“รับลูกสาวกลับบ้าน” การหย่าไม่ใช่เรื่องผิดบาป สะใภ้ม้งกลับบ้านไปเป็นลูกสาวของพ่อแม่ได้เหมือนเดิม
ในสังคมของชาวม้ง ลูกชายเป็นเจ้าบ้าน ส่วนลูกสาวเป็นเพียงผู้มาเยือนครอบครัวตนเอง
ทำให้เมื่อลูกสาวแต่งงานออกเรือนไปจะไม่สามารถกลับมาอยู่ครอบครัวตัวเองได้ เพราะถือว่า ‘ผิดผี’ อาจส่งผลให้ครอบครัวต้องเจอกับความโชคร้าย ผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานไปแล้วประสบปัญหาครอบครัวจึงไม่สามารถกลับคืนสู่บ้านเดิมได้ และต้องทนอยู่กับความรุนแรงในครอบครัวของสามี
วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศบอกว่า ด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวม้งนี้ ผู้หญิงม้งจึงมีความทุกข์มาก เพราะต้องอดทน แม้ว่าจะเจอปัญหาความรุนแรง หรือถ้าสามีเสียชีวิตก่อนตัวเอง ก็ต้องหาทางมีสามีใหม่เพื่อให้มีคนคุ้มครองดูแล
“ผู้หญิงม้งที่เป็นม่ายจะอยู่ในสังคมลำบากมาก ทั้งในทางเศรษฐกิจ เรื่องการพึ่งพาตัวเอง และในทางสังคม ผู้หญิงม้งที่เป็นม่ายมักถูกสังคมกดขี่ตีตราว่าเป็นคนไม่มีเจ้าของ และมักมีผู้ชายเข้ามาเกาะแกะแทะโลม เพราะฉะนั้น ถ้าต้องเลิกกับสามีหรือสามีเสียชีวิต ผู้หญิงมักต้องดิ้นรนหาทางมีสามีใหม่ เพราะนั่นหมายถึงการได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่อย่างนั้นผู้หญิงอาจต้องย้ายถิ่นฐานไปขายของ หรือไปทำงานร้านนวดหรือร้านคาราโอเกะในเมือง”
จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘รับลูกสาวกลับบ้าน’ หรือ ‘โครงการฟื้นฟูกฎจารีตและแก้ไขปัญหาความรุนแรงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงและเด็กชาวม้ง’ ที่แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โครงการฯ นี้มุ่งทำความเข้าใจกับครอบครัวชาวม้งใน 13 จังหวัดภาคเหนือว่าลูกสาวไม่ใช่เพียงผู้มาเยือน แต่เป็นคนในครอบครัว หากสะใภ้ม้งประสบปัญหาจนไม่สามารถอยู่กับครอบครัวสามีได้ พวกเธอยังสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมได้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้นำในชุมชนให้เริ่มมองเห็นชีวิตและความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงม้ง จนผู้นำหลายๆ คนมองเห็นว่า ความเชื่อเดิมที่ถูกส่งต่อมายาวนานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน
วราภรณ์อธิบายว่า ช่วงแรกโครงการฯ เน้นทำงานกับผู้ชายซึ่งเป็นผู้นำชุมชนและมีอำนาจในการกำหนดทิศทางและความคิดของคนในชุมชน โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้นำเหล่านี้ได้มีโอกาสรับฟังและได้ยินเสียงความทุกข์ของผู้หญิงและครอบครัวที่เป็นผลจากกฎจารีตเดิม แม้จะมีคำถามว่าจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อเดิมได้ไหม แต่การทำงานต่อเนื่อง 2-3 ปี ก็ทำให้ผู้นำชุมชนยอมรับความยากลำบากและความทุกข์ของผู้หญิงม้ง
“เราทำงานกันต่อเนื่อง 2 – 3 ปี ก็เริ่มมีจุดหักเห คือ ผู้นำทั้งหลายเริ่มเห็นปัญหาแล้วก็ยอมรับว่าผู้หญิงม้งก็มีความทุกข์ ซึ่งแต่ก่อนเขามองไม่เห็นเพราะวิถีการใช้ชีวิตของผู้ชายกับผู้หญิงม้งมันค่อนข้างจะแยกกัน มีบทบาทหน้าที่ที่ต่างคนต่างทำ ไม่ค่อยมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึกกัน ที่นี้พอผู้นำบางส่วนเห็นปัญหาชัด เขาก็กลายมาเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันผู้นำคนอื่นๆ ว่าชาวม้งเราต้องเปลี่ยนแปลงแล้วนะ ทำให้เกิดการรื้อฟื้นพิธีรับลูกสาวกลับบ้านขึ้นมา โดยผู้นำชาวม้งบอกว่าดั้งเดิมเขาเคยมีพิธีแบบนี้แต่มันถูกหลงลืมไป จึงมีการพูดคุยกับผู้รู้เพื่อออกแบบพิธีกรรมในการรับลูกสาวให้กลับคืนสู่บ้านเดิมได้ในทางสังคมและจิตวิญญาณ
“ตอนแรกยังไม่มีครอบครัวที่กล้าประกอบพิธีนี้ ทีมงานก็ไปหาครอบครัวอาสาสมัครที่กล้าจะทำ เริ่มจาก 3 ครอบครัว ที่นับถือพุทธ คริสต์ และผี เพื่อให้คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ในชุมชนม้งมีความมั่นใจว่า ไม่ว่าคุณจะนับถืออะไรคุณก็ทำได้ ในตอนแรกคนในชุมชนก็รอดูท่าทีว่าครอบครัวที่ทำพิธีรับลูกสาวกลับบ้านแล้ว ผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน พวกเขาจะเจอปัญหาอะไรที่เกิดจากการผิดผีไหม ก็ปรากฎว่าไม่มีปัญหาอะไร ผู้หญิงของครอบครัวเหล่านั้นได้กลับมาอยู่บ้าน ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ชีวิตก็ดีขึ้น พอคนในชุมชนเห็นตัวอย่างก็เริ่มเกิดการยอมรับ ทีมงานก็เดินสายไปประชาสัมพันธ์พิธีกรรมนี้ที่ชุมชนม้งอื่นๆ” วราภรณ์เล่า
เมื่อคนในชุมชนมองเห็นปัญหาร่วมกัน ในระยะต่อมา เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทยจึงได้รวมกลุ่มผู้หญิงม้งเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้คำปรึกษากันและกัน โดยที่ไม่ต้องสู้หรืออยู่ในภาวะจำยอมอย่างโดดเดี่ยว ทำให้มีผู้หญิงและเด็กชาวม้งที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจาก 5 โซนพื้นที่ใน 13 จังหวัดได้รับบริการให้คำปรึกษาและส่งต่อหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือจำนวน 103 คน ตลอดช่วงระยะเวลาโครงการ
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำสตรีม้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม และจีน และผู้นำสตรีชาวม้งอพยพในสหรัฐอเมริกา ที่ทราบข่าวเกี่ยวกับการฟื้นฟูพิธีรับลูกสาวกลับบ้านในประเทศไทย จึงติดต่อมายังเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทยขอมาศึกษาดูงานและเรียนรู้แนวคิดการสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนม้งในประเทศของตนด้วย
การรับลูกสาวกลับบ้านจึงไม่ใช่แค่การกลับบ้าน แต่เป็นการโอบกอดและรับฟังความรู้สึกของหญิงชาวม้ง ทำให้พวกเธอมีตัวตน มีศักดิ์ศรี มีความสุข และได้ใช้ศักยภาพของตนในการพัฒนาครอบครัวและชุมชนโดยไม่ถูกปิดกั้นด้วยกฎจารีตเดิม
และยังเป็นการสื่อสารกับชุมชนชาวม้งว่า ผู้หญิงชาวม้งคือสมาชิกของครอบครัว คือลูกสาวที่กลับบ้านได้ ไม่ใช่คนที่จะนำพาความโชคร้ายมาให้ใคร