‘รู้งี้ทำตั้งนานแล้ว’ สิ่งสุดท้ายที่ควรทำก่อนถึงวันเกษียณ

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ที่ทำงานมาจนถึงปีสุดท้ายของวัยเกษียณ หรือว่าคุณอาจมีความคิดที่จะเกษียณก่อนวัยก็ตาม การเตรียมตัวที่ดีจะทำให้คุณมีชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข

การวางแผนเกษียณไม่ใช่เพียงเตรียมตัวด้านการเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมพร้อมจิตใจของตัวเอง ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ใหม่ของชีวิตที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนควรทำในปีสุดท้ายก่อนถึงวันเกษียณ หากทำตามนี้ รับรองว่าการนับถอยหลังสู่วันสุดท้ายของการทำงานจะไม่เป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นอย่างแน่นอน

1. สำรวจสภาพคล่องในกระเป๋าสตางค์

ความเครียดจากเงินเก็บที่อาจไม่พอใช้ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุความเครียดหนึ่งของผู้สูงวัยหลังเกษียณ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดดังกล่าว เราควรสำรวจสถานะทางการเงินให้ครบทุกมิติ ทั้งเงินเก็บ ทรัพย์สิน หนี้สิน เงินลงทุน รวมถึงเงินบำเหน็จและบำนาญที่จะได้หลังจากเกษียณไปแล้ว

การเห็นภาพสถานะทางการเงินของตนเองอย่างรอบด้านแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเครียดที่จะตามมาได้ และจะสามารถวางแผนได้อย่างถูกต้อง

2. วางแผนชีวิตที่อยากเป็น

ชีวิตที่ดี (The good life) หมายถึงการที่สามารถออกแบบวิถีชีวิตของตัวเองได้ คือนิยามความสุขที่นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ได้กล่าวไว้ การได้ทำกิจกรรมตามที่ตัวเองต้องการ จะทำให้เกิดความอิ่มเอิบทางจิตใจ และเกิดมุมมองต่อชีวิตและโลกไปในทางบวก

ลองจินตนาการว่า หากไม่ได้ทำงานแล้ว เราอยากจะมีชีวิตแบบไหน อยากจะทำอะไร กิจวัตรแบบไหนที่จะกลายเป็นกิจวัตรตอนเกษียณของเรา หากเราวางแผนและตอบคำถามนี้ได้แต่เนิ่นๆ จะทำให้ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณเป็นปีที่น่าตื่นเต้น และจะนำสู่ไปชีวิตที่ดีหลังเกษียณได้

ที่สำคัญอาจทำให้คุณวางแผนทางการเงินได้ดีขึ้น ว่ากิจวัตรแบบที่คุณต้องการนั้นมีค่าใช้จ่ายมากแค่ไหน คุณต้องลงทุนกับอะไรบ้าง เช่น หากคุณอยากมีชีวิตบั้นปลายไปกับนั่งอ่านหนังสือท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ คุณอาจต้องเริ่มลงทุนในเก้าอี้ดีๆ สักตัวและปรับปรุงมุมอ่านหนังสือในบ้านให้มีแสงส่องถึง เป็นต้น

 3. หางานอดิเรกใหม่ๆ

ความเครียดที่ตามมาหลังการสูญเสียอาชีพการงานที่ทำมาตลอดหลายปี เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้สูงวัยอาจต้องเจอหลังการเกษียณ รวมถึงการรู้สึกไร้คุณค่า ไร้จุดหมาย ดังนั้นการหางานอดิเรกใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงไม่ต้องเผชิญความรู้สึกดังกล่าว ลองคิดดูว่ามีอะไรที่คุณอยากลอง อยากฝึกฝนมาตั้งนานแล้วบ้าง ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่คุณจะเริ่มต้นได้ทันที ไม่ต้องรอถึงวันเกษียณ

อย่าลืมว่า หลังอายุ 70 ปีเป็นต้นไป การเรียนรู้ของผู้สูงอายุจะช้าลง ดังนั้นช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสทองที่คุณจะเก็บเกี่ยวและฝึกฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณอาจเริ่มด้วยการเรียนภาษาใหม่ๆ วันละนิด หรือหัดเล่นดนตรีแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ หัวใจสำคัญในการเรียนรู้ของคนวัยนี้คือ การเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน

4. ทดลองใช้ชีวิตให้เหมือนกับเกษียณแล้ว

เมื่อวางแผนชีวิตที่อยากเป็น มีงานอดิเรกที่อยากฝึกฝนหรืออยากทำแล้ว ให้ลองใช้ชีวิตเหมือนกับว่าคุณเกษียณไปแล้วเท่าที่จะพอทำได้ หากชีวิตที่คุณอยากใช้หลังเกษียณคือตื่นขึ้นมาฝึกกีต้าร์ทุกเช้า ก็ควรจะลองทำมันดูเลย อาจเริ่มจากครึ่งชั่วโมงก่อนไปทำงานก็ย่อมได้ และแน่นอนว่าลองใช้เงินให้ใกล้เคียงที่สุดกับที่คุณคาดว่าจะใช้ตอนเกษียณ

การทดลองใช้ชีวิตให้เหมือนกับเกษียณแล้วจะเป็นการสำรวจในเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราวางแผนไว้นั้นเป็นไปได้แค่ไหน หรือติดขัดอะไรตรงไหน และยังทำให้คุณได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากเป็น โดยไม่ต้องนับถอยหลังทุกวันว่าเมื่อไหร่จะเกษียณอีกด้วย

และเมื่อเวลาเกษียณมาถึง คุณจะได้ไม่ต้องเจอภาวะสุญญากาศ หรือความรู้สึกว่างเปล่า ว่าต่อจากนี้จะทำอะไรดี สิ่งนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมไปสู่ชีวิตการทำงานและชีวิตเกษียณอย่างราบรื่น

5. ช้าลงหน่อย

หากนี่คือปีสุดท้ายของการทำงาน โปรดเตือนตัวเองเสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว อย่าทุ่มชีวิตหรือทุ่มเวลามหาศาลให้แก่งานเหมือนแต่ก่อน ในวัยเท่านี้สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณถูกความเครียดรุมเร้า และหักโหมร่างกายมากเกินไป อาจนำไปสู่ชีวิตเกษียณที่ไม่ราบรื่นเหมือนอย่างที่คิด

พึงระลึกว่าคุณยังคงทำงานเต็มที่ได้ ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพียงแต่ปรับความเร็วลงสักนิด แล้วชีวิตจะดีเอง

6. ลาพักร้อน ชาร์จแบตให้ตัวเอง

แม้อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะถึงเวลาเกษียณแล้ว แต่อย่างไรเสียคุณก็ยังต้องทำงานอยู่ จะดีกว่าไหมหากคุณใช้วันลาเพื่อพาตัวเองไปพักผ่อนบ้าง อาจเป็นเรื่องที่ทำแล้วดีต่อใจ ทำให้การกลับมาทำงานอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนสุดท้ายเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพและไม่เครียดจนเกินไปอีกด้วย

นอกจากนี้ การได้ไปพักร้อนหรือเปลี่ยนบรรยากาศไปพักที่โรงแรมสวยๆ อากาศดีๆ หรือแม้กระทั่งไปต่างประเทศ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หรือหากมองในอีกแง่หนึ่งการไปพักร้อนในครั้งนี้อาจทำให้เรารู้ใจตัวเองมากขึ้นว่าชีวิตแบบไหนที่เราต้องการในวัยเกษียณ

7. สร้าง To-do-list สำหรับที่ทำงานของเรา

อย่างที่บอกไปว่าคุณยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และใช้ความสามารถของคุณเพื่อองค์กรได้ ไม่ใช่ว่าทำงานไปวันๆ จนวันสุดท้ายเท่านั้น ในปีสุดท้ายของการทำงาน คุณอาจลองสร้าง To-do-list รายการสิ่งที่คุณอยากทำเพื่อทำให้องค์กรดีขึ้นได้ เช่น อาจลองเสนอรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม หรือลองแก้ปัญหาบางอย่างที่มีมานานแล้วในที่ทำงาน ซึ่งอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้

งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามันจะกลายเป็นความภาคภูมิใจที่ติดตัวเรา ดังนั้นไม่ว่าคุณมีเป้าหมายอะไร หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร อย่ามัวคิดลังเล สร้างรายการที่คุณอยากทำไว้ แล้วค่อยๆ ทำมันไปทีละอย่างๆ จนวันสุดท้ายของการทำงาน

8. ให้โอกาสคนรุ่นต่อไป

การปล่อยวางในบางสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่อย่างสนุกหรือทำได้ดี เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสทำบ้าง นั่นเป็นสิ่งสำคัญ เราอาจไม่ไว้ใจพวกเขาเต็มร้อยในช่วงแรก และพวกเขาก็อาจไม่เชื่อใจตัวเองเต็มร้อยเหมือนกันว่าจะทำได้ดี ดังนั้นแม้จะปล่อยให้พวกเขาได้ลองทำแล้ว เราก็มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ข้างๆ

นอกจากจะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพให้แก่องค์กรแล้ว ยังเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนรุ่นใหม่ ไม่แน่ว่าเราอาจได้กัลยาณมิตรใหม่ๆ ต่างวัยก็เป็นได้ และจะทำให้ชีวิตเกษียณของคุณไม่ต้องสูญเสียการสมาคมเพื่อนฝูง เพราะกัลยาณมิตรเหล่านี้อาจแวะเวียนมาพบและติดต่อกับคุณไปอีกยาว

9. ส่งต่องานให้ราบรื่น

วางแผนในการส่งต่องานที่เราถืออยู่อย่างราบรื่นให้กับคนที่จะมารับช่วงทำต่อ พร้อมกับให้ข้อมูลรายละเอียดของงานนั้นๆ รวมไปถึงแนะนำคนที่มารับช่วงต่อจากคุณให้กับคนจากภายนอกที่ต้องมีการติดต่อกันอยู่เสมอ ทั้งลูกค้า หรือพาร์ตเนอร์ด้านต่างๆ ให้รู้จักด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยให้การเกษียณของเรา เป็นการจากไปอย่างสง่างาม และทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าต่อตัวเองมากขึ้น

หากทำได้ตามนี้ นอกจากจะทำให้คุณมีชีวิตเกษียณที่ดีต่อใจแล้ว ยังทำให้ชีวิตการทำงานปีสุดท้ายของคุณเป็นปีที่น่าจดจำอีกด้วย

อ้างอิง: 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ