สร้างสังคมเท่าเทียม กับธนาคารเวลา ด้วยทุกการฝาก = การให้
การ ‘ออมเงิน’ คือ เรื่องสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ แต่การ ‘ออมเวลา’ คือการสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
🕰️‘ธนาคารเวลา’ (Time bank) มุ่งเน้นทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันโดยสมาชิกของธนาคารเวลาจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือในคน ๆ เดียวกัน โดยแนวคิดเรื่องธนาคารเวลามีต้นแบบมาจากต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะรูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ในลักษณะของเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน เกิดการขยายออกไปอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน
เวลา 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 เครดิตเวลา (คะแนน) โดยสมาชิกของธนาคารเวลาจะได้รับการบันทึกเวลาเมื่อได้ช่วยเหลือสมาชิกท่านอื่นตามความสามารถที่มี และเมื่อเราต้องการความช่วยเหลือบ้าง ก็สามารถจ่ายค่าบริการในรูปของ ‘เวลา’ ที่ฝากไว้ได้เพื่อรับความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกคนอื่น เช่น ลุงเอจ่ายเวลาให้ป้าบี 1 ชั่วโมงเพื่อรดน้ำต้นไม้ ส่วนป้าบีจ่ายเวลา 1 ชั่วโมงให้ลุงซีด้วยการพาไปโรงพยาบาล และลุงซีจ่ายเวลา 1 ชั่วโมงเพื่อให้ลุงเอช่วยดูแลลูกให้ระหว่างไปทำธุระ
จะเห็นได้ว่าการออมเวลาสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออมเงิน เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง ธนาคารเวลาจะเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ ธนาคารเวลายังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น
▪️สร้างความมั่นคงในรูปแบบของ ‘เวลา’ ใช้ศักยภาพบุคคลแทนเงิน
▪️ใช้จ่ายและสะสมด้วยเวลา กับกิจกรรมหลากหลายตามความสามารถของเราเอง
▪️เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในหมู่สมาชิก มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ใครบ้างที่ใช้บริการได้ที่ ‘ธนาคารเวลา’?
▪️ทุกเพศ ทุกวัย โดยกำหนดให้สมาชิกต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป
ทุกคนอาจไม่ได้มีเงินเท่ากัน แต่เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน เราต่างมีเท่ากันอย่างแน่นอน ธนาคารเวลา จึงเป็นอีกเครื่องมือของการเตรียมความพร้อมในปัจจุบัน ไปสู่ความพร้อมแห่งอนาคตของสังคมสูงวัยที่เราต่างจะได้เกื้อกูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเป็นการใช้เวลาของทุกคนได้อย่างเท่าเทียม เกิดเป็นสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธนาคารเวลา ได้ที่
▪️เฟซบุ๊ก www.facebook.com/TimeBankThailand
▪️เว็บไซต์ www.thaitimebank.net/webdev
และสำหรับท่านใดที่มีความสนใจประเด็นธนาคารเวลานวัตกรรมใหม่สู่การเตรียมความพร้อมของสังคมผู้สูงอายุ หรือกลุ่มประชากรเฉพาะอื่น ๆ เตรียมมาพบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กันเพิ่มเติมได้ในงาน “Voice of the voiceless ครั้งที่ 2 – ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โปรดติดตามข้อมูลเกี่ยวกับงานได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: นับเราด้วยคน และเว็บไซต์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กันได้เลย
ที่มา :
▫️“ธนาคารเวลา” เพื่อสูงวัย นวัตกรรมใหม่ของสังคม, https://www.thaihealth.or.th/?p=313351
▫️แนวทางการดำเนินงานธนาคารเวลาของประเทศไทย,กรมกิจการผู้สูงอายุ, https://www.dop.go.th/download/knowledge/th1561952989-231_0.pdf
▫️เว็บไซต์ธนาคารเวลา, https://www.thaitimebank.net/webdev/
▫️เพจ ธนาคารเวลา, https://www.facebook.com/TimeBankThailand/