“เคยพังแต่ซ่อมได้” 5 คน 5 เก้าอี้กับเรื่องเล่าที่ไม่เคยมีใครฟัง

ความสนุกอย่างหนึ่งของการเป็นมนุษย์คือการได้เปรียบเทียบตัวเองเป็นสิ่งต่างๆ เช่น คนนี้สวยเหมือนดอกลิลลี่ คนนั้นน่ารักเหมือนแมว ฉันสดใสเหมือนสีเหลือง

ประโยคอุปมาอุปไมยแบบนี้คงเห็นกันบ่อยแล้ว อย่างนั้นขอเสนอโจทย์ใหม่ให้ทุกคนไปลองคิดดู

“ถ้าให้คิดว่าตัวเองเป็นเก้าอี้ เก้าอี้คุณเป็นแบบไหน”

ลองใช้เวลาแล้วออกแบบเก้าอี้ที่แทนตัวเอง ส่วนเราเองก็มีตัวอย่างจาก 5 คน ที่มองตัวเองเป็นเก้าอี้หรือที่นั่งได้ 5 แบบ

เก้าอี้ที่สวยแต่ผุพังจากการโดนใช้งานอย่างโชกโชน แต่ก็กลับมาเปล่งประกายได้เพราะจากการซ่อมแซม
เก้าอี้ไม้เก่าประจำบ้าน มีพนักพิงนั่งทีไรก็สบาย แต่เพราะดีไซน์ที่เก่าไม่เข้าสมัย ทำให้ใครๆ ก็มองข้าม
เก้าอี้สีแดง โดดเด่นและสดใส แต่เปราะบาง และพังลงได้ตลอดเวลาถ้าแบกรับน้ำหนักมากเกินไป
เก้าอี้ป้ายรถเมล์ที่อยู่ริมทาง ถูกใช้เป็นที่นั่งรอชั่วคราวสำหรับบางคน แต่เป็นที่พักพิงข้ามคืนให้กับใครหลายๆ คน
และสุดท้าย พรมที่อยู่ท่ามกลางเก้าอี้ มีความแตกต่างกว่าคนอื่น และเพราะความแตกต่างเช่นนี้จึงมักถูกมองว่า ‘แปลก’

ถ้าเป็นหนังสักเรื่อง เรื่องราวของเก้าอี้ทั้ง 5 นี้อาจเป็นเพียงแค่อินโทร แต่ทั้งหมดจะปรากฎอยู่ในงาน ‘Face the Voice มองด้วยตาฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ในโซน ‘Face the voice of us’

นิทรรศการที่จะชวนคุณมาฟังเสียงที่มักถูกมองข้ามในชีวิตประจำวัน ด้วยภาพยนตร์สารคดีแบบจัดวาง โดย Eyedropperfill

นิทรรศการนี้เปิดบทสนทนาเกี่ยวกับความหลากหลายของชีวิตในสังคมเดียวกัน ผ่านภาพยนตร์สารคดีที่ออกแบบพื้นที่การรับชมให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ 5 คน 5 เรื่องราว ที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกของการต้องเป็นผู้ที่ถูกผลักออกจากกระแสหลักของสังคม

นี่คือส่วนหนึ่งของงาน Face the voice : มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง งานที่จะชวนคุณมาฟัง มาสบตา มาดูหนัง เรื่องราวที่ไม่เคยบอกใครและไม่ค่อยมีคนถามของคน 9 กลุ่มประชากรเฉพาะ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เน้นให้ข้อมูลแต่เน้นสร้างประสบการณ์แบบเขาเหล่านั้น จัดขึ้น 23-24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. มิวเซียมสยาม (Museum Siam)

ถ้ายังนึกภาพไม่ออก นี่คือตัวอย่างเก้าอี้ทั้ง 5 แบบที่เราอยากเอามาให้ได้ชมกันก่อน สปอยล์กันตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า เก้าอี้เป็นอย่างไร พวกเขาและเธอทั้ง 5 เป็นมากกว่านั้น

เก้าอี้ที่มีดีไซน์สวย เก๋ในแบบของมันเอง แต่เพราะถูกใช้งานอย่างโหดร้ายและไม่ทะนุถนอม วันหนึ่งจึงเกิดความเสียหายและไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม ทว่าความสวยงามของเก้าอี้นี้ยังอยู่แต่เพราะมันผุพังเสียจนทำให้ใครๆ ไม่กล้าเข้าใกล้และไม่กล้าใช้งานอีกเลย

นี่คือตัวแทนของผู้ถูกกระทำความรุนแรง จากที่เคยเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจ มีชีวิตสนุกสนาน มีเพื่อนรอบตัวมากมาย แต่หลังจากเจอเหตุการณ์ความรุนแรงในชีวิต ชีวิตของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ตอนที่เห็นหน้าตัวเอง มีความรู้สึกว่าชีวิตเรามืด มันดับ เราจะทํายังไงดี ตอนที่พักรักษาตัวอยู่ก็ว่าถ้าคิดออกจากโรงพยาบาลก็คงไปเรียนหนังสือไม่ได้แล้ว เรียนก็ไม่จบด้วย ดําเนินชีวิตต่อไปยังไง”

ความรุนแรงทิ้งบาดแผลไว้ที่กายและฝังลึกลงที่ใจ ผลจากการกระทำของคนๆ เดียว ทำร้ายเธอได้ขนาดนี้ คำถามที่ตามมาอย่างไม่หยุดหย่อนคือ จะอยู่อย่างไร และจะทำอย่างไรต่อ

บาดแผลที่ใจเก็บอยู่คนเดียวไว้ก็ไม่มีใครรู้ แต่บาดแผลที่ร่างกายโดยเฉพาะใบหน้า ปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด เมื่อออกจากบ้านก็โดนมองด้วยสายตาแปลกๆ พอจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำงาน ก็โดนสังคมรอบข้างเลือกปฏิบัติ เธอจึงรู้สึกว่าหันไปทางไหนก็มีแต่ทางตัน

แต่กลุ่มคนที่หันมากี่ทีก็ยังเจอ คือ ครอบครัว เธอขอบคุณครอบครัวเสมอที่คอยอยู่ข้างกายและให้กำลังใจตลอดมา ที่สำคัญครอบครัวไม่เคยถามว่าไปทำอะไรมาถึงได้โดนแบบนี้ มีแต่กำลังใจเท่านั้นที่ส่งให้แก่กัน

ใครว่าเก้าอี้ที่ผุพังจะต้องโดนทิ้งเสมอไป ตอนนี้เก้าอี้ตัวนี้ซ่อมแซมตัวเองจนดูเหมือนใหม่ ความสวยสดใสที่เคยมีกลับมาเปล่งประกายได้อีกครั้งในแบบของตัวเอง

เก้าอี้เก่าที่มีทุกบ้าน เห็นตั้งแต่เด็กจนโต ใครๆ ก็ต่างเมินเฉยเก้าอี้เก่าตัวนี้ เพราะท่ามกลางโลกที่มีของใหม่ๆ มากมาย ความน่ามองของเก้าอี้เก่ามันก็น้อยลง แต่ถึงอย่างนั้นเก้าอี้ตัวนี้ก็ยังใช้งานได้ดี

“เราคิดว่าคนในประเทศไทยที่อายุ 80 ปีขึ้นไป เขาก็เตรียมตัวเดินทางได้แล้ว เราก็เตรียมตัวเดินทางอยู่เหมือนกัน วันไหนมันมาถึงก็ไปเมื่อนั้นแหละ”

เก้าอี้ที่มีพนักพิงแบบโบราณตัวนี้ คือตัวแทนของผู้สูงอายุ ถึงแม้จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนรูปร่างไม่สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังใช้งานได้ดี และเมื่อถึงเวลาเก้าอี้ตัวนี้ก็จะได้หยุดพัก กลายเป็นความทรงจำให้กับคนในบ้าน

แต่เวลานั้นยังไม่ได้มาถึง เก้าอี้ตัวนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นที่พักพิงให้คนในบ้านอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะมีความเชื่อว่าถ้ายังมีเวลา ก็ยังมีอะไรอีกมากมายให้ทำ

“ถ้าเราเป็นอะไรไป เราก็จะมีคนมาดูแลน้อยลง ลูกหลานก็จะลำบาก”

เพราะไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน เขาจึงดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลานี้ นอกจากจะออกกำลังกายแล้ว คงต้องออกกำลังที่ใจด้วย นั่นคือการทำใจยอมรับว่าวันหนึ่งเราจะแก่ขึ้น หูจะไม่ค่อยได้ยิน ตาจะมองไม่ค่อยเห็น กลายเป็นคนหงุดหงิดง่ายขึ้น เมื่อถึงเวลาที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะได้ไม่ตกใจจนเกินไป

เราต่างรู้กันดีว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทั้งชีวิตและสรรพสิ่งต่างๆ สักวันหนึ่งเก้าอี้ตัวนี้ก็ต้องออกเดินทางไปพักในที่ไกลแสนไกล จากเก้าอี้ที่เคยเป็นผู้นำครอบครัวและถูกใช้งานมาอย่างหนักหน่วง เมื่อถึงเวลาที่ต้องพัก ก็ขอจากไปโดยไม่ทิ้งภาระให้ใคร

ถ้าดูเผินๆ นี่คือเก้าอี้ธรรมดา มีสีแดงโดดเด่น มีดีไซน์ที่เฉพาะตัว แทบเดาไม่ออกว่าความหมายของเก้าอี้ตัวนี้คืออะไร

ถ้าลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเก้าอี้ตัวนี้ค่อนข้างเปราะบาง ประกอบสร้างจากวัสดุที่ไม่คงทนเท่าไหร่ พร้อมจะพังลงได้ถ้าต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป และนี่คือตัวแทนของคนมุสลิมที่เป็น LGBTIQNA+

เธอคือบุคคลที่อยู่ท่ามกลางความหลากหลายทางเพศและศาสนา แต่ทั้งสองสิ่งนี้ไม่ได้เดินอยู่บนทางเดียวกันกัน ทำให้คนที่ต้องแบกรับความกดดันทั้งหมดคือเธอผู้เดียว โดดเด่นแต่เปราะบางคือสองคำที่อธิบายความเป็นเก้าอี้รวมไปถึงตัวของเธอเองได้ดีที่สุด

“เราเกิดมาพร้อมกับเนื้อตัวร่างกายที่ไม่มีอะไรเลย และก็ไม่มีการตีตราตัดสินด้วย แต่พอใช้ชีวิตไปมันก็มีแต่คนเราด้วยกันเองหรือเปล่า ที่โยนสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้เรา พร้อมกับบอกว่า ‘เราต้องแบบนั้น’ ‘เราต้องทำแบบนี้’ และถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ แปลว่าเราไม่มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น”

การเป็นคนเปราะบางและเป็นคนแตกต่าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทนยอมต่อความกดดันในสังคมเสมอไป และการถูกกดดันต่างๆ ก็ไม่ได้ทำให้เธอยอมทิ้งตัวตนของตัวเอง ในวันนี้เธอเลือกเดินบนเส้นทางของนักพัฒนานโยบาย เพื่อพยายามผลักดันให้คนที่กำลังเจอเรื่องราวคล้ายๆ กัน มีพื้นที่อยู่ในสังคมให้ได้

ภาพที่เห็นกันอย่างชินตา เก้าอี้นี้ตั้งอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ในสังคมแห่งความเร่งรีบ เก้าอี้ตัวนี้ถูกใช้เป็นที่พักเหนื่อยชั่วคราวก่อนที่จะแต่ละคนจะเดินทางออกไปใช้ชีวิตกันต่อ

และเพราะเก้าอี้นี้ตั้งอยู่ริมทาง ไม่ค่อยมีคนมาดูแล คนจึงมองว่าสกปรก บางคนยอมยืนรอรถเมล์ดีกว่าที่จะเข้าไปนั่ง แต่หารู้ไม่ว่าเก้าอี้หน้าตาธรรมดาแบบนี้ ไม่ใช่แค่ที่รอรถเมล์อย่างเดียว แต่มันคือ ‘ที่นอน’ ของคนบางกลุ่มอีกด้วย

ถูกต้องแล้ว เก้าอี้รอรถเมล์มักจะเป็นที่พักพิงของคนไร้บ้าน เพราะชีวิตของพวกเขาอยู่ตามที่สาธารณะ พวกเขาไม่ได้เดินทางกลับบ้านเหมือนคนอื่นๆ ถ้าเจอป้ายรถเมล์ตรงไหน ก็นอนตรงนั้น

เก้าอี้แบบนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งนานๆ หรือแม้แต่เอาไว้นอน แต่สำหรับคนไร้บ้านบางคนนี่อาจจะเป็นที่ที่สบายที่สุดที่พวกเขาพอจะหาได้ในแต่ละวัน

ท่ามกลางเก้าอี้มากมายในห้อง มีแค่พรมผืนนี้ผืนเดียวที่ถูกวางอย่างเรียบง่าย

พรมผืนนี้มักจะถูกมองว่าแปลกหรือแตกต่างจากคนทั่วไป หลายคนตั้งคำถามว่าพรมจะไปนั่งสบายกว่าเก้าอี้ได้อย่างไร แคบก็แคบ แถมยังต้องมีหลักเกณฑ์ในการนั่ง นั่งเก้าอี้ยังไงก็สบายกว่าเป็นไหนๆ

ถึงแม้จะแตกต่างและเป็นส่วนน้อย แต่การไปชี้ว่าทุกคนควรนั่งเก้าอี้ ดีกว่าที่จะไปนั่งบนพรมก็คงไม่ถูกเสมอไป ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือก

นี่คือพรมละหมาด พรมผืนนี้มีความสำคัญต่อชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาต้องทำกิจกรรมทางศาสนาอย่างการละหมาด ซึ่งการละหมาดในแต่ละครั้งนั้น นอกจากผู้ละหมาดจะต้องทำร่างกายให้สะอาด บริเวณที่ละหมาดก็ต้องสะอาดเช่นเดียวกัน พรมนี้จึงเอาไว้ปูเพื่อให้ละหมาดได้อย่างสบายใจและเป็นไปตามหลักของศาสนา

“บางครั้งเราก็อึดอัดจากการที่เขามองว่าการเป็นคนมุสลิมมัน exotic (แปลก) จังเลย เช่น มาถามว่า โห ทำไมมีแฟนได้ 4 คน ทำไมห้ามกินหมู”

คำบอกเล่าจากคนที่นั่งบนพรมนี้ ถึงแม้จะไม่โกรธที่เจอคำถามแบบนี้บ่อยครั้ง แต่มันก็มีความอึดอัดบางอย่างเวลาต้องตอบคำถามเหล่านี้ ความอึดอัดที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกเป็น ‘คนอื่น’ หรือเป็นคนชายขอบของสังคม

ถึงแม้พรมนี้จะไม่ใช่ที่นั่งที่ทุกๆ คนใฝ่หา แต่ก็ยังมีคนอื่นมากมายที่รักและเคารพในสิ่งที่พรมนี้มอบให้ เราคงอยากเห็นโลกที่มีที่นั่งหลากหลายแบบ มากกว่าที่จะเป็นเก้าอี้แบบเดียวเสมอไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ