากำลังเผชิญ แล้วพร้อมที่จะช่วย เราอาจจะไม่เสียเขาไปก็ได้”

หมอ พยาบาล อสม. บุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ อาจเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องและช่วยเรื่องนี้ได้ แต่คนที่สำคัญและส่งผลที่สุดก็คือครอบครัว มัลลิกา มองว่า คนในครอบครัวเป็นคนแรกๆ ที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต

เสียงตอบรับจากคนที่เข้าร่วมการทำงานนี้ พวกเขาไม่รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ยินดีหากมีสิ่งไหนที่พวกเขาช่วยได้ โดยเฉพาะช่วยคนที่เขารัก

“ถามว่าญาติเสียใจไหมที่มีคนที่รักในครอบครัวจากไปแบบนี้ ก็เสียใจ เขาจะพูดประมาณว่า มันก็เป็นการตัดสินใจที่เขารับไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นวิธีที่ทำให้คนคนนั้นพ้นภาวะบางอย่างไป สุดท้ายญาติก็จะยอมรับได้ 

“มันยากตรงที่ถ้าครอบครัวไหนมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ญาติจะรู้สึก คือ รู้สึกผิด เขาจะพูดว่าเป็นความผิดเขา เขาดูแลไม่ดีพอ ความยากอยู่ตรงนี้ การใช้คำพูดหรือท่าทีบางอย่างของเรา ต้องไม่ไปกดดัน หรือซ้ำเติมความรู้สึกของญาติ”

งานขยายไปถึงการดูแลคนที่ได้รับผลกระทบสูญเสียคนรู้จักที่จากไปด้วยเหตุผลนี้ ไปซัพพอร์ต รับฟังความรู้สึกพวกเขา และช่วยเยียวยาจิตใจคนที่อยู่ต่อไป  

ตัวเลขคนฆ่าตัวตายที่สารภีอาจจะไม่เป็นเลขศูนย์ในเร็ววันนี้ แต่การเหลือเลขหลักเดียวก็เป็นสัญญาณที่ดีให้กำลังใจคนทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

 

อ้างอิง

https://suicide.dmh.go.th

https://suicide.dmh.go.th/report/suicide/download/view.asp?id=25

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ