ชุมชนซอยพระเจน : ที่นี่คนในบ้านทะเลาะตบตีกัน คนข้างบ้านจะไม่นิ่ง และยื่นมือเข้ามาช่วย
เสียงคนข้างบ้านทะเลาะกัน
เสียงที่เราต่างเคยได้ยิน แม้จะไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกัน
บางบ้านเป็นเสียงทะเลาะที่เกิดขึ้นประจำเหมือนกับเสียงไก่ขันที่ทำให้คนแถวนั้นชิน บางบ้านก็จบลงด้วยการลงไม้ลงมือ และอาจไม่ใช่ครั้งนี้ครั้งเดียว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’
ถามว่า ถ้าได้ยินเสียงนี้จะทำอย่างไร? อยู่นิ่งๆ ให้เขาจัดการกันเอง หรือคอยดูสถานการณ์ ถ้าเริ่มแย่ขึ้นก็จะเข้าไปช่วยทันที…
ที่ชุมชนซอยพระเจน ชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มีสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีตั้งอยู่หน้าชุมชนห่างไป 200 เมตร แต่ก็มีทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ต่างจากที่อื่นๆ แต่คนที่นี่จะไม่นิ่งเฉยให้กับความรุนแรง โดยแกนนำชุมชนจะทำหน้าที่บริหารจัดการดูแล ให้ชุมชนรู้สึกว่า “พวกเขาต้องทำอะไรสักอย่าง”
งานแก้ไขและลดปัญหาความรุนแรง เป็นหน้างานหนึ่งที่แกนนำช่วยกันทำ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เข้ามาทำกระบวนการพัฒนาแกนนำให้มีทักษะช่วยเหลือเคส (คนที่ได้รับความรุนแรง) เพื่อช่วยเหลือ แก้ไข และวางแผนป้องกันต่อไป ผ่านการได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
‘แอลกอฮอล์’ จุดเริ่มต้นของความรุนแรง
“เมื่อก่อนคนนั่งดื่มเต็มไปหมด ปีใหม่ หัวปี – ท้ายปี ช่วงไหนก็เมากันหมด ทะเลาะกันในบ้านบ้าง นอกบ้านบ้าง”
สมโภชน์ สง่าพล หนึ่งในกลุ่มแกนนำชุมชนซอยพระเจนเล่าถึงชุมชนของเธอที่ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ เป็นสาเหตุหลักๆ ของการใช้ความรุนแรง พวกเขาแก้ไขต้นเหตุด้วยการให้คำปรึกษา บำบัดสมาชิกที่ติดแอลกอฮอล์ พร้อมกับรณรงค์ให้คนอื่นๆ เห็นถึงปัญหานี้ เข้ามาร่วมกระบวนการด้วยกัน
‘หนุ่ม’ หรือ ‘นายไข่เจียว’ เป็นหนึ่งคนที่ผ่านกระบวนการเลิกเหล้า
“มันเบื่อด้วยมั้ง ผมก็ไม่รู้จะทำอะไร วันๆ กินเหล้าเช้า-เย็น เลยตัดสินใจว่าเราเลิกดีกว่า เพราะหนี้สินมันก็มี กินเหล้าเยอะๆ มีผลต่อร่างกายด้วย
“ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะเลิกได้ ใช้เวลาพอสมควร”
กระบวนการฟื้นฟูเริ่มจากชวนพวกเขามาเข้าร่วมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำควบคู่ไปกับสถานพยาบาลที่มีโปรแกรมบำบัดรักษา ถ้าใครทำประสบความสำเร็จก็จะชวนเป็น‘บุคคลต้นแบบ’ ให้คำแนะนำคนอื่นๆ ต่อไป
“เล่าประสบการณ์ให้เขาฟัง คอยพูดกับเขาทีละนิดๆ ‘ลองดู ไม่เป็นไร’ ‘เลิกไม่ได้ไม่เป็นไร ลองดูก่อน’ ชวนกันตรงๆ ให้เลิกเหล้าไม่มีใครอยากเลิกหรอก ต้องค่อยๆ พูดคุย เอาความตลกเข้าไปช่วยให้เขาสบายใจบ้าง” หนุ่มเล่าถึงงานที่ทำ
เลิกเหล้าได้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตหนึ่งของหนุ่ม ทำให้เขามีเวลาโฟกัสชีวิตด้านอื่นๆ อย่างช่วยเหลือคนทั่วไป ถึงขั้นเปิด ‘ร้านขายข้าวไข่เจียว’ ร้านที่เป็นที่พึ่งให้กับคนในชุมชนได้อิ่มท้อง
สมโภชน์ เล่าว่า ธุรกิจข้าวไข่เจียวได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนคนที่ทำหน้าที่เป็นบุคคลต้นแบบให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่นๆ ซึ่งหนุ่มก็รับหน้าที่ดูแลกิจการนี้
ไม่ใช่แค่เตาตั้งทอดไข่เจียว เสิร์ฟให้กับคนอื่นๆ แต่หนุ่มถึงขั้นไปเปลี่ยนชื่อจริงตัวเองเป็นนายไข่เจียว
“ตอนที่ทำร้านนี้รู้สึกว่าเราได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็เลยอยากเปลี่ยนชื่อ เราคิดชื่อตั้งนาน 3 – 4 วันถึงจะคิดออก นึกได้ว่าสมัยวัยรุ่นเราเล่นกีตาร์ เล่นเพลง ‘นายไข่เจียว’ นี่หว่า แล้วเปิดร้านยังตั้งชื่อว่าร้านนายไข่เจียว ก็เลยรู้สึกว่าชื่อนี้ใช่เลย เปลี่ยนมันซะเลย”
ชีวิตและสุขภาพดีขึ้นจากการเลิกเหล้า ก็ทำให้ความสัมพันธ์ของหนุ่มกับคนรอบข้างดีขึ้นตาม
“ก็รู้สึกดี เพราะเราผ่านชีวิตมาก็จะ 50 แล้ว เพื่อนเราเสียชีวิตไปหลายคน ตัวเรายังดีที่เลิกทัน
“เวลาเรากินเหล้าหนักๆ แม่เขาเป็นห่วงเรา พอเราเลิกแม่ก็ดีใจ ญาติพี่น้องก็ยินดีหมด เราอายุขนาดนี้เหมือนจะช้าไป แต่ความเป็นจริงมันไม่มีอะไรช้าไปหรอก”
Empower : ทำให้เคสเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถแก้ไขปัญหา แล้วชุมชนจะช่วยประคอง
ลดคนที่ติดเหล้าเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อีกงานหนึ่งของแกนนำชุมชน คือ รับมือกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สมโภชน์ เล่าว่า ความรุนแรงในชุมชนส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัว ระหว่างสามี – ภรรยา พ่อแม่ – ลูก หรือญาติ – หลาน ทั้งทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ
งานนี้ชุมชนทำร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่ใช้กระบวนการพัฒนาแกนนำให้มีทักษะช่วยเหลือเคส หรือคนที่ได้รับความรุนแรง เริ่มจากปรับเปลี่ยนมุมมองที่แกนนำมีต่อความรุนแรง จากเดิมที่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้มองเป็นเรื่องที่เราช่วยเหลือได้
“ก่อนมาทำงานนี้ เราก็เห็นว่าเรื่องความรุนแรงเราเข้าไปยุ่งไม่ได้ ผัวเมียทะเลาะกัน มันเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องครอบครัวเขา พอเราถูกคัดเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง มูลนิธิก็ส่งเราไปอบรม เพื่อทำความเข้าใจว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องในครอบครัว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ
“การช่วยเหลือของเรา คือ เขาต้องขอให้เราช่วย อยู่ๆ เราเข้าไปช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนลงพื้นที่ เราต้องมีทักษะก่อนว่าต้องทำงานยังไง วิธีไปคุยกับเคส ทำให้เขาเปิดใจบอกให้ช่วย เราถึงจะช่วยได้” ชไมพร จิรชัยสุทธิกุล หนึ่งในแกนนำชุมชนซอยพระเจน เล่าถึงกระบวนการทำงาน
เพราะปัญหาความรุนแรงมีเรื่องของอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำให้เคสได้ตัดสินใจเองจะช่วยทำให้เขารับรู้ว่าตัวเองมีพลัง เป็นฐานให้พวกเขาแก้ไขปัญหาต่อไป
ในความเป็นชุมชนทำให้งานนี้มีทั้งความง่ายและยาก กล่าวคือความใกล้ชิด ใช้ชีวิตแบบเห็นหน้าค่าตาก็ทำให้แกนนำรู้ความเป็นไปของคนในชุมชน สามารถเข้าไปสังเกตและให้ความช่วยเหลือได้ แต่ความใกล้ชิดก็ทำให้การจัดการปัญหาต้องใช้การประนีประนอม เพื่อไม่เพิ่มความขัดแย้งระหว่างแกนนำกับผู้กระทำความผิด เน้นให้เคสจัดการด้วยตัวเอง
สมโภชน์ เล่าถึง เคสที่แกนนำช่วยเหลือ เป็นเด็กอายุ 9 ขวบที่ถูกปู่ล่วงละเมิดทางเพศ การทำงานของแกนนำ คือ สังเกตการณ์ก่อนจะเข้าไปหาเด็ก พาข้าวไข่เจียวร้อนๆ ไปให้เขากินเพื่อทำความรู้จัก ละลายกำแพงความกลัวที่เด็กตั้งไว้ ก่อนจะไถ่ถามหาข้อมูลจนรู้เรื่องราวทั้งหมดและสามารถช่วยเหลือเด็กได้
“พอหาข้อเท็จจริงได้ เราจัดประชุมสหวิชาชีพวันนั้นเลย เชิญสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน สถานพยาบาลเข้า หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แล้วก็มีแกนนำของเราเข้าไปคุย หาทางช่วย เด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกหลานเรา แต่เรารู้สึกว่า ชุมชนไม่ได้เข้าไปดูแลเขาเลย ไม่มีใครดูแลเขา เพราะพ่อติดคุก แม่ก็ไปอยู่ต่างประเทศ เขาต้องอยู่กับอาและ ปู่ที่มีพฤติกรรมติดยาเสพติด”
Empower หรือการทำให้เคสรับรู้คุณค่าในตัวเอง ถือเป็นหัวใจของการทำงานเพื่อลดความรุนแรงในชุมชน ไม่ใช่ได้จากการบอกว่าเขามีคุณค่า แต่การทำให้เขารับรู้สิ่งนี้ผ่านการเรียนรู้ไปด้วยกัน
“อย่างที่คุณจะเด็ด (จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) บอก มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ของคน เราแค่หนุนเสริม คุณจะเด็ดก็มาหนุนเสริมให้ความรู้เรา เราก็ไปหนุนเสริมคนอื่น เป็นวงกลมหมุนช่วยกัน สิ่งดีๆ เกิดขึ้น
“เราต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง อย่างหนุ่มที่เขาเลิกเหล้าได้ด้วยตัวเอง เราเพียงเข้าไปหนุนเสริม เขามีพลังของเขาเอง”
เมื่อรักเป็น ก็ต้องรู้จักที่จะดูแลความสัมพันธ์นั้น
การทำงานนี้ควบคู่ไปกับการเจอความเชื่อที่ว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และการโทษว่าเป็นเพราะเคสทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ทำให้พวกเขาไม่กล้าจัดการคนที่ทำร้าย
สมโภชน์เองก็เคยเจอการใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก ภาพพ่อนั่งกินเหล้าจนเมาแล้วทะเลาะกับแม่เป็นสิ่งที่เห็นจนชินตา และทำให้สมโภชน์เลือกที่จะมาทำงานนี้ เพื่อไม่ให้มีใครต้องทนกับสภาพเช่นนี้อีก
“มีเคสที่ถูกข่มขืนแล้วมีคนหนึ่งบอกเราว่า อย่าไปยุ่งกับเขา เด็กมันทำตัวเองเอง มันไม่ใช่ จะมาบอกว่าเพราะเราแต่งตัวล่อแหลม หรือเพราะเราไปอยู่ตรงนั้นไม่ถูก เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ คุณมีสิทธิ์มาทำกับเราแบบนี้ได้ไง”
ซึ่งมุมมองของคนในชุมชนก็ปรับเปลี่ยนตามระยะเวลา พวกเขาไม่คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวที่ควรเพิกเฉย แต่คนอื่นๆ สามารถยื่นมือช่วยเหลือได้
“เราว่าคนเปลี่ยนไปนะ เมื่อก่อนแทบจะไม่มีใครสนใจเลย ไม่ค่อยคุยกันด้วยซ้ำ พอเราเข้ามาทำตรงนี้ ทุกคนก็เริ่มให้ความสนใจ มีต้นแบบคนที่เลิกเหล้าได้ ช่วยมาหลายครอบครัว ทำให้คนในชุมชนรู้ว่าถ้าเกิดความรุนแรง หรืออยากปรึกษา ก็แค่เดินมาหาเรา เขามีที่พึ่ง”
ปลายทางของงานนี้อาจไม่ใช่การทำชุมชนที่ปลอดความรุนแรง สมโภชน์มองว่ายังต้องใช้เวลากว่าพักใหญ่ถึงจะไปจุดนั้นได้ แต่ ณ ตอนนี้ทุกคนรับรู้ว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยวเมื่อเจอปัญหาก็สามารถขอความช่วยเหลือได้
และการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดของเรื่อง สมโภชน์มองว่าต้องปรับทัศนคติ เริ่มจาก ‘รักให้เป็น’
“คนเราการบอกรักมันง่าย แต่การบอกเลิกง่ายไหมละ? การออกจากความสัมพันธ์ยากมากนะ เราควรรู้ว่าจะออกจากความสัมพันธ์ยังไง รักเป็นก็ต้องออกให้เป็น”
“ความรุนแรงเป็นเรื่องของการจำกัดเสรีภาพ บอกว่าฉันรักเธอนะ แต่บังคับให้เธออยู่กับฉัน มีกฎที่เธอต้องปฎิบัติตาม ถามว่าอึดอัดไหม…อึดอัดสิ เกิดความรุนแรงละ แต่ถ้าเรารักกัน ให้เสรีภาพซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างได้ทำในสิ่งที่ต้องการ แฮปปี้ไหม? นี่แหละที่เขาบอกว่าความรักคือการมีเสรีภาพเท่าเทียม” สมโภชน์ทิ้งท้าย