สูงวัยโดยสมบูรณ์ : สรุปสถานการณ์ผู้สูงวัยในปี 2567 และจะไปต่อกันอย่างไร เมื่อ ‘ลูก’ คือรายได้หลักของพ่อแม่วัยเกษียณ

เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว” กันอย่างแน่นอน แต่เราเตรียมพร้อมกันแค่ไหน เตรียมทันไหม และต้องเตรียมอะไรบ้าง

สถิติจำนวนผู้สูงอายุ พ.ศ. 2567 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นจำนวน 20.70% จากประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society เรียบร้อยแล้ว

โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีมากที่สุดคือ กลุ่มผู้อายุวัยต้น (60-69 ปี) อยู่ที่ 59.3% รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) อยู่ที่ 29.8% และกลุ่มที่มีน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ 10.9%

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้หมายถึงการที่เราจะได้เห็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นแค่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีข้อกังวลอื่นๆ ตามมาอีกด้วย เช่น ใครจะเป็นคนดูแลพวกเขา? หรือพวกเขาต้องดูแลตัวเอง? สังคมต้องปรับตัวอย่างไร?

นับตั้งแต่ปี 2537 ที่มีสำรวจประชากรผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาตลอด จนมาถึงในปี 2567 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุ ที่แสดงให้เห็นว่าประชากรวัยทำงานจะต้องดูแลผู้สูงอายุกี่คน มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 31.1 เท่ากับว่า ประชากรวัยทำงานจำนวน 100 คน จะต้องรับผิดชอบและดูแลผู้สูงอายุทั้งหมด 31 คน หรือแปลว่า ผู้สูงอายุ 1 คน จะต้องมีประชากรวัยทำงานประมาณ 3 คนในการดูแล

‘ลูก’ เป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุในประเทศไทย รองลงมา คือ การทำงานหารายได้ด้วยตนเอง ส่วนลำดับต่อมา คือ เบี้ยยังชีพจากทางราชการ

นอกจากนี้ยังมี ‘กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง’ เป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง พวกเขาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียง ข้อมูลจากอนามัยโพล โดย กรมอนามัย คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดในปี 2568 นี้ มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านอยู่ราว 126,000 ราย และมีกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ราว 236,000 ราย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะรอการเลี้ยงดูจากลูกหลานอย่างเดียว 51.5% ของผู้สูงอายุยังทำงานอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเองยังมีแรงและยังอยากทำงาน แต่ 43.5% ตอบว่าเหตุผลที่ตัวเองยังคงทำงานเป็นเพราะต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองหรือเลี้ยงครอบครัว

ตัวเลขทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในวันหนึ่งที่ทุกคนก็ต้องชรา ในตอนนั้นเราก็จะกลายเป็นหนึ่งใน 20.70% นี้ แล้วเราเตรียมพร้อมกันแล้วหรือยัง?

เรื่องสูงวัยไม่เคยไกลตัว

หลายคนแค่เห็นคำว่า สูงวัย ในบทความก็เลื่อนหนีแล้ว เพราะคิดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา แต่ลองนึกดูเล่นๆ ว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า เรื่องของคนสูงวัยจะกลายเป็นเรื่องของตัวเองทันที เพราะเราเองนี่แหละคือคนสูงวัย

กว่าจะถึงตอนนั้น ถ้ายังมีเวลาก็ถือเป็นเรื่องดีที่จะเตรียมตัวไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีแรง รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับความสุขของผู้สูงวัย มาย้ำเตือนสิ่งสำคัญไม่กี่อย่างให้ทุกคนได้เตรียมไว้ก่อนสูงวัย

ทรัพย์ สุขภาพ และเพื่อน คือ 3 อย่างที่อาจารย์แนะนำให้สะสมเอาไว้ถ้าเป็นไปได้ เพราะจากการวิจัยอาจารย์พบว่า ความสุขของผู้สูงวัยในประเทศไทยมีอยู่ 3 แหล่งที่มา ได้แก่ หนึ่ง – ความสุขจากการมีสุขภาพที่ดี เมื่อผู้สูงวัยมีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ลุกเดินได้อย่างสะดวก สุขภาพดีก็จะสามารถทำให้มีความสุขได้ ซึ่งสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Physical health สุขภาพทางกาย หมายถึง การที่เรามันไม่มีโรค หรือมีโรคแต่เราจัดการกับมันได้ และ Functional health สุขภาพขั้นพื้นฐาน คือ ความสามารถในการดูแลตัวเอง การเคลื่อนไหว เช่น หยิบจับของเองได้

สอง – ความสุขจากการที่มีทรัพย์สิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่ออายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็อาจจะตามมามากขึ้น ถึงตอนนั้นที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่มีรายได้จากการเก็บออม หรือลงทุนอื่นๆ เก็บมาใช้ตอนแก่ก็เป็นเรื่องที่ดี แถมอาจารย์ยังบอกว่า ควรจะเน้นการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เพราะไม่มีอะไรสามารถรับประกันได้ว่าลูกหลานจะดูแลเราตลอดไป

และสาม – ความสุขจากการมีส่วนร่วมกับสังคม เช่น การมีเพื่อน ได้ออกไปเที่ยวข้างนอกบ้าน ได้ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สิ่งเหล่านี้ลดความเหงาและสร้างความสุขให้กับผู้สูงวัยได้อย่างมาก

ในขณะเดียวกันรัฐเองก็ควรจะมีช่องทางสนับสนุนให้ความสุขของผู้สูงวัยเกิดขึ้นได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนนโยบายการออม หรือการเปิดพื้นที่ให้คนสูงวัยมีส่วนร่วมกับสังคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจารย์มองว่าการพูดนโยบายผู้สูงอายุ คือ การเชื่อมโยงไปถึงนโยบายสำหรับวัยอื่นๆ อีกด้วย

“เวลาพูดนโยบายผู้สูงอายุก็ต้องพูดนโยบายอื่นๆ ควบคู่ เช่น นโยบายภาษี นโยบายการศึกษา และนโยบายของวัยอื่นๆ ด้วย สมมติว่า คนที่มีระดับการศึกษาสูงก็มีแนวโน้มจะหาเงินได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้นก็มีโอกาสออมได้เยอะขึ้น และออมได้เยอะขึ้นก็เพิ่มโอกาสเป็นคนแก่ที่มีความสุขมากขึ้น ทุกอย่างมันเชื่อมกันหมดเลย”

เมื่อรัฐพร้อม สังคมพร้อม คนก็พร้อม แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอยู่ในสังคมที่พร้อมสำหรับผู้สูงวัยแล้ว เพราะในขณะเดียวกัน ‘อคติ’ ต่อผู้สูงวัยก็ยังคงอยู่ และไม่เคยหายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นการมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีประโยชน์ เชื่องช้า ล้าหลัง และหัวโบราณ

ถ้าอย่างนั้นแล้วมีเครื่องมือใดบ้างที่จะช่วยขจัดอคติเหล่านี้ให้หายไป ขอยกมือตอบว่าอีกเครื่องมือที่น่าสนใจก็คือ ‘สื่อ’ นั่นเอง

อยู่ในสังคมสูงวัย ที่สื่อไทยก็ต้องปรับตัว

‘แค่ต่างวัย แต่ไม่ได้มาจากต่างดาว’

คือ สโลแกนประจำเพจ ‘มนุษย์ต่างวัย’ สื่อที่หยิบเรื่องของคนสูงวัยมาพูดให้คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ที่คนทั่วไปมีต่อคนสูงวัยอีกด้วย

เรามีโอกาสพบกับ ‘ประสาน อิงคนันท์’ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย ผ่านเวทีทอล์ก FACE THE CHANGER ในงาน FACE THE VOICE มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา

ประสานบอกว่าจุดเริ่มก็มาจากตัวเองอยากทำอะไรบางอย่างในโลกออนไลน์ ซึ่งประเด็นของคนสูงวัยในตอนนั้นก็ยังไม่มีใครทำสักเท่าไหร่ ก็เริ่มจากการมองหาประเด็นในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุในบ้านเป็นคนยังไง หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เพื่อนๆ โทรมาบ่น มาเล่าให้ฟัง มีอะไรบ้าง แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาเล่าต่อ

“ส่วนใหญ่เราคิดประเด็นในบ้านทั้งนั้นเลย เราก็ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ พ่อแม่ดื้อหรือเปล่า ทุกอย่างก็วนเวียนอยู่ในชีวิตตัวเอง แล้วก็วนเวียนอยู่ในชีวิตเพื่อนฝูง ตามที่เพื่อนๆ จะโทรมาเล่า เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็หยิบพวกนั้นมาทําประเด็น”

ประสานเริ่มทำมนุษย์ต่างวัยตั้งแต่ตอนในที่สังคมยังไม่ ‘อิน’ กับเรื่องนี้เท่าไหร่ด้วยซ้ำ ในตอนนั้นเวลาพูดถึงสูงวัยคนส่วนใหญ่ก็จะคิดถึงแต่เรื่องนโยบายบ้าง สวัสดิการบ้าง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ภาพของคนสูงวัยที่เป็น ‘คน’ จริงๆ กลับไม่ค่อยมีใครนึกถึงเท่าไหร่ เขาเลยพยายามผลักดันให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกมองเห็นมากยิ่งขึ้น

“สมัยก่อนเวลาพูดถึงคนสูงวัย คนก็จะไปนึกถึงวงเวียนชีวิต มองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนน่าสงสาร ถ้าจะรื่นเริงขึ้นมาหน่อยก็พูดถึงกิจกรรมที่มันซ้ำๆ เช่น เต้นลีลาศ เล่นอังกะลุง แต่จริงๆ มันยังมีอย่างอื่นที่น่าสนใจอีก”

นอกจากจะนำเสนอเรื่องของคนสูงวัยในแง่มุมใหม่ๆ ประสานยังต้องต่อสู้กับการเมืองระหว่างวัย ที่เขาเรียกว่า ‘ฟันน้ำนม vs ไดโนเสาร์’ เป็นการสู้กันระหว่างวัยเด็กและผู้ใหญ่ที่ต่างฝ่ายก็ต่างมีอคติต่อกัน

ในฐานะคนทำสื่อประสานก็พยายามเอาอคติที่คนทั่วไปมีต่อคนสูงวัยมาเล่าต่อ โดยเริ่มจากการสำรวจก่อนว่าในตอนนั้นสังคมมองผู้สูงวัยอย่างไร และมีอคติอะไรบ้าง มองสังคมเสร็จแล้วก็มามองตัวเองต่อว่ามีอคติอะไรมั้ย ซึ่งประสานบอกว่าเขาเองก็เคยคิดว่าการที่อายุมากขึ้น หมายถึงการที่ศักยภาพลดลง มันอาจจะไม่ใช่อคติที่ชัดเจน แต่ก็แฝงไปกับการตัดสิน ซึ่งตรงนี้นี่เองที่นำไปสู่อคติอื่นๆ ได้

แต่เขาก็ไม่ได้ใส่การต่อต้านอคติลงไปในสื่ออย่างตะโกน แต่จะพยายามสอดแทรกอย่างแนบเนียน เพื่อให้อคติค่อยๆ หายไปโดยที่คนไม่รู้ตัว

“เราทำเรื่องที่เฉพาะกลุ่มให้กลายเป็นเรื่องของคนหมู่มาก เราจะค่อยๆ ลดการมองวัยที่แตกต่าง ลดการมองว่าเป็นคนอื่นหรือหมิ่นแคลนกัน เราพยายามจะแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ข้างใน แต่เราก็ค่อยๆ แทรกเข้าไปอย่างแบบแนบเนียนเพื่อที่จะทำให้มันไปต่อได้ ”

ปัจจุบันมนุษย์ต่างวัยมีทั้งบทสัมภาษณ์ พอดแคสต์ และเวิร์กชอปที่พยายามลดช่องว่างระหว่างวัยให้แคบลง สามารถเข้าไปติดตามได้ที่เพจ มนุษย์ต่างวัย (https://www.facebook.com/manoottangwai)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ