“ไม่ดูแล ไม่ได้แปลว่าอกตัญญู” Buddy Homecare บริการจากเพื่อนที่เข้าใจผู้สูงวัย และรู้ดีว่าการดูแลพ่อแม่มันเหนื่อย
“มากกว่าการดูแล ผู้สูงอายุต้องการคนที่เข้าใจและใส่ใจ”
คือ สิ่งที่ยงยุทธ เยอส่อ เรียนรู้จากการทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในวิสาหกิจเพื่อสังคม บั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy Homecare) ธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงแรก ก่อนมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุจะพัฒนาแผนธุรกิจจนกลายเป็นบริการหาบั๊ดดี้ดูแลผู้สูงวัยในชีวิตประจำวันและหาเพื่อนที่เข้าใจไปพร้อมๆ กัน
เพราะการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย การหาคนที่ใช่ให้ผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“การหาบั๊ดดี้ไม่ใช่แค่จับคู่คนนี้มาคู่กับอีกคนได้เลย แต่เป็นเรื่องเคมีที่เข้ากัน” เจนวิทย์ วิโสจสงคราม รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและผู้ก่อตั้งบั๊ดดี้โฮมแคร์อธิบาย
ในวันที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานและหลายๆ คนไม่รู้จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร บั๊ดดี้โฮมแคร์จึงเป็นคำตอบ เพราะเป้าหมายการทำงาน คือ ลดการตีตราลูกหลานที่ไม่สามารถดูแลพ่อแม่สูงวัยได้เต็มที่ ให้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุโดยมืออาชีพ โดยเริ่มให้บริการในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง
ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ แต่เมื่อวันหนึ่งที่ลูกหลานอายุมากขึ้น ณ วันนั้น การดูแลอาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่า คือ คนที่เข้าใจและเป็นเพื่อนคลายเหงาชีวิตบั้นปลายของเราได้
และบั๊ดดี้โฮมแคร์กำลังให้บริการสิ่งนี้..
วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ดูแลผู้สูงอายุ สร้างงานให้เด็กชาติพันธุ์ และช่วยเหลือผู้สูงอายุด้อยโอกาสในชุมชน
ก่อนหน้าที่ Buddy Homecare จะเกิดขึ้น มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุทำชมรมผู้สูงอายุอยู่แล้ว มีอาสาสมัครไปอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงวัยตามบ้าน พาไปตลาดหรือพาไปวัด อาสาสมัครจะเป็นคนดูแลทั้งหมดผ่าน ‘โครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน’
เพราะมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุภายใต้แนวคิด ‘ไม่มีใครรู้จักคนในชุมชนดีกว่าคนในชุมชนเอง’ ความคุ้นเคยระหว่างคนในชุมชนจะทำให้ผู้สูงวัยกล้าที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยน และไม่ปฏิเสธการดูแลจากอาสาสมัคร
“เคยอบรมแล้วเข้าบ้านผู้สูงอายุไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุไม่รู้จักเห็นว่าเป็นคนแปลกหน้า พอผมไปทำก็เลยเอาคนในชุมชนมาเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ดูแลเรื่องชีวิตประจำวัน เขาเดือดร้อนเรื่องอะไร ผู้สูงอายุต้องการจะไปตลาด ต้องการจะไปวัดไม่มีใครพาไป เพราะฉะนั้น หนึ่งจะลดปัญหาเรื่องค่าเดินทาง สองจะลดปัญหาเรื่องความแปลกหน้าได้” สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุเล่า
เมื่อโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านดำเนินมาระยะหนึ่ง ทางมูลนิธิฯ ก็มองเห็นช่องว่างของการทำงานผู้สูงอายุ คือ แม้จะมีผู้ดูแล แต่พวกเขายังขาดทักษะการดูแล รวมถึงการดูแลอย่างต่อเนื่อง บั๊ดดี้โฮมแคร์จึงก่อตั้งขึ้นในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมให้การดูแลผู้สูงอายุด้วยการเก็บเงินค่าบริการจากนั้นนำผลกำไรที่เกิดขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุด้อยโอกาสและพัฒนาทักษะของผู้ดูแล
ที่น่าสนใจคือนั้น ผู้ดูแลผู้สูงอายุของบั๊ดดี้โฮมแคร์ มาจากเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เจนวิทย์ในฐานะผู้ก่อตั้งบั๊ดดี้โฮมแคร์ บอกว่า บั๊ดดี้โฮมแคร์จึงเป็นตัวกลางเชื่อมความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแล สร้างโอกาสให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ และดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในชุมชน
เจนวิทย์บอกอีกว่า การหาบั๊ดดี้ดูแลผู้สูงอายุเหมือนกับการหาคู่เพื่อหาคนที่ใช่ บางคนเหมาะกัน แต่บางคนก็อาจจะไม่เหมาะกันจึงจำเป็นต้องหาคู่ที่เหมาะสมและเข้ากันได้
“การจะมี Buddy สักคน มันเป็นศิลปะ ต้องหาเคมีที่เข้ากัน ไม่ใช่หยิบคนนี้กับมาเจอกับอีกคนแล้วได้เลย คนดูแลกับผู้สูงอายุก็เหมือนกัน คุณจะทำยังไงให้คนสองคนคลิ๊กกัน เด็กบางคนอาจจะเหมาะกับผู้สูงอายุคนนี้ แต่อยู่กับอีกคน ผู้สูงอายุคนนั้นอาจจะรักเหมือนลูกก็ได้”
สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมากกว่าผู้ดูแลคือคนที่เข้าใจและใส่ใจ
ในโครงการบั๊ดดี้โฮมแคร์ คือ กลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ที่ผ่านหลักสูตรอบรมผู้ช่วยพยาบาล 420 ชั่วโมงและฝึกงานภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เจนวิทย์อธิบายต่อว่า การฝึกงานจะมี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย การฝึกงานในสถานบริการของรัฐ ฝึกงานในโรงพยาบาล และฝึกงานในชุมชน เพื่อให้เขาเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง
“พอฝึกไประยะหนึ่ง เราก็จะให้เขาลงเยี่ยมชุมชนวันเสาร์อาทิตย์ การที่เราให้เด็กเข้าไปทำงานจริง เขาจะใช้ความรู้ตัวเองมาประยุกต์ใช้ด้วย”
ข้อมูลจากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคม บั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy Homecare) ในการดูแลผู้สูงอายุระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 – กุมภาพันธ์ 2562 มีเยาวชนด้อยโอกาสสําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุแล้วจำนวน 31 คน
หนึ่งในนั้น คือ ยงยุทธ เยอส่อ เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยดูแลผู้สูงอายุจากโครงการบั๊ดดี้โฮมแคร์เล่าให้ฟังว่า สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำงานดูแลผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงวัยต้องการคนที่เข้าใจและรับรู้ว่าพวกเขามีตัวตน
“มากกว่าการดูแล ผู้สูงอายุต้องการคนที่เข้าใจและใส่ใจ”
เจนวิทย์บอกว่า การชวนเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์มาทำงานเป็นผู้ดูแล บั๊ดดี้โฮมแคร์ไม่ได้ผูกมัดว่า หากตัดสินใจจะทำงานนี้แล้วพวกเขาจะต้องเป็นผู้ดูแลตลอดไป จึงทำให้บั๊ดดี้โฮมแคร์เปิดคอร์สสอนทักษะอื่นๆ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการเงินให้กับเยาวชนกลุ่มนี้เพิ่มเติมในช่วงเย็นของทุกวัน
“ผมให้น้อง ๆ ไปดูธรรมชาติรอบตัว เพราะคุณต้องใช้ชีวิตด้วย คุณไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ต้องทำงานอย่างเดียว แล้วพอเขาวางอนาคตตัวเองแล้วเขาก็ใช้ชีวิตด้วยตัวเองต่อได้”
ยงยุทธเองก็เช่นกัน ถึงแม้จุดเริ่มต้นการทำงานของเขาจะเป็นอาชีพดูแลผู้สูงอายุ แต่วันนี้เขาตัดสินใจออกมาสานฝันตัวเองในการเป็นช่างภาพ
แม้จะเป็นเพียงก้าวแรกที่ถ่ายภาพผ่านไอแพดและบางครั้งจะยืมกล้องคนรู้จักมาถ่ายงานบ้าง แต่ยงยุทธก็มีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เขารัก และการดูแลผู้สูงอายุ คือ บทเรียนและประสบการณ์ที่ทำให้เขาเติบโตและเข้าใจชีวิตมากขึ้นจนถึงทุกวันนี้
การดูแลพ่อแม่มันเหนื่อยและไม่ง่าย การให้คนที่มีความรู้และมืออาชีพมาช่วยจึงสำคัญ
บั๊ดดี้โฮมแคร์ทำงานกับผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น โรคอัลไซเมอร์ และผู้สูงอายุระยะสุดท้าย
เจนวิทย์บอกว่า ถึงจะมีลูกค้าหลายกลุ่ม แต่มีเป้าหมายในการทำงานเดียวกัน คือ การให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้และมีความสุข
“ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องฟื้นฟูแล้วกลับมาเป็นปกติ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ถ้าดูเร็ว ทำกายภาพเร็วเขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ประเด็นสำคัญ คือ หากร่วมมือกันดูแล จะช่วยเขาให้กลับมาดูแลตัวเองให้เร็วที่สุด แล้วก็สามารถหยุดใช้บริการได้ เพราะเขาหายแล้ว”
“ในกลุ่มที่เขาเผชิญความเสื่อมของร่ายกาย ไม่มีทางรักษาหายได้ เช่น โรคสมองเสื่อม เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ถึงจะดูแลเขาไม่ได้หาย แต่ว่าผู้ดูแลสามารถยืดระยะเวลาให้นานขึ้นได้ หมายความว่า แทนที่จะแย่ลงเร็วก็ให้ดูแลตัวเองให้มากที่สุด และนานที่สุด เพราะมีความชัดเจนว่ามันเสื่อมแน่ ๆ นะ แต่ว่าเราสามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีได้”
“ส่วนผู้ป่วยระยะสุดท้าย การรักษาให้หายนั้นทำไม่ได้ จำเป็นต้องให้พยาบาลวิชาชีพมาดูแล ถ้าหยุดการรักษาแล้วก็จะเป็นการประคับประคองระยะสุดท้ายที่บ้าน ไปอยู่ช่วย อำนวยความสะดวก แต่ต้องเข้าใจตรงกันว่า น่าจะเป็นช่วงสุดท้าย จะทำอย่างไรให้ท่านมีความสุขที่สุด”
ส่วนหนึ่งที่บั๊ดดี้โฮมแคร์ได้รับการตอบรับจากลูกค้าหลายกลุ่ม เพราะสังคมที่เปลี่ยนไป ลูกหลานต้องออกไปทำงาน เจนวิทย์ในฐานะผู้ก่อตั้งมองว่า การดูแลพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย มีขั้นตอนมากมายที่ควรรู้ และการให้คนที่มีความรู้และเป็นมืออาชีพมาช่วยดูแลจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“เราจะเห็นว่าในอดีตต้องมีสมาชิกครอบครัวสักคนหนึ่งเสียสละดูแลพ่อแม่สูงวัย มันเป็นภาพจำ ว่าคนนี้ไม่ได้ทำงานต้องดูแลแม่ ดูแลพ่อ แต่พี่น้องคนอื่นไปทำงาน มันเป็นค่านิยมที่สังคมเรายึดถือทำๆ กันมาโดยไม่คิดว่ามันต้องเปลี่ยน”
“การดูแลพ่อแม่มันเหนื่อยนะ หนึ่ง คือ ไม่รู้ต้องทำอย่างไร สอง ถ้าไม่ดูแลสังคมก็บอกว่าอกตัญญูอีก แล้วทำไมต้องมาตีตราเราด้วย ในเมื่อเราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลที่มากพอและต้องออกไปทำงาน ถูกไหม”