แนบหูฟัง…เสียงความรุนแรงรอบตัว
สถิติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวปี 2564 พบว่าเป็นเพศหญิงถึง 81% และลักษณะการใช้ความรุนแรงเป็นการทำร้ายร่างกาย 64.5% รองลงมาคือการทำร้ายด้านจิตใจ 31.4% และเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ 3.6% สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านของตนเอง ซึ่งปัจจัยในการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ได้แก่ ยาเสพติด สุรา อาการหึงหวง การมีโทสะ การมีปัญหาสุขภาพทางจิต และความเครียดทางเศรษฐกิจ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบแนวโน้มของการกระทำความรุนแรงต่อครอบครัวสูงขึ้น(1)
โดยความรุนแรงมีหลายระดับ ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับจิตใจ หรือแม้กระทั่งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสังคม หลายคนชอบคิดว่าความรุนแรงมักจะเป็นสถานการณ์ของครอบครัว คือเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ นั่นเอง แต่ความจริงแล้วในสังคมไทยมีสถานการณ์ความรุนแรงหลายกรณี เช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความยุติธรรมในการจ้างงาน รวมไปถึงการถูกทำร้ายหรือการล่วงละเมิดทางเพศ หรือความรุนแรงในกลุ่ม LGBT ซึ่งถูกพูดจาล้อเลียนส่งผลต่อสุขภาพจิต หรือความรุนแรงต่อเด็กซึ่งแน่นอนเมื่อเด็กถูกบ่มเพาะด้วยความรุนแรงย่อมนำไปสู่การเติบโตและมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงในอนาคตได้
เสียงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ จึงเป็นห้องเวิร์กชอปที่หวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนรับฟังสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากผู้ที่เผชิญสถานการณ์จริงในกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ พร้อมร่วมรับฟังแนวทางกลไกในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมตลอดจนถึงกระบวนการเยียวยาเพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และหวังให้เกิดข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ความรุนแรงเป็นเรื่องของทุกคน และสังคมต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่เรื่องปกติ เราทุกคนสามารถร่วมกันเฝ้าระวัง หรือหาทางออกและสร้างสังคมสุขภาวะไปด้วยกันได้” คุณภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำหรับท่านใดหรือหน่วยงานไหน ที่สนใจมาร่วมกันค้นหาแนวทางการป้องกันความรุนแรง ผ่านการเวิร์กชอป
ที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบาย ในห้องย่อย “เสียงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ”ณ งาน “Voice of the voiceless ครั้งที่ 2 – ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โปรดติดตามข้อมูลเกี่ยวกับงานได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: นับเราด้วยคน และเว็บไซต์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กันได้เลย
ที่มา: 1. สถิติผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2564
#สสส #นับเราด้วยคน #Vov2 #เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน #voiceofthevoiceless #ประชากรกลุ่มเฉพาะ