เตรียมพร้อมมาส่งเสียง เตรียมใจมารับฟัง

กำหนดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2
“2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations”
…ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม…
วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

เตรียมพร้อมมาส่งเสียง เตรียมใจมารับฟัง งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations” ...ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม... วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

                           จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH) ที่หมายถึง ปัจจัยที่มีส่วนในการกำหนดสถานะสุขภาพของประชากร ตั้งแต่เกิด ดำรงชีวิต ทำงาน การเข้าสู่ช่วงสูงวัย ไปจนถึงการเสียชีวิต เป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ เช่นเดียวกัน การทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างหรือปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพจึงไม่ใช่เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์ให้กลุ่มประชากรชายขอบหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น หากเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างของสังคมโดยรวม เพราะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ได้กระทำต่อกลุ่มประชากรชายขอบเพียงกลุ่มเดียว หากครอบคลุมถึงกลุ่มประชากรทุกกลุ่มในสังคม 

                          ประชากรกลุ่มเฉพาะ คือ ประชากรที่มีทั้งความเปราะบาง (Vulnerability) มีความเสี่ยง (Risk) หรือต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะ อันถือเป็นปัจจัยส่งผ่านสังคมกำหนดสุขภาพ (Intermediary Determinants) ที่ทำให้สูญเสียสุขภาวะ เข้าไม่ถึงบริการ และไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม

                             ปัญหาที่ส่งผลต่อโอกาส สิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงทรัพยากรทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งเผชิญปัญหาเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมา และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย

1) ความเสี่ยงสูง คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะที่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือเป็นด่านหน้า หรือเป็นผู้ที่สัมผัสกับสาธารณะเป็นหลัก จึงส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากโรคระบาด สภาวะสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย  

2) ไร้ตัวตน คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะไม่ถูกมองเห็นอย่างเป็นระบบจากภาครัฐและสังคม แต่ถูกตระหนักมากขึ้นโดยสาธารณะในปัจจุบัน  

3) เข้าไม่ถึง คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะที่ไม่สามารถเข้าถึง หรือมีต้นทุนในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานทางด้านสุขภาพ  

4) ถูกกีดกัน คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างไม่ตรงจุดจากนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ (Majority-concerned) มากกว่านโยบายที่กระจายผลประโยชน์อย่างครอบคลุม (Universal-concerned) หรือเฉพาะเจาะจง (Target-concerned) หรือการถูกมองเป็นคนนอก  

5) ยอมจำนน คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะจำนวนหนึ่งจำเป็นต้องยอมรับชะตากรรม หรือไม่มีพลังมากพอที่จะต่อสู้ให้ได้สิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับอย่าง

                             สุขภาวะของประชากรกลุ่มต่างๆ ที่มีผลจากความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพของประชากรในสังคมที่แตกต่างกัน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึงภาพความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นานาประเทศต่างก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ

                            นอกจากปัญหาสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะในภาพรวมแล้ว ประชากรกลุ่มเฉพาะยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มประชากรเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางโดยทั่วไปแล้ว ยิ่งจะมีความเปราะบางมากยิ่งขึ้น   

                            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพผ่านแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะในปัจจุบันจำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงผู้ต้องขัง และมุสลิมไทย โดยมีความก้าวหน้าในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพในประชากรกลุ่มเฉพาะอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การพัฒนาระบบกลไกเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีในประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งมีผลงานเชิงประจักษ์ในหลายประเด็นที่สามารถนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนทำงาน จนถึงภาคีเครือข่าย องค์กรที่เกี่ยวข้องได้

 

                          ในการนี้สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม ระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสร้างการรับรู้ของสังคมไทยในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ

 

#สสส #ภาคีเครือข่ายสำนัก9 #นับเราด้วยคน #ประชากรกลุ่มเฉพาะ

#เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน #Voiceofthevoiceless #Voiceofthevoiceless2nd #เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยินครั้งที่2

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ