งานก็ต้องทำ เงินก็ต้องหา เราจึงไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ : คุยกับ Caregiver เพื่อนผู้ดูแลผู้สูงวัย ที่เข้าใจและใส่ใจแทนลูก

“โอ้ เยอะมาก นับไม่ได้เลย” 

คำตอบจาก ‘ยงยุทธ’ เมื่อเราถามถึงจำนวนคนสูงวัยที่เขาเคยดูแลในฐานะ Caregiver คนดูแลผู้สูงอายุ

ยงยุทธ เยอส่อ ในวันนี้เขาอายุ 26 ปี ทำงานเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างทั่วไป อดีตเขาเคยทำงานดูแลผู้สูงอายุที่บั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy HomeCare) ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีบริการดูแลผู้สูงอายุ ก่อตั้งโดยมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

งานของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ คือการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสูงวัย พวกเขาพบปัญหาหนึ่ง คือ ผู้สูงวัยบางคนไม่มีคนดูแล มูลนิธิฯ จึงตัดสินใจสร้างบั๊ดดี้โฮมแคร์ขึ้นมา เพื่อจัดเตรียมคนไปดูแลผู้สูงอายุตามที่ต้องการ ในรูปแบบจ่าย 1 ได้ 2 คือนำรายได้จากการจ้างไปเป็นต้นทุนในการดูแลผู้สูงอายุที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ทีมดูแลของบั๊ดดี้โฮมแคร์จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนพื้นเมือง คนชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เรียนจบระดับชั้นม.3 ไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอื่นๆ พวกเขาจึงชวนวัยรุ่นกลุ่มนี้ที่สนใจ มาเข้าคอร์สอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่จัดโดยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ได้วุฒิและงานดูแล เป็นต้นทุนชีวิตต่อไป

ในขั้นตอนตามหาคนที่สนใจ ยงยุทธที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งก็ได้รับการทาบทาม เพราะคนที่นั่นเห็นว่าเขาสามารถเข้ากับผู้ใหญ่ได้ งานนี้ก็น่าจะเหมาะกับเขา

“บั๊ดดี้โฮมแคร์มาติดต่อแม่ๆ ของผมในสถานสงเคราะห์ ขอให้ช่วยดูเด็กๆ ในนั้น ตอนนั้นผมไม่ได้เรียนด้วย ค่อนข้างติดเกม เขาก็เลยแนะนำว่าให้ไปลองทำดู เขาเห็นว่าถ้าผมไปทำเรื่องนี้น่าจะรอด เพราะผมเคยทำงานบริการ service mind ดีตลอด 

“เขาจะมีหลักสูตรให้ไปเรียน 3 เดือน 420 ชั่วโมง มีทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ มีให้ไปฝึกงานด้วยตามบ้านพักคนชรา ทำให้บั๊ดดี้ฯไม่เหมือนที่อื่น เพราะเขาให้เราไปดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้ ไม่มีคนดูแล เหมือนเปิดโลกว่ายังมีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่ แม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ตาม”

ยงยุทธบอกเราว่างานดูแลผู้สูงอายุที่เขากำลังจะเล่าให้ฟัง  ไม่ได้ใช้แค่ความใส่ใจเท่านั้น แต่พวกเขาไปเป็น ‘เพื่อนคนหนึ่ง’ ของชาวสูงวัย

ทำทุกอย่างที่ลูกหลานไม่สามารถทำได้

“หลักๆ คือ ทำทุกอย่างแทนคนในบ้าน เป็นคนดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ไม่ว่าจะที่ที่เขาอยู่ ความปลอดภัย ความสะอาดเรียบร้อย แล้วก็อาการต่างๆ ของผู้สูงอายุ 

“การดูแลของเราเหมือนฟื้นฟูร่างกายเขาให้กลับมาดีขึ้น สมมติคนคนหนึ่งมีพ่อที่ป่วยต้องดูแล แต่เขาเองก็ต้องทำงาน ทำให้ดูแลพ่อไม่ได้เต็มที่ พอเราเข้าไปก็ทำในส่วนที่ลูกเขาทำไม่ได้ ทำหน้าที่นั้นแทนลูก ดูแลทางร่างกายและจิตใจ อย่างถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็อาบน้ำ เช็ดตัว ทำกายภาพ ดูแลแผลกดทับ”

ยงยุทธนิยามงานของเขาว่า ‘เป็นคนที่ทำทุกอย่างแทนคนในบ้านในการดูแลคนสูงวัย’ ไม่ใช่เพราะลูกหลานไม่อยากทำหน้าที่นี้ แต่ส่วนใหญ่มีงานส่วนตัวที่ต้องจัดการ ทำให้ไม่มีเวลาดูแลผู้ใหญ่ในครอบครัว บวกกับงานดูแลผู้สูงอายุถือเป็นงานที่มีความละเอียด ต้องใช้ความรู้ทักษะบางอย่าง ทำให้บางครอบครัวตัดสินใจให้คนสูงวัยอยุ่ในความดูแลของคนเชี่ยวชาญ

โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ ส่วนหนึ่งของลักษณะผู้สูงอายุที่ยงยุทธได้รับโจทย์  ทำให้วิธีดูแลของเขาก็จะแตกต่างกันตามลักษณะและความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละคน ส่วนเป้าหมายของยงยุทธในการทำหน้าที่ดูแลพวกเขา คือ ทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้เท่าที่จะทำได้

“คนเราถ้าร่างกายยังไปต่อได้ ผมคิดว่าก็ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

“ที่ผมดูแลจะมีตั้งแต่ระยะสั้นๆ ดูจนเสียชีวิตเลยก็มี ส่วนใหญ่จะดูแลทำให้เขาดีขึ้นแล้วให้ทางบ้านดูแลต่อ อย่างผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนหนึ่งเราก็ไปดูแลจนทำให้การดูแลเขาไม่หนักเกินไปสำหรับครอบครัว เช่น อาบน้ำเองได้ เพราะเราจะไม่ดูแลเขาไปตลอด เราจะดูแลไปสักระยะจนเขาโอเค แล้วแนะนำครอบครัวให้ดูแลต่อ แต่ถ้ามีปัญหาก็สามารถติดต่อกลับมาได้”

การดูแลผู้สูงอายุ 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีต้นทุนและกลุ่มที่ขาดแคลน ทำให้ยงยุทธได้เห็นความแตกต่างคน 2 กลุ่มนี้

“ชีวิตเขาแตกต่างกันมาก คนแก่ที่ยากจนถ้าตื่นเช้ามาเขาจะคิดแล้วว่า จะเอาข้าวที่ไหนกิน ต้องรอ ลูกหลานจะไปซื้อให้ ไม่รู้จะได้กินตอนไหน แต่คนแก่ที่รวยสัก 8 โมงเช้ามีคนไปปลุกให้อาบน้ำ กินข้าว มีบริการให้พร้อมเซอร์วิสเต็มรูปแบบ เอาแค่เปรียบเทียบเรื่องการกินก็สุดๆ แล้ว”

ผู้สูงอายุต้องการเพื่อนสักหนึ่งคนที่เข้าใจ

เมื่อถามว่าการดูแลคนวัยนี้ต้องใช้ทักษะอะไรที่จำเป็น ยงยุทธบอกว่าคือความเข้าใจ เพราะพวกเขาจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่คนอื่นๆ อาจไม่เข้าใจ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน

“มีเคสหนึ่งคุณยายที่เป็นอัลไซเมอร์ เขาจะอยากทำในสิ่งที่ทำมาตลอด คือ เดินออกไปนอกบ้าน ไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน แต่ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา เลยต้องจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน คุณยายเลยมีอาการโวยวายตลอดเวลา ใช้ความรุนแรงกับตัวเอง กับข้าวของ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น จะเคาะประตูจนลูกหลานรำคาญ พอเราไปดูแลก็บอกว่า งั้นให้เราเป็นคนพาไปเดินไหม อย่างน้อยก็มีเราดูแลอยู่ ลูกเขาก็โอเค” 

เมื่อได้กลับมาทำในสิ่งที่คุ้นเคยอีกครั้ง ก็ทำให้อาการโวยวายของคุณยายค่อยๆ ลดลง แทนที่ด้วยความสดใส หรือที่ยงยุทธใช้คำว่า ‘ใบหน้ากระชุ่มกระชวย’

บางเคสไม่ได้ปรับพฤติกรรม แต่ปรับสภาพแวดล้อม ก็ทำให้อาการพวกเขาดีขึ้นได้ ยงยุทธเล่าว่า ‘สภาพแวดล้อม’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ “ถ้าเราอยากให้เขาสดใส เราก็ต้องทำให้ที่ที่เขาอยู่ไม่อุดอู้”

แต่ห้องผู้สูงอายุหลายคนที่เขาเจอกลับเต็มไปด้วยข้าวของและความอุดอู้ที่ทำให้ไม่เหมือนห้องนอน แต่เป็นห้องเก็บของ 

การดูแลคนสูงวัยของยงยุทธจึงไม่ใช่แค่ทางร่างกายและจิตใจ แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ วิธีการของยงยุทธไม่ใช่จัดการทิ้งของทุกอย่าง แต่เป็นการพูดคุยและทำความเข้าใจ

“ถ้าของชิ้นไหนที่เขาต้องการจริงๆ เราก็จะไม่ไปยุ่ง เพราะจะไปบอกว่า “คุณตาอันนี้ไม่ดี ไม่สะอาด” ก็คงไม่ได้ เราแค่ไปปรับปรุงให้ตรงอื่นๆ สะอาดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนทุกอย่าง อะไรที่เขารู้สึกต้องการก็ให้เขาเก็บไว้ บางคนอยากเก็บบุหรี่หรือเงินที่คนอื่นให้มา

“เริ่มจัดโน่นนี่ให้ ทำทุกอย่างให้เป็นห้อง ผู้สูงอายุก็หายใจได้โล่งขึ้น ทำได้ 2 – 3 เดือนมันเปลี่ยนแปลง เขาสดใสขึ้น ใบหน้าที่เหี่ยวเฉาก็ดีขึ้น มีสีสัน”

เพราะ ‘ความเข้าใจ’ ยังคงจำเป็นเสมอในการอยู่ร่วมกัน และในงานของยงยุทธ

“จริงๆ คนสูงอายุต้องการคนที่เข้าใจมากกว่า เราเลยไม่ได้ไปทำงานอย่างเดียว แต่ไปดูแลคุณตาคุณยาย คิดว่าเขาก็เป็นคุณตาคุณยายเรา ให้ความใส่ใจ ความเข้าใจแทนลูกเขาที่ไม่มีเวลาให้ ทำให้เขาสบายใจที่มีเรา วันใดวันหนึ่งที่เราไม่มาแล้วเขาถามหาเรา เพราะเขาเริ่มรู้สึกดีในสิ่งที่เขาเป็น มีคนสนใจเขา เหมือนเขาไม่ได้อยู่คนเดียว”

เดินตามความฝันช่างถ่ายภาพ เตรียมตัวเป็นคนสูงวัยที่แข็งแรงและมีเงิน

ตอนนี้ยงยุทธไม่ได้ทำงานที่บั๊ดดี้โฮมแคร์แล้ว เขาออกไปทำตามความฝันการเป็นช่างถ่ายภาพ ความฝันที่เขามีตั้งแต่เด็กๆ

“ตั้งแต่ประถมมั้ง เวลามีคนมาถ่ายรูปที่โรงเรียน เรารู้สึกว่าเท่ แต่ก็ยังไม่ได้เรียนรู้เยอะนะ เราเป็นคนรู้มุมกล้อง ตอนนี้ส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์ถ่ายเอา คือทำสิ่งที่ชอบแต่แค่ยังไม่มีอุปกรณ์ ปีที่แล้วได้ไปร่วมงานถ่ายหนังสือรุ่น พี่เขาก็สอนเราเรื่องกล้องเพิ่ม”

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ยงยุทธออกมาทำตามความฝัน เพราะการทำงานดูแลผู้สูงอายุทำให้เขาตกตะกอนได้ว่าชีวิตมันสั้นมาก ควรได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

“เราเคยคิดว่าคนที่จะตายต้องอายุเยอะๆ จนไปฝึกงานเจอคนอายุ 20 กว่าตายแล้ว ยังงอยู่เลย ผมเลยเลือกใช้ชีวิตตัวเองให้สุดในทุกทาง มีเวลาไปทำสิ่งที่ชอบ” 

และการมี ‘บัตรประชาชน’ ก็ทำให้ชีวิตของยงยุทธอิสระขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเขากำพร้าและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ไม่มีเอกสารรับรอง และไม่สามารถมีบัตรประชาชนได้ แต่โชคดีที่ยงยุทธพอจำรายละเอียดว่าเขาเคยอาศัยที่ไหน เมื่อโตขึ้นเขาตัดสินใจไปตามหาญาติที่เหลืออยู่ จนได้คนมารับรองและทำบัตรประชาชนได้ในที่สุด 

การได้บัตรประชาชน สำหรับยงยุทธไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเขาใหญ่โต แต่ให้อิสระเขาเพิ่มขึ้นที่จะท่องเที่ยวในที่ที่อยากไป คำถามสุดท้ายที่เรามีให้ยงยุทธ คือ อยากเป็นคนสูงวัยแบบไหน คำตอบแรกของเขาคือต้องมีเงิน

“โอ้ มีเงินครับ แข็งแรงด้วย อันนี้จริงเลย ถ้ามีเงินและแข็งแรงคือรอดพ้นจากวัยผู้สูงอายุแล้ว” ยงยุทธทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ