เราสู้กว่า 20 ปีเพื่อให้มีลิฟต์ในบีทีเอส : ‘สว่าง ศรีสม’ ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)
ทางเท้าไม่เรียบ ข้ามถนนยาก เข้าห้องน้ำไม่สะดวก รถเมล์ก็ขึ้นไม่ได้
คือ อุปสรรคของคนพิการสำหรับการเดินทางออกไปข้างนอก พวกเขาจึงเลือกอยู่บ้านมากกว่า เพราะเกรงใจคนรอบข้างและมีค่าเดินทางเริ่มต้นขั้นต่ำที่หลักร้อย
แต่ไม่ว่าจะเป็นใครควรได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ และการออกมาข้างนอกไม่ควรกลายเป็นเรื่องลำบาก ทำให้ ‘สว่าง ศรีสม’ ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) เข้ามาผลักดันให้เกิดการลงทุนเพื่อให้ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ เข้าถึงทุกคนและสนับสนุนให้เกิดการออกแบบเพื่อทุกคน แนวคิดที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายในสังคมด้วยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“การออกแบบเพื่อทุกคนเป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ว่ามนุษย์มีความหลากหลาย มองคนเป็นปัจเจกมากขึ้น และต้องยอมลงทุน เช่น ที่จอดรถคนพิการ หรือห้องน้ำคนพิการ การเข้าใจและเห็นความสำคัญถึงความต้องการเหล่านี้จะนำมาสู่การลงทุนก่อสร้างสิ่งเหล่านี้ ให้คนได้ใช้ โดยไม่มองว่ามันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ”
เพราะออกเดินทางไปข้างนอกต้องเสียเงิน การอยู่บ้านเลยสะดวกกว่า
“เมื่อก่อน เวลาออกจากบ้านผมจะพูดเสมอว่า แบงค์ 500 ที่ถือไว้จะหายไปทุกวัน เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางมันเยอะมาก เพราะขับรถไม่ได้เลยต้องนั่งแท็กซี่”
สว่างเล่าประสบการณ์เรื่องการเดินทางของตนเองว่า สำหรับคนพิการ การเดินทางไม่ใช่เรื่องง่ายและเต็มไปด้วยความกังวล ทั้งทางเท้าไม่เรียบไม่สามารถเข็นรถผ่านไปได้ ไม่มีคนดูแลเพราะกลัวล้ม และไม่มีระบบขนส่งที่ตอบโจทย์ชีวิตคนพิการ
หลายคนจึงเลือกอยู่บ้านมากกว่าเดินทางออกไปใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมข้างนอก
“เมื่อก่อนเรากังวลว่าออกจากบ้านจะเสียเงินเยอะ โดยเฉพาะคนพิการที่ขับรถไม่ได้ เช่น คนตาบอด เขาต้องนั่งรถ อย่างผมมีรถส่วนตัว แต่ขับไม่ได้ ต้องมีผู้ช่วยไป หรือบางคนก็กังวลว่าไปถึงจุดหมายแล้วจะไม่มีคนช่วยหรือไม่มีห้องน้ำเลยทำให้ต้องจำกัดตัวเองในพื้นที่ไม่กี่ที่ จนกลายเป็นคนที่โลกแคบและสังคมแคบไปโดยปริยาย”
“เราก็รู้สึกไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่มีเงินเก็บ แต่หมดไปกับค่าเดินทาง เรารู้สึกน้อยใจว่า ทำไมเราเสียเปรียบคนอื่น มีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนอื่น แต่ไม่เคยคิดว่าเราควรจะต้องเปลี่ยนรถเมล์หรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้มันเข้าถึงได้เพราะเรายังรู้สึกว่าเราเป็นคนส่วนน้อย”
ลิฟต์ที่ทุกคนขึ้นได้ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกความหลากหลายในสังคม
เพราะรู้ว่าการเดินทางสำหรับคนพิการไม่ง่าย ในปี 2542 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) จึงเข้ามาร่วมผลักดันให้รถไฟฟ้าทุกสถานีมีลิฟต์สำหรับทุกคน
“แต่ก่อนร่างแบบก่อสร้างของรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่พบว่าไม่มีลิฟต์อยู่ในแบบก่อสร้าง ไปเจรจากับกทม.ก็ไม่ได้ผล แต่ปี 42 ก่อนเปิดใช้งานก็เจรจาจนได้ลิฟต์มาได้ 5 ตัวจาก 23 สถานี มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาคีฯ เริ่มสนใจเรื่องขนส่งสาธารณะ และ สถานีรถไฟฟ้าก็เป็นความหวังว่า เราจะได้ใช้ลิฟต์อย่างเท่าเทียมและใช้งานได้ทุกสถานี”
แต่สุดท้ายลิฟต์ 5 ตัวก็ไม่เพียงพอ แต่ภาคีฯ ก็พยายามผลักดันต่อเนื่อง สำหรับการเจรจา เรียกร้อง และไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยอ้างอิงจากกฎหมายคนพิการ ซึ่งสสส.สำนัก 9 ได้เข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ภาคีฯ ตรวจสอบการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามคำสั่งศาลปกครอง ทำให้ในที่สุด ปี 2558 ศาลมีคำสั่งให้รถไฟฟ้าบีทีเอสทำลิฟต์ให้ครบทุกสถานี ยกเว้นสถานีสะพานตากสินที่อยู่ในช่วงออกแบบเพื่อรองรับการเดินรถที่สวนทางกันได้
“ช่วงปี 58 เป็นงานแรกที่เราได้รับการสนับสนุนจากสสส. ชวนคนเข้ามาพูดคุยสร้างเครือข่ายว่าทุกคนมองเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างไร มีนักวิชาการมาเป็นเครือข่าย มีสื่อมวลชนเข้ามาและมีประชาชนที่สนใจเรื่องการเข้าถึงขนส่งสาธารณะก็มารวมตัวกัน แรกๆ ก็ทำเป็นโปรเจกต์เล็กๆ เพียงแค่อยากจะหาแนวร่วม แล้วก็ฟังมุมมองความคิดของคนในสังคมว่า เขามองเรื่องนี้อย่างไร มีความต้องการที่จะช่วยสนับสนุนผลักดันมากน้อยแค่ไหน”
“เพราะที่ผ่านมา สังคมจะมองคนพิการเป็นคนส่วนน้อย แล้วรัฐบาลก็จะมุ่งช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฐานเสียงของเขา อันนั้นคือวิธีคิดที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นแม้กระทั่งตอนที่เราเรียกร้องให้รถไฟฟ้าบีทีเอสมีลิฟต์ คนทั่วไปยังตั้งคำถามว่า ในประเทศไทยมีคนพิการกี่คน จะมีสักกี่คนมาใช้ มันไม่คุ้มที่จะลงทุนหรอก”
“แต่ปัจจุบันพอมีลิฟต์ คนพิการใช้บริการรถไฟฟ้าได้ ค่าใช้จ่ายก็ลดลง เมื่อก่อนแค่จะไปเที่ยวสวนสาธารณะก็คิดแล้วคิดอีก เพราะบางทีเราอยากจะไปเที่ยวก็ต้องจำกัดพื้นที่ แล้วไปบ่อยๆ ก็ไม่ได้ เพราะเสียเงินเยอะ แล้วคนที่ใช้งานลิฟต์ตามสถานีรถไฟฟ้าก็ไม่ได้มีแค่คนพิการ แต่คนไทยและคนต่างชาติที่มีสัมภาระ มีนักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ คนที่เดินทางพร้อมรถเข็นเด็กก็ใช้เหมือนกัน ซึ่งสะท้อนว่า มีกลุ่มผู้ใช้งานเยอะและเป็นประโยชน์สาธารณะที่ทำให้ทุกคนใช้ชีวิตในเมืองได้สะดวกมากขึ้น”
การออกแบบเพื่อทุกคน แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ขณะเดียวกัน การทำงานที่ผ่านมาก็บอกสว่างและภาคีฯ ว่า ถ้าจะทำให้เกิดขนส่งสาธารณะที่ทุกคนขึ้นได้ การเรียกร้องให้รถไฟฟ้ามีลิฟต์อาจไม่เพียงพอ แต่มันคือทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขนส่งสาธารณะไปจนถึงทางเท้า
“เราอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งค่อนข้างเยอะ แต่อีกปัญหาที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงในช่วงที่ผ่านมา คือ ปัญหาทางเท้าหรือพื้นที่เมืองพื้นที่สาธารณะ เพราะสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือเวลาเราออกจากรถไฟฟ้าแล้ว มองซ้ายมองขวาไปไหนไม่ได้ เพราะบางทีฟุตบาททางเท้ามันก็ไม่สะดวก มีคนมาขายของ มีต้นไม้ มีอะไรเยอะแยะไปหมดก็ทำให้ตัวเราเองก็จะไม่สามารถไปถึงจุดหมายของเราได้อย่างสะดวก บางทีก็ต้องลงไปเข็นบนถนน”
สว่างบอกว่า การค่อยๆ สร้างความตระหนักให้กับสังคมไปทีละน้อยก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงและความเข้าใจเรื่องขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคนที่มากขึ้น
“ลิฟต์แต่ละตัวที่เราเรียกร้องมาใช้เวลา 20 ปี แม้ช่วงหลังนี้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ก็ยังมีคำถามว่า ทำลิฟต์ข้างเดียวได้ไหม ทำไมญี่ปุ่นทำได้ ทำไมประเทศเราต้องมีสองฝั่งหรือหลายฝั่ง ซึ่งบริบทมันต่างกัน ที่ญี่ปุ่นทางเท้าโอเค ข้ามถนนได้ แต่ประเทศไทยข้ามถนนไม่ได้ การมีลิฟต์ข้างเดียวจึงไม่ตอบโจทย์การใช้งานรถไฟฟ้าในบ้านเรา”
“แต่ถามว่าทำไมคนถึงเปลี่ยนความคิดก็ต้องบอกว่า ทุกประเทศการขับเคลื่อนก็มาจากคนที่ได้รับผลกระทบ อย่างญี่ปุ่นหรือฝั่งตะวันตกกลุ่มคนพิการเขาก็ออกมาเรียกร้อง คนพิการในเกาหลีใต้ก็เคยทำถึงขนาดเอาคนพิการไปล่ามโซ่ไว้กับรางรถไฟใต้ดิน ถูกตั้งคำถามว่า คนพิการมาขวางการเดินทางทำไม ไม่รู้หรือว่าทุกคนต้องรีบไปทำงาน คนพิการก็ตอบว่าวันนี้คุณอาจจะไม่สะดวกแค่วันหนึ่ง แต่พวกเราใช้ไม่ได้มาไม่รู้กี่ปีแล้ว”
“รวมถึงกระแสสังคมเริ่มเปลี่ยน จากแต่ก่อนที่คนไม่ค่อยสนใจคนตัวเล็กตัวน้อย หลังๆ ก็เริ่มมีการนำประเด็นเหล่านี้ในสื่อมากขึ้น และคนรุ่นใหม่เองก็ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เมื่อมีหลายอย่างประกอบกัน ความตื่นตัวและความเข้าใจในประเด็นนี้ก็ดีขึ้น”
นอกจากการทำงานกับความคิดของคนในกรุงเทพมหานครแล้ว ภาคีฯ ยังทำงานร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด โดยนำร่องใน 7 จังหวัด มีโคราช สระบุรี อยุธยา นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่านในอนาคต
การลงไปพูดคุยก่อนเพื่อทำความเข้าใจ ให้พวกเขารู้สึกว่าควรทำให้ขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ทุกคนเข้าถึงและมีประโยชน์กับคนในพื้นที่
สว่างเล่ากระบวนการทำงานว่า ทางภาคีฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่เช่นเดียวกับช่วงแรกที่ทำงานกับคนในกรุงเทพมหานคร
“เราทำงานในกรุงเทพฯ มานานทำให้ทัศนคติหรือวิธีคิดของคนทำงานก็เริ่มเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่พอไปต่างจังหวัดมันเหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ บางจังหวัดตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม คนพิการจะมีกี่คน หรือบางสถานที่ทำสิ่งอำนวยความสะดวกไว้แล้ว แต่คนพิการไม่ได้ใช้”
โดยหนึ่งในกระบวนการที่ภาคีฯ ใช้เพื่อสร้างการตระหนักให้กับคนในพื้นที่ คือ การจัดอบรมเรื่องของแนวคิดการพัฒนาเมือง เรื่อง Universal Design การออกแบบเพื่อคนทุกคน
“Univeral design มันมีหลักวิชาการของมันอยู่แล้ว ผมเองไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ เราอาจจะถนัดทำงานนักพิทักษ์สิทธิ์มากกว่าเป็นผู้ออกแบบ สิ่งที่เราต้องเน้นย้ำมันเป็นการออกแบบเพื่อทุกคน”
“เพราะหลักการออกแบบเพื่อทุกคนเป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ว่ามนุษย์มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง คนพิการ เด็ก หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงควรออกแบบให้คนทุกคนมีส่วนร่วมหรือใช้งานพื้นที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน”
เมื่อขึ้นขนส่งสาธารณะได้ มันจะไม่ใช่ความผิดที่เราพิการ
ในอดีต สว่างเคยเป็นคนหนึ่งที่โทษความพิการของตัวเองและรู้สึกแตกต่างจากคนอื่น
“คนพิการที่เติบโตเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จะถูกสังคมตอกย้ำว่าไม่มีความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งทำให้เราคิดว่าที่เราเดินขึ้นบันไดไม่ได้เพราะเราเดินไม่ได้ ตอนนั้นไม่เคยรู้จักทางลาด ไม่รู้จักลิฟต์ ไม่รู้จักสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมให้ได้ ถ้าปรับไม่ได้มันก็จะกลายเป็นปัญหาของเรา สังคมไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพราะคนส่วนใหญ่ใช้กันได้อยู่แล้ว”
หลังจากเข้ามาทำงานขับเคลื่อนเรื่องขนส่งสาธารณะ รวมถึงการออกแบบเพื่อคนทุกคน ทำให้สว่างเห็นว่า เขาไม่ได้ผิดที่พิการ ไม่จำเป็นต้องรักษาความพิการของตัวเองให้หาย เพราะร่างกายคนเปลี่ยนไม่ได้ แต่ตึกรามบ้านช่องออกแบบใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนได้
สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดได้จากแรงของคนเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสังคมต้องช่วยกัน
“ที่ผ่านมาผมโทษตัวเองตลอดว่าเพราะผมเดินไม่ได้ เลยขึ้นตึกเรียนไม่ได้ ขึ้นรถเมล์ไม่ได้ ไม่เคยคิดว่าสังคมต้องปรับเปลี่ยนอะไรให้ผม เพราะผมเดินไม่ได้เอง คนส่วนใหญ่เขาก็ยังใช้กันได้อยู่ แต่วันหนึ่งมีคนมาชี้ให้เห็นอีกด้านว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผม เพราะความพิการของผมเป็นสิ่งถาวร รักษาไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนบันไดเป็นทางลาดหรือลิฟต์ได้ เปลี่ยนรถเมล์ชานสูงเป็นชานต่ำได้ ทำให้ห้องน้ำใหญ่ขึ้นได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องการห้องน้ำใหญ่โตหรูหรา ผมแค่ต้องการห้องน้ำที่เราใช้ได้ ต้องการรถเมล์ที่ผมขึ้นได้ อย่าโทษความพิการของตัวเองอีก เพราะมันมีวิธีออกแบบที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้”
“สำหรับผม การออกแบบเพื่อทุกคน คือ การมองคนเป็นปัจเจกมากขึ้น เราสามารถออกแบบพื้นที่ให้คนมาใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างเทียม เข้าใจความหลากหลาย และเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน คุ้มค่าและจำเป็นที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน”
ขนส่งสาธาณะไทยการเชื่อมต่อและต่อสำหรับคนพิการขาดตอนทำให้คนพิกาา