ข้อเสนอ 5 มิติ รับมือสังคมสูงวัย เพราะผู้สูงอายุคือครอบครัวของเรา
สังคมสูงวัยไม่ใช่สังคมที่มีแต่ผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมสูงวัยเท่านั้น
พื้นหินอ่อนแกรนิต ทางต่างระดับไร้ราวจับ บันไดเลื่อนอัตโนมัติ พฤติกรรมเดินเล่นโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ การลดความเสี่ยงจากปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน
21-23 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ‘ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2’
ในหัวข้อการประชุมเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย…ฝึกลุก ล้มเป็น ‘ทำความเข้าใจและรับมือกับสังคมสูงวัยภายใต้บริบทสังคมไทย’ โดยสำนักงานประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ชวนปรับเปลี่ยนมุมมองของการ ‘หกล้ม’ ในผู้สูงอายุ ที่ไม่เพียงทำให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บ ป่วยติดเตียง หรือกระทั่งเสียชีวิต แต่ยังทำให้ชีวิตของคนในครอบครัวต้องมีภาระด้านค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่ผู้สูงอายุหกล้ม 1 คน จะทำให้ครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน ในการดูแลรักษาและฟื้นฟูร่างกาย ฉะนั้น การเรียนรู้วิธีป้องกันการล้มจึงมีความสำคัญ เช่น การกางแขนออกเมื่อล้มหงายหลังเพื่อลดแรงกระแทกระหว่างศีรษะและพื้น หรือการใช้ไม้เท้าเพื่อลดภาระสะโพกและข้อเข่าในการรับน้ำหนักร่างกาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจของป้องกันการหกล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการมีร่างกายที่แข็งแรง การเริ่มออกกำลังกายก่อนวัยเกษียณจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ทันที ขณะที่ในภาพใหญ่ การออกแบบนโยบายที่โอบรับผู้สูงวัยในทุกมิติก็สำคัญไม่แพ้กัน
ในช่วงท้ายของการประชุม อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ผู้จัดการ สป.สว. ถอดบทเรียนและระดมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจัดทำร่างข้อเสนอด้านผู้สูงอายุ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังต่อไปนี้
ด้านเศรษฐกิจ
- ปรับแนวคิดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากการสงเคราะห์เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า (อิงจากเส้นความยากจนในปีนั้นๆ)
- สร้างหลักประกันด้านรายได้ ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ครอบคลุมแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ
- ขยายอายุการทำงานของแรงงานในระบบ ให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะ (re-skill & up-skill) มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่น ระยะเวลาและการบังคับใช้กฎหมาย
- ภาครัฐต้องเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงาน เช่น การบังคับจ้างงาน 1 องค์กร 1 ตำแหน่ง สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง
ด้านสภาพแวดล้อม
- ความปลอดภัยเริ่มจากบ้าน โดยต้องมีลักษณะ ‘อยู่ดี’ (universal design) เช่น ห้องน้ำที่มีราวจับ หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุในครัวเรือน
ด้านสุขภาพ
- มุ่งเน้นระบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ (community based) และการจัดบริการทางการแพทย์และบริการทางสังคม
- ทุกครอบครัวควรมีผู้ดูแล (care giver) สำหรับผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน
- ปรับโครงสร้างการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาวและระยะสุดท้าย โดยหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ควรบูรณาการร่วมกัน ผ่านการจัดตั้งกองทุนการดูแลระยะยาว
ด้านสังคม
- ระบบศูนย์บริการกลางสำหรับผู้สูงอายุ 1 ตำบล 1 ศูนย์บริการ
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน ฐานข้อมูลควรมีตัวชี้วัดด้านสุขภาพและฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล
- สังคายนาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านงานผู้สูงอายุ ให้มีทิศทางและหน้าที่ที่ชัดเจน
ด้านเทคโนโลยี
- ผู้สูงอายุมีสิทธิพิเศษในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น ไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในราคาพิเศษ
- เพิ่มความสามารถและความรู้ด้านดิจิทัลของผู้สูงอายุให้มีพฤฒิพลัง (active and productive aging)
- ส่งเสริมการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ที่มา
- โครงการ ‘ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ เพื่อการเผยแพร่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัย’ (2566)