“เป็นทำไมล่ามอาสา ไม่มีค่าตอบแทน” คุยกับคนแปลภาษาที่พาแรงงานข้ามชาติไปโรงพยาบาล โดยไม่ต้องซื้อยากินเอง
“ส่วนใหญ่ก็จะซื้อยากินเอง”
คือ วิธีการรักษาตัวเองยามเจ็บป่วยของ ‘ปูนา’ แกนนำนักศึกษาข้ามชาติของมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ(สสส) ในช่วงแรกของการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากเธอไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ การไปโรงพยาบาลจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย
เช่นเดียวกับ ‘แสงดาว’ ที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อนก็บอกว่า การพูดภาษาไทย คือ อุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
“เราไม่ได้เป็นมาก แค่ป่วยนิดหน่อย ก็ซื้อยากินเอง เพราะเราก็พอดูออกว่ายานี้เป็นยาอะไร เราก็สังเกตบ่อย แต่ว่าถ้าเราเป็นมากๆ เราก็จำเป็นต้องใช้ล่าม ถึงจะสื่อสารได้ ก็ต้องมีคนที่พูดไทยได้พาเราไป”
จนวันนี้ที่ทั้งสองคนเรียนภาษาไทยจนเป็น ‘ล่าม’ เอง และพาคนในชุมชนไปโรงพยาบาลได้ สิ่งนี้ทำให้รู้ว่า ภาษาคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนต่างภาษาสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา
เพราะแรงงานข้ามชาติเข้ามาด้วยเหตุผลหลัก คือ หางานทำ อย่างน้อยๆ ค่าแรงก็มากกว่าบ้านเกิด บางคนอาจได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย
“เรารู้สึกว่าอยากอยู่ที่นี่จนกว่าจะอยู่ไม่ได้แล้ว”
เสี่ยงตายแค่ไหน ต้องข้ามมาไทยให้ได้
ค่าแรงที่พม่าถูก เราทำงาน ใช้ไป มันก็ไม่เหลือ แต่ที่ไทยค่าแรงเยอะก็เลยมาทำที่นี่ มากับน้องชาย ตอนแรกทำงานที่โรงงานปลากระป๋อง เพราะเราสื่อสารไม่ได้”
เพราะเป็นลูกสาวคนโตของบ้าน ทำให้เมื่อ 20 ปีก่อน ‘แสงดาว’ ในวัย 20 ต้นๆ ยุติอาชีพครูอาสาที่ทำมา 8 ปี เข้ามาทำงานที่ประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เริ่มต้นจากการนั่งรถมารอยต่อชายแดน ใช้ชีวิตในป่า 28 วัน กว่าจะเข้ามาถึงประเทศไทย
“ระหว่างอยู่ป่า 28 วัน เราก็คิดว่าจะไม่เข้ามาแล้ว เดี๋ยวเราจะกลับบ้าน แต่กลับไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าตายระหว่างทางแน่ๆ เพราะคนเยอะมาก นั่งทับกันในรถตู้เอาเบาะออก จริงๆ นั่งได้ 14 คน แต่รถตู้นั้นอัดกันมา 50 คน” แสงดาวบอก
ส่วน ‘ปูนา’ ลูกสาวคนเดียวก็เข้ามาประเทศไทยตอนอายุ 13 ปีด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะคิดว่าประเทศไทยจะมีงานและชีวิตที่มั่นคงให้เธอสามารถพาครอบครัวให้หลุดพ้นจากความยากจนได้
“หนูออกจากโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ลูกพี่ลูกน้องเคยขึ้นมาเมืองไทยก็เลยบอกว่า เขาว่าเมื่อไหร่มีงานให้ทำก็เรียกได้ วันหนึ่งเขาก็เรียกหนูบอกว่า เขาต้องการแม่บ้าน ทำได้ไหม หนูก็บอกว่าทำได้ แต่ต้องเข้ามาทางธรรมชาติคนเดียวนะ เราก็ตกลง”
แต่การใช้ชีวิตในประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทั้งสองคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้บางครั้งไม่กล้าที่จะสื่อสารหรือออกไปข้างนอกด้วยตัวเอง จนแสงดาวและปูนามาเรียนภาษาไทยที่มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท เนื่องจากงานหนึ่งของมูลนิธิฯ คือ การลดช่องว่างด้านภาษาเพื่อให้แรงงานข้ามชาติมั่นใจและดูแลตัวเองได้ จึงทำให้ความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ของทั้งสองคนคลายลงไปบ้าง
“พอเราสื่อสารภาษาไทยได้เหมือนออกจากความมืด เราออกไปไหนมาไหนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร” แสงดาวเสริม
สักวันเราจะเรียนจบปริญญาที่นี่
ถ้าสามารถสื่อสารภาษาไทย อะไรๆ ก็น่าจะเป็นไปได้
แต่กว่าจะพูดและสื่อสารภาษาไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับปูนา สิ่งที่ยากคือการออกเสียงควบกล้ำและคำวิเศษณ์
“คำควบกล้ำ ยากมาก เยอะมากๆ เลย ถ้ายากก็จะเป็นพวกคำวิเศษณ์ เรียนแล้วไม่เข้าใจเลย ไม่เข้าใจว่ามันมาจากไหน คือมันเยอะมากๆ หรือคำควบกล้ำใส่เข้าไปแล้วเสียงก็ยังออกเหมือนเดิม”
รวมถึงความเขินอายในการสื่อสารช่วงแรก เพราะกลัวจะสื่อสารผิด พูดผิด และพูดไม่ชัด แต่การเรียนการศึกษานอกระบบตามหลักสูตรที่มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบทเตรียมไว้ทั้งหมด 6 ปี คือ ประถมศึกษา 2 ปี มัธยมศึกษา 2 ปี และมัธยมศึกษาตอนปลายอีก 2 ปี ทำให้ปูนากล้าที่จะพูดและสื่อสารภาษาไทยมากขึ้น
“เราเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่คุยกับใคร แต่ครูเขาก็ดีมากให้เราพูดและสื่อสาร พูดไม่ชัด ซึ่งมันไม่ชัดอยู่แล้ว ยิ่งอยู่นาน เรากล้าที่จะพูดขึ้น เพราะการสื่อสาร มันต้องพูด ต้องสื่อสาร การพูดคือพูด ผิดถูกช่างมัน”
และวันนี้ ภาษาไทยทำให้ปูนาได้กลับมาเรียนอีกครั้งในฐานะนักศึกษาคณะบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สานต่อความฝันการเรียนที่เธออยากทำมาตั้งแต่เด็ก
“ตอนเด็กๆ อยากเป็นทนาย อยากเรียนสูงๆ แต่เราไม่มีเงินก็เลยทิ้งความฝันมางานทำที่เมืองไทย วันนี้มีโอกาส หนูคุยกับพ่อ คุยกับแม่ คุยกับพี่น้องตลอดว่า สักวันหนูจะเรียนจบปริญญาที่นี่ เหมือนความฝันที่เราอยากเรียนกลับมาอีกครั้ง”
การเป็นล่ามจะแปลตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจและค่อยเป็นค่อยไป
เพราะช่วงแรกที่อาศัยในประเทศไทย แสงดาวและปูนายังไม่มีหลักฐานการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อไม่มีก็เท่ากับอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ทำให้เวลาไม่สบาย ทั้งสองคนจึงเลือกที่จะซื้อยากินเอง
“ส่วนใหญ่ก็จะซื้อยากินเองแล้วกลับบ้าน” ปูนาเสริม
ตอนนี้แสงดาว คือ หนึ่งในคนที่เรียนภาษาไทยจนสื่อสารได้ ทำให้เธอเป็นครูให้กับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ล่ามและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)
หน้าที่ของแสงดาวในฐานะแรงงานพม่าที่รู้ภาษาไทย คือ การพาคนในชุมชนไปโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงระบบสุขภาพได้ทันเวลา เนื่องจากหลายครั้งประชากรข้ามชาติไม่กล้าไปโรงพยาบาล เพราะตัวเองเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายกลัวตำรวจจับ และสื่อสารภาษาไทยไม่ได้
“ความยากคือการจับใจความจะแปลตรงๆ ไม่ได้ เพราะประโยคภาษาไทยกับพม่ามันสลับกัน อย่างคำว่ากินข้าว คำว่าข้าวมาก่อน แล้วกินเป็นการกระทำจะมาทีหลัง ถ้าแปลตรงจะเป็นข้าวกิน”
“แต่ถ้าไปโรงพยาบาลจะยากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าชื่อโรคคืออะไร เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เขาพูดไม่ตรงกับอาการ เบาหวานกับความดันบางคนพูดต่อกัน เราต้องถามทีละอย่าง อาการเป็นแบบไหน พูดภาษาพม่าว่าแบบนี้ถูกไหม เราก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าถูกต้องทั้งสองภาษาก็อาจจะใช่”
ส่วนใหญ่เหตุผลที่หลายคนมาขอให้แสงดาวพาไปโรงพยาบาล คือ อุบัติเหตุเล็กน้อยและคนที่กำลังคลอดลูก การเจ็บป่วยที่ไม่สามารถไปหาหมอเองได้ แต่จำเป็นต้องมีล่าม
“ที่เราพาไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นคนคลอดลูกหรือเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชน กลางคืนแกนนำผู้ชายจะไปมากกว่า นานๆ ที พี่จะไป อย่างคนที่เขาไม่กล้าไปคลอดลูก เขาก็ไม่กล้าไปขอความช่วยเหลือจากแกนนำชาย”
ในฐานะล่ามอาสา แม้ไม่มีค่าตอบแทน แสงดาวบอกว่าการช่วยเขาให้ได้รับการรักษาทันเวลาและพาคนหนึ่งรอดจากอุปสรรค นั่นคือความสุขของการทำงานแล้ว
“ไปเป็นล่ามให้คนอื่น เรามีน้ำใจพาเขาไป แต่คนที่พาไป เขาจะมีน้ำใจให้เรา บางครั้งมีค่าตอบแทนหรือมีของแทนคำขอบคุณ แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว เราพาเขารอดจากอุปสรรคได้แล้ว”
นอกจากพาไปโรงพยาบาล บางครั้งแสงดาวก็ต้องลงพื้นที่ชุมชนไปสอนเด็กๆ ในชุมชนหรือเป็นล่ามในโรงงานเพื่อให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงานและสิทธิต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติ
“เราอยู่ไทยมานาน เรารู้สิทธิมากขึ้น เรามีวันหยุด ลาพักร้อนได้ แต่ตอนนี้เรารู้สิทธิของตัวเองแล้ว เราก็เอาไปอธิบายให้คนที่ยังไม่รู้สิทธิฟังได้”
ถ้าสถานการณ์ดี มีค่าแรง มีงานให้ทำ เราก็อยากกลับบ้าน
แสงดาวบอกว่า สิ่งแรกที่อยากทำ ถ้าได้กลับพม่า คือ อยากเปิดธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง ตอนนี้มีที่ดินแล้วเหลือก่อสร้างห้องเช่าให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นรายได้หลักครอบครัว แต่ด้วยสถานการณ์ที่พม่าตอนนี้ทำให้ต้องพับโปรเจคท์นี้ไปก่อน
“ซื้อที่เอาไว้ก็ว่าจะสร้างห้องเช่า แต่ตอนนี้เก็บไว้ก่อน เพราะสถานการณ์เป็นแบบนี้ รัฐจะยึดของเราเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เลยปรึกษากับน้องว่าอย่าเพิ่งสร้าง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะกลับบ้านไปสร้าง”
ฝั่งปูนาบอกว่า ถ้ากลับบ้านอยากสร้างอพาร์ทเมนต์ให้คนเช่าและมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
“เราอยู่ที่นี่มาครึ่งชีวิตแล้ว เรากลับบ้านเราก็เข้าไม่ถึงครอบครัวแล้ว ถ้าเรามีเงินก้อนก็อยากสร้างบ้าน สร้างอพาร์ทเมนท์ให้คนเช่ามั้ย ดีที่เราเก็บเงินได้มาตลอด เรามีเงินเก็บ เราไม่ต้องใช้อะไรแล้ว ตอนนี้ก็รู้สึกว่าความฝันนั้นใกล้ความจริงมากขึ้น”
ปูนาบอกต่อว่า แม้จะอยู่เมืองไทยมาหลายปี แต่เธอก็รู้ดีว่า เธอไม่ใช่คนไทย เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างพร้อมเธอก็ต้องกลับบ้าน
“เรามาต่างบ้านต่างเมืองเพราะมาหางาน”
แต่วันนี้ที่แรงงานข้ามชาติยังใช้ชีวิตในประเทศไทย เพราะต้องทำงานเลี้ยงดูครอบครัว
“เรารู้สึกมาตลอดว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่เรา เราไม่ใช่คนไทย เราต้องกลับบ้าน เราทำงานที่ไทยหลายปี มีคนบอกว่าอยู่จนจะยึดประเทศอยู่แล้ว เมื่อไหร่จะกลับบ้านสักที แต่ถ้าถามเรา เราก็ไม่ได้อยากอยู่ที่นี่ เราอยากกลับบ้านตลอดเวลา ถ้าบ้านเมืองเรามันสถานการณ์ดี มีค่าแรง มีงานให้ทำ ที่มาอยู่คือทำงาน เราไม่ได้อยู่ตลอดชีวิต”