ซ่อมไฟ ตัดต้นไม้ มีคนดูแล ไม่ต้องจ่ายเงิน เสียแค่ ‘เวลา’ : ธนาคารเวลา
“เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลเลย พาเขาไปเอายา”
คือกิจกรรมธนาคารเวลาครั้งนี้ของอรวรรณ ตันติวงศ์โกสีย์ วัย 67 ปี
‘ธนาคารเวลา’ เป็นหนึ่งในกิจกรรมของกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน หรือ CBID (Community-based Inclusive Development) ที่ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ อดีตผู้ใหญ่บ้านและหนึ่งในคณะทำงานที่ริเริ่มงาน CBID เล่าว่า การทำงานร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่าย ทำให้ได้รับทราบไอเดียธนาคารเวลา การจัดกิจกรรมให้อาสาสมัครหรือคนทำจิตอาสาโดยจะได้สิ่งตอบแทนเป็น ‘เวลา’ ที่สามารถนำไปแลกเวลาของสมาชิกคนอื่นมาช่วยเหลือในสิ่งที่เราต้องการรับความช่วยเหลือ เช่น เรียนรู้ทักษะอื่นๆ หรือให้คนอื่นมาช่วยงานเรา
พ่อหลวงนำไอเดียนี้มาปรับทำเป็นธนาคารเวลาในชุมชนตัวเอง โดยให้สมาชิกมาแลกเปลี่ยนทำงานให้กันและกัน ได้เวลาเป็นสิ่งตอบแทน
พ่อหลวงอนันต์ มองว่า กิจกรรมนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนพิการและคนสูงอายุในชุมชน ที่จะมีคนมาช่วยดูแลและช่วยทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้ลำบาก เช่น พาไปโรงพยาบาล หรือทำกิจกรรมงานบ้าน
รูปแบบของธนาคารเวลาเริ่มจากสมัครเป็นสมาชิกในเว็บไซต์ธนาคารเวลา (https://timebanks.ga/login) หลังจากนั้นก็จะได้เข้ากลุ่มไลน์ ‘ธนาคารเวลา’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม โดยคนที่สมัครทุกคนจะได้แต้มสะสมเริ่มต้น 5 แต้ม
การทำกิจกรรมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของคนร้องขอและคนที่ตอบรับ ในกลุ่มไลน์จะมีเมนูให้กดใส่คำร้องกิจกรรมที่เราอยากให้คนช่วยทำ เช่น ตัดหญ้าที่บ้าน พาไปโรงพยาบาล หรือมานั่งคุยเป็นเพื่อนผู้สูงอายุที่บ้าน ระบุจำนวนคนที่เราต้องการให้มาช่วย จำนวนคนจะเท่ากับแต้มที่ต้องเสีย เช่น ต้องการหนึ่งคนก็จะเสียหนึ่งแต้มต่อการทำกิจกรรมหนึ่งกิจกรรม หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มก็จะดูว่าตอบรับไปทำงานนี้หรือไม่ ถ้าคนไหนตอบรับทำกิจกรรมก็จะได้แต้มสะสมเก็บไว้เป็นเวลาให้คนอื่นๆ มาช่วยในครั้งถัดไป
ในอดีตอรวรรณเคยทำงานเป็นพยาบาลแม้ตอนนี้เกษียณแล้ว แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ชอบทำเสมอ คือ การเป็นจิตอาสา อรวรรณชอบช่วยงานพ่อหลวงอนันต์บ่อยครั้ง เมื่อพ่อหลวงตัดสินใจทำธนาคารเวลา จึงชวนเธอมาร่วมด้วย แต่ก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่ๆ กว่าอรวรรณจะทำความเข้าใจและลองทำกิจกรรมนี้
“พ่อหลวงบอกว่าลองเล่นดู มันไม่ได้เสียหลาย เป็นโครงการใหม่ที่เข้ามา บ้านเรายังไม่มี ก็มีการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการ พ่อหลวงมาเล่าให้ฟังว่ากระบวนการเป็นอย่างนี้ สมัครสมาชิกทำอย่างไร กระบวนการแลกเปลี่ยนของธนาคารเวลาห้ามใช้เงินเด็ดขาด ให้ใช้เวลาแลกกันเท่านั้น สมมติคนนี้ไปทำงานบ้านให้คนนี้ก็จะได้แต้ม
“ถ้าแต้มเราใกล้จะหมด ก็ต้องเร่งสปีดทำกิจกรรมเพื่อเก็บแต้ม คล้ายๆ กับตอนเราจะมีเงินได้ก็ต้องหาเงินทำงาน”
กิจกรรมที่อรวรรณทำส่วนใหญ่ คือ พาคนไปโรงพยาบาลและเป็นครูอาสาสอนนักเรียนตามโรงเรียนเรื่องการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอถนัด และเป็นข้อดีของกิจกรรมธนาคารเวลาที่เราสามารถเลือกทำกิจกรรมได้ตามความถนัด
แม้อรวรรณจะชอบกิจกรรมนี้ แต่มีจุดที่เธอคิดว่ายังต้องพัฒนาต่อ ถ้าอยากขยายพื้นที่ทำกิจกรรมให้มากว่าชุมชนของเธอ
“ตอนแรกเราก็ยังคิดว่ามันทำยาก ที่จะให้คนมาทำจิตอาสาแลกเวลากัน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน แล้วธนาคารเวลาห้ามใช้เงิน แลกเป็นเวลาเท่านั้น บางคนหาเช้ากินค่ำก็คงไม่สามารถมาทำธนาคารเวลาได้
“ตอนนี้เรายังทำกิจกรรมเฉพาะกลุ่ม คนที่มาร่วมมีคนพิการ คนสูงอายุ และสมาชิกอาสาสมัครในเครือข่าย รวมกันประมาณ 70 กว่าคน เราคิดว่าอย่างน้อยต้องสัก 1 ตำบล มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล โรงเรียนมาช่วยกัน คือทุกคนต้องมาช่วยมันถึงจะขับเคลื่อนแล้วสวย เกิดประบวนการแลกเปลี่ยนยั่งยืน
“ส่วนตัวเราอยากให้งานนี้อยู่คู่ชุมชนนะ เพราะมันมีเป็นประโยชน์”
ความชอบส่วนตัวที่ชอบทำจิตอาสาเป็นทุนเดิม กิจกรรมธนาคารเวลาเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้อรวรรณได้ทำสิ่งที่ชอบเพิ่ม แต่มุมมองที่ต่างไป คือ การได้ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ที่แตกต่าง โดยเฉพาะคนพิการ
“มีคนพิการที่มาช่วยตัดหญ้าให้เรา เราประทับใจในตัวเขามาก คือจิตใจเขาพร้อมไปช่วย แล้วไม่ได้ต้องการอะไรจากเราด้วย พร้อมที่จะบริการเสมอ ในธนาคารเวลาจะมีคนพิการที่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เข้ามาทำเยอะ
“เราก็ประทับใจตรงนี้ ทำให้อยากทำกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ”
และในฐานะที่จะเป็นประชากรสูงวัยต่อไป อรวรรณ มองว่า กิจกรรมธนาคารเวลาจะเป็นประโยชน์มากๆ กับคนสูงอายุ เพราะทำให้พวกเขาไม่ต้องไปใช้ชีวิตที่ศูนย์พักคนชราหรือโรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตช่วงนี้ที่บ้าน โดยมีคนในชุมชนช่วยกันดูแล
“ถามว่าดีไหมถ้ามีธนาคารเวลาเกิดขึ้นในชุมชน เรามองว่ามันดีมากๆ จะเป็นที่พึ่งของผู้สูงวัย อาจจะไปเป็นเพื่อนคุย พาเดินเที่ยว อุ้มไปตากแดด ก็เป็นระยะของมัน ถ้าเรา 80 แล้วก็คงจะไปไหนไม่ได้ ต้องพึ่งสังคม พึ่งลูกหลาน แต่ถามว่าลูกหลานจะอยู่ให้พึ่งไหมละ? เขาต้องไปทำงาน แล้วใครจะดูแลที่บ้าน
“ถ้าชุมชนเราเข้มแข็ง มีธนาคารเวลา มีจิตอาสาก็โอเค ไม่ต้องออกมาอยู่รวมกันที่ศูนย์ แต่ช่วยกันส่งคนไปดูแลที่บ้าน ใช้ชีวิตรอให้ลูกหลานกลับมา
“คนสูงวัยพอถึงระดับหนึ่งเรามีเงินแต่แรงไม่มีแล้ว แรงที่จะไปช่วยคนอื่นไม่มีแล้ว อย่างเราอีกปีสองปี แรงก็คงไม่มีแล้ว คงขับรถพาคนอื่นไปโรงพยาบาลไม่ได้ เราก็จะเริ่มอยู่แต่บ้าน ช่วงนั้นแหละก็มีแต่ลูกหลาน และเราก็ต้องอาศัยชุมชนที่เข้มแข็ง อาศัยธนาคารเวลา มาช่วยเราตอนนั้น ฉะนั้น ตอนสาวๆ ต้องทำคะแนนสะสมเยอะๆ (หัวเราะ)”
ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีร่างกายจะเริ่มไม่แข็งแรงเท่าตอนนี้ แต่อรวรรณก็อยากทำกิจกรรมธนาคารไปเรื่อยๆ
“จนกว่าจะทำไม่ไหว แต่อย่างน้อยๆ เราคงเป็นที่ปรึกษาให้ได้ ทำเท่าที่เราทำไหว” อรวรรณทิ้งท้าย