ดูคลิป อ่านหนังสือ หรือดูหนังเกี่ยวกับคนพิการ มันก็ไม่เท่ามีเพื่อนเป็นคนพิการสักคนหนึ่ง : คุยกับต่อ – ฉัตรชัย ‘กล่องดินสอ’ การกับสร้างพื้นที่ในสังคมของคนพิการ
“เรามองตัวเองเป็นหมอรักษาคนป่วย เราอยากให้คนป่วยของเรามีสุขภาพที่ดี เราต้องการแก้ปัญหาสังคมให้ดียิ่งขึ้น”
ต่อ – ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เล่าถึงเป้าหมายในการทำงานของเขาในนาม ‘กล่องดินสอ’ องค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อทำงานให้คุณภาพชีวิตของคนพิการทางการมองเห็นและกลุ่มอื่นๆ ดีขึ้น ผ่านการสร้างนวัตกรรมและกิจกรรมต่างๆ
‘ปลากด’ อุปกรณ์สำหรับทำกายภาพบำบัดโดยใช้การเล่นเกมสำหรับเด็กๆ ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แอปพลิเคชัน ‘พรรณนา’ ตัวช่วยดูหนังในโรงภาพยนตร์ของคนตาบอด หรือกิจกรรม ‘วิ่งด้วยกัน’ ที่ทำให้คนตาบอดออกไปวิ่งได้เหมือนคนอื่นๆ คือส่วนหนึ่งของโปรเจคท์ที่กล่องดินสอคิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ความพิการอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การใช้ชีวิตในสังคมของคนพิการแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ เพราะสภาพแวดล้อมสามารถเปลี่ยนได้
“ถ้าเรามองว่าปัญหามันคือสิ่งแวดล้อม งานเราก็คือการออกแบบนะ เราออกแบบอุปกรณ์ ออกแบบกิจกรรม ออกแบบความรู้ใหม่ๆ ที่มีโจทย์คือคนพิการ”
สิ่งที่กล่องดินสอพยายามสื่อสารไปควบคู่กับการสร้างพื้นที่ให้คนพิการในสังคม คือ การทำงานของพวกเขาไม่ใช่การทำบุญช่วยเหลือ แต่ทำตัวช่วยให้การใช้ชีวิตของคนพิการง่ายขึ้น
“ตอนทำงานแรกๆ เราก็คิดว่าไปทำบุญช่วยเหลือเด็กพิการเหมือนกัน แต่พอเราทำงานได้สักพัก ได้คลุกคลีกับคนพิการ ทำให้เรามีเพื่อนเป็นคนพิการเยอะมาก แล้วการใช้ชีวิตเขาไม่ได้ต่างจากคนปกติเลย ไปเที่ยว ไปดูหนังเหมือนกัน ซึ่งเขาก็คือคนคนหนึ่งที่สามารถเป็นเพื่อน เป็นน้อง เป็นพี่ เราได้”
10 ปีที่กล่องดินสอทำงานบนเส้นทางนี้ สำหรับต่อแล้วเขายังคิดว่า นี่เป็นเวลาที่นานเกินไป เพราะปลายทางที่เขาวางไว้คือไม่ต้องมีกล่องดินสออีกต่อไป เพราะนั่นหมายความว่าคนพิการสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องมีตัวช่วย
“ตอนที่กล่องดินสอครบรอบ 10 ปี เราก็ไม่ได้ดีใจนะ เรารู้สึกว่า 10 ปีแล้วนะ แต่เรายังแก้ปัญหาไม่เสร็จเลย เหมือนส่งงานช้า ดังนั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้ การทำงานของเรามันเลยจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างจัดงานวิ่ง เราก็ไม่ได้อยากจัดตลอดไป แต่เราอยากให้คนพิการสามารถวิ่งที่ไหนก็ได้ วิ่งงานไหนก็ได้ เพราะทุกงานวิ่งมันคือการวิ่งด้วยกัน”
เป็นเพื่อนกับคนพิการ ที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาและไม่ได้มองพวกเขาเป็นอื่น
“ผมเคยถามเด็กตาบอดว่า โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร เขาตอบว่าไม่มี มีเด็กบางคนบอกอยากเป็นหมอนวด อยากขายลอตเตอรี่ หรืออยากเป็น call center นี่คือ3 อาชีพในฝันของคนตาบอดเลย เพราะไม่ค่อยมีอาชีพให้เขาทำเยอะ มันเลยทำให้เขารู้ว่าถ้ามีอาชีพที่รองรับแค่นี้ เขาจะเรียนสูงๆ ไปทำไม”
งานอาสาสมัครสอนหนังสือเด็กตาบอด จุดเริ่มต้นที่ทำให้ต่อมีโอกาสสัมผัสกับชีวิตของคนพิการ ทำให้เขารู้ว่าในโลกการศึกษามีเด็กพิการน้อยคนที่จะได้เรียนระดับปริญญาตรี ซึ่งรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ปี 2565 โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีจำนวน 2,116,751 คน นับเป็นร้อยละ 3.20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งระดับศึกษาที่พวกเขามีมากที่สุด คือ ระดับประถมศึกษา จำนวน 1,340,984 คน รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 195,279 คน ส่วนระดับปริญญาตรีมีจำนวน 28,087 คน
ไม่ใช่แค่พื้นที่ในโลกการศึกษาที่คนพิการยืนอยู่น้อย แต่รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในสังคม ต่อให้ความเห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ การเข้าถึง เพราะคนพิการมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตทางร่างกาย และถ้าสังคมไม่เปิดรับและมีพื้นที่ให้พวกเขา ตัวตนของคนพิการก็จะค่อยๆ หายไปจากสังคม
“เรามีโปรเจคท์ช่วยเด็กพิการเรียนต่อ เขาจะเป็นกลุ่มเด็กที่พร้อมเข้ามหาวิทยาลัย แต่ไม่มีข้อมูล ไม่รู้จะไปต่อยังไง สิ่งที่เราทำ คือ การเป็น Information Center ศูนย์ให้ข้อมูลการศึกษาของเด็กพิการ ถ้าเด็กพิการอยากเรียนคณะนี้ เขาต้องไปที่ไหน มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดรับบ้าง หรือมีรอบไหนของมหาลัยที่เปิดรับเราก็จะประสานติดต่อให้ เราจะมีเพจใน Facebook ที่สามารถส่งข้อความมาถามได้เลย มีงานประจำปีที่เราไปออกบูธให้คำแนะนำ หรือทำ workshop แนะนำว่าการสอบ T-cas สำหรับเด็กพิการจะต้องทำยังไงบ้าง วิธีทำแฟ้มผลงาน”
การทำงานหลัก 10 ปีที่กล่องดินสอขยายเป้าหมายจากทำงานกับคนตาบอด เริ่มขยับไปทำกับกลุ่มอื่นๆ จากวงการการศึกษาก็ขยับไปวงการอื่นๆ แล้วช่วงเวลาทำงานก็ทำให้ต่อค้นพบวิธีที่จะทำให้คนสนใจและเข้าใจคนพิการ คือ การทำให้พวกเขาเป็นเพื่อนกัน จะเป็นการทำให้คนทั่วไปสนใจคนพิการ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของกล่องดินสอ
“ไม่ว่าคุณจะมีสื่อ หรือดูวีดีโอจากที่ไหนเพื่อศึกษาเรื่องคนพิการ มันก็เทียบไม่ได้กับการที่มีเพื่อนเป็นคนพิการสักคนนึง ปัญหาทุกอย่างที่มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับคนพิการ มันจะกลายเป็นปัญหาของเพื่อนคุณทันที ไม่ใช่ปัญหาคนอื่นคนไกลที่คุณไม่รู้จักอีกต่อไป และมันจะทำให้เราเข้าใจปัญหาเหล่านี้มากขึ้น นั่นทำให้เราพยายามออกแบบกิจกรรมที่ทำให้คนพิการและคนไม่พิการมาทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วก็กลายเป็นเพื่อนกัน”
‘วิ่งด้วยกัน’ โครงการที่ทำให้ต่อได้ไอเดียนี้ ต่อเท้าความว่าโครงการนี้เริ่มต้นที่เป้าหมายอยากทำให้คนตาบอดสุขภาพดี เพราะเขาสังเกตได้ว่าคนตาบอดหลายคนมีปัญหาสุขภาพ เหตุผลหนึ่งเพราะการมองไม่เห็นเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย กล่องดินสอจึงช่วยกันหาว่ามีวิธีออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะกับคนตาบอดจนมาจบที่การวิ่ง
กล่องดินสอเลยทำโครงการนี้ขึ้นมา ชวนคนตาดีมาจับคู่วิ่งกับคนตาบอด ซึ่งระหว่างที่วิ่งไม่ได้มีไขมันที่ออกจากร่างกาย หรือหัวใจที่เต้นเร็วเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็งอกเงยขึ้นด้วย
“ตอนจัดโครงการวิ่งด้วยกันครั้งแรก มีคนพิการกับอาสาสมัครมาวิ่งด้วยกัน 12 คู่ ซึ่งผมเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเยอะมากนะกับการวิ่งแค่ 10 นาที เราเห็นการคุยกัน ได้ยินเสียงหัวเราะ เห็นความสุขที่มันเกิดร่วมกัน แล้วแต่ละคนกลายเป็นเพื่อนกันไปเลย วิ่งแค่ 10 นาที แต่คุยยาวถึงเที่ยงก็มี ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้มันตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการมากกว่าการไปดูคลิป อ่านหนังสือ หรือดูหนังที่เกี่ยวกับคนพิการ มันไม่เท่ากับการมีเพื่อนเป็นคนพิการสักคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้แหละ คือ วิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างความสัมพันธ์ต่อคนพิการ
“ตอนแรกคนตาดีที่มาวิ่งด้วยเขามาเพราะอยากทำบุญ แต่เราจะพยายามบอกว่าคุณไม่ได้มาทำบุญนะ คุณมาพาเพื่อนอีกคนไปวิ่งด้วยกัน พอมาครั้งแรกเขาสนุก ครั้งต่อๆ ไปเขาก็อยากมาอีก คราวนี้เขาไม่ได้มาเพราะอยากทำบุญแล้ว แต่อยากมาออกกำลังกาย มาเจอเพื่อน คนพิการเองเขาก็อยากมาเหมือนกัน เพราะเขาอยากอยู่ในสังคมที่คนอื่นๆ รู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน ไม่ได้เป็นคนพิการ”
ระบบการศึกษา โรงหนัง วงการสื่อ : สร้างพื้นที่ให้คนพิการด้วยการเข้าไปเปลี่ยนสังคมย่อยๆ
จากโครงการวิ่งด้วยกันที่ทำให้คนตาบอดมีพื้นที่เข้าไปอยู่เพิ่ม คือ วงการวิ่ง ต่อก็กำลังขยายไปยังวงการอื่นๆ ซึ่งถือเป็นวิธีทำงานของกล่องดินสอตอนนี้ พวกเขาไม่ได้จะเปลี่ยนสังคมในภาพใหญ่ แต่พยายามเปลี่ยนสังคมเล็กๆ ให้ขยายพื้นที่ให้คนพิการ เพื่อท้ายที่สุดทั้งสังคมจะมีพื้นที่ให้คนพิการทั้งหมด
‘วงการดูหนัง’ เป็นวงการที่กล่องดินสอเข้าไปทำงานด้วย ต่อเล่าว่าก่อนที่โควิดจะระบาด กล่องดินสอจะจัดกิจกรรมชวนคนตาบอดไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ จนเขาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนตาบอดถึงไม่สามารถไปโรงหนังได้เองตามที่ต้องการ ทำให้พบว่าวิธีดูหนังของคนพิการต้องมีเสียงบรรยายทำให้เขาสามารถดูหนังแล้วเข้าใจได้ แต่โรงหนังหลายๆ ที่ไม่ได้มีสิ่งนี้ หรือแม้แต่ในโทรทัศน์ บางแอปพลิเคชัน ก็ไม่มีเช่นกัน
กล่องดินสอจึงคิดแอปพลิเคชัน ‘พรรณนา’ ตัวช่วยที่จะทำให้คนตาบอดสามารถดูหนังรอบไหนก็ได้ หรือไปดูกับใครก็ได้ โดยแอปพลิเคชันนี้จะมีเสียงบรรยายให้กับคนตาบอดเมื่อดูหนังแต่ละเรื่อง ทำให้สามารถไปดูเรื่องไหนก็ได้ แล้วก็เปิดแอปพลิเคชันเสียบหูฟังข้างหนึ่ง อีกข้างก็ฟังเสียงหนังไปพร้อมๆ กันได้เลย
แต่การทำคำบรรยายก็มีต้นทุนสูง ทำให้มีหนังไม่กี่เรื่องที่มีคำบรรยายสำหรับคนตาบอด กล่องดินสอจึงคิดอีกแอปพลิเคชันหนึ่ง คือ ‘โวหาร’ ที่ช่วยทำให้การทำคำบรรยายง่ายขึ้น
“เป็นโปรแกรมที่ทำสื่อบรรยายภาพอัตโนมัติโดยใช้ Machine Learning (การทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยการใส่ข้อมูลเข้าไป) โดยสิ่งที่มนุษย์ต้องทำก็คือพิมพ์ลงไปว่าช่วงนี้จะบรรยายอะไร ที่เหลือโปรแกรมจะทำให้หมด มันก็จะช่วยลดต้นทุนในการทำคำบรรยายเสียงไปได้”
นอกจากนี้ ต่อสนใจอยากเข้าไปทำงานในวงการสื่อ เขารู้สึกว่าเราเห็นคนพิการจากละคร หนัง หรือเพลงน้อยมาก แล้วก็มีการสร้างภาพจำความพิการ เช่น ตัวละครที่ทำเรื่องร้ายๆ สุดท้ายมักจะมีจุดจบเป็นคนพิการ ทำให้คนมีมุมมองต่อความพิการในแง่ลบ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ต่อมองว่าถ้าสื่อมีพื้นที่ของคนพิการมากขึ้น และนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ จะทำให้ทัศนคติคนที่มีต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไป
“เวลาดูละครเราก็สงสัยนะ เช่น ซีนในห้างมันจะไม่มีคนพิการปรากฎอยู่เลยเหรอ หรือว่าฉากในออฟฟิศไม่มีพนักงานที่พิการสักคนเลยเหรอ? การทำงานของเรา คือ ขอให้มีคนพิการเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง อาจจะเข้ามาสักฉากหนึ่ง เพื่อที่จะให้คนดูรู้สึกคุ้นชินว่า ในสังคมเราความพิการไม่ใช่เรื่องที่แปลก และเพื่อให้มองคนพิการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ดังนั้น เวลาเดินไปไหนมาไหนคนพิการจะถูกมองด้วยความแปลกประหลาด
“ผมเคยลองทำโมเดลลิ่งอยู่พักหนึ่ง แต่มีโควิดก็เลยพักไป เราจะจัดหานักแสดงที่เป็นคนพิการ มีเทรนเรื่องการแสดงให้ ถ้าที่ไหนสนใจเราก็จะส่งคนของเราไป มันก็มีความท้าทายอยู่นะงานนี้ ในแง่ของคนจ้างก็ไม่กล้ามีคนพิการในหนัง เพราะไม่รู้ว่าฟีดแบ็กของหนังเรื่องนั้นจะเป็นอย่างไร อย่างเช่นถ้าฉากนี้มีคนพิการความสนใจของคนดูอาจจะพุ่งไปที่คนพิการมากกว่า ก็กลายเป็นว่าคนจ้างเขาก็ไม่กล้าจ้างคนพิการไปเล่นหนัง หรือกลัวว่าถ้ามีคนพิการเข้าฉากจะสร้างอารมณ์เศร้า อารมณ์สงสารให้กับฉากนั้นๆ แทน ดังนั้น มันต้อง educate เรื่องนี้พอสมควร แต่มันมีพลังและเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเรารู้สึกว่า สื่อในประเทศไทยมีพลังมากกว่าจะเป็นสื่อที่สะท้อนสังคม มันควรจะเป็นสื่อที่ชี้นำสังคมได้แล้ว”
เปลี่ยนทัศนคติสังคม พิการไม่ใช่เรื่องบาปบุญ มันเปลี่ยนได้ คุณภาพชีวิตเขาดีได้ และการทำงานที่ไม่ใช่การสงเคราะห์
“เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ บางคนเชื่อเรื่องบุญบาป ฉะนั้น คนพิการมีแนวโน้มถูกตีความเป็นเรื่องของบุญและบาป แต่ความคิดแบบนี้ก็เป็นปัญหาในการอยู่ร่วมกันเหมือนกัน เช่น พ่อแม่บางคนที่มีลูกพิการไม่กล้าพาลูกออกจากบ้าน ไม่ใช่พาออกไปไม่ได้ด้วย แต่เพราะอาย อายจะถูกคนมองว่าตัวพ่อแม่ไปทำบาปกรรมอะไรถึงตกมาสู่ลูก”
แม้กล่องดินสอจะเชื่อว่าความพิการไม่ใช่อุปสรรค หรือเป็นเหตุผลที่ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนคนอื่นๆ มันเพียงขาดตัวช่วย หรือนวัตกรรมที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเจอในการทำงาน คือ ทัศนคติของคนที่มีต่อความพิการ มักจับคู่กับเรื่องบุญบาป หรือในสื่อเองก็สร้างภาพจำว่าความพิการเป็นสิ่งไม่ดี เช่น ตัวละครที่ทำไม่ดีมักมีจุดจบเกิดอุบัติเหตุจนทำให้พิการ ต่อมองว่า ชุดความคิดเหล่านี้เหมือนเป็นการปลูกฝังว่าคนที่พิการเป็นคนมีกรรม “กลายเป็นว่าคุณเกิดชาตินี้เพื่อชดใช้กรรม ชาติหน้าค่อยว่ากันใหม่
“ถ้าเรามองว่าปัญหามันคือสิ่งแวดล้อม งานเราก็คือการออกแบบนะ เราออกแบบอุปกรณ์ ออกแบบกิจกรรม ออกแบบความรู้ใหม่ๆ ที่มีโจทย์คือคนพิการ เช่น ‘ปลากด’ เป็นอุปกรณ์ตัวใหม่ของเรา เป็นอุปกรณ์กายภาพที่ใช้การเล่นเกม สำหรับเด็กที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถเล่นเกมไปพร้อมๆ กับทำกายภาพบำบัดได้เลย”
สิ่งที่กล่องดินสอพยายามสื่อสารไปควบคุมกับการสร้างพื้นที่ให้คนพิการในสังคม คือ การทำงานของพวกเขาไม่ใช่การทำบุญช่วยเหลือ แต่ทำตัวช่วยให้การใช้ชีวิตของคนพิการง่ายขึ้น
“ตอนทำงานแรกๆ เราก็คิดว่าไปทำบุญช่วยเหลือเด็กพิการเหมือนกัน แต่พอเราทำงานได้สักพัก ได้คลุกคลีกับคนพิการ ทำให้เรามีเพื่อนเป็นคนพิการเยอะมาก แล้วการชีวิตเขาไม่ได้ต่างจากคนปกติเลย ไปเที่ยว ไปดูหนังเหมือนกัน ซึ่งเขาก็คือคนคนหนึ่งที่สามารถเป็นเพื่อน เป็นน้อง เป็นพี่เราได้
“งานของเรามันแค่ทำอุปกรณ์เหมาะๆ ที่จะสามารถช่วยเขาได้มากขึ้น เลยไม่อยากใช้ความคิดว่ามาช่วยคนพิการ คือ การมาทำบุญ เพราะถ้ามาทำบุญมันจะเกิดเลเวลของความไม่เท่ากัน กลายเป็นคนหนึ่งให้อีกคนหนึ่งรับ การทำงานนี้เปลี่ยนมุมมองเราไปพอสมควร เปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็ตาม
“ส่วนหนึ่งเราคิดว่าเพราะคนเราไม่ได้เป็นเพื่อนกัน ถ้าเราเป็นเพื่อนกัน บางทีเราอาจจะมองข้ามความแตกต่าง แต่มองความสำคัญของการเป็นเพื่อนกันมากกว่า เรารู้สึกว่ามนุษย์ไม่ค่อยชอบความแตกต่างเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความกลัว เพราะความไม่รู้ หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าความจริงแล้วเราทุกคนแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่พอเป็นเรื่องของคนพิการที่มีเรื่องของบุญบาปเข้ามา เลยทำให้คนพิการจะดูแปลกแยกแตกต่างจากคนทั่วไปมาก”
ต่อบอกว่า ปลายทางการทำงานของกลุ่มดินสอ คือ องค์กรของพวกเขาไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะคนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย
“ตอนที่กล่องดินสอครบรอบ 10 ปี เราก็ไม่ได้ดีใจนะ เรารู้สึกว่า 10 ปีแล้วนะ แต่เรายังแก้ปัญหาไม่เสร็จเลย เหมือนส่งงานช้า ดังงั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้ การทำงานของเรามันเลยจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างจัดงานวิ่ง เราก็ไม่ได้อยากจัดตลอดไป แต่เราอยากให้คนพิการสามารถวิ่งที่ไหนก็ได้ วิ่งงานไหนก็ได้ เพราะทุกงานวิ่งมันคือการวิ่งด้วยกัน”
“ในวงการที่เราเข้าไปทำงานก็เกิดความเปลี่ยนแปลงเยอะนะ จากวงการวิ่งที่เริ่มมีที่อื่นๆ เอาไปจัดบ้าง ไม่ใช่แค่เราจัดแล้ว หรือวงการดูหนังเอง ในภาพรวมสังคมไทยก็ตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น เพราะว่าได้รับอิทธิพลมาจากการเรียนร้องสิทธิความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเพศ สีผิว หรือชนชั้น เมื่อใช้คำว่า ‘ความเท่าเทียม’ คนพิการเลยได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เทรนด์โลกเองก็พูดถึงกลุ่มคนชายขอบมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาก็ช่วยคนพิการได้เยอะมีมากขึ้น
“เรามองตัวเองเป็นหมอรักษาคนป่วย เราอยากให้คนป่วยของเรามีสุขภาพที่ดี เราต้องการแก้ปัญหาสังคมให้ดียิ่งขึ้น ถ้าวันหนึ่งที่สังคมไม่ต้องการเราให้รักษาอีกแล้ว เพราะเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ได้ มันก็ไม่จำเป็นต้องมีเราอีกต่อไป” ต่อทิ้งท้าย