แนะนำ 4 ช่องทาง ให้ลูกหลานเตรียมพร้อม เมื่อพ่อแม่สูงอายุขึ้น
เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และแน่นอนว่าในครอบครัวของใครหลายคนทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็มีแต่จะสูงอายุขึ้น บทความนี้จะชวนลูกหลานทุกคนให้มาทำความรู้จักกับ 4 ด้านที่ควรเตรียมไว้ให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สภาพที่อยู่อาศัย กิจกรรมยามว่าง การรู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมช่องทางค้นคว้าเรียนรู้ต่อ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพกายใจที่ปลอดภัยและแข็งแรงไปด้วยกัน
1.ที่อยู่อาศัย
รู้หรือไม่? ทุก ๆ 8 ชั่วโมงจะมีผู้สูงอายุ เสียชีวิตจากการหกล้ม 1 คน เฉลี่ยวันละ 3 คน จากผลสำรวจจากกรมควบคุมโรคปี 2562 พบว่าสถานที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ 65% เกิดเหตุในบ้าน และ 30% เกิดเหตุในห้องน้ำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้หกล้มพบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก การลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน และมาจากการที่พักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีราวเกาะในห้องน้ำ และใช้ส้วมนั่งยอง เป็นต้น
ดังนั้นสิ่งแรกที่ลูกหลานควรตระหนักคือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ตั้งแต่ทางเข้าจนถึงภายในบ้าน ตามแนวคิดของ ‘Home Modification Checklist For Older Person’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) และ สสส. เช่น
– ทางเข้าบ้านควรมีพื้นผิวที่ไม่ลื่นและไม่ใช่พื้นต่างระดับ (Step) เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม เอื้อต่อการใช้รถเข็น (Wheel Chair)
– ห้องน้ำคือจุดที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากความลื่นเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ จึงควรเลือกพื้นกระเบื้องที่มีความฝืด และการเพิ่มราวจับหรือเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ
– ห้องนอนที่ควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อความสะดวกสบาย โดยจัดอุปกรณ์จำเป็นให้อยู่ในระดับเอื้อมมือหยิบได้
– บันไดต้องมีขั้นสม่ำเสมอ มีราวจับที่ความสูงพอเหมาะแข็งแรงในการช่วยทรงตัวขึ้น
สำหรับลูกหลานท่านใดที่สนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปรับพื้นที่บ้านให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีต่อผู้สูงอายุ โปรดติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “Chula.UDC” ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน https://www.facebook.com/Chula.UDC/
2. กิจกรรมคลายเหงา
เชื่อว่าลูกหลานหลายคนต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน และปล่อยให้พ่อกับแม่ต้องอยู่แต่ในบ้านตามลำพัง การหากิจกรรมสร้างสรรค์มาให้ท่านได้ใช้เวลาอย่างสนุกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เราขอแนะนำเพจ ‘Young Happy’ เพราะมีกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุมากมาย เช่น
– การพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราว และประสบการณ์กันระหว่างผู้สูงอายุ
– การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ คอร์สเรียนออนไลน์ให้ความรู้เรื่องเกษียณ หรือการเติมเต็มทางด้านจิตใจ
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดแอป ‘YoungHappy’ ได้ที่ https://younghappy.com/application หรือบน App Store และ Google Play ได้โดยตรง
3. รู้เท่าทันสื่อ
ในยุคแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัล ส่งผลให้การรับส่งข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและหลากหลายช่องทาง ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจจะแฝงมาด้วยข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งลูกหลานควรเตรียมตัวให้กับผู้สูงอายุรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ อันจะทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และอาจรวมถึงการนำเรื่องเท็จไปแชร์ต่อ ส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ สสส. ร่วมกับ ม.มหิดล สร้าง ‘ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (Intelligence Center for Elderly Media Literacy: ICEM)’ และพัฒนาเกมออนไลน์ ‘สต๊าช’ (STAAS) โดยมีแนวคิดหลักคือเพื่อให้ผู้สูงอายุ ‘หยุด-คิด-ถาม-ทำ’ เมื่อได้รับข้อมูลเข้ามา ผ่านการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากสนใจค้นหาเกมนี้ได้บน App Store และ Google Play เช่นกัน
4. เรียนรู้เรื่องดิจิทัล
ไม่มีใครแก่เกินเรียน แม้พวกท่านจะสูงอายุขึ้น แต่ยังสนใจการเรียนรู้เราก็ช่วยสนับสนุนพวกท่านได้ เพราะตอนนี้มีหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัลที่จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมพร้อม และเป็นสื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสุขภาวะในผู้สูงอายุด้านต่าง ๆ อาทิ
– 3 แอปคู่ใจวัยเก๋า
– วิธีสมัคร ‘อีเมล’ จากมือถือ
– วิธีฝึกใช้ ‘อีเมล’ ใน 7 ขั้นตอน
โดยหลักสูตรดังกล่าวพัฒนาขึ้นจาก สสส. ร่วมมือกับกรมกิจการผู้สูงอายุและมหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช
มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาวะ ทั้ง 4 ส. ได้แก่ สุขภาพ สังคมสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต หากลูกหลานสนใจแนะนำหลักสูตรนี้ให้กับผู้สูงอายุ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://thaismartageing.org/
และนี่ก็เป็นเพียง 4 ช่องทางให้ลูกหลานได้เข้าถึงข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติม ไว้เป็นเครื่องมือเตรียมพร้อมด้านสุขภาวะให้กับผู้สูงอายุ พร้อมปลอดภัยจากจุดเสี่ยงที่เราสามารถป้องกันได้ล่วงหน้า และดูแลกันด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ สิ่งสำคัญอื่นใดก่อนปรับเปลี่ยน อย่าลืมรับฟังและพูดคุยตกลงกันด้วยความเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายสุขภาพดีแฮปปี้ไปด้วยกันได้
และสำหรับท่านใดที่มีความสนใจประเด็นผู้สูงอายุ และกลุ่มประชากรเฉพาะอื่น ๆ เตรียมมาพบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กันเพิ่มเติมได้ในงาน “Voice of the voiceless ครั้งที่ 2 – ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โปรดติดตามข้อมูลเกี่ยวกับงานได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: นับเราด้วยคน และเว็บไซต์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กันได้เลย
ที่มา:
CHULA Home Modification Checklist for Older Person (V1.), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, UD, สสส. – https://bit.ly/3EzMr59
YoungHappy รายงานประจำปี 2564, Young Happy – https://younghappy.com/about/annual/2021/th
สสส.- มหิดล ผุดนวัตกรรมเกมออนไลน์ ปั้น สูงวัยหัวใจสต๊าซ รู้เท่าทันสื่อ, ผู้จัดการออนไลน์, mgonline – https://mgronline.com/politics/detail/9650000031232
สสส.พัฒนา ‘หลักสูตรสูงวัยดิจิทัล’ สร้างสังคม Thai Smart Ageing มอบของขวัญผู้สูงวัย ต้อนรับปีใหม่ 2565, mgonline – https://mgronline.com/qol/detail/9640000127124
ปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่นำมาสู่การฆ่าตัวตาย, โรงพยาบาลรามาธิบดี – https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ปัญหาการใช้สื่อสังคมออ/
เป็นการแนะนำการเตรียมความพร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีมากเลยค่ะ