‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ พื้นที่คลายเหงา ที่ทำให้คนวัยเก๋าเป็นมากกว่ารูปปั้นในบ้าน
“ผู้สูงอายุบางคนตอนอยู่บ้าน เขารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแค่รูปปั้นในบ้าน มีไว้ให้ลูกหลานสวัสดีก่อนออกจากบ้านเท่านั้น เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากให้เงินลูก หรือทํากับข้าวรอลูก”
‘ใบไม้’ นัปกานต์ บุญประสม ผู้ดูแลหลักสูตรและผู้จัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เล่าให้เราฟังถึงชีวิตของผู้สูงอายุที่เคยมาทำกิจกรรมกับยังแฮปปี้ (Young happy)
‘สร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงอายุในประเทศไทยและทั่วโลก’ เป็นแนวคิดที่ทำให้ยังแฮปปี้เกิดขึ้นมา เพราะพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวนน้อย หรือบางพื้นที่ก็แทบไม่มีเลย ทำให้ผู้สูงอายุบางคนเกิดภาวะซึมเศร้า เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ชีวิตของวัยหนุ่มสาวทั้งสนุก ร้อนแรง และมีสีสัน ตื่นเช้าเรียน พบปะเพื่อนมากมาย พอเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มมีอิสระมากขึ้น ดูแลตัวเองได้ มีเป้าหมายในชีวิตมากมายที่พวกเขาพร้อมจะวิ่งเข้าใส่ ใช้ชีวิตทุกวันอย่างเต็มที่ จนกระทั่งวันหนึ่ง ตอนเช้าจากที่เคยมีเสียงโทรศัพท์จากที่ทำงานกลับเงียบสงัด มื้อเที่ยงที่เคยไปนั่งกินกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มใหญ่เหลือเพียงแค่คนเพียงคนเดียว ช่วงค่ำวันศุกร์จากที่เคยออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ตอนนี้เป็นการทำกับข้าวภายในบ้านเงียบๆ กับลูกหลานหรือบางครั้งก็นั่งคนเดียว จากแสงสีและชีวิตที่เร่งรีบกลายมาเป็นชีวิตที่เงียบสงบและเรียบง่าย
หลายคนรักชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่จำใจต้องอยู่ในสภาวะนี้ เพราะมันไม่มีอย่างอื่นให้ทำแล้วสำหรับคนที่เป็น ‘ผู้สูงอายุ’
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ‘การอยู่คนเดียว’ เป็นสิ่งที่หลายคนเผชิญมากขึ้น แต่การอยู่คนเดียวอาจจะยังไม่ยากเท่า ‘การอยู่เฉยๆ’ เพราะสำหรับบางคนแล้วการมีตารางงานแน่นเอี๊ยด กับตารางชีวิตที่ว่างเปล่า สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตได้ไม่น้อยเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุได้เลย
จากรายงานข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตของคนไทยพบว่า ในปี 2565 ผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามราว 800,000 คน กำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ภาวะหมดไฟ (burnout) และอยู่ในภาวะเครียดสูง ซึ่งมากกว่า 10,000 คน กำลังเผชิญอยู่อย่างน้อย 1 ใน 4 ของความเสี่ยงเหล่านี้
ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมีผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น บทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไปหลังเกษียณ จากที่เคยเป็นหัวหน้างานที่มีคนพึ่งพา กลายมาเป็นคนธรรมดาที่ต้องเริ่มพึ่งพาลูกหลาน บางคนที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตย่อมจะรู้สึกไม่ชินเมื่อต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ นอกจากนี้ ข้อจำกัดทางร่างกายที่ไม่แข็งแรงและไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน รวมถึงลูกหลานที่เริ่มแยกย้ายไปสร้างครอบครัวของตัวเอง ทำให้การอยู่คนเดียวก็เป็นเรื่องที่คนวัยนี้ต้องรับมือ
การที่ผู้สูงอายุอยู่บ้านเฉยๆ ในบางครั้งอาจไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอยากอยู่ แต่เป็นเพราะนอกจากบ้านแล้วก็ไม่มีพื้นที่อื่นให้พวกเขาไป ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายในการเดินทาง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุในการออกไปใช้ชีวิตข้างนอก
แม้จะมีพื้นที่ที่ผู้สูงวัยเข้าร่วม เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพต่างจังหวัดต่างๆ เพราะว่าชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ผู้สูงวัยหลายคนจึงเลือกศูนย์ฝึกอาชีพเป็นสถานที่ที่เอาไว้หากิจกรรมทำแก้เบื่อ หรือตามสวนสาธารณะที่เราสามารถเห็นผู้สูงอายุมาออกกำลังกาย หรือพบปะกันบ้างในบางเวลา แต่พื้นที่เหล่านี้ก็ยังนับว่ามีน้อยอยู่
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. (สำนัก 9) จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจากหลากหลายองค์กร เพื่อสร้างสังคมที่ไม่กีดกันและเป็นสังคมที่ใส่ใจผู้สูงอายุมากพอ ที่พวกเขาจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป ยังแฮปปี้เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่อยากจะสนับสนุนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น รวมไปถึงมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้สูงอายุเชื่อมั่นในตัวเองและยังมีความสุขกับการใช้ชีวิตวัยเกษียณเหมือนกับช่วงวัยอื่นๆ
“สนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้” หัวใจหลักของยังแฮปปี้ พื้นที่ตรงนี้อบอวลไปด้วยความสนุกจากกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลาสเรียนต่างๆ ที่เตรียมมาให้ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เช่น เรียนเต้นลีลาศ เรียนทำขนมไทย เรียนรู้การตลาดเบื้องต้น เรียนภาษาจีน หรือแม้กระทั่งเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันแต่งภาพอย่าง Meitu เป็นต้น โดยห้องเรียนต่างๆ สามารถเรียนออนไลน์ได้จากที่บ้าน หรือเรียนในห้องเรียนร่วมกันได้เลย ที่ใครใครเขาบอกว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น คงเป็นอะไรที่ใช้อธิบายผู้สูงวัยในยังแฮปปี้ได้ดีมาก
หากใครได้ใช้ชีวิตกับผู้สูงอายุภายในบ้าน สถานการณ์หนึ่งที่หลายคนน่าจะเคยเจอการที่ผู้สูงอายุมักจะถามเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีหรือข่าวสารต่างๆ ที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาอยู่บ่อยๆ ใบไม้ยกตัวอย่างคุณปู่อายุ 68 ปีคนหนึ่ง ที่ไม่เคยคุ้นชินกับเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือมากๆ ก็มักจะถามลูกหลานว่าใช้งานยังไง บางทีการสื่อสารให้เข้าใจก็เป็นเรื่องยากเพราะความต่างทางวัย อีกทั้งด้วยเรื่องของความจำก็อาจจะทำให้ต้องถามกันบ่อยๆ จนบางครั้งลูกหลานรู้สึกรำคาญจนอาจพาลไปหงุดหงิดใส่ ทำให้คุณปู่รู้สึกเกรงใจและกลัวที่จะถามในที่สุด จะถามหาจากคนอื่นก็ไม่รู้จะถามใคร ยังแฮปปี้จึงต้องการที่จะสร้างพื้นที่หนึ่งขึ้นมาเพื่อให้คุณปู่และผู้สูงวัยคนอื่นๆ รู้สึกสบายใจที่จะถามโดนไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครหงุดหงิดใส่ เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็น Comfort Zone สำหรับพวกเขานั่นเอง
เขาว่ากันว่ายิ่งโตขึ้นเพื่อนยิ่งน้อยลง แต่อาจจะใช้ไม่ได้กับผู้สูงวัยในยังแฮปปี้ เพราะนอกจากการเรียนแล้ว พวกเขามีโอกาสได้เข้าสังคมและเจอเพื่อนใหม่ๆ จากการเข้าเรียนคลาสเดียวกัน จากเพื่อนร่วมห้องกลายมาเป็นเพื่อนที่คุยไลน์ แลกกันสวัสดีตอนเช้า ถือว่าเป็นการสร้างสังคมใหม่ให้ผู้สูงวัยได้อีกด้วย คุณครูใบไม้ที่สอนคลาสเรียนต่างๆ ใน เล่าว่า ผลสำรวจการมีเพื่อนเพิ่มของนักเรียนสูงวัยในยังแฮปปี้ออกมาว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าเรียนมีเพื่อนเพิ่มมามากขึ้น 18 คน
และที่สำคัญยังแฮปปี้ เชื่อว่า วัยเกษียณเป็นวัยที่ยังมีศักยภาพ ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมยังแฮปปี้หลายคนเป็น Active Senior ซึ่งหมายถึงผู้สูงอายุที่ยังกระตือรือร้น มีพร้อมทั้งแรงกายและแรงใจที่อยากจะทำอะไรใหม่ๆ ฉะนั้นแล้วถ้าหากเรามีพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้แสดงพลังเหล่านั้นออกมา พวกเขาก็จะเห็นศักยภาพของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
“ไม่มีใครอยากยืนอยู่นิ่งๆ แล้วให้โลกมันหมุนไปหรอก ผู้สูงวัยคือคนที่อยากหมุนไปตามให้ทันโลกยุคสมัยใหม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ถามและไม่มีคนที่คอยอยู่รับฟังพวกเขามากขนาดนั้น” ใบไม้ กล่าว
สสส. และ Young happy ร่วมมือกันสร้างสังคมสำหรับผู้สูงอายุมาเรื่อยๆ จนมาถึงงานล่าสุดที่ชื่อว่า ‘ตลาดนัดโชว์เก๋า’ เป็นกิจกรรมภายในงาน ‘เมืองดีต่อใจ วัยเกษียณ’ ที่มีไว้เพื่อให้คนวัยเก๋าได้ออกมาขายของ พบปะ และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกันได้ ได้โชว์ ‘คุณค่า’ ที่พวกเขามีอยู่ในตัวผ่านงานฝีมือที่นำมาจัดบูท
ไม่ว่าจะเป็น สินค้างานฝีมือ ขนมไทย เครื่องปั้น เสื้อผ้ามัดย้อม และสมุนไพรอีกมากมาย สินค้าเหล่านี้เป็นของที่พี่ๆ วัยเก๋าทำกันเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว พอได้มานำมาขายก็สามารถต่อยอดให้พวกเขามีรายได้ไปสานต่อเป็นธุรกิจได้อีกด้วย
“เขาถึงบอกว่าวัยเกษียณเป็นวัยอิสระ เราจะกลับไปทำสิ่งที่เราต้องการได้”
คำพูดจาก ‘ณาราและศรีจันทร์’ สองพี่น้องเจ้าของร้านขายพวงมาลัยผ้าลูกไม้ในตลาดนัดโชว์เก๋า ศรีจันทร์เป็นคนที่ชื่นชอบการเย็บปักถักร้อยมาตั้งแต่เด็ก เธอสนุกกับการออกแบบลวดลายและสีสันด้วยตัวเอง แต่เพราะที่บ้านของศรีจันทร์ในตอนที่เธอยังเด็กสนับสนุนให้เรียนด้านบัญชีมากกว่า ทำให้เธอต้องหยุดความชื่นชอบของตัวเองให้เป็นแค่งานอดิเรกและตั้งใจเรียนตามที่ที่บ้านคาดหวังไว้ จนมาถึงช่วงเวลาที่มีอิสระมากขึ้นหลังเกษียณ ศรีจันทร์กลับมาทำงานฝีมือที่เธอรักอีกครั้ง พอได้มีโอกาสมาแสดงฝีมือที่ตลาดนัดวัยเก๋ามันยิ่งจุดประกายให้เธอมีแรงทำสิ่งนี้มากยิ่งขึ้น ทั้งศรีจันทร์และณาราทำงานกันเป็นทีมในการลงขายสินค้าชิ้นนี้ ศรีจันทร์จะดูแลในส่วนของสินค้า และณาราจะดูแลในด้านการขายและอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบแพ็คเกจ โลโก้ เป็นต้น
การได้มาวางบูทขายของครั้งนี้ไม่ได้ช่วยในแง่ของการขยายธุรกิจเท่านั้น แต่มันยังทำให้ศรีจันทร์และณารารู้สึกว่า การเป็นผู้สูงวัยนั้นมันยังมีศักยภาพและกำลังที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ถ้าเราอยากจะทำ พวกเขารู้สึกว่าตัวตนมีความสามารถมากพอที่จะทำอะไรออกมาได้ และมองเห็นคุณค่าของตัวเองมากยิ่งขึ้น ต่อให้การเย็บปักถักร้อยเป็นความความชื่นชอบในวัยเด็ก แต่พอโตขึ้นมาจนถึงวัยเกษียณพวกเขาก็ไม่ได้ละทิ้งความชื่นชอบของตัวเองไป แต่กลับนำมันมาสานต่อในวันที่ยังมีแรงทำได้นั่นเอง
ตลาดนัดโชว์เก๋าไม่ได้มีไว้เพื่อขายสินค้าอย่างเดียวเท่านั้น พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ ฟื้นคืนการมองเห็นคุณค่าในตัวเองที่ผู้สูงอายุขึ้นมาได้อีกครั้ง สินค้าที่นำมาถูกจัดเตรียมมาอย่างพิถีพิถัน เห็นแล้วรู้ได้ทันทีเลยว่า สินค้าเหล่านั้นคือผลลัพธ์จากความตั้งใจจากพี่ๆ ทุกคน การที่สังคมหรือคนรอบข้างเคลือบแคลงใจเพราะอายุของพวกเขา ประโยคอย่าง “อายุก็เยอะแล้วจะทำไหวหรอ” คงเป็นอะไรที่เขาเจอบ่อยๆ พอมาถึงตอนที่เขาสามารถทำอะไรบางอย่างออกมาได้ มันทำให้คนคนนึงมองเห็นทั้งศักยภาพและคุณค่าในตัวเองได้มากขึ้นจริงๆ นอกจากนี้แล้วการเปิดตลาดขายของก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยออกมาเจอโลกภายนอก และพบปะผู้คนใหม่ๆ ทั้งคนที่เป็นผู้สูงอายุด้วยกันและคนในวัยอื่นๆ อีกด้วย มากกว่าการพบเจอกันคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ซึ่งกันและกัน พวกเขายังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ ผู้สูงอายุคนอื่นได้รวมไปถึงคนรุ่นอื่นอีกหลายคน
ใบไม้ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่อยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้ บอกเราว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากผู้สูงอายุภายในงาน ถ้าหากวันหนึ่งโตไปจนถึงวัยเกษียณ พวกเขาก็อยากเป็นวัยเกษียณที่ยังมีเรี่ยวแรงกายและใจพร้อมอย่างพี่ๆ วัยเก๋านี่แหละ
อีกสิ่งหนึ่งที่พี่ๆ จากตลาดนัดวัยเก๋าชอบจากการที่ได้จัดตลาดครั้งนี้ คือ การที่พวกเขาได้มีโอกาสทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำเมื่อตอนเป็นวัยหนุ่มสาวนั่นเอง ด้วยบริบททางสังคม ภาระที่ต้องแบกรับ และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ในวันนั้นพวกเขาไม่ได้สามารถทำสิ่งที่ตัวเองรักได้ พอเวลาผ่านไปจนมาถึงวัยหลังเกษียณที่มีอิสระมากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านั้นอีกครั้ง ถึงอายุจะเพิ่มขึ้นไปแค่ไหน แต่เมื่อได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักเมื่อแต่ก่อน พวกเขาก็หวนคืนไปรู้สึกเหมือนตอนเป็นวัยหนุ่มสาวอีกครั้ง
อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ตรงนี้ที่มีไว้สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะคือ “พื้นที่ปลอดภัย” ของพวกเขานั่นเอง
สำหรับสถานการณ์ผู้สูงอายุในไทยปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุระบุว่า จากบันทึกล่าสุดในปี 2565 ผู้สูงอายุในไทยมีทั้งหมด 19.21% จากประชากรไทยทั้งหมด นั้นก็หมายความว่าในอีกไม่นานไทยก็เข้าใกล้สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ผู้สูงอายุหลายคนยังต้องการที่จะออกไปทำตามความฝัน ทำอะไรที่ไม่เคยทำ หรือใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้แบบที่พวกเขาต้องการอยู่ แต่บางครั้งเพราะมันไม่มีพื้นที่สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ จึงทำให้ความฝันของพวกเขาถูกพับเก็บเอาไว้ เพราะฉะนั้นแล้วมันคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าหากผู้สูงอายุในไทยได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาอยากจะทำ ในช่วงเวลาที่พวกเขายังมีแรงอยู่
ในขณะเดียวกันสังคมและคนรอบข้างก็สามารถสนับสนุนและคอยอยู่เคียงข้าง ให้พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มที่ การมีพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้แสดงออกหรือใช้ชีวิต นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาแล้ว มันยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่คอยบอกว่า สังคมนี้ยังมองเห็นและยินดีกับการมีตัวตนของผู้สูงวัยอยู่ การรู้ว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนอกเหนือจากในบ้าน มีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะนั่นหมายความว่า การมีชีวิตของพวกเขายังเป็นที่ต้องการอยู่ เมื่อคนอื่นมองเห็นคุณค่าของพวกเขา พวกเขาก็จะมองเห็นคุณค่าของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
การได้ใช้ชีวิตและรับรู้ว่ายังมีใครสักคนค่อยชื่นชมและเป็นกำลังใจให้พวกเขาอยู่แค่เพียงเท่านี้ก็สร้างความสุขเล็กๆ ให้กับผู้สูงอายุได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
โสภิน แสงอ่อน, พรเพ็ญ สำเภา, และ พรทิพย์ มาลาธรรม. (2550). ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะสุภาพ สัมพันธภาพในครอบครัว ความว้าเหว่ และภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่
สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ โดย วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์, จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์, และ พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม, 2552, วารสารสมาคมพยาบาลฯ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, 27(1). ดูจาก สุขภาพจิตของผู้สูงอายุ (Mental Health of the Elderly) (tci-thaijo.org)
www.mac.ru.ac.th กรมสุขภาพจิตเผยสถิติผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นด้านผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดโรค – คณะสื่อสารมวลชน (ru.ac.th)